อาการหายใจแล้วเจ็บหน้าอก อาการเจ็บหน้าอกข้างซ้ายจี๊ดๆ เจ็บหน้าอก หลัง ประจำเดือน


71,048 ผู้ชม


อาการหายใจแล้วเจ็บหน้าอก อาการเจ็บหน้าอกข้างซ้ายจี๊ดๆ เจ็บหน้าอก หลัง ประจำเดือน

 

 

อาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด

เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด หรือเรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า angina แองไจนาไม่ใช่ชื่อโรค แต่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีออกซิเจนมาเลี้ยงไม่เพียงพอชั่วระยะเวลาหนึ่ง โดยปกติหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจสามารถปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นได้ ในขณะที่หัวใจมีความต้องการออกซิเจนมากขึ้น แต่ถ้ามีปัญหาเรื่องหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรือมีปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ในปริมาณที่จำกัด ซึ่งอาจจะเพียงพอในสถานการณ์หนึ่ง แต่ถ้าไปออกกำลังกายหรือมีความเครียดเกิดขึ้น เลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจอาจจะไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ และอาการเหล่านั้นจะหายไปเมื่อหัวใจต้องการออกซิเจนน้อยลงไปตามเดิม อาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดนี้ จะพบว่าอาการเจ็บหรือปวดจะอยู่บริเวณตรงกลางของหน้าอก อาจมีปวดร้าวไปที่บริเวณคอ ขากรรไกรบน แผ่นหลัง บางครั้งมีความรู้สึกเหมือนถูกบีบรัดหน้าอก อาจมีปวดร้าวไปที่ต้นแขนซ้ายร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะเกิดร่วมกับการมีกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมด้วย และอาการจะหายไปเมื่อได้มีโอกาสหยุดพักหรือหยุดกิจกรรมนั้นๆ บางคนอาจมีอาการหายใจลำบาก เหงื่อออก คลื่นไส้อาเจียน และเวียนศีรษะร่วมด้วย อาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดนี้ พบได้บ่อยขึ้นในเพศชาย ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป และ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากปัญหาของหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตัน ในผู้หญิงจะพบได้น้อยกว่า ยกเว้นผู้หญิงอายุ 35 ปี ขึ้นไป และมีประวัติรับประทานยาคุมกำเนิดและสูบบุหรี่ด้วย รวมทั้งผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองจะมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้หญิงโดยทั่วไป

เจ็บหน้าอก อวัยวะที่อยู่ในทรวงอกนอกจากหัวใจแล้วยังมี เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด เยื่อหุ้มปอด หลอดอาหาร หลอดเลือดแดงใหญ่ กระดูกหน้าอก กระดูกซี่โครง เต้านม กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก เมื่อมีการอักเสบหรือพยาธิสภาพของอวัยวะเหล่านี้ก็ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ทั้งสิ้น แต่ลักษณะอาการอาจแตกต่างกัน อาการเจ็บหน้าอกไม่เพียงแต่เป็นสัญญาณเบื้องต้นสำหรับโรคหลอดเลือดตีบตันอันก่อนให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างรุนแรง แต่ยังเป็นอาการเริ่มแรกของโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตอีกหลายโรค อาทิเช่น โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด และหลอดโรคลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ขั้วปอด และอื่น ๆ ซึ่งอัตราการเสียชีวิตสูงมากกว่าร้อยละ 60 ถ้ามีคนไข้เข้ามา 2 คนจะมีมากกว่าหนึ่งคนที่ต้องเสียชีวิต ถ้าให้การวินิจฉัยไม่ถูกต้องและการรักษาไม่ทันท่วงที ในทางกลับกัน อาการเจ็บหน้าอกก็ยัง สามารถเกิดจากโรคอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาจากหัวใจ เช่น โรคปอด โรคของกล้ามเนื้อ และกระดูกอ่อน โรคทางเดินอาหาร โรคแพนิค และอื่น ๆ เพราะฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะวินิจฉัยแยกโรคจากอาการเจ็บหน้าอกเพียงอย่างเดียว

อาการต่อไปนี้เข้าได้กับอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด

  1. เจ็บแน่นๆ อึดอัด บริเวณกลางหน้าอก อาจจะเป็นด้านซ้าย หรือทั้งสองด้าน มักจะไม่เป็นด้านขวาด้านเดียว บางรายจะร้าวไปที่แขนซ้ายหรือทั้งสองข้าง หรือจุกแน่นที่คอ บางรายเจ็บบริเวณกรามคล้ายเจ็บฟัน
  2. อาการเกิดขึ้นขณะออกแรงหรือกำลัง เช่น เดินเร็วๆ รีบ หรือขึ้นบันได วิ่ง โกรธโมโห อาการดังกล่าวจะดีขึ้นเมื่อหยุดออกแรงหรือกำลัง
  3. ในบางรายที่อาการรุนแรง อาการแน่นหน้าอกอาจเกิดขึ้นในขณะพัก เช่น นั่ง หรือ นอน หรือ หลังอาหาร
  4. กรณีที่เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาการจะรุนแรงมาก อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น เหงื่อออกมาก เป็นลม

โรคหัวใจขาดเลือด

อาการที่บอกได้ว่าไม่ใช่เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด

  1. เจ็บแหลมๆ คล้ายเข็มแทง เจ็บแปล๊บๆ เจ็บจุดเดียว กดเจ็บบริเวณหน้าอก อาการเจ็บสัมพันธ์กับการหายใจหรือการไอ
  2. อาการเจ็บเกิดขึ้นในขณะพัก มีอาการนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน รวมทั้งอาการเจ็บหน้าอกที่เป็นต่อเนื่องตลอดเวลาเป็นวันๆ และอาการเจ็บหน้าอกที่กินเวลาสั้นมากๆ เพียง 2-3 วินาทีหรือน้อยกว่า
  3. อาการมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่า หรือ ขยับตัว หรือ หายใจเข้าลึกๆ
  4. อาการเจ็บร้าวขึ้นศีรษะ ปลายมือ ปลายเท้า อาการเจ็บร้าวไปขา หรือร้าวไปเหนือขากรรไกรล่าง
  5. อาการเจ็บบริเวณท้องส่วนกลางหรือท้องน้อย อาการเจ็บหรือระคายเคืองที่เป็นบริเวณนิ้วใดนิ้วหนึ่ง 

การวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือด

  1. การวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือด นอกจากอาการเจ็บหน้าอกแล้ว ต้องอาศัยประวัติอื่นๆด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในผู้ป่วยบางรายที่อาการไม่เหมือนนัก แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ ก็ควรได้รับการตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วย
  2. การวินิจฉัยแยกโรคสำหรับผู้ป่วยเจ็บหน้าอก ต้องอาศัยทั้งความรวดเร็วและความแม่นยำ เวลาทุกนาทีหมายถึงการอยู่รอดของกล้ามเนื้อหัวใจในโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน ยิ่งวินิจฉัยได้เร็ว ก็ยิ่งเปิดเส้นเลือดได้เร็ว ยิ่งเปิดเส้นเลือดได้เร็วก็ยิ่งรักษากล้ามเนื้อหัวใจไว้ได้มาก ยิ่งช้ากล้ามเนื้อหัวใจก็จะเสียชีวิตมากขึ้นจำนวนกล้ามเนื้อหัวใจที่รักษาไว้ได้จะสัมพันธ์กับอัตราการมีชีวิตอยู่อย่างชัดเจน ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน ถ้าได้รับการเปิดเส้นเลือดภายใน 3 ชั่วโมง ผลการรักษาจะดีมาก แต่ถ้าหลอดเลือดอุดตันเกิน 12 ชั่วโมง การให้ยาละลายลิ่มเลือดจะไม่มีประโยชน์อีกต่อไป ถ้ามาพบแพทย์หลังจากเจ็บแน่นหน้าอกเกิน 12 ชั่วโมง หรือแพทย์วินิจฉัยไม่ได้ภายใน 12 ชั่วโมง กล้ามเนื้อหัวใจก็จะถูกทำลายถาวร ไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็ตาม ถ้าได้รับการเปิดเส้นเลือดไม่ว่าจะด้วยยาหรือด้วยการใช้การทำบอลลูนหลอดเลือดหัวใจ ขยาย ถ้าแม้นว่าช้ากว่า 3 ชั่วโมง ผลการรักษาก็อาจจะไม่ดีเท่าที่ควร

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

การรักษา

เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกเนื่องมาจากความผิดปรกติของหลอดเลือดหัวใจ แพทย์อาจใช้วิธีทดสอบบางอย่างเพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ไข เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ตรวจวัดความดันโลหิต และตรวจวัดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ผู้ป่วยอาจต้องไปพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อการวินิจฉัยแบบอื่นร่วมด้วย เช่น การเดินบนสายพาน หรือฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ เมื่อผลการวินิจฉัยเสร็จสมบูรณ์

ผู้ป่วยอาจจะได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนแปลงการดำเนินกิจวัตรบางอย่าง เช่น

  • ถ้าสูบบุหรี่ แนะนำให้เลิกสูบโดยเด็ดขาด
  • ลดปริมาณไขมันในอาหาร และพยายามควบคุมน้ำหนักตัว
  • พยายามควบคุมอารมณ์ให้สงบ เมื่ออยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญความเครียด

รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ ได้แก่

  • พกยาขยายหลอดเลือดชนิดสเปร์ หรือชนิดอมใต้ลิ้น เพื่อใช้ทันทีเมื่อเกิดอาการ
  • รับประทานยาทุกวัน เพื่อป้องกันการเกิดอาการ
  • รับประทานยา เพื่อควบคุมความดันโลหิต
  • ในกรณีที่เป็นเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ปรกติ 

งดบุหรี่

  1. การสูบบุหรี่จะลดปริมาณออกซิเจนที่มีอยู่ในกระแสเลือด และทำให้หลอดเลือดตีบลง สิ่งเหล่านี้จะทำให้อาการเจ็บหน้าอกเลวลง ดังนั้นการสูบบุหรี่จึงถือเป็นตัวการสำคัญที่สุด ที่ทำให้เกิดปัญหาโรคหัวใจ อัตราการเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากหัวใจวายในคนที่สูบบุหรี่นั้นมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่อย่างน้อย 2 เท่า การงดลูบบุหรี่จะลดความเสี่ยงของโรคหัวใจตั้งแต่ปีแรก และภายใน 3-5 ปี อัตราเสี่ยงนี้จะลดลงมาราวกับไม่เคยสูบบุหรี่เลย
  2. ปีหนึ่งๆ มีคนงดสูบบุหรี่นับล้านคน มีหลายวิธีที่คนส่วนใหญ่พบว่าอาจมีประโยชน์ เช่น การตั้งจุดมุ่งหมาย ระบุวันที่จะงดสูบบุหรี่อย่างเด่นชัด บอกเพื่อนฝูงและญาติสนิท เพื่อจะได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือ บางคนใช้การทดแทนนิโคตินจากแผ่นแปะผิวหนัง หรือหมากฝรั่งช่วย ซึ่งจะสามารถลดอาการข้างเคียงจากการงดสูบบุหรี่ คุณเท่านั้นที่จะสามารถตัดสินใจว่า ควรจะเลือกวิธีไหน แพทย์และเภสัชกรสามารถให้คำปรึกษากับคุณได้ ลดความเครียด 1. ในชีวิตประจำวันมักจะมีความเครียดอยู่เสมอ การเรียนรู้และพยายามระงับอารมณ์อยู่ในความสงบเมื่อต้องเผชิญภาวะเครียด จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ และลดการเกิดอาการเจ็บหน้าอก เพราะเมื่อคุณโกรธหรือเครียด หัวใจคุณจะเต้นเร็วขึ้นและทำงานหนักขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณมีอาการเจ็บหน้าอกขึ้นได้ 2. จำไว้เสมอว่า ความเครียดจะส่งผลไม่ดีต่อหัวใจ
  3. ศึกษาวิธีผ่อนคลาย เช่น หายใจลึกๆ สอบถามคำแนะนำเพิ่มเติมจากแพทย์หรือเภสัชกร
  4. ถ้าพบว่ากำลังเผชิญอยู่กับภาวะเครียด พยายามทำให้จิตใจสงบและพยายามคิดถึงสิ่งต่างๆ ในแง่ดี
  5. การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยลดความเครียดได้ 

ควบคุมน้ำหนักและอาหาร

  1. น้ำหนักส่วนเกินจะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น และทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกขึ้นได้ ถ้าอ้วนเกินไป ควรลดน้ำหนัก โดยเปลี่ยนแปลงรายการอาหาร รับประทานอาหารน้อยลง หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานสูง ร่วมกับออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  2. ลดอาหารประเภทไขมันจากสัตว์ หากต้องการลดน้ำหนัก จำไว้ว่าการลดอาหารอย่างรวดเร็วไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องในการลดน้ำหนัก ควรจะลดน้ำหนักอย่างช้าๆ และต่อเนื่อง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้สามารถลดน้ำหนักได้ดีกว่า
  3. ลดปริมาณขนมหวาน ไอศกรีม เค้ก และน้ำอัดลม
  4. แม้จะเป็นที่เชื่อกันว่าไวน์แดงปริมาณน้อยๆ จะเป็นผลดีต่อหัวใจ แต่เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะให้พลังงานสูง ซึ่งจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และไม่เป็นผลดีต่อหัวใจ
  5. อาหารต่อไปนี้จะช่วยให้ร่างกายสมดุลมากขึ้น แป้งและอาหารที่มีกากมาก ผักและผลไม้สด เนื้อปลา

ข้อควรปฏิบัติในการรับประทานยา

  1. วัตถุประสงค์ในการรับประทานยา เพื่อควบคุมและรักษาอาการเจ็บหน้าอก ป้องกันการเจ็บหน้าอก ลดความดันโลหิต และป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน
  2. แพทย์อาจแนะนำให้พกยาอมใต้ลิ้นหรือสเปรย์ เพื่อใช้ในเวลาที่มีอาการเจ็บหน้าอก ยาไนโตรกลีเซอรีนช่วยลดการทำงานของหัวใจ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกบางครั้งแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยานี้ ก่อนที่จะปฏิบัติภารกิจบางอย่างที่มักพบว่าทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก ผู้ป่วยควรจะพกยานี้ติดตัวตลอดเวลาเผื่อฉุกเฉิน และเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ถ้าสเปรย์หรือยาอมใต้ลิ้นไม่สามารถบรรเทาอาการ ควรจะใช้ยาอมใต้ลิ้นเม็ดที่สองหรือสเปรย์ซ้ำ ถ้าอาการยังไม่ทุเลาควรจะนั่งลง และไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
  3. นอกเหนือจากยาอมใต้ลิ้นและสเปรย์แล้ว แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาเพื่อช่วยลดจำนวนครั้งของการเจ็บหน้าอก ซึ่งยาที่ใช้นี้มีหลายกลุ่มที่แพทย์สามารถเลือกใช้ ขึ้นกับความดันโลหิตของผู้ป่วย ระดับไขมันในเลือด รวมทั้งความรุนแรงของอาการเจ็บหน้าอก
  4. ปฏิบัติตามตารางและคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ยาแต่ละชนิดนั้นแตกต่างกัน จึงต้องรับประทานในเวลาที่ต่างกัน ผู้ป่วยควรมีตารางการรับประทานยา และแบบแผนการปฏิบัติตัวเป็นของตนเองโดยเฉพาะ
  5. เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยต้องมั่นใจว่าเข้าใจคำแนะนำ หากมีข้อสงสัยรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ควรศึกษาถึงอาการเจ็บหน้าอกและโรคหัวใจ รวมทั้งประโยชน์จากการใช้ยา ไม่ควรหยุดหรือเปลี่ยนยา ก่อนที่จะปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และถ้ายาที่ใช้อยู่ไม่ได้ผล รีบแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ 

การปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด

  1. อาการเจ็บหน้าอกอาจเป็นได้จากการขาดเลือดเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย จากการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจอย่างกระทันหัน ซึ่งการปฏิบัติตัวในสองกรณีมีความแตกต่างกัน
  2. ถ้าเป็นจากการขาดเลือดเนื่องจากหลอดเลือดตีบ มีอาการขณะออกแรงหรือออกกำลังกาย ให้หยุดการออกแรงหรือออกกำลังที่มากจนทำให้เกิดอาการ และไปพบแพทย์โดยเร็วแต่ไม่ถึงกับฉุกเฉิน
  3. ถ้าเป็นจากกล้ามเนื้อตาย จากการอุดตันของเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจอย่างกระทันหัน มีอาการในขณะพักหรืออยู่เฉยๆ โดยมีอาการค่อนข้างมาก ให้ไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด และควรไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด กล้ามเนื้อหัวใจตายเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจนั้น โดยกล้ามเนื้อจะตายเกือบทั้งหมดภายใน 4-6 ชั่วโมง หากแก้ไขได้ก่อน จะสามารถช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจกลับมาทำงานได้ตามปกติ โดยเฉพาะในปัจจุบันมียาฉีดที่สามารถละลายก้อนเลือดที่ไปอุดตันหลอดเลือดที่ได้ผลดีมาก ฉะนั้น ถ้ามีอาการของโรคนี้เกิดขึ้นถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ไม่ควรปล่อยไว้นานเกิน 4-6 ชั่วโมง หลังจากนี้ไปแล้ว ผลการรักษาจะไม่ดีเท่าที่ควรหรือไม่ได้ผลเลย


image

ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
 

แหล่งที่มา : vachiraphuket.go.th

อัพเดทล่าสุด