อันตรายจากแสงแดด วิธีรักษาผิวไหม้จากแสงแดด รูปแสงแดดยามเช้า ความมืดกลางแสงแดด
อันตรายจากแสงแดด
โลกของเรามีชั้นโอโซนในบรรยากาศช่วยกรองรังสีอัลตร้าไวโอเลต ที่มาจากดวงอาทิตย์ งานวิจัยตั้งแต่ ปี ค.ศ.1980 พบว่าชั้นโอโซนสลายไป 3 -6% ทุก 10 ปี โดยเฉพาะบริเวณขั้วโลกเหนือ ซึ่งเป็นผลมาจากสารคลอรีนที่เป็นมลพิษจากอุตสาหกรรมต่างๆ โดยทุก 1% ที่ชั้นโอโซนลดลงจะเพิ่มรังสีอัลตร้าไวโอเลต – B มาถึงผิวโลก 1% ด้วย
รังสีอัลตร้าไวโอเลตในแสงแดดประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
1. รังสีอัลตร้าไวโอเลต –A (ความยาวคลื่น 320–400 nm) รังสีชนิดนี้มีผลทำให้สีผิวคล้ำลง ผิวหนังเหี่ยวย่น และเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนัง เมื่อเปรียบเทียบกับรังสีอัลตร้าไวโอเลต – B รังสีชนิดนี้จะมีพลังงานต่ำกว่า แต่กลับสามารถผ่านเข้าไปในชั้นลึกของลูกตาได้มากกว่า
2. รังสีอัลตร้าไวโอเลต –B (ความยาวคลื่น 280–320 nm) รังสีชนิดนี้มีผลทำให้ผิวไหม้ และก่อให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ รังสีชนิดนี้มีพลังงานสูงกว่า และมีผลเสียมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับรังสีชนิดแรก ส่วนผลที่จะเกิดต่อดวงตาก็คือรังสีนี้จะถูกดูดซึม และทำให้เกิดอันตรายต่อกระจกตาและเลนส์แก้วตา แต่มักไม่มีผลต่อจอประสาทตา
คนทั่วไปมีความเสี่ยงต่อรังสีอัลตร้าไวโอเลตได้ แต่ผู้ที่ต้องเผชิญแสงแดดเป็นเวลานานจะมีความเสี่ยงมากกว่าปรกติ เช่น ชาวนา ชาวประมง กรรมกร เป็นต้น ช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคือ 10.00–16.00 น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับรังสีที่สะท้อนออกมาจาก หิมะ ผิวน้ำ ทราย จะมีความเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดจากรังสีมากกว่าปกติ ระดับของรังสีอัลตร้าไวโอเลตจะมีระดับสูงในบริเวณเส้นศูนย์สูตร และพื้นที่ที่อยู่ในระดับสูง
กลุ่มเสี่ยงที่รังสีอัลตร้าไวโอเลตจะทำอันตรายต่อตา
1. ผู้สูงอายุ ร่างกายของเรามีโมเลกุลที่ช่วยป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลต (Protective Molecule) ซึ่งโมเลกุลพวกนี้จะลดลงตามอายุ
2. Lightly Pigmented Individuals ในผู้ที่มีสีม่านตาอ่อน เช่น สีฟ้า จะมีโอกาสเกิดอันตรายจากรังสีอัลตร้าไวโอเลตทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อมได้มากว่าผู้ที่มีสีม่านตาเข้ม
3. Aphakia พบว่าในผู้ป่วยที่มีต้อกระจก เลนส์แก้วตาที่ขุ่นฝ้าเป็นต้อกระจกจะช่วยกรองรังสีอัลตร้าไวโอเลตได้เป็นอย่างดี ดังนั้นผู้ป่วยที่ผ่าตัดเอาต้อกระจกออกแล้วควรจะใส่เลนส์แก้วตาเทียมที่กรองรังสีอัลตร้าไวโอเลตได้ด้วย
4. ผู้ที่ใช้ยาที่มีความไวต่อแสง (Photosensitizing Drugs) ยาบางชนิดเมื่อเข้าไปในร่างกายแล้วสามารถดูดซับรังสีอัลตร้าไวโอเลตทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถทำลายเนื้อเยื่อได้ เช่น ยารักษาโรคผิวหนังบางชนิด ยารักษาโรคเก๊าต์บางชนิด ถ้าสารเหล่านี้ไปสะสมที่เลนส์แก้วตา หรือจอประสาทตา จะเกิดอันตรายได้
อันตรายของรังสีอัลตร้าไวโอเลต
รังสีอัลตร้าไวโอเลตเป็นรังสีพลังงานสูงที่ตาเรามองไม่เห็น เมื่อรังสีถูกดูดซับเข้าไปจะทำให้เกิดปฏิกริยาเป็นอันตรายต่อส่วนต่างๆ ของดวงตา คือ
1. หนังตา ทำให้ผิวแห้ง เหี่ยวย่น มะเร็งผิวหนัง
2. กระจกตา ถ้าโดนรังสีอัลตร้าไวโอเลตในระยะสั้นเป็นชั่วโมง บนชายหาดหรือหิมะ โดยไม่ใส่เครื่องป้องกันดวงตา จะทำให้เกิดกระจกตาอักเสบ มีอาการปวดเคือง และตามัวชั่วคราวได้ ส่วนผู้ที่ต้องได้รับรังสีอัลตร้าไวโอเลตเป็นเวลานานอยู่เป็นประจำก็จะทำให้เกิดต้อเนื้อได้
3. เลนส์แก้วตา รังสีอัลตร้าไวโอเลต –B จะไปทำลายโปรตีนในเนื้อเลนส์แก้วตา ซึ่งจะทำให้เกิดโรคต้อกระจกได้
4. จอประสาทตา รังสีอัลตร้าไวโอเลตทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม (Age–Related Macular Degeneration)
การป้องกันดวงตาจากอันตรายของรังสีอัลตร้าไวโอเลต สามารถทำได้ง่ายๆ คือ
1. สวมแว่นกันแดดในขณะที่ออกกลางแจ้ง เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทางหนึ่งในการป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลต ควรเลือกแว่นกันแดดที่กันรังสีอัลตร้าไวโอเลตได้ 99-100% และกรองแสงได้ 80% แต่ไม่ควรเกิน 90–92% เพราะจะทำให้มองเห็นไม่ชัด อย่าคิดว่าแว่นราคาแพง หรือแว่นที่มีสีดำเข้มจะป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลตได้จริง ควรตรวจสอบดูให้ดี สำหรับผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ที่กันรังสีอัลตร้าไวโอเลตได้ก็ควรจะสวมแว่นกันแดดด้วย ส่วนเด็กๆก็ควรใส่แว่นกันแดดจริงๆ ไม่ใช่แว่นกันแดดของเล่น โดยสามารถเลือกใช้เลนส์พลาสติกเพื่อป้องกันอันตรายจากการแตกหัก การเลือกแว่นกันแดดควรเลือกแบบที่มีที่ครอบด้านข้างเพื่อป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลตที่เข้ามาจากด้านข้างได้
2. สวมหมวก โดยเลือกหมวกที่มีส่วนยื่นกันแดดออกมาอย่างน้อย 3 นิ้ว จะช่วยป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเลตได้ 50%
ขอขอบคุณข้อมูล ศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย
แหล่งที่มา : vcharkarn.com