โรคเลือดไหลไม่หยุด อาการของโรคเลือดไหลไม่หยุด สาเหตุโรคเลือดไหลไม่หยุด


1,070 ผู้ชม


โรคเลือดไหลไม่หยุด อาการของโรคเลือดไหลไม่หยุด สาเหตุโรคเลือดไหลไม่หยุด

 

 ฮีโมฟีเลีย 'โรคเลือดไหลไม่หยุด'

            เดิมเข้าใจว่า "ฮีโมฟีเลีย" เป็นโรคที่เกิดขึ้นแต่เฉพาะในราชวงศ์อังกฤษ แท้จริงแล้วโรคนี้เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ผศ.นพ.ธีระ ฤชุตระกูล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช

            โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) หรือ "โรคเลือดออกง่ายหยุดยาก" เป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อย สามารถถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปสู่ลูกหลานได้ พบผู้ป่วยที่เป็นเพศชายเท่านั้น ส่วนผู้หญิงจะเป็นพาหะที่ไม่แสดงอาการ แต่สามารถถ่ายทอดยีนส์ผิดปกติไปสู่ลูกหลานได้
            ปกติกลไกการห้ามเลือด อาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างการหดตัวของหลอดเลือด การเกาะกลุ่มของเกร็ดเลือด และการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันของโปรตีนหลายชนิด เรียกโปรตีนเหล่านี้ว่า แฟคเตอร์ (coagulation factors) เมื่อเกิดบาดแผลจะมีเลือดไหลออกมา และโปรตีนเหล่านี้จะช่วยทำให้เลือดแข็งตัวและหยุดไหล แต่ถ้าขาดแฟค เตอร์ตัวหนึ่งตัวใดไป เช่น แฟคเตอร์ 8เรียกว่า โรคฮีโมฟีเลีย เอ (Hemophilia A) หรือขาดแฟคเตอร์ 9เรียกว่า โรคฮีโมฟีเลีย บี (Hemophilia B) ก็จะทำให้เลือดไหลไม่หยุด

            ทั่วโลกมีอุบัติการณ์ใกล้เคียงกัน โดยพบ ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เอ บ่อยกว่าโรคฮีโมฟีเลีย บี ถึง 4เท่า สำหรับผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย เอ พบ 1คนต่อประชากร 20,000คน จึงคาดว่าจะมี ผู้ป่วยในประเทศไทยประมาณ 2,000-3,000คน แต่ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ได้รับการลงทะเบียนรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศเพียง 1,200คนเท่านั้น
            อาการจะมากน้อยต่างกัน สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก จะเริ่มแสดงอาการเมื่อผู้ป่วยเริ่มหัดเดิน หัดคลาน และหกล้ม ทำให้มีพรายย้ำจ้ำเขียวตามแขนขาและลำตัว นอกจากนี้ยังอาจจะมีเลือดออกในข้อ โดยมากมักเป็นกับข้อที่ต้องรับน้ำหนัก เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อศอก ผู้ป่วยมักมีอาการปวดรุนแรงในข้ออย่างเฉียบพลันและมีข้อบวมแดงร้อนในเวลาต่อมา ไม่สามารถขยับข้อได้ และต้องนอนนิ่งๆ ในท่างอเพื่อทุเลาอาการปวด นอกจากนี้ยังอาจจะมีเลือดออกในทางเดินอาหาร ปัสสาวะเป็นเลือด รวมถึงเลือดออกในสมอง ขณะที่ผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคน้อย มักจะไม่มีอาการเลือดออกจนกระทั่งได้รับอุบัติเหตุหรือเข้ารับการผ่าตัดหรือถอนฟัน และพบว่าเลือดไหลไม่หยุด
            แม้โรคนี้จะไม่สามารถรักษาหายขาดได้ แต่ประเทศไทยเราได้เริ่มนำการรักษาแบบ "Home Therapy" มาใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2549เป็นต้นมา โดยใช้แฟคเตอร์ 8และ 9เข้มข้น ที่สกัดจากพลาสมาและนำไปทำให้แห้งเป็นผง สามารถเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นที่บ้านได้ และทันทีที่มีเลือดออก ผู้ป่วยสามารถนำแฟคเตอร์เข้มข้นมาผสมน้ำกลั่น แล้วฉีดเข้าหลอดเลือด ก็จะทำให้เลือดแข็งตัวได้ตามปกติและหายเจ็บปวดอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางและรอพบแพทย์เพื่อสั่งการรักษา
            
เป็นที่น่ายินดีที่ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีอายุยืนยาวเช่นคนปกติทั่วไป ด้วยการรักษาดังกล่าว หากแต่ผู้ป่วยยังต้องดูแลตัวเองอย่างดี เช่น หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกหรืออุบัติเหตุต่างๆ หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินซึ่งอาจทำให้เลือดออกได้ง่าย และที่สำคัญควรพกพาสิ่งที่แสดงว่าตัวเองเป็นโรคฮีโมฟีเลียชนิดใด รวมทั้งชนิดของหมู่เลือด เพื่อที่คนใกล้ตัวจะได้ให้ความช่วยเหลือได้ถูกต้องและทันท่วงที


แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด