วิธีแก้อาการกรดไหลย้อน อาการกรดไหลย้อนตอนท้อง อาการกรดไหลย้อนหลังกินอาหารทำไมชอบเรอ


3,024 ผู้ชม


วิธีแก้อาการกรดไหลย้อน อาการกรดไหลย้อนตอนท้อง อาการกรดไหลย้อนหลังกินอาหารทำไมชอบเรอ

 

'กรดไหลย้อน' อาการยอดฮิตของคนทำงาน

สำหรับวัยทำงานที่ต้องเร่งรีบกับภารกิจที่รัดตัวตลอดทั้งวัน ยุ่งอยู่กับงานจนละเลยเรื่องการกิน กินอาหารไม่ตรงเวลาบ้าง กินอาหารตามสไตล์ตะวันตกบ่อยๆ บ้าง จนหลายคนมีอาการเหมือนมีน้ำย่อยขมๆ ไหลย้อนมาที่คอ ท้องอืด แน่นท้องหรือรู้สึกมีก้อนที่คอหลังอาหารมื้อหลัก มักจะคลื่นไส้อาเจียน รู้ไหม!! อาการเหล่านี้ก็อันตรายต่อสุขภาพคุณ เพราะมันเป็นสัญญาณเตือนของภัยเงียบอย่าง "โรคกรดไหลย้อน" ซึ่งเฮลตี้คลินิกวันนี้ขอนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจของภัยจากกรดไหลย้อนมาฝาก ดังนี้


'กรดไหลย้อน'อาการยอดฮิตของคนทำงาน


โดย รศ.พ.ญ.วโรชา มหาชัย หัวหน้าหน่วยทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เผยว่า โรคกรดไหลย้อนไม่ได้เป็นโรคแปลกใหม่สำหรับคนไทย เป็นโรคที่พบมานานแล้ว สาเหตุของโรคเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ หลอดอาหารส่วนปลายมีการคลายตัวอย่างผิดปกติ หรือความดันของหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายลดลงต่ำกว่าในคนปกติ หรือเกิดจากความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหาร รวมถึงพันธุกรรมอีกด้วย


ส่วนเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราเป็นโรคนี้คือ พฤติกรรมการบริโภคที่หันไปใช้ชีวิตแบบชาวตะวันตก ตื่นเช้ามาก็เร่งรีบไปทำงาน ไม่ค่อยกินข้าว กินแต่กาแฟ แถมยังชอบกินอาหารเย็นหนักๆ แล้วก็นอน อาหารจึงยังตกค้างอยู่ในกระเพาะ ร่างกายก็ต้องหลั่งกรดออกมาย่อยอาหารที่ยังตกค้างอยู่ ประกอบกับท่านอนไม่ถูกต้อง หัวเสมอหรือต่ำกว่าลำตัว ทำให้กรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาที่ลำคอ เกิดอาการแสบระคายเคืองขึ้นมาบนคอและถ้าปล่อยให้หลอดอาหารส่วนปลายระคายเคืองไปนานๆ อาจทำให้หลอดอาหารเป็นมะเร็งได้


ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงชีวิตเหมือนโรคมะเร็งหรือโรคหัวใจ แต่เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานลดลงได้ ซึ่งจะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเปรี้ยว ปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่แล้วลามขึ้นมาที่หน้าอกหรือคอ และในบางราย อาจมีอาการแสดงออกนอกหลอดอาหารได้ เช่น อาการทางปอด หรืออาการทางคอและกล่องเสียง เสียงแหบเรื้อรัง มีไอเรื้อรัง มีกลิ่นปาก หรือในบางราย อาจมีอาการทางระบบหายใจ เช่น หอบหืด หรืออาการเจ็บหน้าอกได้


แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ โรคนี้จะมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ คล้ายกับอาการของโรคกระเพาะอาหาร จึงทำให้คนส่วนใหญ่มักจะเหมารวมว่า ตนเองอาจจะเป็นโรคกระเพาะอาหาร และไปซื้อยาเคลือบแผลในกระเพาะอาหารมารับประทานเอง ทำให้การรักษาไม่ตรงจุด โดยเฉพาะคนไทยเรามักจะชอบซื้อยามารับประทานเองและคิดว่าการไปพบแพทย์เป็นเรื่องใหญ่ ระยะหลังมานี้จึงพบโรคกรดไหลย้อนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่คนไทย


ส่วนเรื่องการวินิจฉัยโรคนั้น โดยปกติแล้วแพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากอาการดังกล่าวมา หากเป็นแพทย์สามารถให้การรักษาเบื้องต้นได้ โดยจะติดตามดูอาการของผู้ป่วย ในบางรายอาจมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ส่องกล้องทางเดินอาหาร ตรวจทางรังสีวิทยา การตรวจวัดการบีบตัวของหลอดอาหาร และการตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร ซึ่งพบว่าได้ผลแม่นยำและดีที่สุดในปัจจุบัน


ดังนั้น การจะจัดการกับโรคกรดไหลย้อนก็ไม่ใช่เรื่องยาก ควรมุ่งที่การควบคุมอาการให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งหลักใหญ่อาศัยการปรับเปลี่ยนอาหารการกิน และวิถีชีวิตของผู้ป่วย ประสานกันการกินยาเท่าที่จำเป็น ซึ่งการปรับเปลี่ยนอาหารนั้นเน้น 2 เรื่องใหญ่ คือ


หนึ่ง หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดผ่อนคลายไม่กระชับ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต เปปเปอร์มินต์ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน น้ำมัน ของทอดและอาหารที่มีไขมันสูงทั้งหลาย นมเต็มส่วน อาหารที่ผสมครีม อาหารขยะ เป็นต้น สำหรับผู้ที่น้ำหนักเกิน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องควบคุมน้ำหนัก และ


สอง หลีกเลี่ยงอาหารที่ไปเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร เช่น ชา กาแฟ กระเทียม หัวหอม พริกและอาหารเผ็ดร้อน หน่อไม้ฝรั่ง ไข่ พาสต้า ก๋วยเตี๋ยว แป้งข้าวโพด ลูกพรุน ส้ม น้ำมะเขือเทศ น้ำอัดลม น้ำตาล อาหารขยะ และอาหารที่ผ่านมาแปรรูป เป็นต้น


ส่วนการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตนั้น ก็เพื่อจัดการให้มีกรดไหลย้อนขึ้นหลอดอาหารน้อยที่สุด คั่งอยู่ในหลอดอาหารเป็นเวลาสั้นที่สุด อันดับหนึ่ง คือ วิถีการกิน อย่ากินอิ่มเกิน กินน้อยแต่หลายมื้อได้ อย่ากินอย่างเร่งรีบ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด อย่าดื่มน้ำมากพร้อมอาหาร กินอาหารแล้วห้ามออกกำลังกายหรือนอนทันที ควรทิ้งช่วงประมาณ 2-3 ชั่วโมง เมื่อรู้สึกว่ากรดไหลย้อน ให้ดื่มน้ำ กลืนน้ำลาย หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง เพื่อช่วยสลาดกรด อันดับสอง คือ กำหนดท่าทางของร่างกายให้เหมาะสม ได้แก่ อย่าก้ม (โดยเฉพาะช่วงหลังอาหาร) อย่าใส่เข็มขัดหรือเสื้อผ้ารัดแน่นเกินไป พยายามนอนตะแคงขวา เพื่อจะได้ไม่กดทับท้องจนกรดไหลย้อน สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหากรดไหลย้อนระหว่างนอน ควรยกหัวเตียงให้ลาดสูงขึ้นประมาณ 6-8 นิ้ว เพื่อป้องกันไม่ให้กรดคั่งในหลอดอาหาร และที่สำคัญต้องจัดการกับความเครียด ผ่อนคลายให้มากขึ้น เพราะความเครียดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีกรดมาก



         


แหล่งที่มา : thaihealth.or.th

อัพเดทล่าสุด