อาการเจ็บหน้าอกข้างขวา เจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้า ตั้งครรภ์ เจ็บหน้าอก


2,580 ผู้ชม


อาการเจ็บหน้าอกข้างขวา เจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้า ตั้งครรภ์ เจ็บหน้าอก

 

เมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบ

รองศาสตราจารย์นายแพทย์ประดิษฐ์  ปัญจวีณิน
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

           ในคนสูงอายุจะพบว่ามีอัตราการเกิดโรคหัวใจสูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ โรคนี้เป็นต้นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้มีอัตราตายสูงขึ้นในผู้สูงอายุและมีผลให้มีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตที่แย่ลง เช่น ทำงานไม่ได้ดีเท่าที่ควร เหนื่อยง่ายขึ้นและเป็นภาระกับครอบครัวและสังคมมากขึ้น ในสมัยก่อนการรักษาทำได้จำกัด แต่ด้วยวิวัฒนาการในปัจจุบันพบว่ามีการรักษาได้หลายวิธีมาก จึงเป็นผลให้สามารถลดอันตรายและทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคหัวใจกลุ่มนี้จะยิ่งใช้เงินเป็นจำนวนมากขึ้นตามความรุนแรงของโรคที่เป็น ฉะนั้น ถ้าเราสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ได้จะเป็นการดีกว่าที่จะมาตามแก้ที่ปลายเหตุ อันอาจทำให้มีการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร มีการทุพพลภาพหรือเสียค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดได้อย่างไร
           โรคจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการหนาตัวของผนังหลอดเลือดซึ่งอาจจะเป็นผลจากมีผลึกไขมันไปเกาะหรือมีพังผืดอันเป็นผลมาจากความเสื่อมหรือมีปัจจัยอื่น ๆ ไปกระตุ้นให้เกิดภาวะหนาตัวขึ้น ทำให้เลือดไหลผ่านไม่สะดวกเป็นผลให้หัวใจขาดเลือดได้ ปัจจัยที่ว่านี้ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ ไขมันในเลือดสูง อายุที่มากขึ้น อ้วน ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย ฯลฯ จะเห็นได้ว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาสามารถแก้ไขหรือทำให้ดีขึ้นได้ แต่ประการหนึ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้ คือ อายุที่เพิ่มขึ้น
จะรู้ได้อย่างไรว่ามีอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
           โดยทั่ว ๆ ไปแล้วคนมักจะเข้าใจว่าอาการของโรคนี้คือ อาการเจ็บหน้าอกด้านซ้ายและลักษณะอาการเจ็บจะเป็นอย่างไรก็ได้ เช่น เจ็บเสียวแปล๊บ ๆ เจ็บจี๊ด เป็นวินาทีหรือนาที ซึ่งจริง ๆ แล้วลักษณะที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เป็นจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ลักษณะเฉพาะของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีดังนี้  คือ อาการเจ็บหน้าอกจะต้องเป็นที่บริเวณกลางหน้าอกตรงบริเวณเหนือลิ้นปี่ขึ้นมาเล็กน้อย ลักษณะจะต้องเป็นแบบแน่น ๆ หน้าอกเหมือนมีอะไรมาบีบรัด หรือมีของหนัก ๆ มาทับอกอยู่ อาจมีอาการร้าวไปที่บริเวณไหล่ซ้ายและแขนซ้าย หรือร้าวไปที่กรามทั้ง 2 ข้างและที่สำคัญมักจะสัมพันธ์กับการออกแรงหรือออกกำลังกาย เพราะช่วงนั้นหัวใจจะต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น แต่เลือดไปเลี้ยงไม่ได้เพราะว่ามีหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบอยู่ อาการที่เป็นอยู่จะต้องนานเป็นนาทีขึ้นไป เพราะฉะนั้นถ้ามีอาการเสียวแปล๊บ ๆ  เป็น วินาที เป็นด้านซ้ายของหน้าอกไม่สัมพันธ์กับการออกแรง (ซึ่งจะเป็นอาการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ บ่อย ๆ ) ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นจากหลอดเลือดหัวใจตีบ 
            อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยมีอาการเฉพาะโรคนี้ครบทุกอย่าง แต่ไม่สัมพันธ์กับการออกแรงหรือออกกำลังกาย  ให้สงสัยว่าอาจจะไม่ใช่เป็นการขาดเลือดธรรมดา อาจจะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดขึ้นอย่างกระทันหันไม่ใช่แค่หลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ส่วนใหญ่พวกนี้อาการจะรุนแรงมากกว่าโรคหัวใจขาดเลือด และมีอันตรายและผลแทรกซ้อนมากกว่า
หากมีอาการคล้ายหรือเหมือนอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบควรทำอย่างไร
           ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า โรคนี้ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิต ลดการเกิดทุพพลภาพ และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้อย่างมาก ฉะนั้นเมื่อสงสัยว่ามีอาการดังกล่าว จึงควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว จากการที่กล่าวไว้แล้วว่า อาการเจ็บหน้าอกอาจเป็นได้จาก 2 กรณี คือ เกิดจากการขาดเลือดเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจตาย จากการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจอย่างกระทันหัน 
 การปฏิบัติตัวใน 2 กรณีมีความแตกต่างกัน ดังนี้
1. ถ้าเป็นจากการขาดเลือดเนื่องจากหลอดเลือดตีบ กล่าวคือ มีอาการขณะออกแรงหรือ
ออกกำลังกาย ให้ปฏิบัติตัว ดังนี้ ให้หยุดการออกแรงหรือออกกำลังที่มากจนทำให้เกิดอาการ และไปพบแพทย์โดยเร็วแต่ไม่ถึงกับฉุกเฉิน
2. ถ้าเป็นจากกล้ามเนื้อตาย จากการอุดตันของเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจอย่างกระทันหัน 
กล่าวคือ มีอาการในขณะพักหรืออยู่เฉย ๆ โดยมีอาการค่อนข้างมาก ให้ไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด และควรไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพราะว่ากล้ามเนื้อหัวใจตายเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจนั้น กล้ามเนื้อจะตายเกือบทั้งหมดภายใน 4-6 ชั่วโมง หากแก้ไขได้ก่อน จะสามารถช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจกลับมาทำงานได้ตามปกติ โดยเฉพาะในปัจจุบันมียาฉีดที่สามารถละลายก้อนเลือดที่ไปอุดตันหลอดเลือดที่ได้ผลดีมาก ฉะนั้น ถ้ามีอาการของโรคนี้เกิดขึ้นถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ไม่ควรปล่อยไว้นานเกิน 4-6ชั่วโมง หลังจากนี้ไปแล้ว ผลการรักษาจะไม่ดีเท่าที่ควรหรือไม่ได้ผลเลย

 ภาวะหัวใจขาดเลือดสามารถป้องกันได้หรือไม่
           “ป้องกันได้”  ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า มีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้หลายปัจจัย เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน  สูบบุหรี่ อ้วน ฯลฯ การป้องกัน คือ ให้ควบคุมและรักษาโรคดังกล่าวข้างต้น เลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด  เรื่องอ้วนต้องควบคุมอาหาร และออกกำลังกายสม่ำเสมอ 
การออกกำลังกายควรทำอย่างไร
           พบว่าการออกกำลังกายนอกจากช่วยให้ร่างกายโดยรวมแข็งแรงแล้ว ยังพบว่าสามารถลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ด้วย โดยทั่วไปควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 20 นาที  โดยออกกำลังกายแบบใดก็ได้ ขอให้เป็นการออกกำลังที่มีการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตลอดเวลา เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ เป็นต้น แต่การออกกำลังกายที่ใช้การเกร็งกล้ามเนื้อ หรือไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกายมักจะไม่แนะนำ เช่น การยกน้ำหนัก เป็นต้น  สำหรับการออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องหักโหมให้ทำเท่าที่ร่างกายจะรับได้ โดยมีหลักง่าย ๆ คือ ให้ออกกำลังกายโดยให้มีชีพจรเต้นเพิ่มมากขึ้นมากกว่าขณะพัก ตั้งแต่ 10 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป ตัวอย่างเช่น ขณะพักจับชีพจรได้ 70 ครั้งต่อนาที เราควรออกกำลังกายในปริมาณที่ทำให้ชีพจรเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 80 ครั้งต่อนาที หรือมากกว่า อย่างไรก็ตามถ้าจะออกให้เพิ่มขึ้นมากว่าที่กำหนดไว้ ทั้งปริมาณและจำนวนวันของของการออกกำลังกายก็สามารถกระทำได้ แต่มักไม่ได้ช่วยในการป้องกันโรค แต่จะช่วยให้กล้ามเนื้อของร่างกายแข็งแรงขึ้น

 

แหล่งที่มา : si.mahidol.ac.th

อัพเดทล่าสุด