ไวรัสของโรคปอดบวม การดูแลรักษาโรคปอดบวม สถิติโรคปอดบวม
โรคปอดบวมจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ | |
โดย : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ |
โรคปอดบวมจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ภโรคปอดบวม (pneumonia) เป็นโรคที่มีอันตรายถึงชีวิต พบว่าเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคปอดบวม หมายถึง ภาวะการอักเสบที่เกิดขึ้นที่ปอด สาเหตุสำคัญเกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส ในสภาวะที่ผิดปกติอาจจะเกิดจากเชื้อราหรือหนอนพยาธิก็ได้ เมื่อผู้ป่วยเกิดเป็นปอดบวม ก็จะมีหนองและสารน้ำอย่างอื่นในถุงลม ทำให้ร่างกายไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้ตามปกติ ร่างกายอยู่ในภาวะขาดออกซิเจน และอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของโรคปอดบวมภมักพบในช่วงที่มีการระบาดตามฤดูกาลที่เรียกว่าภseasonal fluภหรืออาจพบเป็นปัญหาโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เช่น ในกรณีของเชื้อ H5N1 หรือ H1N1 สายพันธุ์ใหม่ 2009
สาเหตุของโรคปอดบวม
- เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อาจเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส มัยโคพลาสมา เชื้อรา หรือหนอนพยาธิ โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุมักจะอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย และสามารถแพร่กระจายออกมาเวลาไอ จาม
- อาจเกิดจากการสูดดมสารเคมี เช่น แอมโมเนีย ไนโตรเจนไดออกไซด์ หรือการสำลักน้ำลายเศษอาหาร และน้ำย่อย
- ในภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ อาจเกิดจากเชื้อโรคที่ปกติอยู่ในลำคอ โดยเหตุชักนำสำคัญที่ทำให้เกิดปอดบวม เกิดจากร่างกายมีภาวะที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อการอักเสบติดเชื้อลดลง เช่น อายุมาก ขาดอาหาร เบาหวาน ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
- พบการติดเชื้อในปอดได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีการอุดกั้น และการอักเสบเรื้อรังในหลอดลม
การอักเสบของปอดที่เกิดจากเชื้อไวรัส
- การอักเสบของปอดที่เกิดจากเชื้อไวรัสมักจะพบในเด็ก ผู้ป่วยอาจจะเป็นไม่มากหรืออาจจะเป็นมากจนกระทั่งเสียชีวิต
- เชื้อที่เป็นสาเหตุที่สำคัญ ได้แก่ภไวรัสอาร์เอสวี (respiratory syncytial virus)ภมักเป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบในเด็กเล็ก ไวรัสไข้สุกใส ในเด็กอาจจะเกิดปอดบวมได้น้อยกว่าร้อยละ 1 แต่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่อาจจะพบได้ถึงร้อยละ 50 โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันไม่ดี เช่น โรคมะเร็ง โรคเอดส์ ผู้ป่วยจะเกิดอาการหลังมีผื่น 1-6 วัน จะมีอาการแน่นหน้าอก ไอเป็นเลือด การตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติอะไร กรณีไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) ทำให้เกอดปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ บางรายอาจจะรุนแรงถึงกับเสียชีวิตโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด เบาหวาน
- ผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสชนิดรุนแรง ในภาพรังสีทรวงอกมักจะพบมีฝ้าขาวที่ปอด
- การวินิจฉัยโดยการแยกเชื้อจากลำคอ โดยทั่วไปทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ๆ อาจใช้วิธีตรวจปฏิกิริยาน้ำเหลืองโดยการเปรียบเทียบระดับแอนติบอดี จะพบว่าระดับแอนติบอดีในช่วงพักฟื้นมากกว่าในช่วงเฉียบพลันมากกว่าหรือเท่ากับ 4 เท่า
- การรักษาด้วยยาต้านไวรัส อาจพิจารณาใช้ยาบางชนิดสำหรับรักษาปอดอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ใช้ อะแมนทาดีน หรือโอเซลทามิเวียร์ เชื้อไข้สุกใสใช้ยาอะซัยโคลเวียร์ เชื้อไวรัส CMV ใช้ยาแกงซัยโคลเวียร์ เป็นต้น
การติดต่อ
- หายใจเอาเชื้อโรคที่กระจายอยู่ในอากาศเข้าไป หลังจากได้รับเชื้ออาจจะเกิดอาการใน 1-3 วัน
- ไอ จามรดกัน บางรายอาจได้จากการกินน้ำแก้วเดียวกันหรือใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกัน
- คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นปอดบวม
- สำลักเอาเชื้อบักเตรีที่มีอยู่โดยปกติในจมูก และคอเข้าไป ซึ่งมักพบในเด็กที่อ่อนแอ พิการ
อาการ
ผู้ป่วยจะมีไอมาก หายใจหอบ หรือหายใจลำบาก และไข้ภในเด็กโตอาจบ่นเจ็บหน้าอกหรือบริเวณชายโครงด้วย อาจเริ่มเหมือนหวัดก่อน 1-2 วัน ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการน้ำมูกไหล จาม คัดจมูกนำมาก่อน บางรายอาจจะเริ่มด้วยไข้สูง หนาวสั่น หายใจหอบเหนื่อย อาจจะมีอาการเจ็บหน้าอกตำแหน่งที่เจ็บมักตรงกับบริเวณที่อักเสบ อาการไอ ในระยะแรกมีลักษณะไอแห้งๆ แต่ระยะต่อมาจะมีจำนวนเสมหะเพิ่มมากขึ้น เสมหะเหนียว
โรคปอดบวมชนิดไม่รุนแรง
ผู้ป่วยจะมีอาการไอ และหอบ หรือหายใจเร็ว โดยใช้หลักเกณฑ์อัตราการหายใจ เด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน หายใจหอบ คือ หายใจตั้งแต่ 60 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป เด็กอายุ 2-11 เดือน หายใจหอบ คือ หายใจตั้งแต่ 50 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป เด็กอายุ 1-5 ปี หายใจหอบ คือ หายใจตั้งแต่ 40 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป เวลานับอัตราการหายใจต้องนับให้ครบ 1 นาทีในขณะที่เด็กสงบ ไม่ร้องหรือดิ้น ในเด็กเล็กให้ดูการกระเพื่อมขึ้นลงของหน้าท้อง อาจเปิดเสื้อขึ้นดูให้ชัด ถ้าเป็นในเด็กโตกว่า 7 ขวบ ให้ดูการเคลื่อนไหวของทรวงอก เคลื่อนโป่งออก และแฟบลงเป็น 1 ครั้ง
โรคปอดบวมชนิดรุนแรง
ผู้ป่วยจะมีอาการไอ และหายใจแรงมากจนทรวงอกส่วนล่างบริเวณลิ้นปี่ตลอดชายโครง บุ๋มเข้า ขณะหายใจเข้า จะมีหอบร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม แพทย์จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
โรคปอดบวมชนิดรุนแรงมาก
เด็กจะมีเสียงหายใจผิดปกติ อาจมีเสียงฮืดเวลาหายใจเข้าหรือเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือนมีเสียงหวีดเวลาหายใจออก หรือเด็กไม่กินนมและน้ำ ซึม ปลุกตื่นยาก หอบเหนื่อยมาก จนริมฝีปากเขียว ชัก ฯลฯ แพทย์จะต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 เดือน ถ้าเป็นปอดบวมถือว่ารุนแรงทุกราย เด็กอาจมาด้วยอาการไข้สูง ไม่กินนมหรือน้ำ โดยอาจไม่ไอ แพทย์จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพราะมีอันตรายได้มาก อาการจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุก็แตกต่างกับเด็กโต จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะแตกต่างกัน
การวินิจฉัย
- ประวัติไข้สูง หนาวสั่น ไอมีเสมหะสีเหลือง หรือสีเขียว หายใจหอบ
- เจาะเลือดเพื่อตรวจนับเม็ดเลือด พบว่าจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น
- ตรวจเสมหะโดยการย้อมสี และเพาะเชื้อ เพื่อหาสาเหตุ
- นำเลือดไปเพาะเชื้อหาสาเหตุ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 3-4 วันกว่าจะทราบผล
- ถ่ายภาพรังสีทรวงอก
การรักษา
- ในเด็กส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส อาจจะไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ต้องกระตุ้นให้เด็กดื่มน้ำมากๆ วัดไข้วันละสองถึงสามครั้ง รับประทานยาตามแพทย์สั่งโดยเคร่งคัด ห้ามซื้อยาแก้ไอรับประทานเอง ให้คอยตรวจดูสีริมฝีปาก และเล็บว่ายังคงสีชมพูอยู่หรือไม่ หากมีสีคล้ำควรรีบพบแพทย์
- หากสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรืออาการเป็นมาก เช่น ไข้สูงมาก หอบมาก ไอมาก แพทย์จะให้นอนโรงพยาบาล และตรวจเลือดดังกล่าวข้างต้น และพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ ออกซิเจน และสารน้ำทางหลอดเลือด
- ถ้าเป็นปอดบวมไม่รุนแรง จะได้รับการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะไปกินที่บ้าน จะต้องให้เด็กกินยาสม่ำเสมอ ขนาดยาตามแพทย์สั่ง ควรอ่านฉลากยาก่อนให้กินยาเสมอ และกินจนครบชุด รวม 5-7 วัน
- อาการอื่นๆ เช่น ไข้ พิจารณาใช้ยาลดไข้เฉพาะเวลาตัวร้อนห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ส่วนอาการไอนั้น ในโรคปอดบวมจะไอได้มากกว่าโรคหวัด ยาที่กินอาจเป็นยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะ บางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้ยาขยายหลอดลมด้วย ห้ามกินยากดไม่ให้ไอหรือยาแก้แพ้ หรือยาแก้ไอสำเร็จรูปที่มีตัวยาตั้งแต่สามชนิดขึ้นไป เพราะแทนที่จะมีประโยชน์อาจเป็นโทษ เช่น ทำให้เด็กไอไม่ออก เสมหะที่มีมากอาจตกเข้าไปค้างในหลอดลมทำให้ปอดแฟบได้
- ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำบ่อยๆ และไม่ลดอาหาร พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงเด็กต้องคอยดูอาการ ถ้าอาการมากขึ้นจะต้องพาไปพบแพทย์ใหม่ หรือ 2 วันแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นก็ต้องพาไปตรวจอีก โดยมากควรพาไปตรวจอีกครั้งเมื่อครบ 2 วัน ส่วนมากอาการจะดีขึ้น และค่อยๆ หายในหนึ่งสัปดาห์ อาการที่ไม่ดีขึ้นหรือเลวลงได้แก่ หอบมากขึ้น หายใจต้องออกแรงมากขึ้นหรือมีอาการของภาวะป่วยหนักอื่นๆ เช่น เด็กซึม ไม่กินนมน้ำ ชัก ซึ่งจะต้องรักษาในโรงพยาบาล
- ในรายเป็นปอดบวมรุนแรงและรุนแรงมาก จะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลโดยการฉีดยาปฏิชีวนะ อาจต้องให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือดในบางราย อาจต้องให้ออกซิเจนในรายที่หายใจเหนื่อยมาก หรือริมฝีปากเขียว หรืออ่อนเพลีย ซึมไม่กินนมน้ำ และถ้าอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
โรคปอดบวมมีอันตรายมากในผู้ป่วยเหล่านี้
- อายุน้อย โดยเฉพาะในขวบปีแรก
- เด็กน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย หรือเด็กขาดอาหาร
- เด็กที่มีความพิการ โดยเฉพาะหัวใจพิการแต่กำเนิด
- เชื้อที่เป็นสาเหตุเป็นชนิดรุนแรง โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
- กรณีที่มารับการรักษาช้าไป
แหล่งที่มา : 108health.com