การป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ สาเหตุการเกิดโรคไข้สมองอักเสบ ลักษณะของโรคไข้สมองอักเสบ
ลักษณะของโรคไข้สมองอักเสบ
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเจอีที่สมอง โดยมีพาหะสำคัญคือ ยุงรำคาญ ชนิด Culex tritaeniorrhynchus ซึ่งมักแพร่พันธุ์ในนาข้าว โรคนี้เป็นโรคสมองอักเสบ ชนิดที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย
ไข้สมองอักเสบ (Japanese encephalitis : JE) โรคนี้มีหมูเป็นรังโรค เชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนในหมูอย่างรวดเร็วโดยไม่มีอาการป่วย เมื่อยุงรำคาญชนิดที่เป็นพาหะ มากัดและดูดเลือด ไวรัสจะเข้าไปฟักตัวเพิ่มจำนวนในตัวยุง ซึ่งจะสามารถแพร่โรคไปให้คนหรือสัตว์ที่ถูกกัดได้ เช่น ม้า วัว ควาย แพะ แกะ และนก เป็นต้น แหล่งระบาด โรคนี้มีรายงานครั้งแรกจากประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันพบโรคนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ในประเทศไทยพบโรคนี้ได้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีการทำนาร่วมกับการเลี้ยงหมู พบผู้ป่วยมากในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มุกดาหาร กำแพงเพชร สมุทรสาคร และน่าน อาการ ผู้ที่ได้รับเชื้ออาจมี ประมาณว่าผู้ติดเชื้อ 300 คน อาจป่วยเป็นโรคนี้ได้ 1 คน ผู้ป่วยมักแสดงอาการหลังได้รับเชื้อ 5-15 วัน ในระยะแรกจะมีไข้สูง อาเจียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ซึ่งจะกินเวลา 1-7 วัน (ส่วนใหญ่ 2-3 วัน) หลังจากนั้น จะมีอาการทางสมอง เช่น คอแข็ง สติสัมปชัญญะเลวลง ซึม เพ้อคลั่ง ชักหมดสติ หรือมือสั่น อัมพาต ระยะนี้กินเวลา 3-6 วัน ผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจถึงตายได้ในระยะนี้ (อัตราการตายร้อยละ 15-30 ของผู้ป่วย) หลังจากนั้นไข้จะค่อยๆลดลงสู่ปกติ และอาการทางสมองจะค่อยๆดีขึ้น แต่ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่รอดชีวิตจะยังมีความผิดปกติทางสมองเหลืออยู่ เช่น เกร็ง อัมพาต ชัก ปัญญาอ่อน หงุดหงิดง่าย พูดไม่ชัด เป็นต้น การวินิจฉัยวินิจฉัยจากประวัติการอยู่อาศัย หรือเข้าไปในแหล่งระบาดของโรค อาการและการตรวจร่างกายผู้ป่วย การวินิจฉัยที่แน่นอนทำได้โดยการเจาะเลือดและน้ำไขสันหลัง เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสและภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสเจอี การรักษา เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ ดังนั้นจึงมุ่งรักษาตามอาการ และป้องกันโรคแทรกซ้อนในระยะที่มีอาการทางสมอง การป้องกัน หลังจากที่ประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลี ได้ใช้วัคซีนป้องกันโรคนี้ พบว่าผู้ป่วยในประเทศดังกล่าวลดลงอย่างมาก วัคซีนป้องกันโรคที่มีใช้ในประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นวัคซีนที่ผลิตจากไวรัสที่ทำให้ตาย แล้วใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง รวม 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งแรกฉีดห่างกัน 1 สัปดาห์ และครั้งที่ 3 ห่างจากครั้งที่ 2 นาน 1 ปี ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตวัคซีนได้ และกระทรวงสาธารณะสุขมีโครงการที่จะฉีดให้เด็กตั้แต่อายุ 1 ปีขึ้นไปทุกคน สำหรับการป้องกันอื่นๆ เช่น กำจัดยุง ป้องกันไม่ให้ยุงกัด และควบคุมการเลี้ยงหมูเป็นไปได้ยาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม มีการทำนา และเลี้ยงหมูอยู่ทั่วไป ผู้ที่จะเข้าไปในแหล่งระบาดของโรค และไม่เคยได้รับวัคซีน ควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยครั้งหลังควรได้รับก่อนเข้าไปแหล่งระบาด 2 สัปดาห์
แหล่งที่มา : 108health.com