ประโยชน์ของมังคุด ประโยชน์เปลือกมังคุด สรรพคุณของมังคุด ราชินีผลไม้ไทย


12,725 ผู้ชม


ประโยชน์ของมังคุด ประโยชน์เปลือกมังคุด สรรพคุณของมังคุด ราชินีผลไม้ไทย

 

ช่วยปรับสมดุลร่างกาย-คลายร้อน

 

          น่าตกใจไม่น้อยกับข้อมูลที่ว่า ชาวไทยเสียชีวิตเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คนจากโรคมะเร็ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากสิ่งที่เรียกว่า “อนุมูลอิสระ” ซึ่งต้นตอของอนุมูลอิสระนั้นมีอยู่ทั้งภายนอกและภายในร่างกายของคนเรา

          ภายนอกก็ได้แก่ มลพิษในอากาศ ควันบุหรี่ แสงแดด คลื่นความร้อน ฯลฯ ส่วนสารอนุมูลอิสระที่อยู่ภายในก็คือ กระบวนการเผาผลาญออกซิเจนในเซลล์ การย่อยทำลายเชื้อแบคทีเรียของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

          จากการวิจัยพบว่าสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ วิตามินอี วิตามินซี และเบตาแคโรทีน ทั้งสามตัวสามารถกำจัดอนุมูลอิสระได้ โดยวิตามินซีซึ่งละลายน้ำจะทำหน้าที่จับอนุมูลอิสระในเซลล์ที่เป็นของเหลว ป้องกันไม่ให้เซลล์ถูกอนุมูลอิสระทำลาย

          ส่วนวิตามินอีละลายในไขมัน ช่วยยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระ ส่วนวิตามินเอซึ่งละลายได้ในไขมัน และอยู่ในรูปของเบตาแคโรทีน หรือแคโรทีนอยด์นั้นมีอยู่ในอาหารธรรมชาติกว่า 600 ชนิด ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการกลายพันธุ์ของเซลล์ ป้องกันเนื้องอก และมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพด้านอื่นๆ เช่น ลดความเสี่ยงการเสื่อมของตา เนื่องจากสูงอายุ ลดการเกิดต้อกระจก โรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี

          มังคุด...สรรพคุณเหลือล้น

          คนไทยรู้จักการนำธัญพืชต่างๆ จากธรรมชาติมาใช้ในการดูแลป้องกันและรักษาสุขภาพมาตั้งแต่อดีต“มังคุด” ผลไม้ไทยที่ขึ้นชื่อลือชาด้านความอร่อย จนผู้คนให้สมญานามว่า “ราชินีผลไม้ไทย” ก็เป็นหนึ่งในผลไม้ไทยที่นอกเหนือจากความอร่อยแล้ว ยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าในการป้องกันและรักษาสุขภาพให้กับผู้คนมายาวนาน

          จากการศึกษาและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อค้นหาสารสกัดจากมังคุด พบว่าผลมังคุดมีสารแซนโทน (Xanthone) มากกว่า 40 ชนิด สารแซนโทนนั้นเป็นสารประกอบตามธรรมชาติที่สามารถพบได้ในผักและผลไม้ ในธรรมชาติสารแซนโทนมีมากกว่า 200 ชนิด

          ปัจจุบันทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้ความสนใจในการศึกษาและวิจัยถึงคุณประโยชน์อันน่ามหัศจรรย์ของสารประกอบจากธรรมชาติชนิดนี้อย่างแพร่หลาย

          กลุ่มนักวิจัยชั้นนำในไทยก็มีการศึกษาและวิจัยสารสกัดจากมังคุดอย่างต่อเนื่องมากว่า 31 ปีที่แล้ว คณะนักวิจัยไทย นำโดย ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา นักวิจัยชื่อดัง และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนามังคุดไทย ค้นพบว่าแซนโทนที่มีสรรพคุณสูงสุด คือ GM-1 ซึ่งเป็นสารที่มีความปลอดภัยกว่าสารที่ให้รสเปรี้ยวในส้มถึง 5 เท่า

          สาร GM-1 มีสรรพคุณในการป้องกันและรักษาโรคมากมาย อาทิ การระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และยังมีประสิทธิภาพในการฆ่าแบคทีเรียได้เทียบเท่ายาปฏิชีวนะราคาแพง การป้องกันและต้านการอักเสบได้ โดยมีประสิทธิภาพถึง 3 เท่าของแอสไพริน การระงับอาการปวด และลดอาการแพ้ได้ การต้านอนุมูลอิสระได้ดี

          ช่วยป้องกันโรคหัวใจ ซึ่งมีสาเหตุที่เกิดจาก LDL Cholesterol Oxidation อีกทั้งยังพบว่า สารสกัดจากมังคุดยังช่วยยับยั้งการเจริญและฆ่าเซลล์มะเร็งในร่างกาย โดยไม่สร้างความเสียหายให้กับเซลล์ดีที่อยู่รอบๆ และสามารถระงับการเจริญของเชื้อวัณโรคและเชื้อ HIV ได้

          นักวิทยาศาสตร์การแพทย์จากหลากหลายสาขาวิชาการ และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์นอกกรอบของศูนย์วิจัยและพัฒนามังคุดไทย โดยได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณจากองค์การมหาชน สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตรและบริษัทมหาชน ทำให้เกิดปฏิบัติการวิจัยต่อยอดเชิงปฏิบัติของสารสกัดธรรมชาติจากมังคุด หรือเรียกกันว่า Operation BIM

          ปฏิบัติการสร้างภูมิคุ้มกันสมดุล หรือ “Operation BIM” คือ ปฏิบัติการวิจัยต่อยอดเชิงประยุกต์ของผลการวิจัยสรรพคุณของผลไม้และธัญพืชหลากชนิด แล้วนำมาผสมกันให้เกิดการเสริมประสิทธิภาพ จนเกิดเป็นสารอาหารที่ช่วยปรับระดับภูมิคุ้มกันให้สมดุลที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและไร้ผลข้างเคียง อันจะส่งผลให้ประชากรโลกสามารถมีอายุยืนและมีความสุขมากขึ้น พร้อมทั้งยังช่วยให้มีผู้คนมีสุขภาพดียิ่งขึ้นด้วย

          ทั้งนี้ เพราะร่างกายสามารถป้องกันสารแปลกปลอมจากภายนอกที่ทำลายสุขภาพ และก่อให้เกิดโรคร้าย เช่น สารเคมีอันตราย เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ตลอดจนเซลล์มะเร็ง และร่างกายสามารถลดอาการผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นจากสภาวะแพ้ภูมิตัวเอง ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาทางผิวหนัง สะเก็ดเงิน กระเพาะและลำไส้อักเสบ ข้อเข่าเสื่อม เบาหวาน อาการแพ้ หัวใจ ตับและไตทำงานผิดปกติ หอบหืด สันนิบาต อาการชัก เป็นต้น

          BIM หรือ Balancing Immune เป็นการนำสารธรรมชาติจากผลไม้และธัญพืชหลากหลายมาเสริมประสิทธิภาพกับสาร GM–1 จากมังคุด จนเกิดผลกระตุ้นการหลั่ง Interleukin 2 (อินเตอร์ลิวคิน 2) ซึ่งเป็นชีวโมเลกุลที่เพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกายให้มากขึ้นได้อย่างมหัศจรรย์ แต่ไม่มากเกินไปจนเกิดผลข้างเคียง และเป็นผลจากการลดการหลั่ง Interleukin 1 ซึ่งเป็นชีวโมเลกุลที่ทำให้เกิดการแพ้ภูมิตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง แล้วยังสามารถลดความผิดปกติที่เกิดจากการแพ้ภูมิตัวเองได้อีกด้วย

          ที่ผ่านมาสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้อนุญาตให้ใช้ Interleukin 2 เป็นยาฉีดเข้าเส้นเลือดและเข้าใต้ผิวหนัง เพื่อรักษามะเร็งขั้นสุดท้าย หลังจากการทดสอบจนแน่ใจว่ามีประสิทธิภาพสูง ปลอดภัย และไร้ผลข้างเคียงแล้ว ทางศูนย์วิจัยและพัฒนามังคุดแห่งชาติจึงจดทะเบียนกับสำนักงานอาหารและยา

          “องค์การมหาชนประสานนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับโลกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของรัฐจากเหนือจรดใต้ ร่วมงานวิจัยปฏิบัติการ “BIM” เพื่อหวังสร้างสุขภาพที่ดีถ้วนหน้าของประชากรโลก ส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนที่ใช้ผลไม้และธัญพืชในประเทศไทยเป็นวัตถุดิบ และเกิดมาตรการที่สามารถยกระดับราคาของผลผลิตทางธรรมชาติเหล่านี้อย่างถาวรต่อเนื่อง

          ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นความภาคภูมิใจของคณะนักวิจัยไทย ในการประกาศให้วงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ระดับโลกประจักษ์ว่า ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยของคนไทย สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพเป็นหนึ่ง ไม่เป็นสองรองใครในโลกแห่งวิทยาการ” ศ.ดร.พิเชษฐ์ กล่าว

          มังคุด...ช่วยคลายร้อน

          อากาศร้อนอย่างนี้ ผลไม้ที่ช่วยคลายร้อนได้เป็นอย่างดีก็คือ มังคุด สารแทนนินที่มีในเปลือกมังคุดมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้ สามารถนำมาสกัดเป็นเครื่องสำอางสมานผิวได้ผลดีทีเดียว แทนนินนั้นนอกจากมีคุณสมบัติช่วยในการสมานแผล และยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดแผล ฝี หนองแล้ว แทนนินยังสามารถใช้เป็นสารกันบูดในอาหารได้อีกด้วย

          สารสกัดจากเปลือกมังคุดมีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อสิวได้ และยังออกฤทธิ์ต้านเชื้อสิวอักเสบได้ดี นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดเปลือกมังคุดสามารถออกฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดรอยแผลเป็นของสิวอักเสบสูงถึงร้อยละ 77.8% แสดงให้เห็นว่า สารสกัดจากเปลือกมังคุดสามารถนำมาพัฒนาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ในการป้องกันและรักษาสิวอักเสบได้

          เราก็จะมีผลิตภัณฑ์ดีๆ ราคาไม่แพงที่เป็นสมุนไพรไทยแท้ใช้กัน

แหล่งที่มา : thaihealth.or.th , หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

อัพเดทล่าสุด