ว่านหางจระเข้ทาผิว เจลว่านหางจระเข้ องค์การเภสัช ว่านหางจระเข้ในน้ําเชื่อม


1,547 ผู้ชม


ว่านหางจระเข้ทาผิว เจลว่านหางจระเข้ องค์การเภสัช ว่านหางจระเข้ในน้ําเชื่อม

 

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพร

รูปแบบของยาสมุนไพร

รูปแบบ

ยาต้ม เตรียมโดย หั่นสมุนไพรให้เป็นชิ้น ๆ ขนาดพอเหมาะใส่ลงในภาชนะ เติมน้ำลงในตัวยาพอท่วม ใช้ไฟขนาดกลางต้มให้เดือด หลังจากเดือดแล้วใช้ไฟอ่อนลง ต้มต่อ 15 - 20 นาที ส่วนใหญ่จะต้ม 3 เอา 1 คือใส่น้ำ 3 ส่วนของปริมาณที่ต้องการใช้และต้มให้เหลือ 1 ส่วน เหตุที่ต้องต้ม เนื่องจาก สารสำคัญในยาสมุนไพรบางชนิดจะสามารถออกฤทธิ์ได้ต่อเมื่อละลายออกมาในน้ำและสารสำคัญนั้น ๆ จะละลายได้ดีเฉพาะในน้ำร้อนจัด

ยาชง เตรียมโดยนำส่วนของสมุนไพรมาล้างให้สะอาด ผึ่งลมหรือตากแดดให้แห้งแล้วแต่ชนิดของสมุนไพร (บางชนิดต้องคั่วหรือย่างไฟ) เมื่อต้องการใช้ให้เติมน้ำเดือดลงในสมุนไพรแห้งนั้น ทิ้งไว้ประมาณ 3 - 5 นาที

ยาลูกกลอน เตรียมโดยนำสมุนไพรแห้งมาบดให้ละเอียดผสมน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมเข้มข้น (ที่เคี่ยวแล้วทิ้งให้เย็น) พอให้ตัวยาเกาะกันได้ ปั้นให้เป็นเม็ดกลมขนาดปลายนิ้วก้อย (ก่อนปั้นจะต้องล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้งก่อนด้วยผ้าสะอาด) นอกจากการปั้นเม็ดแบบลูกกลอนแล้วยังสามารถทำเป็นเม็ดยากลมแบน วิธีง่าย ๆ โดยใช้น้ำสะอาดผสมผงยาสมุนไพรที่บดละเอียดพอหมาด ๆ ใช้แบบพิมพ์เม็ดยาทำด้วยทองเหลืองพิมพ์ให้เป็นเม็ด นำลูกกลอนหรือเม็ดยาที่ได้เรียงใส่ถาดไม่ให้เม็ดยาซ้อนกัน นำไปตากแดดจัด 1 - 2 วัน เก็บใส่ขวดที่สะอาดมิดชิด รูปแบบนี้เหมาะสำหรับสมุนไพรที่ออกฤทธิ์โดยไม่ต้องต้ม ชง หรือดองเหล้า

ยาดองเหล้า เตรียมโดย นำสมุนไพรที่ล้างสะอาดแล้วมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตากหรืออบจนแห้งใส่ลงในขวดโหล เทเหล้าโรงลงไปพอท่วมยา ทิ้งไว้นาน 1 เดือน จึงใช้ได้ เหตุที่ต้องดองเหล้า เนื่องจากสารสำคัญในสมุนไพรนั้น ๆ ละลายออกมาได้ดีในแอลกอฮอล์หรือเหล้า

ข้อแนะนำการใช้ยาสมุนไพร

เพื่อความปลอดภัยและเพื่อให้ได้ผลในการรักษา จะต้อง
1. ใช้ให้ถูกต้อง สมุนไพรมีชื่อพ้องหรือซ้ำกันมาก ชื่อเดียวกันแต่เป็นคนละต้น บางครั้งต้นเดียวกันแต่เรียกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น ดังนั้น จึงต้องรู้ให้จริง คือรู้แน่ชัดว่าต้นที่ต้องการใช้เป็นต้นใดแน่
2. ใช้ให้ถูกส่วน สารสำคัญต่าง ๆ ในสมุนไพรที่สามารถออกฤทธิ์ทางยาได้ จะกระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของพืชสมุนไพร โดยมีส่วนประกอบและอัตราส่วนที่ต่างกัน ดังนั้น ก่อนใช้จะต้องรู้ให้แน่ชัดว่าใช้ส่วนใด (ราก ต้น กิ่ง ใบ ดอก ผล เมล็ด) บางครั้งส่วนเดียวกันแต่อ่อนแก่ต่างกันก็มีฤทธิ์ตรงข้ามกันได้ เช่น กล้วย ผลดิบของกล้วยออกฤทธิ์ทำให้ท้องผูก แต่ผลสุกเป็นยาระบาย เป็นต้น
3. ใช้ให้ถูกขนาด หากใช้น้อยไปก็รักษาไม่ได้ผล ใช้มากไปก็อาจเป็นอันตราย จะต้องศึกษาการเทียบปริมาตรหรือปริมาณที่ใช้บ่อยในการใช้สมุนไพร ได้แก่ 1 กำมือ หมายถึงปริมาณสมุนไพรที่ได้จากการใช้มือเพียงข้างเดียวกำโดยให้ปลายนิ้วจรดอุ้งมือโหย่ง ๆ 
1 กอบมือ หมายถึง ปริมาณสมุนไพรที่ได้จากการใช้มือทั้ง 2 ข้างกอบเข้าหากัน โดยให้ส่วนของปลายนิ้วแตะกัน
1 ถ้วยแก้ว มีปริมาตรเท่ากับ 250 มิลลิลิตร
1 ถ้วยชา มีปริมาตรเท่ากับ 75 มิลลิลิตร
1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาตรเท่ากับ 15 มิลลิลิตร
1 ช้อนคาว มีปริมาตรเท่ากับ 8 มิลลิลิตร
1 ช้อนชา มีปริมาตรเท่ากับ 5 มิลลิลิตร 
4. ใช้ให้ถูกวิธี สมุนไพรบางชนิดต้องใช้สด ๆ บางชนิดต้องต้ม บางชนิดต้องนำไปดองเหล้า ฯลฯ จะต้องศึกษาวิธีใช้ให้ถูกต้อง
5. ใช้ให้ถูกกับโรค เช่น ท้องผูกต้องใช้ยาระบาย ถ้าใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์ฝาดสมานจะทำให้ท้องผูกยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ในกระบวนการเตรียมยา หรือเก็บยาจะต้องระมัดระวังในเรื่องความสะอาด เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำยา ภาชนะที่ใช้เก็บรักษาจะต้องสะอาดด้วย

สำหรับอาการแพ้ที่ปรากฏบนผิวหนังอักเสบเนื่องจากแมลงสัตว์กัดต่อย
1. ตำลึง ใช้ใบสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด ผสมน้ำเล็กน้อยคั้นเอาน้ำทาที่เป็นบ่อย ๆ
2. พญายอ (เสลดพังพอนตัวเมีย) ใช้ใบสดประมาณ 10 - 15 ใบ ล้างให้สะอาดตำให้ละเอียด เติมเหล้าขาวพอชุ่ม ใช้น้ำและกากพอกบริเวณที่เป็น เปลี่ยนวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น
3. พลู ใช้ใบสด 3 - 5 ใบ ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด ผสมเหล้าขาวทาหรือพอกวันละ 2 ครั้ง 
4. ขี้ผึ้งแก้ปวดบวม (ยาสามัญประจำบ้าน) ทาบาง ๆ วันละ 2 - 3 ครั้ง 

สำหรับอาการแพ้อากาศ (ความเย็น ความร้อน หรือความชื้นมากเกินไป) แพ้ฝุ่นละออง แพ้เกสรดอกไม้ โดยมีอาการน้ำมูกไหล ลมพิษ หรือผื่นคันในบริเวณกว้าง

ใช้ยาเม็ดแก้แพ้ (CHLORPHENIRAMINE) (ยาสามัญประจำบ้าน) รับประทานครั้งละ 1 - 2 เม็ด ห่างกัน 4 - 6 ชั่วโมง เมื่อหายแล้วให้หยุดใช้ยา (ยานี้มีฤทธิ์ข้างเคียงคือทำให้ง่วงนอน ขณะใช้ยานี้จึงไม่ควรขับขี่ยานยนต์ หรือปฏิบัติงานที่ต้องเสี่ยงอันตราย เช่น ทำงานในที่สูง หรือควบคุมเครื่องจักรกล เป็นต้น)

สำหรับอาการท้องเสีย
1. ทับทิม ใช้เปลือกผลแห้ง 1 ผล ต้มในน้ำ 1 ลิตร ดื่มครั้งละ 1/4 - 1/2 แก้ว ทุก 4 ชั่วโมงจนกว่าจะหาย 
2. มังคุด ใช้เปลือกผลแห้งประมาณครึ่งผล ย่างไฟให้เกรียม บดเป็นผงผสมน้ำสุกครึ่งแก้ว ดื่มทุก 4 ชั่วโมงจนกว่าจะหาย
3. กล้วยน้ำว้า ใช้ผลดิบฝานเป็นแว่น (พร้อมเปลือก) ตากแดดให้แห้งบดเป็นผง ชงน้ำดื่มครั้งละ 1/2 - 1 ผล หรือนำผลแห้งนี้ปั้นกับน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมเข้มข้นเป็นยาลูกกลอน รับประทานครั้งละ 4 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมงจนกว่าจะหาย
4. ฝรั่ง ใช้ใบแก่ 10 - 15 ใบ ปิ้งไฟแล้วชงน้ำดื่ม หรือใช้ผลดิบ 1 ผล ฝนกับน้ำปูนใส รับประทานทุก 4 ชั่วโมงจนกว่าจะหาย
5. ฟ้าทะลายโจร ใช้ใบสด 2 กำมือ ต้มน้ำ 1 - 2 ลิตร นาน 10 - 15 นาที ดื่มครั้งละ 1/2 แก้ว ทุก 4 ชั่วโมงจนกว่าจะหาย หรือนำใบมาล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้งในที่ร่ม นำไปบดเป็นผง ปั้นกับน้ำผึ้ง หรือน้ำเชื่อมเข้มข้นเป็นยาลูกกลอนขนาดปลายนิ้วก้อย รับประทานครั้งละ 3 - 6 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมงจนกว่าจะหาย
6. ผงน้ำตาลเกลือแร่ (ยาสามัญประจำบ้าน) 1 ซองละลายน้ำ 750 ซีซี. (1 ขวดสุรากลม) ดื่มบ่อย ๆ แทนน้ำจนกว่าจะหาย (ใช้สลับกับสมุนไพรชนิดใดชนิดหนึ่งข้างบนที่กล่าวแล้ว ก็จะเป็นการดี)

สำหรับอาการคลื่นไส้ - อาเจียน
1. ขิง ใช้เหง้าแก่สดขนาดเท่าหัวแม่มือ 2 - 3 หัว ทุบให้แตกต้มในน้ำ 1 ลิตร จิบเวลามีอาการ
2. ยอ ใช้ผลไม่สุกหรือดิบเกินไป นำมาฝานเป็นแว่นบาง ๆ นำไปปิ้งไฟพอเหลืองกรอบ ใช้ครั้งละ 2 กำมือต้มในน้ำ 1 ลิตร จิบบ่อย 
ๆ เวลามีอาการ

สำหรับอาการท้องผูก
1. ขี้เหล็ก ใช้ใบทั้งอ่อนและแก่ 4 - 5 กำมือ ต้มในน้ำ 750 ซีซี. (1 ขวดสุรากลม) จนเหลือ 240 ซีซี.(1 แก้ว) ดื่มก่อนนอน
2. คูน ใช้เนื้อในฝักแก่ 1 ก้อนเท่านิ้วหัวแม่มือ (ประมาณ 4 กรัม) ต้มกับน้ำ 500 ซีซี. (ใส่เกลือนิดหน่อย) จนเหลือ 240 ซีซี. ดื่มก่อนนอน
3. ชุมเห็ดเทศ ใช้ดอกสด 2 -3 ช่อ ลวกรับประทานกับน้ำพริก หรือนำใบมาล้างให้สะอาด ตากแห้ง นำมาต้มครั้งละ 6 ใบ ดื่ม 1 แก้วก่อนนอน
4. มะขาม ใช้มะขามเปียกรสเปรี้ยว 10 - 20 ฝัก จิ้มเกลือรับประทาน แล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ หรือเติมน้ำและเกลือเล็กน้อย คั้นเป็นน้ำมะขาม ดื่มก่อนนอน
5. มะขามแขก ใช้ใบแห้ง 1 -2 กำมือ ต้มเอาน้ำดื่ม 1 แก้ว หรือใช้ฝัก 4 - 5 ฝัก ต้มเอาน้ำดื่ม 1 แก้วก่อนนอน อาจใช้ยาชงมะขามแขก หรือยาระบายมะขามแขกที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม

สำหรับอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียดและปวดท้อง
1. กระชาย ใช้เหง้าหั่นละเอียดครึ่งกำมือ (สด 5 - 10 กรัม, แห้ง 3 -5 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่มเวลามีอาการ
2. กะเพรา ใช้ใบและยอด 1 กำมือ (สด 25 กรัม, แห้ง 4 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม
3. ขมิ้น นำผงแห้งที่ได้จากเหง้ามาผสมน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมเข้มข้น ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดปลายนิ้วก้อย รับประทานครั้งละ 3 - 4 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมง
4. ขิง (เช่นเดียวกับอาการคลื่นไส้ - อาเจียน)
5. ตะไคร้ นำลำต้นแก่สดมาทุบพอแหลก ประมาณ 1 กำมือ ต้มเอาน้ำดื่ม
6. ยาธาตุน้ำแดง (ยาสามัญประจำบ้าน) รับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
7. ยาเม็ดอะลูมินา - แมกนีเซีย (ยาสามัญประจำบ้าน) รับประทานครั้งละ 1 - 2 เม็ด วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร 1 - 2 ชั่วโมง และก่อนนอน
8. ยาขับลม (ยาสามัญประจำบ้าน) รับประทานครั้งละ 1 - 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 - 4 ครั้ง 
9. ยาเม็ดโซดามิ้นท์ (ยาสามัญประจำบ้าน) รับประทานครั้งละ 3 - 6 เม็ด วันละ 3 - 4 ครั้ง สำหรับอาการเบื่ออาหาร
10. บอระเพ็ด ใช้เถาหรือต้นสด ครั้งละ 2 คืบ ต้มเอาน้ำดื่มก่อนนอน

สำหรับอาการไอหรือมีเสมหะ
1 ขิง ใช้เหง้าฝนกับน้ำมะนาว แทรกเกลือเล็กน้อย จิบเวลามีอาการ
2. มะขาม ใช้มะขามเปียกรสเปรี้ยวจิ้มเกลือรับประทานเวลามีอาการ
3. มะนาว คั้นน้ำจากผลใส่เกลือเล็กน้อยจิบเวลามีอาการ
4. มะแว้ง (มะแว้งต้นหรือมะแว้งเครือก็ได้) นำผลแก่สด 5 - 10 ผล โขลกพอแหลก คั้นเอาแต่น้ำใส่เกลือจิบเวลามีอาการ หรือใช้ผลสดเคี้ยวแล้วกลืนทั้งน้ำและเนื้อ
5. ยาแก้ไอน้ำดำ (ยาสามัญประจำบ้าน) ผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 1 - 2 ช้อนชา วันละ 3 - 4 ครั้ง เวลาไอ

สำหรับอาการนอนไม่หลับ
1. ขี้เหล็ก ใช้ใบแห้ง 30 กรัม หรือใบสด 50 กรัม ต้มเอาน้ำดื่มก่อนนอน

สำหรับโรคพยาธิลำไส้
1. ฟักทอง ใช้เมล็ดถ่ายพยาธิตัวตืด โดยใช้เมล็ด 60 กรัม ทุบให้แตกผสมกับน้ำตาล เติมน้ำจนได้ 500 ซีซี. แบ่งรับประทาน 3 ครั้ง ห่างกัน 2 ชั่วโมง ครบ 3 ครั้งแล้ว อีก 2 ชั่วโมง รับประทานยาระบายตามเข้าไป
2. มะขาม ใช้เมล็ดถ่ายพยาธิไส้เดือน โดยนำเมล็ดแก่ 20 - 30 เมล็ด มาคั่วแล้วกะเทาะเปลือกออก นำไปแช่น้ำเกลือจนนุ่ม รับประทานให้หมด
3. เล็บมือนาง ใช้เมล็ดถ่ายพยาธิไส้เดือน โดยนำเมล็ดแก่ 5 - 7 เมล็ด มาทุบให้พอแตก ต้มเอาน้ำดื่มหรือหั่นทอดกับไข่รับประทาน
4. ยาถ่ายพยาธิตัวกลม (MERENDAZOLE TABLETS) (ยาสามัญประจำบ้าน) สำหรับพยาธิเส้นด้าย รับประทาน 1 เม็ด หลังอาหารเย็นครั้งเดียว สำหรับพยาธิตัวกลมอื่น รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น ติดต่อกัน 3 วัน

สำหรับอาการปวด ปวดศีรษะ ปวดเนื่องจากบาดแผล และตัวร้อน (มีไข้)
1. ยาเม็ดแอสไพริน (300 มิลลิกรัม) (ยาสามัญประจำบ้าน) ครั้งละ 1 -2 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมง เวลาปวด (แอสไพริน มีฤทธิ์เป็นกรด จึงไม่ควรรับประทานตอนท้องว่าง)
2. ยาเม็ดพาราเซตามอล (500 มิลลิกรัม) (ยาสามัญประจำบ้าน) ครั้งละ 1 -2 เม็ด ทุก 4 ชั่วโมง (ยานี้มีพิษต่อตับไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 5 วัน)

หมายเหตุ 
1. ขนาดของยาที่ใช้ที่กล่าวถึงทั้งหมด เป็นขนาดยาของผู้ใหญ่ ดังนั้น ถ้าหากใช้ในเด็กจะต้องลดขนาดลงตามสัดส่วนของน้ำหนักตัว
2. สำหรับยาสามัญประจำบ้าน จะมีคำเตือนและรายละเอียดวิธีใช้มากกว่านี้ ก่อนใช้ยาทุกครั้ง ให้ศึกษาฉลากข้างภาชนะอย่างละเอียด

สมุนไพรและยาที่ควรรู้จัก

สำหรับรักษา กลาก เกลื้อน และน้ำกัดเท้า
1. กระเทียม ฝานกลีบกระเทียมนำมาถูบ่อย ๆ หรือตำคั้นเอาน้ำมาก ๆ วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น (อาจใช้ไม้เล็ก ๆ ที่สะอาดขูดบริเวณที่เป็นพอให้ผิวแดง ๆ ก่อน) 
2. ข่า ฝานเหง้าข่าแก่ ๆ เป็นแว่น บาง ๆ หรือทุบให้แตกนำไปแช่เหล้าขาว ทิ้งไว้ 1 คืน นำมาทาวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น (อาจใช้ไม้ขูดก่อนเช่นเดียวกับกระเทียม)
3. ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfields ointment) (ยาสามัญประจำบ้าน) ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2 - 3 ครั้ง

สำหรับรักษาเหา
1. น้อยหน่า นำเมล็ดน้อยหน่า 10 เมล็ด หรือใบสด 1 กำมือ มาตำให้ละเอียดผสมน้ำมันมะพร้าว 1 -2 ช้อนโต๊ะ ขยี้ให้ทั่วศีรษะแล้วใช้ผ้าคลุมทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง ระวังอย่าให้เข้าตา หลังจากนั้นจึงสระผม ครบ 7 วัน ทำซ้ำอีกครั้ง
2. ยารักษาเหา (ยาสามัญประจำบ้าน) ใส่ยาให้ทั่วศีรษะ ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง โดยใช้ผ้าโพกไว้ อย่าให้เข้าตา หลังจากนั้นจึงสระผม ครบ 7 วัน ทำซ้ำอีกครั้ง

สำหรับรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
1.บัวบก นำใบและต้น 1 กำมือ มาล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำทาแผลบ่อย ๆ หรือใช้กากพอกด้วยก็ได้
2. ว่านหางจระเข้ ใช้ใบที่อยู่ส่วนล่างของต้น นำมาปอกเปลือกออกล้างยางรอบ ๆ ออกด้วยน้ำอุ่นหรือด่างทับทิม ขูดเอาวุ้นมาพอกแผล ทำเช่นนี้วันละ 2 ครั้ง หรืออาจใช้ “เจลว่านหางจระเข้” ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม
หมายเหตุ 
ทั้งบัวบกและว่านหางจระเข้ ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ แต่ทำให้แผลสมานเร็วขึ้น ดังนั้น จะต้องทำความสะอาดแผลด้วยยาล้างแผลก่อนทุกครั้ง
3. ยารักษาแผลน้ำร้อนลวก (Burns and scalds Mixtum) (ยาสามัญประจำบ้าน) เขย่าขวดแรง ๆ ใช้สำลีชุบยาและปิดแผลให้ทั่ว เปลี่ยนยาวันละ 2 - 3 ครั้ง

สำหรับอาการเคล็ด ขัดยอก ฟกช้ำ
1. ไพล ใช้เหง้า 1 เหง้า ตำแล้วคั้นเอาน้ำทาถูนวดบริเวณที่มีอาการ หรือตำให้ละเอียดผสมเกลือเล็กน้อย นำมาห่อเป็นลูกประคบ อังไอน้ำร้อนนำไปประคบเช้า - เย็น หรือทำเป็นน้ำมันไพล โดยนำเหง้าไพล 2 กิโลกรัม ฝานเป็นแว่นบาง ๆ ใส่กระทะทอดในน้ำมันพืช 1 กก. จนเหลืองช้อนไพลออก ใส่กานพลูผง 4 ช้อนชา ทอดต่อด้วยไฟอ่อน ๆ 10 นาที นำมากรอง เติมการบูร 4 ช้อนชา ทิ้งให้เย็นคนให้การบูรละลายเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด ใช้ทาถูนวดวันละ 2 ครั้ง หรือเวลาปวด หรืออาจใช้ครีมไพลจีซาล ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม
2. ขี้ผึ้งแก้ปวดบวม (Analgesic Balm) เป็นยาสามัญประจำบ้าน ทาและนวดบริเวณที่มีอาการ

อันตรายจากการใช้ยาสมุนไพร
สมุนไพรมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับยาทั่วไป คือมีทั้งคุณและโทษ อันตรายที่เกิดจากการใช้สมุนไพรเท่าที่ทราบส่วนใหญ่เกิดจากการใช้เกินขนาด ผิดวิธี และการใช้ผิดด้าน ดังนั้น ก่อนจะใช้สมุนไพรทุกครั้ง จะต้องมั่นใจว่า แหล่งข้อมูลและข้อมูลนั้นเชื่อถือได้ นอกจากนี้ก็อาจมีอันตรายที่เกิดเฉพาะบางคน เรียกว่าเป็นอาการแพ้ ที่เกิดจากสมุนไพร แต่หากเปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบันแล้ว จะเกิดได้น้อยกว่า เนื่องจากมิใช่สารเคมีบริสุทธิ์ที่ออกฤทธิ์เร็วและรุนแรง ถ้าเกิดอาการแพ้ควรหยุดการใช้สมุนไพรนั้น เมื่ออาการหายแล้ว อาจทดลองใช้อีกครั้งโดยระมัดระวัง ถ้าเกิดอาการเช่นเดิมอีก แสดงว่าเป็นพิษของสมุนไพรนั้นแน่นอน ควรหยุดและเปลี่ยนไปใช้สมุนไพรหรือยาอื่นแทน ถ้าอาการแพ้รุนแรงควรไปรับการรักษาที่สถานบริการสาธารณสุข

อาการแพ้ยาสมุนไพร มีดังนี้
1. ผื่นขึ้นตามผิวหนัง อาจเป็นตุ่มเล็ก ตุ่มโต ๆ หรือเป็นปื้น (ลมพิษ) อาจบวมที่ตา (ทำให้ตาปิด) หรือริมฝีปาก ทำให้ปากเจ่อ หรือมีเพียงดวงสีแดงที่ผิวหนัง
2. เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
3. หูอื้อ ตามัว ชาที่ลิ้น ชาที่ผิวหนัง
4. ประสาทความรู้สึกทำงานไวเกินปกติ เช่น แตะผิวหนังก็รู้สึกเจ็บ ลูบผมก็แสบหนังศีรษะ ฯลฯ
5. ใจสั่น ใจเต้น หรือรู้สึกวูบวาบคล้ายหัวใจจะหยุดเต้น และเป็นบ่อย ๆ 
6. ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเหลือง เขย่าเกิดฟองสีเหลือง (เป็นอาการของดีซ่าน) อาการนี้จัดว่ารุนแรง ต้องรีบไปพบแพทย์

นอกจากอันตรายที่เกิดจากสารในสมุนไพรตามธรรมชาติแล้ว ยังอาจพบอันตรายที่เกิดจากการปนปลอมยาแผนปัจจุบันที่มีอันตรายสูงลงในยาสมุนไพร หรือยาแผนโบราณอีกด้วย ที่นิยมคือยาในกลุ่มสเตียรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน เด็กช่าเมททาโซน เป็นยาที่นิยมจัดใส่ในยาชุดเช่นเดียวกัน เหตุที่มีการปนปลอมยาประเภทนี้ลงในยาสมุนไพรนั้นก็เพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการค้า เนื่องจากยาเหล่านี้จะสามารถระงับอาการต่าง ๆ ได้อย่างชะงัก เมื่อเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น มักจะไม่ได้ผล ทำให้ต้องพึ่งยานี้เรื่อยไป ซึ่งในระยะยาวยานี้จะก่อปัญหามากมาย เช่นทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้กระดูกผุ ทำให้เป็นโรคไต โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยง่ายและรักษายาก

ดังนั้น การเลือกซื้อยาสมุนไพรหรือยาแผนโบราณ จะต้องสังเกตว่ายานั้นขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากไม่มีหมายเลขทะเบียน ก็ควรพิจารณาว่าแหล่งผลิตนั้น ๆ เชื่อถือได้หรือไม่


แหล่งที่มา : dnfe5.nfe.go.th

อัพเดทล่าสุด