วิธีรักษาอาการไอเรื้อรัง วิธีการรัษาอาการไอเรื้อรัง วิธีการรักษาโรคไอเรื้อรัง


2,082 ผู้ชม


วิธีรักษาอาการไอเรื้อรัง วิธีการรัษาอาการไอเรื้อรัง วิธีการรักษาโรคไอเรื้อรัง

 

 

อย่าละเลย ไอเรื้อรัง

ตรวจรักษาป้องกันก่อนลุกลาม

ตรวจรักษาป้องกันก่อนลุกลาม!
     เสียงไอ แค่ก...แค่ก สร้างความรำคาญให้กับผู้เป็นเจ้าของเสียงและคนที่อยู่รอบข้างเป็นอย่างมาก และยิ่งสร้างความกังวลใจเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อกลายเป็นอาการ “ไอเรื้อรัง”
   
     นพ.ภาสกร ถาวรนันท์ แพทย์สาขา หู คอ จมูก โรงพยาบาลบีเอ็นเอช อธิบายถึงภาวะอาการไอให้ฟังว่า เชื่อว่า ทุกคนคงเคยมีอาการไอกันมาแล้วทั้งนั้น โดยอาการไอที่พบได้บ่อย ๆ เช่น ไอจากการเป็นหวัด หรือ  ไอจากคออักเสบ รวมทั้งมีการคันคอจึงทำให้ไอตลอด จากการสำลักน้ำ หรืออาหาร ทำให้มีอาการไอเกิดขึ้นเพื่อจะขับสิ่งแปลก ปลอมออกมา
   
     อาการไอ คือ กระบวนการป้องกันตนเองของร่างกาย โดยอาการไอที่กล่าวมาในข้างต้นนั้น จะเป็นอาการที่เกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ ไม่นานนักอาการไอก็จะหายไป ซึ่งไม่น่าจะสร้างปัญหาให้กับผู้ที่มีอาการไอมากนัก แต่ในบางราย มีการไอเป็นเวลานาน ๆ ทำให้รบกวนการพักผ่อน รวมทั้งทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยถอยลง ยิ่งในปัจจุบัน มีโรคติดต่อร้ายแรงบางอย่างเกิดขึ้น เช่น ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ไข้หวัดนก เมื่อเรามีอาการไอ ก็อาจจะเป็นที่รังเกียจของสังคมได้อีกด้วย
   
     ส่วนมากผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่อง “ไอ” มักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย แต่พออาการอื่น ๆ ดีขึ้นแล้ว อาการไอกลับไม่หายไป ทานยาก็ยังไม่ดีขึ้น ลักษณะเช่นนี้ถ้าเป็นนาน ๆ จะเรียกว่า “ไอเรื้อรัง”
   
     ไอเรื้อรัง เป็นอาการไอที่เป็นต่อเนื่องกันนานกว่า 3-4 อาทิตย์ขึ้นไป อาจจะมีเสมหะร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ อาการอื่น ๆ ก็มีได้ เช่น มีน้ำมูก ระคายคอแต่มักจะไม่เจ็บมากนัก รวมทั้ง อาการอื่น ๆ ที่พบร่วมด้วยก็จะมีส่วนช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคได้
   
     โดยทั่วไป ถ้าเป็นหวัดจากเชื้อไวรัส อาการมักจะดีขึ้นใน 3-4 วัน ส่วนในกรณีถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรีย มักจะเป็นนานกว่าประมาณ 1 อาทิตย์  โดยส่วนใหญ่มักจะต้องทานยาปฏิชีวนะ ร่วมด้วย ดังนั้น หากมีอาการนานกว่า 3-4 วัน ควรจะไปพบแพทย์ และเมื่ออาการอื่น ๆ ดีขึ้นแล้ว แต่อาการไอยังไม่หายเกินกว่า 2-3 อาทิตย์ ควรจะไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
   
     “เคยมีผู้ป่วยมาปรึกษา เพราะมีอาการไอมาก ไอไม่หยุด ทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้เต็มอิ่ม มีอาการเหนื่อยง่าย ทำงานลำบาก เนื่องจากต้องใช้เสียง ทุกครั้งที่พูดนาน ๆ จะมีอาการไอ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานเป็นอย่างมาก โดยมีอาการอย่างนี้มาเป็นเดือน ๆ แล้ว แต่หลังจากที่ได้รับการรักษาอาการก็ดีขึ้น สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตาม ปกติ เพราะได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี” 
   
      สาเหตุของอาการไอเรื้อรัง เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุแรกเกิดจาก โรคทางจมูก และไซนัส การไอเรื้อรังจากสาเหตุนี้จะเกิดจากการที่มีมูก หรือเสมหะ ไหลลงคอ เมื่อมีเสมหะไหลลงคอนาน ๆ จะทำให้เกิดอาการระคายที่คอหรือมีการติดเชื้อที่คอตามมา ซึ่งจะกระตุ้นให้ไอได้ง่าย บางครั้งผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดหน่วง ๆ ที่จมูก เบ้าตา หรือ ปวดศีรษะ ร่วมด้วย
   
     “เมื่อมาพบแพทย์ การตรวจทางหูคอจมูก จะช่วยให้ทราบได้หรือในบางครั้งอาจจะต้องใช้การเอกซเรย์ไซนัสเพื่อช่วยใน การวินิจฉัย หรือในผู้ป่วยที่มี ประวัติภูมิแพ้ก็จะช่วยตัดสินใจในการรักษาได้ การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะ ยาลดบวม ยาสเตอรอยด์พ่นจมูก การใช้น้ำเกลือล้างจมูก เมื่อสาเหตุของโรคดีขึ้น อาการไอก็มักจะหายไปเอง”
   
     สาเหตุต่อมา คือ โรคหอบหืด และ โรคทางปอดอื่น ๆ การไอในกลุ่มนี้ มักจะไอติด ๆ กันเป็นชุด อาจจะมีหายใจเสียงดัง วี๊ด ๆ ได้ถ้าเป็นมาก การวินิจฉัยผู้ป่วยในกลุ่มนี้ ถ้ามีประวัติหอบหืดหรือภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้วจะช่วยได้มาก แต่ในรายที่ประวัติไม่ชัดเจนและอาการไม่มาก อาจจะต้องอาศัยการตรวจอื่น ๆ ช่วย เช่น การตรวจสมรรถภาพของปอด การทดสอบภูมิแพ้ 
   
     ส่วนโรคทางปอดอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น วัณโรคปอด ผู้ป่วยจะมีอาการไอ อาจจะมีเสมหะปนเลือด ผอมลง เจ็บหน้าอก บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ ถ้ามีประวัติสัมผัสผู้ป่วยวัณโรคมาก็ต้องสงสัยไว้ก่อน ถึงแม้จะไม่เคยมีประวัติมาก่อนแต่ถ้าไอนาน ๆ หาสาเหตุอื่นไม่เจอควรต้องสงสัยไว้ด้วย ซึ่งการเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะ จะช่วยในการวินิจฉัยได้
   
     โดยจะรักษาตามสาเหตุที่เป็น ถ้าเกิดจากอาการหอบหืดจะให้ยาขยายหลอดลมไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบยาทานและยาพ่น ถ้าเกิดจากการเป็นวัณโรคก็ต้องทานยารักษาซึ่งจะใช้เวลาค่อนข้างนานในการ รักษา
   
     รวมไปถึง ภาวะกรดไหลย้อน ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังได้ ปัจจุบันพบว่า ปัญหานี้มีมากขึ้น อาจจะมาจากชีวิตประจำวันของคนทำงานเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารไม่เป็นเวลา รวมทั้ง ทานอาหารบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ง่าย เช่น หอม กระเทียม ถั่ว ช็อกโกแลต อาหารมัน อาหาร รสจัด ตลอดจน น้ำอัดลม ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ และบุหรี่ อีกทั้ง ไม่ได้ออกกำลังกาย
   
     โดยอาการที่พบนอกจากอาการไอ ที่มีทั้งการไอแบบแห้ง ๆ และมีเสมหะ อาจมีอาการแสบคอ จุกแน่นคอ เปรี้ยว ๆ ในคอ โดยเฉพาะช่วงเช้า ๆ หลังตื่นนอน มีเสียงแหบ และอาจจะมีการเสียดแน่นลิ้นปี่ด้วย การตรวจพบของแพทย์ทำได้ด้วยการตรวจร่างกายโดยใช้กระจกสะท้อนส่องดูกล่อง เสียง หรือ ใช้กล้องเล็ก ๆ ส่องดูคอและกล่องเสียง จะช่วยในการวินิจฉัยได้ การรักษาให้ยาลดกรด และยารักษาตามอาการอื่น ๆ รวมทั้งหลีกเลี่ยงสาเหตุของโรคด้วย
    
     ภาวะหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น เป็นอีกภาวะหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังได้ โดยจะเป็นหลังการเป็นหวัด หรือติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งสาเหตุของโรคอาจดีขึ้นแล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ หรือมีสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ เช่น กลิ่นฉุน ๆ ควันบุหรี่ ควันธูป รวมทั้ง ควันจากมลพิษ จะกระตุ้นให้เกิดการไอขึ้นมา ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ลดลง แต่อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร
   
     ด้านการรักษา จะใช้ยาบรรเทาอาการ อาจใช้ยาสูดพ่นคอร่วมด้วย และหลีกเลี่ยงสาเหตุ โดยเฉพาะถ้าต้องสัมผัสกับมลพิษอยู่ตลอดเวลา ร่างกายจะพยายามกำจัดสิ่งเหล่านั้นออกไปในรูปของการไอ จึงควรพยายามหลีกเลี่ยง และหาวิธีป้องกันตนเอง เช่น ใส่หน้ากาก
   
     นพ.ภาสกร กล่าวอีกว่า ขณะมีอาการไอ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้ไอมากขึ้น เช่น สารเคมี ควันบุหรี่ ฝุ่น มลพิษทางอากาศ อาหารที่ระคายคอ เช่น อาหารทอดหรือไอศกรีม รวมทั้ง ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอขณะนอนหรือต้องอยู่ในที่อากาศเย็น และดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ
   
     นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาแล้ว อาการไอเรื้อรังยังเกิดจากการใช้ยาลดความดันโลหิตบางชนิด โดยเมื่อหยุดใช้ยาอาการจะดีขึ้น แต่ทั้งนี้ที่พบบ่อย คือ ไอเรื้อรัง อาจจะเกิดจากหลายสาเหตุพร้อม ๆ กัน การรักษาจึงต้องทำพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งมีบางรายไม่สามารถหาสาเหตุได้ ก็ต้องอาศัยการติดตามดูอาการ ซึ่งน่าจะพบสาเหตุได้ในที่สุดดังนั้นหากมี อาการไอเรื้อรังไม่ควรละเลย เพราะอาจจะมีโรคบางอย่างแอบซ่อนอยู่ จึงควรได้รับการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป เพื่อจะได้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ.

แหล่งที่มา : health.giggog.com

อัพเดทล่าสุด