ข้อวินิจฉัยทางการพยาบาลโรคหอบหืด วิธีการรักษาโรคหอบหืด อาหารผู้ป่าวย โรค หอบหืด


5,661 ผู้ชม


ข้อวินิจฉัยทางการพยาบาลโรคหอบหืด วิธีการรักษาโรคหอบหืด อาหารผู้ป่าวย โรค หอบหืด

 

การพยาบาลผู้ป่วยโรคหอบหืด

เป็นโรคเรื้อรังซึ่งหลอดลมของผู้ป่วยไวต่อการกระตุ้นเกินกว่าปกติ แสดงออกโดยมีการตีบตัวของหลอดลมที่ปอดทั้งสองข้าง เนื่องจากการรัดตัวของกล้ามเนื้อหลอดลมทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อย และมีเสียงวี๊ดเกิดขึ้น การตีบของหลอดลมนี้เกิดขึ้นเป็นพัก ๆ อาจยุติได้เองหรือทุเลาจากการรักษา ในบางครั้งหอบหืดอาจมีอาการคล้ายคลึงกับกับหลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมปอดพองอยู่บ้างแต่มีข้อแตกต่างกันคือ อาการหอบหืดจะเกิดขึ้นเร็วและกลับดีได้ในระยะเวลาอันสั้น บางครั้งอาการอาจหายไปเป็นเดือน เป็นปีได้ และอาการหอบหืดมักสัมพันธ์กับการแพ้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ส่วนอาการของโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมโป่งพองนั้นจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ

สาเหตุ แบ่งเป็น 2 สาเหตุใหญ่ ๆ ได้แก่

1. สาเหตุจากภายนอก เกิดจากการแพ้สารต่าง ๆ มักเริ่มเป็นตั้งแต่เด็กและครอบครัว มักมีประวัติการแพ้ต่าง ๆ หรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหอบหืด สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้มีหลายชนิดและเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี ได้แก่

- การสูดดม หรือการหายใจเข้าไป ได้แก่ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ หญ้าขนสัตว์ ควันบุหรี่ ฯลฯ

- การรับประทาน ได้แก่ อาหารบางประเภท เช่น ไข่ นม เนื้อวัว ถั่วต่าง ๆไวน์ อาหารทะเลบางชนิด

- สารผสมอาหาร เช่น สีใส่อาหาร สารกันบูด ผงชูรส

- ยา เช่น aspirin , beta blockers

2. สาเหตุจากภายใน หอบหืดประเภทนี้หาสาเหตุไม่ได้ มักปรากฏเมื่ออายุมากแล้ว ผู้ป่วยมักมีประวัติการติดเชื้อบ่อย ๆ หรือเรื้อรัง เช่น หวัด หรือหลอดลมอักเสบ ไซนัสภาวะที่กระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืด หรือถ้ามีอาการอยู่แล้ว จะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น ได้แก่สภาพจิตใจและอารมณ์ที่มีความวิตกกังวล ความเครียด สภาพดินฟ้าอากาศได้แก่ มีความเย็น ความชื้นสูง เป็นต้น

พยาธิสรีรวิทยา

สาเหตุต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผนังหลอดลม ทำให้หลอดลมตีบแคบลง ซึ่งเป็นผลมาจาก1. กล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมหดตัว ( Bronchospasm )

2. ต่อมที่ผนังหลอดลมขับมูกออกมา ( Hypersecretion ) และมีลักษณะเหนียวติดแน่นกับผนังหลอดลม

3. ผนังหลอดลมบวมและมีภาวะโลหิตคั่ง (Mucous Membrane Edema)

การเปลี่ยนแปลง 3 ประการข้างต้น ทำให้ความต้านทานในหลอดลมสูงขึ้นการแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ ผิดไปจากปกติทำให้มีภาวะต่าง ๆ ตามมาได้แก่

1. สมรรถภาพในการทำงานของปอดลดลง ได้แก่ จำนวนของอากาศที่หายใจ

ออกอย่างเต็มที่ภายหลังที่หายใจเข้าอย่างเต็มที่และปริมาณอากาศหายใจออกเต็มที่หลังหายใจเข้าปกติจะลดลง

2. ปริมาณอากาศที่ค้างอยู่ในปอดหลังหายใจออกเต็มที่สูงขึ้น

3. ปริมาณออกซิเจนในโลหิตแดงต่ำลง ส่วนคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น

ความผิดปกติดังกล่าวจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อผู้ป่วยมีอาการอุดกั้นของหลอดลมมาก ๆหรือเป็นโรคอยู่นาน ๆ ส่วนระดับออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์จะดีขึ้น เมื่อได้รับการรักษามีผู้ป่วยบางรายที่มีอาการหอบหืดอย่างรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาขยายหลอดลมตามปกติ บางรายอาการรุนแรงติดต่อกันนานหลาย ๆ ชั่วโมง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีการระบายอากาศในถุงลมต่ำลง มีผลให้ความดันบางส่วนของออกซิเจน ในเลือดต่ำลง ความดันส่วนของคาร์บอนไดออกไซด์ สูงขึ้น โลหิตเป็นกรดและเกิดภาวะการหายใจวายได้ เป็นอาการหอบชนิดรุนแรงเรียกว่า แสตตัส แอสมาทะคัส (Status Asthmaticus)

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอาการหอบชนิดรุนแรง ได้แก 

1. ภาวะติดเชื้อในทางเดินหายใจ

2. ภาวะขาดน้ำ

3. การใช้ยาพ่นขยายหลอดลม (Nebulized isoproterenal) พร่ำเพรื่อหรือเกินขนาดจนทำให้เกิดผลเสียจากยา

4. การหยุดหรือลดขนาดของคอร์ดิโคสสตีรอยด์เร็วเกินไป

5. การใช้ยากล่อมประสาทหรือยาระงับประสาทเกินขนาด

6. การได้รับสารที่ผู้ป่วยแพ้เกินขนาด

Status asthmaticus

เป็นอาการของโรคหืดขั้นรุนแรง ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะการหายใจล้มเหลวอันเนื่องมาจากโรคหืด ที่เมื่อให้การรักษาขั้นต้นโดยการให้ยาขยายหลอดลมแล้ว ผู้ป่วยก็ยังไม่ดีขึ้นหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา

ลักษณะอาการทางคลินิกที่บงชี้ว่าเป็น Status asthmaticus

1.อาการหืดกำเริบเฉียบพลันที่มีอาการรุนแรง ที่มีอาการรุนแรงเป็นเวลานานหลายชั่วโมงหรือหลายวันโดยเป็นอาการของภาวะทางเดินหายใจตีบตัน

2.อาการที่พบอยู่เสมอคือมีเสมหะมาก ไอ หายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบากและมีเสียงหายใจ wheezingผลจากการตีบแคบของทางเดินหายใจ ทำให้ปอดมีลมคั่งค้างมากขึ้น ผู้ป่วยต้องใช้แรงในการหายใจมากขึ้น การที่หายใจเร็วหอบมากขึ้นทำให้มีการสูญเสียน้ำจากลมหายใจ (insensible loss)และทางผิวหนัง

อาการและอาการแสดง

โรคหืดเป็นโรคเรื้อรัง การจับหืดมักเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ มีช่วงดีสลับกับช่วงเลว ในช่วงดีผู้ป่วยไม่มีอาการและการตรวจร่างกายปกติ ในช่วงเลวจะมีอาการจับหืดเกิดขึ้นง่าย ในขณะจับหืดมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ

1. Cough

2. Dyspnea

3. Wheeze

อาการโรคหืดมักมีอาการปรากฏในตอนกลางคืนเวลานอน เชื่อว่าเกิดจากการสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ในห้องนอน เช่น ไรฝุ่น ซึ่งสะสมอยู่ในห้องนอน หมอน ผ้าห่ม และมีการลดระดับของอิพิเนฟริน คอร์ติซอลและอุณหภูมิในหลอดลมลดลง ในขณะหลับอุณหภูมิของร่างกายจะลดลงประมาณ 1 องศาเซลเซียส และการลดอุณหภูมิจะกระตุ้นให้มีการหดตัวของหลอดลม และอาจมีอาการเมื่อมีการเพิ่มฮีสตามีน มีการติดเชื้อไวรัสของทางเดินหายใจ ได้รับความเย็นระหว่างมีอาการของโรคความรุนแรงของการจับหืด

อาการเล็กน้อย ไอ หายใจมีเสียง wheeze เบา ๆ การหายใจไม่ลำบากมาก สามารถพูดเป็นประโยคได้ไม่ลำบาก

อาการปานกลาง จะไอตลอดเวลาหรือไอถี่ หายใจมีเสีย wheeze ดัง หายใจลำบากอย่างชัดเจนและสามารถพูดได้เพียงประโยคสั้น ๆเท่านั้น

อาการรุนแรง จะมีอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวายมาก หายใจบางครั้งไม่ได้ยินเสียง wheeze หายใจลำบากอย่างมาก บางครั้งต้องหายใจเป็นเฮือกๆ เหนื่อยมากจนจนพูดได้เพียงคำหรือสองคำเท่านั้น อาจมีอาการหน้าซีดและเหงื่อออกมาก ปากเขียว

การวินิจฉัย

1. ประวัติ ผู้ป่วยในขณะที่ไม่มีการจับหืดอาจตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติ ดังนั้นการวินิจฉัยอาจต้องอาศัยประวัติว่าได้ยินเสียง wheez ในทรวงอกในขณะจับหืด อาการเหนื่อยโดยไม่มีเสียง wheeze มักไม่ใช่หืดผู้ป่วยที่เริ่มจับหืดครั้งแรกเมื่ออายุ 60 ปี ควรนึกถึงภาวะ bronchospasm จากสาเหตุอื่นๆโดยเฉพาะ left ventricular failure

2.การตรวจร่างกาย การพบwheeze อาจไม่ใช่โรคหืดเสมอไป มีภาวะหลายอย่างทำให้เกิด wheezing syndrome ได้เป็นต้นว่า pulmonary edema , pulmonary emboli และ allergic disease อื่นนอกจากนั้นผู้ป่วยที่หลอดลมตีบน้อย ๆในภาวะหายใจปกติอาจไม่ได้ยินเสียง rhonchi หรือ wheezeในกรณีเช่นนี้การให้ผู้ป่วยหายใจออกแรงๆ( forced expiration )จะได้ยินเสียงwheeze ได 

3.การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผู้ป่วยหืดควรได้รับการตรวจ CBC, UA , sputumCXR,spirometry และ blood gasผู้ป่วยหืดมักมี eosinophil สูงในเลือดและในเสมหะหรือน้ำมูก eosinophil สูงในเลือด(เกิน 300/ลบ.มม.)ไม่ได้แสดงว่าเป็นหืดจากภูมิแพ้เสมอไป แต่การพบ eosinophil ในเลือดเป็นเครื่องแสดงถึง activity ของโรคหืดได้ (หืดยังควบคุมได้ไม่ดี)ผู้ป่วยหืดที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน ภาพรังสีอาจปกติ ถ้าเป็นนานๆอาจพบ hyperinflation จะมีประโยชน์มากในกรณีที่สงสัยว่ามีภาวะแทรกซ้อน เช่น pneumothorax , atelectasis หรือ pneumoniaเพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคSpirometry และการวัด Peak Expiratory Flow ( PEF )เป็นการวัดหรือทดสอบสมรรถภาพปอด การตรวจ spirometry จะเชื่อถือได้มากกว่า PEF จะให้ผลแน่นอนในการวินิจฉัยการอุดกั้นของหลอดลมและวินิจฉัยการอุดกั้นของหลอดลมตลอดจนประเมินการตอบสนองต่อยาขยายหลอดลมหรือ

การรักษาอย่างอื่นได้ การตรวจ spirometry จะช่วยในการ

1.วินิจฉัยการอุดกั้นของหลอดลม

2.ประเมินความรุนแรงของการอุดกั้นของหลอดลม

3.ติดตามผลการรักษา

4.ยืนยันการตอบสนองของการอุดกั้นของหลอดลมต่อยาขยายหลอดลม

5.ยืนยันความรุนแรงของการอุดกั้นของหลอดลมในตัวผู้ป่วย เพื่อจะได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยในการรักษา

6.ติดตามการดำเนินของโรคและเก็บเป็นข้อมูลในการปรับตัวยาที่ใช้ในการรักษาอย่างแม่นยำและถูกต้อง

การตรวจโดยวิธีการ spirometry นั้นจะต้องทำตามขั้นตอนมาตรฐาน ผู้ควบคุมการทดสอบต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงวิธีการและกระบวนการในการตรวจ จะต้องแน่ใจว่าผู้ป่วยหายใจได้เต็มที่ก่อนที่จะเป่าออกมาอย่างเร็วและแรงเต็มที่จนไม่สามารถที่จะเป่าต่อไปได้อีก(ควรจะเป่าได้ประมาณ 6 วินาที)ความพยายามและความตั้งใจอย่างเต็มที่ของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ป่วยควรได้เป่าอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าผลการทดสอบดีที่สุด ผู้ป่วยควรได้รับการทดสอบ spirometry ซ้ำหลังจากได้รับยาขยายหลอดลมชนิดสูด เช่น หลังได้รับยา salbutamol 2 puff (200 mg) เป็นเวลา 10-15นาทีการวัด Peak Expiratory Flow ( PEF ) คือการวัดอัตราการไหลของอากาศสูงสุดจากการหายใจออกอย่างเร็วและแรงสุดภายหลังการหายใจเข้าอย่างเต็มที่ การวัด PEF ทำ ได้ง่ายไม่ยุ่งยาก

Reproducible ที่จะแสดงถึงการอุดกั้นของหลอดลม มาตรวัด Peak Flow เช่น Mini Weight Peak FlowMeter มีราคาถูกและน้ำหนักเบา พกติดตัวได้สะดวกและให้ค่าทดสอบที่เชื่อถือได้ใกล้เคียงกับมาตรวัดPeak Flow มีประโยชน์สำ หรับผู้ป่วยโรคหอบหืดแต่มีความสำ คัญน้อยกว่า spirometry ในการวินิจฉัยโรคหอบหืด

4.Allergy test ได้แก่ skin test และ bronchial provocative test มีประโยชน์ในการสนับสนุนสารภูมิแพ้ในผู้ป่วย ซึ่งซักได้จากประวัติSkin test ที่นิยมทำในปัจจุบัน ได้แก่ Pick test (สะกิด) หรือ scratch test (ข่วน) กับintradermal test สารที่ใช้ทดสอบคือ houst dust , mold spore และ pollens ปฏิกิริยาที่ถือเป็นบวก คือwheal ข้อควรเข้าใจคือการทดสอบผิวหนังที่ได้ผลบวกไม่ได้แสดงว่าสารนั้นจะเป็นสาเหตุของโรคหืดในผู้ป่วยคนนั้นเสมอไป อาจเป็นหรือไม่เป็นสาเหตุของโรคในคนนั้นก็ได้ ถ้าประวัติการแพ้สารนั้นชัดเจนและผลการทดสอบต่อสารตัวการให้ผลบวก โอกาสที่สารดังกล่าวจะเป็นสาเหตุของหืดในผู้ป่วยดังกล่าวก็มีมากProvocative test ให้ผลแน่นอนกว่าการทดสอบทางผิวหนัง แต่การทดสอบมีอันตรายเพราะผู้ป่วยอาจเกิดจับหืดรุนแรงได้ ไม่ทำเป็นประจำ จะทำในกรณีสงสัยมากๆ เท่านั้น

การรักษา

หลักการรักษาโรคหืดทั่วไป คือ

1. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น

2. ลด hyperreactivity

-Hyposensitization

-Anti-inflammatory drugs

3. Bronchodilators

-Theophylline

-Beta agonist

-Anticholinergics

4. ออกซิเจน

5. Immonotherapy คือการฉีดสารภูมิแพ้เข้าใต้ผิวหนังโดยใช้ปริมาณน้อยๆแล้วเพิ่มมากขึ้นตามลำดับจนผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นจึงพิจารณาหยุดฉีด ในบางรายอาจต้องฉีดเป็นเวลานานหลายปีโดยทั่วไป 3-5 ปีหืดเป็นโรคเรื้อรังซึ่งมีช่วงอาการดีสลับกับช่วงอาการเลว เป้าหมายของการรักษาคือพยายามทำให้ช่วงอาการดี ( Asymptomatic period) นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ปกติหรือใกล้ปกติ ทั้งนี้แพทย์ผู้รักษาควรอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการรักษาตนองที่ถูกต้องด้วยเพื่อป้องกันอันตรายต่อชีวิตการรักษาขณะมีอาการหอบหืดอย่างฉับพลัน ทำได้ตามลำดับขั้นตอนตามความรุนแรงของอาการหอบหืดต่อไปนี้

1. Adrenaline, Aqueous solution 1: 1000 ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ระงับอาการหอบหืดได้ประมาณร้อยละ 75-ของคนไข้ ราคาถูกและได้ผลดีมาก

2. Bricanyl ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ได้ผลดีในการขยายหลอดลม

3. Aminophylline โดยการฉีดเข้าหลอดเลือดดำช้าๆ วิธีนี้ได้ผลในคนไข้ถึงร้อยละ 90 ขึ้นไปการให้ยานี้ต้องระมัดระวัง-เพราะถ้าให้เร็วๆทำให้ความดันโลหิตต่ำ-คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะช็อค มี cardiac arrhythmia ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตทันทีได 

4. สารน้ำเข้าหลอดเลือดดำ การให้สารนี้นอกจากแก้ภาวะขาดน้ำแล้วยังมีน้ำตาลเป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยซึ่งหอบมากและมักจะรับประทานอาหารไม่ค่อยได้จึงเป็นประโยชน์และพบว่าช่วยทำให้เสมหะเหลวลงได้ ละลายและถูกกำจัดออกจากหลอดลมได้ง่ายอาจถือว่าเป็นยาขับเสมหะที่ดีมาก

5. ออกซิเจนและความชื้น การให้ออกซิเจนจะต้องให้ร่วมกับความชื้นด้วยเสมอ เพราะออกซิเจนแห้งทำให้หลอดลมและเยื่อบุภายในแห้ง เกิดการระคายเคือง ทำให้หอบมากและระวังการเกิดภาวะ CO2 nacrosis (การคั่งของคาร์บอน)

6. ยาระงับประสาท ( sedatives)

7. ยาปฏิชีวนะ

8. Intermittent positive pressure nebulization of isoproterenol

9. Utrasonic nebulization จะต้องระวังการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจมีอยู่ในเครื่องมือที่ใช้และในน้ำสำหรับพ่น จึงต้องทำความสะอาดอย่างดีและปลอดเชื้อทั้งก่อนและหลังใช้

10. คอร์ติโคสเตอร์รอยด์ ยานี้จะไม่เห็นผลในทันที จะต้องใช้เวลาหลายชวั่ โมงก่อนจะเห็นผลดังนั้นการพิจารณาที่จะใช้ในระยะแรกๆของการหอบหืดจึงมีความจำเป็น

11. การใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต

12. Isoproterenol infusion

13. ใช้เครื่องช่วยหายใจ

14. การดูแลอย่างใกล้ชิด

ภาวะแทรกซ้อน

1.ภาวะมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด

2.ภาวะมีลมในเมดิแอสตินั่ม

3.ภาวะมีลมในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง

4.ภาวะปอดแฟบ

5.กระดูกซี่โครงหัก

6.เป็นลมจากการไอ

7.หลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมโป่งพอง

ภาวะแทรกซ้อน 3 ชนิดแรกเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยมาก ส่วนใหญ่พบในเด็กโตเกิน 10 ปีขึ้นไปหรือในผู้ใหญ่ที่มีอาการหอบมากและรุนแรง ลมที่คั่งอยู่เป็นจำนวนมากในถุงลมจะทำให้ถุงลมพองออกเกินกำลังที่จะต้านทานไว้ได้จึงแตกออก ถ้าเกิดภายในปอดลมเหล่านี้จะแทรกออกไปอยู่รอบๆหลอดโลหิตของปอดออกสู่เมดิแอสตินั่มและแทรกเข้าใต้ผิวหนังบริเวณทรวงอกและคอทำให้มองเห็นมีลักษณะบวมพองจากลม คล้ายจะได้ยินเสียงกรอ๊ บแกล๊บจากลมที่เคลื่อนไป มาภายใต้เยื่อใต้ผิวหนัง ถ้าถุงลมแตกติดต่อเข้าสู่โพรงเยื่อหุ้มปอด ก็จะเกิดเป็นภาวะมีลมในโพรงเยื่อหุ้มปอด ทำให้หอบเหนื่อยมากขึ้น หายใจเร็วขึ้น อาจขาดออกซิเจน เขียวและเสียชีวิตได้ ขณะถุงลมแตกจะเกิดอาการเจ็บแน่นขึ้นในทันที ซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ที่สำคัญของถุงลมแตกภาวะปอดแฟบเพียงเล็กน้อยขณะเกิดหอบหืดนั้นพบได้บ่อยและภาพรังสีปอดอาจเห็นมีลักษณะทึบแยกได้ยากจากปอดอักเสบในบางครั้งภาวะปอดแฟบอาจเกิดขึ้นทั้งกลีบปอดข้างใดข้างหนึ่งดูทึบไปหมด ซึ่งมีสาเหตุมาจากเสมหะที่เหนียวอุดตันที่หลอดลมใหญ่ด้านใดด้านหนึ่งทั้งหมด บางครั้งแยกยากจากปอดอักเสบเฉพาะกลีบ โดยทั่วไปการให้ยาขยายหลอดลม การให้น้ำอย่างเพียงพอจะทำให้เสมหะหลุดออกได้และปอดกลับมาเป็นปกติในเวลาเป็นชั่วโมงหรือในรายที่ทำดังกล่าวแล้วไม่ดีขึ้นก็อาจต้องส่องกล้องตรวจในหลอดลมภาวะปอดแฟบอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นนานและเรื้อรัง ได้แก่ ปอดกลีบกลางด้านขวาเกิดจากเสมหะเหนียวอุดตันหลอดลมที่เข้าสู่กลีบกลางของปอดข้างขวาหรืออาจเกิดจากต่อมน้ำเหลืองรอบๆหลอดลมนี้โตแล้วกดเบียดผนังหลอดลมจากภายนอกทำให้หลอดลมแคบลงและทำให้เกิดอาการหอบหืดขึ้นได้การไออย่างรุนแรงในผู้ใหญ่บางคนทำให้เกิดการแตกหรือหักของกระดูกซี่โครง พบในชาวต่างประเทศในคนไทยไม่ค่อยพบการเป็นลมจากการไอ ผู้ป่วยโรคหอบหืดบางคนบางขณะที่มีอาการไอมากๆจะรู้สึกเวียนศีรษะหมดสติไปชั่วขณะแล้วกลับเป็นปกติ เข้าใจว่าการไอทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงสมองชั่วขณะพบในผู้ใหญ่ที่รูปร่างใหญ่ อ้วน สมบูรณ์หลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมโป่งพอง โดยทั่วไปโรคหอบหืดจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นโรคทั้งสองนี้แต่ในโรคหอบหืดที่เกิดจากสาเหตุภายในร่วมกับการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจอาจทำให้เกิดโรคนี้ได้

เอกสารอ้างอิง

คณาจารย์สถาบันพระบรมราชชนก. การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอาย. พิมพ์ครั้งที่ 2 (ปรับปรุงครั้งที่ 1). นนทบุรี. โครงการสวัสดิการวิชาการ สถาบันราชชนก. พ.ศ. 2541.

คณาจารย์สถาบันพระบรมราชชนก. การบำบัดทางการพยาบาล. พิมพ์ครั้งที่ 3 นนทบุรี.โครงการสวัสดิการวิชาการ สถาบันราชชนก. พ.ศ. 2546.

ชัยเวช นุชประยูรและคณะ. ตำราอายุรศาสตร์เล่ม 3. ฉบับที่ 8 พิมพ์ครั้งที่ 2 โรงพิมพ์ยูนิติ้พับพลิเดชั่น กรุงเทพ พ.ศ. 2539.

ผ่องพรรณ อรุณแสง. คู่มือการวางแผนการพยาบาลผู้ป่วยโรคทางอายุรกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 4ห้างหุ้นส่วนจำกัดขอนแก่นการพิมพ์. พ.ศ. 2546.

พรทิพย์ ศิริบูรณ์พิพัฒนา. การพยาบาลเด็ก 2. พิมพ์ครั้งที่ 1 นนทบุรี. บริษัท ยุทธรินทร์การพิมพ์จำกัด. พ.ศ. 2544.

วารุณี มีเจริญ. แนวทางการวางแผนการพยาบาลผู้ป่วยทางอายุรกรรม เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 2สระบุรี. โรงพิมพ์ปากเพียวการช่าง 2. พ.ศ. 2548.

สมจิต หนุเจริญกุล. การพยาบาลทางอายุรศาสตร์เล่ม 2. ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. พิมพ์ครั้งที่ 13. พ.ศ. 2541

แหล่งที่มา : gotoknow.org

อัพเดทล่าสุด