สวยอมตะ 14 เคล็ดลับ คงความเป็นหนุ่มสาว การเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว


2,318 ผู้ชม


สวยอมตะ 14 เคล็ดลับ คงความเป็นหนุ่มสาว การเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว

 

14 เคล็ดลับ คงความเป็นหนุ่มสาว

          1. แคลอรี่เยอะ เสื่อมเร็ว  การรับประทานอาหารที่ให้แคลอรี่สูงจะทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญสารอาหารมาก ก่อให้เกิดสารอนุมูลอิสระในร่างกายเพิ่มมากขึ้น อาหารที่เรารับประทานไม่ว่าจะเป็น โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต สุดท้ายก็จะถูกย่อยสลายกลายเป็นน้ำตาล ถ้าร่างกายรับแคลอรี่หนักทุกมื้อ ย่อมส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ๆ ต่ำ ๆ  ร่างกายต้องหลั่งสารอินซูลินตลอดเวลาเพื่อนำน้ำตาลไปเก็บไว้ในเซลล์ คนที่มีไลฟ์สไตล์แบบนี้ย่อมเสี่ยงกับการเป็นโรคเบาหวานซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้แก่เร็ว สมัยก่อนการกินอาหารเน้นแป้งและน้ำตาล รองลงมาคือ โปรตีน ผักผลไม้และไขมัน แต่ถ้าต้องการรับประทานอาหารให้ดีไม่ให้แก่เร็ว ต้องเปลี่ยนใหม่ เพราะสิ่งที่ควรกินมากที่สุดคือ น้ำบริสุทธิ์ 1-2 ลิตรต่อวัน เน้นผักผลไม้ อาหารกลุ่มโปรตีนมีประโยชน์ ไขมันไม่อิ่มตัวกลุ่มโอเมก้า 3,6 และ 9 ส่วนสิ่งที่ควรกินให้น้อยที่สุดให้น้อยที่สุดคือไขมันอิ่มตัวที่มีอยู่ในแป้งและน้ำตาล
 
          2. กินหลากแหล่ง  เลือกผักออร์แกนิกหรือจากหลากแหล่งผลิต เพราะเราไม่รู้ว่าแหล่งปลูกมีสารปนเปื้อนหรือไม่ วิธีนี้ช่วยลดการสะสมสารบางอย่างในร่างกาย เพราะมีงานวิจัยบ่งชี้ว่า การลดการกินอาหารที่มีสารพิษไม่ให้ผลดีเท่ากับกินอาหารจากหลากแหล่งผลิต
          3. ร้อนไปไม่ดี กรอบไปไม่เวิร์ค  หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ผ่านกระบวนการร้อนจัดหรือทอดจนกรุบกรอบ นอกจากจะสูญเสียคุณค่าสารอาหารแล้ว ยังเพิ่มสารก่อมะเร็งมากขึ้นด้วย สู้เปลี่ยนมากินอาหารออร์แกนิกหรือผ่านกรรมวิธีนึ่งหรือต้มจะดีกว่า 
          4. ลดคาเฟอีน  ปกติร่างกายหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อกระตุ้นร่างกายให้เผาผลาญนำเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆได้เพียงพอ สร้างความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ถ้าดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเข้าไปกระตุ้นร่างกายให้หลั่งสารอะดีนาลีนอยู่เป็นประจำ อะดรีนาลินทำงานคล้ายฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้ร่างกายลดการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ไปโดยปริยาย ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์เสื่อมเร็วกว่าปกติ ถ้าเกิดภาวะไทรอยด์ต่ำ ทำให้การเผาผลาญต่ำลง แม้เราจะรับประทานอาหารเท่าเดิม แต่อ้วนง่าย บางคนมีอาการ
มือเท้าเย็น เวียนศรีษะ ความจำเสื่อม ผิวและผมแห้ง ไขมันในเลือดสูงเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เป็นลูกโซ่ไปเรื่อย ๆ           
          5. ดื่มนมมากไปกระดูกพรุน  ในวัยผู้ใหญ่ไม่มีเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยนม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนเอเชียมีอุบัติการ Cow’s Milk Intolerance มากกว่าคนอเมริกาและยุโรป นอกจากนี้ผลการวิจัยล่าสุดในอเมริกาพบว่า คนที่ดื่มนมมาก ๆ มีความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนมากกว่า เหตุผลคือ กรดแอมิโนบางอย่างในนมทำให้เลือดเป็นกรด ส่งผลให้เกิดการสูญเสียแคลเซียมและแมกนีเซียมจากกระดูกไปในปัสสาวะ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนในวัยผู้ใหญ่ ทางที่ดีเลือกทานแคลเซียมจากแหล่งอื่น ๆ เช่น ปลาเล็กปลาน้อย ธัญพืช หรือเต้าหู้จะดีกว่า 

          6. ดื่มน้ำจากขวดแก้ว  การดื่มน้ำบริสุทธิ์จากขวดแก้วดีกว่าดื่มน้ำจากขวดพลาสติก เพราะสารพิษในพลาสติกละลายปะปนในน้ำตลอดเวลา ทำให้ร่างกายได้รับสารพิษ ก่อให้เกิดความเสื่อมอย่างไม่ต้องสงสัย 
          7. หน้าแก่เพราะฟิตเกิน  คุณเคยเห็นคนออกกกำลังกายหนักจนหน้าแก่ หรือบางคนฟิตจัด แต่จู่ ๆ เกิดหัวใจวายกะทันหันกลางสนามกีฬาหรือไม่ นั่นเป็นเพราะร่างกายเผาผลาญอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระมากขึ้นกว่าเดิม เป็นเหตุของความเสื่อมของร่างกาย ดังนั้นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่เหมาะสมจึงควรอยู่ที่ 30-45 นาทีต่อวัน จากนั้นยกเวทนิดหน่อย ทำ 3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ถือเป็นการออกกำลังกายที่ดี ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ส่งผลดีต่อร่างกายมากกว่าผลเสีย 
          
          8. ดื่มเหล้ามาก จากชายกลายเป็นหญิง  การดื่มเหล้าทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระในร่างกาย แถมเหล้าที่ดื่มเข้าไปกลายเป็นน้ำตาลสะสมในรูปไขมัน ถ้าเทียบการได้รับแคลอรี่จากโปรตีน 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ แต่เหล้าปริมาณเท่ากันให้พลังงานถึง 7 กิโลแคลอรี่ แถมยังทำให้ผู้ชายที่ดื่มจัดรูปร่างเหมือนถังเบียร์ หัวล้าน มีเต้านมเหมือนผู้หญิง นั่นเป็นเพราะเหล้ามีผลต่อตับ ทำให้มีการเปลี่ยนฮอร์โมนจากชายกลายเป็นหญิงมากขึ้น ซึ่งโดยธรรมชาติของฮอร์โมนเพศหญิงใช้ในการเก็บไขมัน คนที่ดื่มหนักจะลงพุงและแก่เร็ว นอกจากนี้ยังทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ในผู้หญิงที่ดื่มหนักมาก มีผลการวิจัยออกมาแล้วว่า เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมเช่นเดียวกัน 
          9. หยุดสูบเสียแต่วันนี้  บุหรี่ 1 สูบกระตุ้นการสร้างสารอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น 1014 ล้านโมเลกุล  ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคถุงลมโป่งพองและโรคมะเร็ง
 
          10. หลีกเลี่ยงโลหะหนักและสารปรอท  ในอเมริกาและยุโรปสั่งห้ามใช้อะมัลกัม (Amalgum : ทำมาจากปรอทซึ่งเป็นโลหะหนัก) ในการอุดฟันคนไข้ เพราะพบว่ามีการระเหยปล่อยสารปรอทเข้าสู่ร่างกายตลอดเวลา มีงานวิจัยบ่งชี้ว่าคนเป็นมะเร็งเต้านมและอัลไซเมอร์มีผลส่วนหนึ่งมาจากปรอทและโลหะหนัก ปัจจุบันคนเยอรมันหันมาใช้ “เซอร์โคเนียม” (เพชรรัสเซีย) ในการอุดฟัน รวมถึงการผลิตข้อเทียม กระดูก และรากฟันเทียมแทน เพราะไม่ทำปฏิกิริยาต่อร่างกาย 
          11.วางโทรศัพท์มือถือไกลตัว  มีงานวิจัยว่าการใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งใช้คลื่นความถี่สูง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ถ้าเป็นไปได้ ควรวางโทรศัพท์ไว้ห่างจากร่างกายจะดีกว่า 
          12.เข้านอนตั้งแต่สี่ทุ่ม  ตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงตีสองเป็นช่วงที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินซึ่งส่งผลให้หลับลึก ทำให้ความจำดี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และทำให้การหลั่งฮอร์โมนอื่น ๆ ในร่างกายสมดุล ขณะเดียวกันช่วงที่ร่างกายหลับลึกส่งผลให้โกร์ทฮอร์โมนหลั่งออกมาเพื่อเสริมสร้างโปรตีนในร่างกาย ได้แก่ คอลลาเจนใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ และกระดูกให้แข็งแรง ช่วยลดไขมันที่สะสมในร่างกาย ถ้าไม่อยากแก่ อย่านอนดึกจนเกินไป 
          13. กินวิตามิน  วิตามินบางตัวออกฤทธิ์เป็นสารอนุมูลอิสระ เช่น กลุ่มวิตามินเอ อี ซี ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายต้องการตลอดเวลาเพราะสร้างเองไม่ได้ และต้องทำงานเป็นระบบ แต่ละตัวมีคุณสมบัติต่างกัน เช่น วิตามินซีละลายในน้ำ ช่วยปกป้องดีเอ็นเอ ส่วนวิตามินเอ อี โคเอนไซม์คิว 10 ละลายในไขมัน ช่วยปกป้องผนังเซลล์ให้แข็งแรง ถ้ามั่นใจว่าได้รับสารเหล่านี้เพียงพอจากการกินอาหารจะไม่กินวิตามินเสริมก็ได้ แต่ปัญหาก็คือ จะแน่ใจได้อย่างไรว่า อาหารที่กินเข้าไปให้วิตามินเหล่านั้นเพียงพอ เช่น ร่างกายต้องการวิตามินซีวันละ 1,000 มิลลิกรัม เท่ากับส้ม 14 ลูก วิตามินอี 500 IU เท่ากับกินน้ำมันพีนัท 12.5 ช้อนโต๊ะ ซึ่งในชีวิตประจำวันเราไม่มีโอกาสได้รับอย่างครบถ้วน จึงต้องใช้วิตามินเสริมทดแทนสารอาหารที่ร่างกายขาดไป เราจะทราบได้อย่างไรว่าเราขาด ก็ด้วยการตรวจปริมาณสารเหล่านี้ในเลือดว่าเพียงพอหรือไม่ มีความจำเป็นต้องได้รับในปริมาณเท่าไหร่ต่อวันจึงจะเหมาะสมที่สุด 
          14. เสริมฮอร์โมน  ปกติร่างกายต้องใช้ฮอร์โมนในการทำงาน แต่ผู้หญิงผู้ชายถูกกำหนดไว้แล้วโดยเฉลี่ยเมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป ร่างกายจะเริ่มเข้าสู่ภาวะผลิตฮอร์โมนลดลง เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น อ่อนเพลีย อารมณ์หงุดหงิด ความจำแย่ลง การเผาผลาญลดลง ร่างกายเปลี่ยนแปลง เช่น ผิวหนังเหี่ยวย่น แห้ง ผมร่วง ตามหลักการของเวชศาสตร์ชะลอวัย หรือ Anti-Aging Medicine นั้น ถ้าไม่มีข้อห้าม สามารถได้รับฮอร์โมนทดแทนเพื่อรักษาสมดุลเหล่านั้นกลับคืนมา แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ 


แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด