สาเหตุโรคหอบหืด อาการของโรคหอบหืด โรคหอบหืดในเด็ก
โรคหอบหืดในเด็กเล็ก
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยมีอาการหอบหืดมาก่อนเลยในชีวิต.....
แต่หากลองนึกเล่นๆว่า คุณกำลังวิ่งอย่างเร็ว จากนั้นกระโดดลงไปในนํ้า และลองกลั้นหายใจในนํ้าให้นานเท่าที่คุณจะทำได้ คุณจะรู้สึกว่า คุณหายใจไม่สะดวก หรือรู้สึกหายใจติดขัดและเหนื่อย
จากอาการที่กล่าวมาข้างต้น เราสามารถเปรียบได้กับอาการของผู้ป่วยโรคหอบหืด เมื่อเวลาผู้ป่วยหายใจ ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนว่า กำลังหายใจผ่านทางช่องหรือรูแคบๆ ซึ่งสามารถหายใจได้อย่างยากลำบาก เพื่อที่จะสูดอากาศเข้าไปในปอดของเขา
นี่เป็นอาการที่ผู้ป่วยโรคหอบหืดต้องเผชิญ โดยเฉพาะอาการของโรคหอบหืดที่เกิดขึ้นกับเด็กในวัย 5 ขวบหรือตํ่ากว่า ซึ่งเด็กๆจะไม่สามารถสื่อสารหรือบอกพ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้เลยว่าเขากำลังหายใจไม่สะดวกอยู่
ภาวะเหล่านี้อาจจะเลวร้ายลงได้ หากพ่อแม่ไม่ได้ดูแลหรือหัดสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ประชากรกว่า 400 ล้านคนทั่วโลก ต้องเผชิญกับปัญหาและอาการของโรคหอบหืดที่เกิดขึ้นเนื่องจากหลอดลมของผู้ป่วยตอบสนองต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากกว่าภาวะปกติ ทำให้หลอดลมหดเกร็ง และมีอาการบวมเนื่องจากอักเสบ รวมทั้งจะมีการสร้างเสมหะมากกว่าปกติ
ผู้ป่วยโรคหอบหืดจึงควรเข้าพบแพทย์อย่างสมํ่าเสมอ เพื่อแพทย์จะได้ดูแลและวางแผนการรักษาโรคหอบหืดให้บรรเทาลง ข้อมูลด้านล่างนี้จะบอกถึงการสังเกตอาการของโรคหอบหืดในเด็กเล็ก
- มารู้จักกับโรคหอบหืดกันดีกว่า
- อาการของโรคหอบหืดสามารถพบได้ในเด็กอายุ 5 ขวบหรือต่ำกว่า
- เด็กที่เป็นโรคหอบหืดจะมีอาการที่แตกต่างกัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาในแต่ละวันเเละอายุของเด็ก อาการเหล่านั้นอาจจะลดลงเมื่อเด็กโตขึ้น
- หากเด็กมีอาการหายใจผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคหอบหืด ผู้ปกครองควรสังเกตและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีการรักษา เพราะหากปล่อยไว้นาน อาจมีผลกระทบต่อการทำงานของปอดได้
- ในการรักษาโรคหอบหืดในเด็กและผู้ใหญ่นั้น มีความเเตกต่างกัน เนื่องจากหลอดลมของเด็กจะเล็กกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นเด็กจึงควรได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
A. อาการของโรคหอบหืดในเด็ก – โรคหอบหืดในเด็กมีอาการที่แตกต่างกันในแต่ละวัน บางวันเด็กอาจมีอาการที่รุนเเรง ในขณะที่บางวันเด็กอาจจะไม่มีอาการเลย หรือมีแต่น้อยมาก อาการของโรคหอบหืดมักมีสาเหตุมาจากสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นภายในบ้าน ตัวไรฝุ่น เกสรดอกไม้ ละอองเชื้อรา ขนสัตว์ และควันบุหรี่ ผู้ปกครองจึงควรสังเกตอาการ ดังต่อไปนี้:
- เมื่อเด็กมีอาการไอเป็นชุด - ประกอบกับการหายใจลำบาก หรือหายใจติดขัด เหนื่อยง่าย และอาการไอจะยิ่งแย่ลงในเวลานอน
- เด็กจะมีอาการหายใจลำบากหอบเหนื่อย - คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตลูกน้อยของท่าน หากมีอาการหายใจที่ช้าและสั้น
- เด็กที่เป็นปอดบวมบ่อยๆ - เด็กมักมีอาการแย่ลงเมื่อเป็นหวัด หรือหลอดลมอักเสบ
- เมื่อเสียงหายใจของเด็กมีเสียงวี้ดๆ- คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกต เสียงหายใจของเด็กเพราะอาการนี้มักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
B. อาการโรคหอบหืดที่จัดเป็นอันตราย – คุณพ่อคุณแม่ควรเฝ้าระวังอาการของลูก หากอาการของโรคหอบหืดกำเริบ และมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
อาการที่ควรเฝ้าระวัง มีดังนี้
- เมื่อลูกน้อยมีปัญหาในการสื่อสาร เพราะการหายใจของเขาไม่สะดวกและติดขัด
- เด็กที่มีอาการหายใจถี่ และหายใจขัด เพราะพยายามจะสูดอากาศเข้าปอดและมีอาการหายใจเร็วและเเรง ผู้ปกครองสามารถสังเกตได้จากบริเวณชายโครงของเด็กที่จะหุบเข้าไปลึกมาก
- การวินิจฉัยโรคหอบหืด
ถึงแม้ว่ากุมารเเพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะสามารถบ่งชี้ถึงอาการของโรคหอบหืดได้ แต่คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญในการสังเกตความผิดปกติของลูกน้อยได้ด้วยเช่นกัน
ในการตรวจวินิจฉัยโรคหอบหืดนั้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะใช้วิธีการ ตรวจการทำงานของปอด ด้วยเครื่องวัดลมหายใจ “ Spirometry” หรือ ตรวจวัดความเร็วของลมหายใจโดยเครื่อง “Peak Flow Meter” แต่ 2 วิธีนี้ แพทย์มักจะใช้ตรวจวินิจฉัยเด็กโตและผู้ใหญ่
ปัจจุบัน การตรวจวินิจฉัยด้วยการวัดระดับ ของ nitric oxide ในลมหายใจของเด็ก จะสามารถบอกถึงการทำงานของปอดว่า ทำงานอย่างสมบูรณ์หรือไม่ และถ้าหากในปอดมีปริมาณของ nitric oxide มากเกินไป แสดงว่า ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ - การรักษาโรคหอบหืด
โรคหอบหืดเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การดูแลรักษาเพื่อบรรเทาอาการนั้น จะช่วยทำให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้ดูแลและสังเกตอาการของเด็กอย่างต่อเนื่อง และจะสั่งยาขยายหลอดลมชนิดพ่นหรือชนิดสูดดมไว้ใช้ในเวลาที่ลูกน้อยมีอาการกำเริบ
ชนิดและประเภทของยาที่ใช้รักษาโรคหอบหืด มีดังนี้
A. ยารักษาในระยะยาว (Controller) หรือยาที่ป้องกันอาการหอบหืด เป็นยาที่ควบคุมโรคระยะยาวและต้องใช้ทุกวัน เพื่อลดการอักเสบของผนังหลอดลมและให้ผลการรักษาที่ดี
- Inhaled corticosteroids คือ ยาสูดดมหรือยาพ่น เป็นยาที่ใช้ลดอาการอักเสบและเป็นยาที่นิยมใช้เพื่อรักษาโรคหอบหืด แบ่งเป็น 3 ขนาด คือ ขนาดต่ำ ขนาดปานกลาง และขนาดสูง แพทย์จะะเลือกชนิดยา และปรับขนาดยาตามความรุนแรงของโรค
- Leukotriene modifiers คือ ยาที่ใช้ในการรักษาโรคหอบหืดชนิดที่ไม่รุนเเรง ใช้ร่วมกับ inhaled steroid
- Cromolyn คือ ยาพ่นเพื่อลดการอักเสบได้ปานกลาง เหมาะสำหรับการเริ่มต้นรักษาในเด็ก โดยใช้พ่น วันละ 2-4 ครั้ง
- Theophylline คือ ยารักษาโรคหอบหืดที่ใช้รับประทานวันละ 1 เม็ด เพื่อคลายกล้ามเนื้อบริเวณหลอดลม สามารถลดอาการหอบในเวลากลางคืน สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในขั้นปานกลางถึงรุนแรง
B. ยาบรรเทาอาการหอบหืดแบบชั่วคราว คือ ยาที่ใช้บรรเทาอาการหอบ ยานี้จะใช้เมื่อมีอาการหอบ แน่นหน้าอก ไอ และหายใจมีเสียงวี้ด ยาจะออกฤทธิ์เร็ว โดยยาจะไปขยายหลอดลม เพื่อให้อากาศสามารถผ่านเข้าไปในปอดได้ดี
C. การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการรักษาโรคภูมิแพ้อีกวิธีหนึ่ง นอกเหนือจากการรักษาด้วยยา หลักของวิธีการรักษานี้คือการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างระบบภูมิคุ้มกันโดยการให้ allergenic extract ในความเข้มข้นต่ำ ในระยะแรก และค่อยๆเพิ่มความเข้มข้นขึ้นทีละขั้นๆ แพทย์จะเป็นผู้ฉีดยาให้กับเด็ก 1 เข็มต่อสัปดาห์ และเพิ่มจำนวนตามลำดับ จนเด็กมีภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ และมีอาการดีขี้น
D. เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการพ่นยา มีหลากหลายชนิด แต่ละชนิด มีการใช้งานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุและอาการของผู้ป่วย
- เครื่องพ่นยาแบบละออง ให้เด็กหายใจผ่านหน้ากาก เด็กจะสูดละอองยาเข้าไปในปอด มีผลการรักษาที่ดีกับเด็กเล็ก มากกว่าเครื่องพ่นยาชนิดอื่นๆ
- อุปกรณ์ที่ส่งปริมาณยาเป็นมิเตอร์ เด็กจะหายใจผ่านทางที่ครอบปาก เป็นจังหวะเพื่อรับยาในปริมาณที่กำหนด เครื่องมือนี้ใช้ในเด็ก 5 ขวบขึ้นไป
- เครื่องพ่นยาแบบ DPT ใช้ในเด็ก 4 ขวบขึ้นไป ยาจะสามารถผ่านเข้าไปได้เร็วและลึก
ควรรับประทานยาหรือใช้ยาตามที่แพทย์ประจำแนะนำ อย่าหยุดยาเองหรือซื้อยามากินเองโดยไม่รู้จักยา และควรมาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง สูดยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์เร็ว อย่างถูกต้องตามวิธีการ
- การควบคุมโรคหอบหืด
การควบคุมและป้องกันโรคหอบหืด อาจเป็นเรื่องยาก แต่ข้อมูลด้านล่างนี้สามารถช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ควบคุมและจัดการโรคหอบหืดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
A. การบันทึกและเก็บประวัติ
- รวบรวมอาการที่มีผลกระทบต่อการเล่นและการพักผ่อน
- นับครั้งที่ลูกเกิดอาการหอบหืด
- ควรสังเกตผลข้างเคียงจากยาและสังเกตอาการของลูก หากมีการนอนที่ผิดปกติ สั่น และหงุดหงิดควรปรึกษาแพทย์
- ควรปรับยาตามแพทย์สั่ง
- ควรสังเกตการทำงานของปอด โดยใช้เครื่องมือ ”peak flow meter” (ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนการใช้)
B. การควบคุมไม่ให้โรคหอบหืดกำเริบ การป้องกันในเบื้องต้น จะช่วยลดอาการหอบหืดลงได้
- ระวังอย่าให้เป็นหวัด และอย่าให้ทางเดินหายใจติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงอากาศเย็น
- หลีกเลี่ยงฝุ่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ มลพิษ และควันบุหรี่
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้ระคายเคืองในอากาศ
หลักสำคัญในการป้องกันการกำเริบของโรคหอบหืด คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง ควรสังเกตผลข้างเคียงจากยาที่ได้รับและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดการกำเริบของโรคหอบหืดได้
หากเด็กมีอาการหอบหืด หรือหายใจไม่สะดวก ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์โดยด่วน สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์กุมารแพทย์
แหล่งที่มา : bangkokhospital.com