โรคปลายเส้นประสาทอักเสบ อาการปวดหัวเนื่องจากเส้นประสาทอักเสบ วิธีรักษาเส้นประสาทอักเสบ
ปวดบริเวณใบหน้าจากเส้นประสาทอักเสบ การปวดจากเส้นประสาทอักเสบบริเวณใบหน้า Trigeminal Neuralgia พบได้ค่อนข้างบ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ขึ้นไป พบได้น้อยมากในคนอายุน้อยกว่า 50 ปี เส้นประสาทสมองเส้นที่ 5 เป็นเส้นประสาทสำคัญบริเวณใบหน้า ซึ่งถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลง หรือถูกทำลาย จะมีอาการปวดรุนแรงมาก แม้ว่าจะไม่ใช่โรคภัยที่มีอันตรายถึงชีวิต แต่ก็เป็นโรคที่ทรมานมากเพราะความเจ็บปวด ลักษณะอาการเจ็บปวดเป็นช่วงๆ แล้วมีช่วงพักที่ไม่เจ็บปวด ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจะไม่ต่อเนื่องยาวนาน ความเจ็บปวดกระจายไปตามแขนงประสาทสมองคู่ที่ 5 จากจุดกระตุ้นที่มีตัวกระตุ้นแบบปกติ ไม่ใช่ตัวกระตุ้นอันตราย ส่วนใหญ่เกิดกับแขนงที่ 2 และแขนงที่ 3 ของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ร้อยละ 60 ของผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยผิดว่าเป็นความเจ็บปวดเกี่ยวกับฟัน และเหงือก
สาเหตุ
- ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง และทำไมจึงพบได้บ่อยในคนสูงอายุ
- อาจเกิดจากการกดทับเส้นประสาท หรือปมประสาทที่บริเวณ posterior fossa
- อาจพบได้ที่ประสาทส่วนปลาย หรือประสาทส่วนกลาง
- พบในโรคสมองชนิด multiple sclerosis และโรคก้านสมองขาดเลือด
- พบการทำงานผิดปกติของเครือข่ายประสาทส่วนกลางที่ทางเดินของเส้นประสาทระดับสูง
- อาจพบพยาธิสภาพของเส้นประสาทแบบเยื่อหุ้มมัยอิลินลอกหลุด จากการหาย หรือมีโพรงในกระดูกขากรรไกร พบการลอกหลุดของเยื่อหุ้มมัยอิลินของเส้นประสาทสมองที่ 5 ทำให้เกิดการนำกระแสประสาทที่ผิดปกติ นอกจากนี้ยังอาจเกิดร่วมกับความผิดปกติของกระบวนการหยุดยั้งเฉพาะส่วน ส่งผลให้เกิดการตอบสนองของเซลล์ประสาทผิดปกติ ไวต่อการกระตุ้นมากเกินไปจากที่ควรจะเป็น ส่งผลให้การกระตุ้นที่ไม่อันตรายกลายเป็นการกระตุ้นอันตราย ก่อให้เกิดความรู้สีกเจ็บปวด และเจ็บปวดมากอย่างยิ่ง
อาการ
- อาการปวดส่วนใหญ่จะเป็นซึกเดียวบริเวณใบหน้า ฟัน ปาก และโพรงจมูก บางครั้งปวด 2-3 วินาทีแล้วหายไป แต่บางรายอาจปวดเป็นหลายๆ นาที ตำแหน่งเริ่มต้นปวดอาจเป็นที่ผิวหนัง หรือเยื่อบุ หรือตัวฟันในปาก ผู้ป่วยร้อยละ 5 ปวดทั้งสองด้านของใบหน้าช่องปาก ความเจ็บปวดรุนแรงกระจายไปตามแขนงประสาทสมองที่ 5 หนึ่งแขนง หรือมากกว่า
- อาการปวดเกิดขึ้นได้ง่ายจากสิ่งกระตุ้น เช่น มีอะไรมาโดนบริเวณใบหน้าที่มีความรุ้สึกไวต่อการกระตุ้น หรือบางทีแค่หายใจเอาอากาศที่เย็นๆ เข้าไป ตัวกระตุ้นไม่อันตราย เช่น ลมพัด ล้างหน้า โกนหนวด บ้วนปาก แปรงฟัน เป็นต้น เป็นตัวกระตุ้นที่จุดเริ่มต้นของการปวด
- การเกิดอาการเช่นนี้ไม่แน่ไม่นอน บางครั้งทำให้ผู้ป่วยหงุดหงิด และรู้สึกว่าทุกข์ทรมานได้ ลักษณะความเจ็บปวดเหมือนมีมีด เข็ม ของมีคม จำนวนมาก กรีดแทง ความเจ็บปวดเกิดเป็นพักๆ นานเป็นวินาที แล้วหายไป บางคนอาจบอกว่าแสบร้อนได้
- ในผู้ป่วยบางรายอาจพบว่ามีกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้ากระตุกร่วมด้วย
- ตอบสนองต่อการทดสอบฉีดยาชาเพื่อการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วทันที และโดยทั่วไปจะตอบสนองต่อการรักษาด้วย carbamazepine ขณะที่ความเจ็บปวดอื่นๆ ไม่ตอบสนอง
การวินิจฉัย
สามารถให้การวินิจฉัยได้จากลักษณะประวัติความเจ็บป่วย และอาการที่เกี่ยวข้อง ควรวินิจฉัยแยกจากโรคต่อไปนี้
- เหงือกอักเสบ
- โรคของข้อต่อขากรรไกรล่าง
- กลุ่มอาการปวดบริเวณใบหน้า
- กลุ่มอาการ cluster tic syndrome
- โรคปวดหัวชนิด idiopathic stabbing headache
- กลุ่มอาการ SUNCT syndrome (short-lasting ,unilateral ,neuralgiform pain with conjunctival injection and tearing)
- โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเนื้อสมอง
- อาการปวดจากเชื้อไวรัสงูสวัด post herpetic neuralgia
- อุบัติเหตุและภยันตรายบริเวณใบหน้า
- โรคของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 glossopharyngeal neuralgia
- โรคไซนัสอักเสบ maxillary sinusitis
- โรค temporal arthritis
การรักษา
- การรักษาโรคนี้ส่วนใหญ่ใช้วิธีรับประทานยา ซึ่งก็สามารถควบคุมอาการปวดลงได้ ในกรณีรักษาด้วยวิธีธรรมดาไม่ได้ผล และผู้ป่วยยังคงทุกข์ทรมานจากการปวดค่อนข้างมาก แพทย์อาจใช้วิธีฉีดแอลกอฮอล์ไปรอบๆ เส้นประสาท หรือผ่าตัดทำให้เส้นประสาทนั้นไม่สามารถรับความรู้สึกได้ต่อไป แต่มีข้อเสีย คือ ใบหน้า ฟัน ปาก และโพรงจมูกด้านนั้นจะมีอาการชาตลอดไป
- ยาที่ใช้ได้ผล ได้แก่ ยากันชักทั้งรุ่นเก่า และรุ่นใหม่ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะกลุ่ม Ib ยาลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ และยากล่อมประสาท
Carbamazepine
- ยาที่นิยมใช้เป็นชนิดแรกคือ Carbamazepine (Tegretol) ควรเริ่มขนาดยาจากต่ำไปสูง เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
- ขนาดที่ใช้ 100-200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
- เมื่อควบคุมความเจ็บปวดได้ดีแล้ว ขนาดควบคุมในเดือนต่อๆไป วันละ 600-1200มิลลิกรัมต่อวัน โดยการแบ่งให้ตามความเหมาะสม ของการควบคุมความเจ็บปวดได้ และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด
- ผู้ป่วยบางรายอาจทนยามากขึ้น ต้องปรับขนาดให้สูงขึ้น โดยดูจากอาการเจ็บปวดของผู้ป่วย
- ผลข้างเคียง ได้แก่ ง่วงซึม มึนงง เบื่ออาหาร คลื่นไส้
- ผลข้างเคียงร้ายแรงคือ ภาวะไขกระดูกฝ่อ แต่พบน้อยมากๆ
- แพทย์อาจพิจารณาสั่งตรวจนับเม็ดเลือด ตรวจปัสสาวะ และเจาะเลือดดูการทำงานของตับ ทุก 2 สัปดาห์ใน 2 เดือนแรกที่ผู้ป่วยได้รับยา และนัดมาตรวจเป็นระยะทุก 4-6 เดือน ต่อไปทุกหนึ่งปี
การรักษาด้วยการผ่าตัด
- การผ่าตัดด้วยวิธี microvascular decompression เพื่อเลื่อนเอาหลอดเลือดที่กดทับเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ออกไป
- จุดประสงค์หลักของการผ่าตัด เพื่อรักษาหน้าที่ของเส้นประสาทรับความรู้สึกไว้ให้มากที่สุด และลดอาการปวด
- ผลการรักษาจะดีที่สุดเมื่อทำการผ่าตัดตั้งแต่ระยะแรกหลังจากวินิจฉัยได้ เนื่องจากถ้าทิ้งไว้นาน เส้นประสาทถูกทำลายมาก ทำให้อัตราการเป็นซ้ำจะเพิ่มมากขึ้น
- หลังผ่าตัดพบว่าอาการปวดดีขึ้นทันทีร้อยละ 80-90 และเมื่อติดตามต่อไป 10 ปี พบว่าอาการปวดหายขาดร้อยละ 60 อัตราปวดกลับเป็นซ้ำร้อยละ 30
การรักษาด้วยการใช้รังสี
- การรักษาด้วยการใช้รังสีเป็นวิธีการผ่าตัดที่เรียกว่า stereotactic radiosurgery หรือ gamma knife radiosurgery เป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัย และได้ผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือในผู้ป่วยสูงอายุที่ทนต่อการผ่าตัดนานๆ ไม่ได้
- อาการปวดหายขาดร้อยละ 75 ภายในเวลาหนึ่งปีหลังผ่าตัดด้วยแกมมาไนฟ์
- ขนาดของรังสีที่ใช้ 60-80 Gy
- ผลข้างเคียงจากการรักษา อาจมีอาการชาที่ใบหน้า พบได้ร้อยละ 0.4
การรักษาด้วยการฝังเข็ม
- การฝังเข็มร่างกาย เป็นการฝังตามวิธีแก้อาการเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง วันละครั้ง ครั้งละ 60 นาที ต่อการกระตุ้นทุก 10 นาที รวมทั้งหมด 7-14 วัน
- การฝังเข็มหู เลือกจุดที่หู 2-3 จุด ฝังคาไว้ หรือฝังนาน 20-30 นาทีต่อการกระตุ้นแต่ละครั้ง
- การฉีดยาเข้าจุด ใช้วิตามิน B1 หรือ B12 เลือกจุดฉีด ปริมาณยาฉีดครั้งละ 0.5-1 ซีซี 2-3 วัน ต่อการฉีด 1 ครั้ง เลือกจุดฉีดเช่นเดียวกับจุดที่ฝังเข็ม
แหล่งที่มา : 108health.com