เจ็บหัวนม ปวดท้อง ไม่ค่อยหิวข้าว เจ็บหัวนมเกิดจากสาเหตุอะไร เจ็บหัวนม ท้องมั้ย
ขอถามเรื่องของการร้องไห้ของเด็กค่ะ (ในขณะที่นมแม่ยังไม่มา)
วันแรกที่เพิ่งคลอดที่ว่าต้องให้เค้าดูดกระตุ้นนั้น.. ประสบการณ์เราคือเจอลูกร้องไห้มากๆๆๆๆๆ (อันนี้ทราบอยู่แล้วว่าต้องร้องไห้) แต่เราไม่เคยเจอข้อมูล ที่ว่า..ต้องร้องกันขนาดไหนกว่าที่ลูกจะยอมดูดน่ะค่ะ เช่นว่า ร้องกี่วัน กี่ชั่วโมง ร้องจนหลับไหม น่าสงสาร ทุลักทุเลขนาดไหน ถ้าขนาดร้องจนหมดแรงและหลับไปนั้น เป็นกี่ครั้ง? กี่วัน? สุดๆที่เด็กไม่ตายน่ะค่ะ(ป่านนั้นก็คงดูดนมแม่สำเร็จแล้ว)
เรื่องนี้เราเองไม่รู้เลย เพราะถามแม่ แม่ก็บอกว่าเราดูดนมแม่เองเลย ง่ายๆอย่างนั้น แม่เลยไม่มีคำตอบให้ง่ะ T^T
พอดีว่าเพิ่งได้อ่านบทความที่ webmother รำพัน เลยเพิ่งรู้ว่าเจ้าของเว็บก็เจอปัญหาเหมือนเรา ซึ่งเรื่องนี้ต้องถามคนที่มีประสบการณ์(ปัญหา)จริงที่ทำสำเร็จเท่านั้น พวกจำคำคนอื่นมา จำตำรา จำอุดมการณ์มาตอบนี่.. กรุณาไปให้พ้นเลย (อยากขอประสบการณ์จริงจากแม่ๆเยอะๆหลายๆท่านเลยค่ะ)
กับ..มันมีเกณฑ์ไหมว่า ถ้าร้องไปจนถึงขนาด(...) หรือมีอาการขนาด(1..2..3..4...) ก็ควรหาอาหารให้ (เช่นน้ำต้มสุก น้ำข้าว หรือนมผสมก็ดี ป้อนถ้วย ป้อนขวดฯลฯ ไปก่อน เพราะไม่งั้นเด็กตายแน่แล้ว)
ในทางกลับกันคุณแม่จะได้แน่ใจไงคะ ว่าถ้าเด็กร้องไห้แต่ยังไม่มีอาการถึงเกณฑ์ดังกล่าวนี่ ยังไงๆเด็กก็ไม่ตายหรอก จะได้สู้ต่อโดยไม่ต้องมาประสาทกิน จนถอดใจเปิดประป๋องนมไปเสียก่อน(เหมือนอย่างเรา)ไงคะ
ทำไมข้อมูลตรงนี้ถูกหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงจังเลย เห็นพูดกันแต่ว่า มาตอนแรกลูกไม่ดูด แต่อดทนๆๆ แล้วก็ตัดชึ๊บมาที่ว่า "..ในที่สุดลูกก็ยอมดูด" -ดิเอนด์- (แหม แฮปปี้เอนดิ้งซะด้วย :อิจฉานะ ฮึ:)
ประสบการณ์เรา ลูกร้อง 2 ชั่วโมงไม่หยุดนี่.. เราก็ชงใส่ขวดแล้วน่ะค่ะ ก็นั่งรู้สึกผิดอยู่นี่ ..แต่ก็อดคิดไม่ออกอยู่ดีว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปเราจะทำอย่างไร? ตอนนี้ก็ยังนึกไม่ออก และก็คงทำไม่ถูกอยู่ดีอะค่ะ
คุณเวบมาเตอร์เห็นด้วยไหม?ว่าข้อมูลจุดนี้มันสำคัญนะคะ คือแฟนเราเขาบอกเลยว่า..สิ่งสำคัญคือ "คุณไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลย ว่าคุณจะมีปัญหาหรือไม่" และเมื่อพอคุณรู้แล้ว(ว่าเด็กไม่ยอมดูด) ณ เวลานั้นคุณก็ทำอะไรไม่ได้แล้วอีกเช่นกัน (ดิฉันคอนเฟิร์มว่าแฟนฉันเค้าพูดถูกต้องที่ซู๊ดดเลยค่า T-T)
กล่าวคือ เราต้องทำเหมือนวิธีปฏิบัติตนเบื้องต้นที่รู้ๆกันดีเช่น การปฐมพยาบาลคนเป็นลม หรือ คุณต้องรู้ว่าเมื่อกระโดดร่ม แล้วร่มไม่กาง คุณจะต้องกระตุกร่มสำรองนะ หนึ่ง สอง สาม สี่..อะไรอย่างนี้อะค่ะ เช่นกันกับเรื่องลูกไม่ยอมดูดนมแม่
ต้องร่างๆวิธีการเตรียมพร้อมที่จะรับมือเมื่อเจอปัญหาฉุกเฉิน ใช่ค่ะ กลับบ้านไปแล้วพบว่าลูกไม่ยอมดูดนมนี่ ..แบบเบื้องต้นก่อน ไม่ใช่อะไรก็คลินิคนมแม่ๆ เราเคยติดต่อแล้วค่ะ สงสารเค้าเลย เคสเค้าเยอะจริงๆ รวมเราไปด้วยนี่ก็รู้เลยว่า "อย่างเราแทบไม่จำเป็นจะต้องไปหาเค้า ถ้าทางโรงพยาบาลที่เราคลอดมันสนับสนุนนมแม่จริง" ที่ศิริราช เรียนตามตรงเลยนะ ว่าเค้าแอบตำหนิเรา คุยแล้วรู้สึกได้ ทำให้ไม่อยากโทรไปอีกเลย ส่วนที่โรงพยาบาลเด็ก..มีเวลาคุยกันบ้างก็เลยทราบถึงวิบากกรรมของหน่วยงาน เขาบอกว่าอย่าง BNH นี่..สนับสนุนนมแม่จริง แต่พอมีปัญหาก็ไม่จัดการเอง กลับส่งมาให้ที่นี่.. ภาระเยอะแยะ(โดยที่บางรายก็ไม่จำเป็น) แล้วแบบนี้จะไปดูแลใครได้ตลอดรอดฝั่งละเนอะ ว่าไหมคะ?
....
วินาทีนั้น(หากคุณจะจำ เรื่องของเรา ได้) เราแค่ตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง ทั้งๆที่เราตั้งใจจะสู้และให้นมแม่ และทราบดีว่าจะต้องทนฟังเสียงลูกร้อง แต่เราตัดสินใจเปิดป๋องชงให้ก็เพราะ "เราไม่รู้ว่าลูกร้องนานเกินไปหรือยัง"ค่า ฮื๊ออออออออออ มันตกม้าตายตรงนี๊แหละค่า..................
ช่วยทำข้อมูลเรื่องนี้หน่อยได้ไหมคะ เผื่อแม่รายใหม่ๆ จะขี่ม้ามาทางเดียวกับเรา ถ้าได้อ่านจะได้ตัดสินใจถูก แต่ถ้าไม่มีเวลาขอประสบการณ์ของคุณเองเลยก็ได้ แล้วเราอาจไปตั้งกระทู้ที่พันทิป (ซึ่งคุณแม่ๆในนั้นก็ดูเหมือนจะเป็นมาเฟียยังไงไม่รู้ คือล็อคอินเราไม่ใช่ขาประจำเลยไม่รู้คุณเธอทั้งหลายจะมาช่วยตอบไหมนะ) แต่ที่แน่ๆ เรามีบล็อก ถ้าหาข้อมูลและทำการบ้านให้ดีๆกว่านี้อีกนิด เราถึงจะลงมือเขียนและจะแจ้งให้ทาง bft.ทราบ (เผื่อมีประโยชน์ได้เอามาลงให้คุณแม่มือใหม่อ่านกันค่ะ)
ตอบ
แม่น้องจู๊ดส่งคำถามนี้มาตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้วค่ะ ถามง่ายแต่ตอบยากนะคะ แม่น้องจู๊ดสงสัยว่าทำไมไม่เคยมีใครให้คำตอบตรงนี้ได้เลย อาจจะเป็นเพราะมันไม่มีคำตอบที่ถูกต้องสำหรับคำถามนี้ก็ได้มั้งคะ เอาเป็นว่าจะขอตอบแบบเล่าสู่กันฟังแล้วกัน จากประสบการณ์ของตัวเองร่วมกับที่เคยอ่าน เคยได้ยินมานี่ล่ะค่ะ แบบไม่มีวิชาการหรือทฤษฎีอะไรรองรับนะคะ
เริ่มจากความเชื่อของพ่อของลูกก่อนดีกว่า เขาเชื่อว่า "ลูกคนต้องกินนมคน มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ" ดังนั้นธรรมชาติก็ต้องสร้างให้แม่มีนมให้ลูกกิน โดยตั้งข้อสังเกตสนับสนุนความเชื่อนี้ไว้ด้วยว่า เห็นคนท้องใกล้คลอดทุกคน หน้าอกขยายใหญ่ขึ้นกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนหน้าอกเล็กหรือใหญ่ ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะธรรมชาติกำลังทำให้หน้าอกเพิ่มหน้าที่ในการผลิตน้ำนมแล้วมันจะใหญ่ขึ้นเพื่ออะไร เมื่อก่อนไม่เคยคิดถึงประเด็นนี้ค่ะ พอเขาพูดก็เลยรู้สึกคล้อยตาม เพราะเชื่อว่าไม่มีคนใกล้คลอดคนไหนใส่เสื้อชั้นในไซส์เดิมกับตอนที่ก่อนตั้งครรภ์แน่ๆ อย่างของตัวเองก็เหมือนกัน คือเป็นพวกไข่ดาวขนานแท้ คนที่รู้จักหลายๆ คน (แต่ไม่รู้ว่า Size doesn't matter สำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่) ยังแซวว่าหน้าอกก็เล็ก ทำไมเลี้ยงนมแม่เป็นปีได้ไง ตอนใกล้คลอดตลอดจนช่วงที่ให้นมลูกนั้น ต้องใส่เสื้อในใหญ่กว่าเดิมสองไซส์ทีเดียว แต่พอหยุดให้นมแล้วก็กลับมาแฟบเหมือนเดิมค่ะ ประมาณว่าหมดหน้าที่แล้วก็หมดเรื่องหนักอกได้
ปัญหาที่ทำให้แม่ส่วนใหญ่รู้สึกว่าเรา "อาจจะ" โชคร้ายไม่มีนมให้ลูกเหมือนคนอื่นเขา น่าจะเป็นเพราะความ "ไม่รู้" ของตัวเอง บวกกับความ "ไม่รู้จริง" ของกลุ่มคนที่เรา"เชื่อ" ว่าเขารู้และเราก็กำลังฝากความหวังไว้กับพวกเขา กลุ่มคนเหล่านี้รวมถึง แพทย์ พยาบาล พ่อแม่ พี่น้องและเพื่อนๆ ผู้มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูก (ด้วยนมขวด) มาแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อเราซึ่งเป็นมือใหม่ ไม่เคยมีลูกมาก่อน ได้รับคำแนะนำจากกลุ่มคนเหล่านี้ เราก็พร้อมที่จะเชื่อและทำตามได้ในทันที โดยไม่รู้ว่าคำแนะนำเหล่านั้นกำลังทำให้เรากำลัง"เพิ่ม" ปัญหากับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่า "แก้" ปัญหา
วิธีปฏิบัติของเราในช่วงสองสามวันแรกของการคลอดนั้น เรียกได้ว่าเป็นจุดวิกฤตของการจะเลี้ยงลูกด้วนนมแม่ได้อย่างง่ายดายหรือยากลำบากเลยทีเดียว เอาแค่ว่าสามวันแรกที่อยู่ในโรงพยาบาล ถ้าพยาบาลบอกว่า "คุณแม่เพิ่งจะคลอดมา พักฟื้นก่อนนะคะ ให้ลูกกินนมขวดไปก่อน รอให้นมแม่มาก่อน กลับบ้านแล้วค่อยให้ลูกกินนมแม่ก็ได้ค่ะ" ฟังแล้วก็ "คล้ายๆ" จะเป็นคำแนะนำที่ดีใช่มั้ยคะ แค่สองสามวันเท่านั้นเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับการทำแบบนี้คืออะไรบ้าง
เมื่อทารกได้ดูดนมจากขวด ทารกจะเรียนรู้วิธีการดูดจากขวด ซึ่งแตกต่างจากการดูดนมแม่โดยสิ้นเชิง เมื่อเขาเรียนรู้แบบนั้นไปแล้ว การที่จะให้เปลี่ยนมาดูดนมแม่เมื่อเวลาผ่านไปสองสามวันนั้น เทียบได้กับเราถนัดมือขวาไปแล้ว จะให้มาฝึกใช้มือซ้ายเมื่อตอนโตนั่นล่ะค่ะ พอดูดนมแม่ไม่เป็น ก็จะดูดไม่ได้น้ำนม เมื่อไม่ได้น้ำนมก็จะไม่ได้รับการตอบสนอง แล้วก็จะต่อต้านด้วยการไม่ยอมดูด ร้องบ้านแตก ร้องหน้าดำหน้าแดง ร้องจนพ่อแม่ พี่น้อง ลุงป้าน้าอา ย่ายายทนไม่ได้
ธรรมชาติของร่างกายของแม่เองก็เช่นกัน เมื่อมีการคลอดลูกใหม่ๆ การที่ลูกดูดนมแม่นั้นจะเป็นการส่งสัญญาณให้ร่างกายรู้ว่า การคลอดครั้งนี้ลูกปลอดภัยดี เมื่อลูกดูดนม ก็จะเป็นการกระตุ้นให้มดลูกบีบรัดตัว หน้าอกรู้ว่าต้องทำหน้าที่ผลิตน้ำนมต่อไป เป็นธรรมดาที่อะไรก็ตามที่ไม่เคยทำงานเลย เหมือนเครื่องยนต์ใหม่ที่ต้องมีการอุ่นเครื่อง หน้าอกเราก็จะผลิตน้ำนมได้น้อยนิดจิ๊ดเดียว เมื่อดูดต่อเนื่องไปเรื่องๆ ก็จะค่อยๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้นในที่สุด
การที่เราเว้นวรรคไม่ให้ลูกดูดสองสามวันนั้น เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า หน้าที่ในการผลิตน้ำนมนั้นไม่มีความจำเป็นในการคลอดครั้งนี้ อย่างเช่น การแท้งลูก คือธรรมชาติของร่างกายก็รออยู่ว่า คลอดปุ๊บ ต้องมีการดูดกระตุ้นในทันทีทันใด (ตามที่แนะนำกันว่า ภายในสามสิบนาทีแรกนั่นล่ะค่ะ) เมื่อไม่มีการดูดเลยตั้งสองสามวัน ก็เหมือนเป็นการบอกว่า การคลอดครั้งนี้ล้มเหลว ทารกคงไม่ได้มีชีวิตอยู่ เพราะไม่มีความต้องการน้ำนมนั่นเอง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วไม่ใช่
ไม่ใช่แค่ไม่ดูดเท่านั้น การดูดแบบไม่ถูกวิธีก็เปรียบเหมือนกับไม่ได้ดูดเช่นกัน วิธีปฏิบัติที่ "ดูเหมือน" จะช่วยเหลือและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของโรงพยาบาล ก็คือ นำลูกมาให้ดูดพอเป็นพิธี แล้วก็นำกลับไปให้นมขวดต่อ การทำเช่นนี้ก็ให้ผลไม่ต่างกับการไม่ได้ดูดเท่าไหร่นัก เพียงแต่เหมือนจะดูดีกว่านิดหน่อย ดังนั้นภาวะ"นมไม่มา" เสียที จึงเกิดขึ้นได้ง่ายดายมาก วิธีปฏิบัติเช่นนี้ เชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นกับแม่ที่คลอดใหม่กว่า 90% ของโรงพยาบาลเอกชนทั่วๆ ไปแน่ๆ ผู้ที่รอดมาได้ ส่วนใหญ่จะต้องศึกษาหาข้อมูลมาเป็นอย่างดี รวมทั้งมีคนที่ "รู้จริง" คอยสนับสนุนและช่วยเหลือ
เห็นมั้ยคะว่า "นมไม่มา นมไม่มี นมไม่พอ" นี่มันเกิดขึ้นง่ายพอๆ กับเปิดกระป๋องนมชงเลย แค่สองสามวันแรกเท่านั้นเองสร้างความผิดพลาดกันได้มหันต์ทีเดียว เรื่องที่ได้รับฟังจนชินก็คือ ผ่านไปเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน แล้วนมก็ไม่เห็นมาเสียที กินแกงเลียงก็แล้ว กินน้ำวันละห้าลิตรก็แล้ว อะไรที่ว่าบำรุงน้ำนมก็สรรหามากินจนหมดแล้ว นมก็ยังไม่เห็นมา แบบนี้เรียกว่ารอความหวังไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้สาเหตุและแก้ปัญหาให้ถูกต้อง นมแม่มีแต่จะแห้งลง แทนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างที่หวังไว้ ในทางกลับกัน คนที่กลับตัวได้ทัน และแก้ปัญหาได้ถูกทาง นมก็จะกลับเพิ่มขึ้นได้ในทีสุด
เล่ามายาวยังไม่ได้ตอบคำถามเลยค่ะ แค่ไหนที่ทารกร้องแล้วไม่ตาย
คงต้องตอบว่าไม่รู้หมือนกันค่ะ แล้วก็คิดว่าคงไม่มีใครรู้เช่นกัน เพราะถ้ามีคนรู้ คงไม่มีใครเก็บเรื่องนี้เป็นความลับหรอกค่ะ แล้วก็ต้องถามกลับว่า คนที่ต้องรับฟังเสียงร้องนี้ คือพ่อและแม่นั้นทนฟังได้แค่ไหนโดยไม่อยากตายไปเสียก่อนมากกว่า ประสบการณ์ของตัวเองนั้น คืนที่ลูกคนแรกกลับมาบ้านวันแรก แล้วพ่อของลูกเทนมสองออนซ์ที่ได้มาจากร.พ.ทิ้งไปตั้งแต่กลับมาถึงนั้น ลูกร้องตั้งแต่หนึ่งทุ่มจนตีหนึ่ง แม่ก็ร้องไปด้วย ไม่รู้ว่าลูกร้องเพราะอะไร ลองบีบนมดูก็เห็นแค่เป็นหยด ให้ดูดก็ดูเหมือนลูกไม่ยอมดูด สงสัยเหมือนกันว่า เอ๊ะ เราไม่มีนมหรือเปล่า แต่ก็ไม่มีทางเลือก เพราะทั้งบ้านไม่มีนมอื่นเลย ไม่มีร้านที่เปิด 24 ชม. เหมือนทุกวันนี้ด้วย หลังจากการร้องมาราธอน 5-6 ชม.ผ่านไป ลูกก็หลับในที่สุด ไม่รู้ว่าหมดแรงหรืออะไร เช้าตื่นขึ้นมาก็ปกติดี ลำพังแม่คนเดียวคงจะหมดกำลังใจให้นมแม่ต่อแน่ แต่พ่อของลูกกลับคิดตรงกันข้าม เขาบอกว่า "เห็นมั้ย ลูกมันไม่เห็นเป็นอะไรเลย" พูดง่ายๆ ก็คือ มันไม่ได้หิวตายซะหน่อย แล้วก็ตั้งสติได้ กลับมาหาวิธีแก้ปัญหาต่อ ก็ทุลักทุเลไม่น้อย แต่ในที่สุดก็ผ่านมาได้ (ไม่อยากจะตัดชับ the end เลยอย่างที่แม่น้องจู๊ดว่าหรอกค่ะ แต่ไม่งั้นมันจะยาวเกินไป)
อยากจะบอกว่าวิธีการรับมือกับ "เสียงร้องของลูกเรา" (ที่ทุกคนยืนยันว่า ร้องน่ากลัว ร้องไม่มีใครเหมือน ร้องเหมือนจะตายจริงๆ นะ) นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัวค่ะ เท่าที่เคยรับฟังประสบการณ์ของแต่ละคนมานั้น ไม่มีสูตรสำเร็จค่ะ มันถึงไม่มีคำตอบสำหรับคำถามนี้ไงคะ แม่น้องจู๊ดคิดว่า ไม่น่าปล่อยให้ลูกร้องฟรีๆ ไปตั้งสองชั่วโมงเลย น่าจะชงนมไปตั้งนานแล้ว ในขณะที่ครอบครัวเราเข้าตาจน ไม่มีทางเลือก (คือ ไม่มีนมกระป๋อง) ลูกก็เลยร้องไปห้าหกชั่วโมงจนหลับไปเอง แต่พ่อเขาไม่ได้คิดเลยว่า น่าจะมีเตรียมนมกระป๋องเผื่อไว้ ลูกจะได้ไม่ต้องร้องนานขนาดนั้น
ที่เปรียบเทียบนี้ ไม่ได้หมายความว่าครอบครัวเราทำถูก หรือครอบครัวแม่น้องจู๊ดทำผิด แต่กำลังจะบอกว่าวิธีคิด ความเชื่อ หรือแนวทางในการดำรงชีวิต ของแต่ละคน แต่ละครอบครัวนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นแม้จะเป็นปัญหาเดียวกัน แต่ละครอบครัวก็ใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ต่างกันอยู่นั่นเอง สมมติว่ามีคนฟันธงบอกตัวเลขออกมาว่า จากการวิจัยแล้วพบว่า เด็กทารกแรกเกิดนั้นสามารถปล่อยให้ร้องได้แปดชั่วโมงโดยไม่เสียชีวิตแน่นอน ถามว่าทุกครอบครัวจะยอมปล่อยให้ลูกร้องแปดชั่วโมง เพราะเชื่อตามนี้หรือไม่ คงไม่ใช่แน่นอน
อะไรที่มันผ่านไปแล้ว มันก็คือประสบการณ์ ทุกครั้งที่เราคิดถึงมันก็ควรจะเพื่อเป็นบทเรียนสำหรับอนาคต ไม่ควรให้เป็นเรื่องที่เราต้องเก็บมารู้สึกผิดทุกครั้งที่คิดถึงมัน ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปโทษ หรือไปตำหนิว่าเป็นความผิดของใคร เพราะมันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรกับใครเลย แถมยังทำให้จิตใจของเราขุ่นมัวอีกด้วยค่ะ
ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ พ่อแม่มือใหม่ไม่เคยมีใครมีประสบการณ์นี้มาก่อน แน่นอนว่าเราเคยได้ยินเสียงทารกร้องไห้มาก่อน แต่นั่นไม่ใช่ลูกเรา ไม่ใช่หน้าที่เราที่จะต้องดูแลรับผิดชอบ ลูกคนอื่นร้องไม่ได้สร้างความหวั่นไหวให้กับเราเลย การที่ลูกคนข้างบ้านร้องไห้ทั้งคืน เราไม่เคยคิดว่าหรอกว่าลูกของเขาร้องทั้งคืนขนาดนี้ "กำลังจะตายหรือเปล่า" มันก็แค่ทำให้เรารู้สึกรำคาญเท่านั้นเอง
แต่ทันทีที่เป็นลูกเราเอง เมื่อได้ยินเสียงร้องแบบเดียวกัน เรากลับลืมไป และคิดว่ามันไม่เหมือนกัน ลูกเราจะเป็นอะไรหรือเปล่า เราเข้าตาจนขึ้นมาทันที เอ๊ะ เราจะต้องทำยังไง ลูกเราถึงจะหยุดร้อง ลูกเราจะตายมั้ยเนี่ย ลองไปถามพยาบาลที่โรงพยาบาลเถอะว่า เจอกรณีที่พ่อแม่มือใหม่อุ้มลูกมาโรงพยาบาลกลางดึก เพราะลูกร้องไห้ไม่หยุดบ่อยแค่ไหน โดยที่ความเป็นจริงแล้ว เด็กไม่ได้เป็นอะไรเลย หลังจากผ่านไปหลายปี มีลูกคนที่สอง ที่สาม พ่อแม่ทั้งหลายเมื่อย้อนกลับไปคิด แล้วก็อาจจะนึกขำตัวเองก็เป็นได้
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ยืนยันและฟันธงได้เลยว่า เสียงร้องของลูกคนที่สองไม่ได้สร้างความหวั่นไหวให้พ่อแม่ได้มากเท่ากับลูกคนแรกแน่นอน ลูกคนที่สองส่วนใหญ่ "มักจะ" เลี้ยงง่ายกว่าคนแรกเสมอ เป็นเพราะคนที่สองเลี้ยงง่ายกว่าจริงๆ หรือเป็นเพราะ พ่อแม่มีประสบการณ์มาแล้วกันแน่ เลยทำให้รู้ว่าควรจะต้อง "รับมือ" กับปัญหายังไง ถ้าแม่น้องจู๊ดไม่ถอดใจเลือกที่จะมีลูกคนเดียวไปเสียก่อน อย่าลืมกลับมาตอบคำถามนี้ตอนที่มีลูกคนที่สองนะคะ
เรื่องการร้องไห้ของทารกนี้ อยากให้ลองกลับไปอ่านบทความเรื่อง "ทำไมทารกร้องไห้โยเย" กันดูค่ะ ยาวหน่อยแต่มีประโยชน์มากทีเดียว เมื่ออ่านแล้วก็จะรู้ว่า เราเข้าใจอะไรผิดๆ ไปมากเกี่ยวกับสาเหตุการร้องไห้ของทารก โดยเฉพาะทารกแรกคลอดนั้น เวลาที่เขาร้อง จริงๆ แล้วเราบอกได้หรือไม่ว่า เขาร้องเพราะอะไร
คนที่พยายามเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ให้ดูดนมขวด มักจะตัดสาเหตุอื่นทิ้งไปหมด แล้วก็เชื่อว่า คงเป็นเพราะแม่ไม่มีนม ลูกหิวมาก ก็เลยร้อง แต่คนที่เลี้ยงลูกด้วยนมขวด ลูกก็ยังร้องอยู่ นมก็ให้กินแล้ว ทำไมยังร้องอยู่ล่ะคะ ตกลงเค้าเป็นอะไรกันแน่
มันเป็นเจตนาของธรรมชาติหรือเปล่า ที่ทำให้มนุษย์ไม่มีความทรงจำตั้งแต่แรกคลอด เลยไม่มีใครบอกได้ว่าตอนที่ออกมาเจอโลกภายนอกเป็นครั้งแรกนั้น ทารกแต่ละคนรู้สึกอย่างไรกันบ้าง ลองจินตนาการว่าเราเป็นทารกที่เพิ่งคลอดออกมาจากท้องแม่ดู
ตอนอยู่ในท้องแม่ เราอยู่ในพื้นที่ขนาดเล็กพอดีกับตัวเรา พอยื่นเท้า เหยียดมือได้นิดหน่อย ลอยเท้งเต้งอยู่ในน้ำคร่ำ อบอุ่นปลอดภัย อุณหภูมิพอเหมาะพอดี ไม่หนาว ไม่ร้อน หายใจและรับสารอาหารทางสายสะดือ มีเสียงหัวใจแม่เต้นเป็นจังหวะคอยกล่อมเราตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ได้ยินเสียงอะไรข้างนอกแค่แว่วๆ บางทีอาจจะมีเสียงเพลงเสียงดนตรีเพราะๆ บ้างก็ได้ เราอยู่ในสภาพแวดล้อมแสนสบายนี้มาเก้าเดือนเต็ม
อยู่ดีๆ ก็มีตัวอะไรไม่รู้มาดึงเราออกจากพื้นที่อันอบอุ่นแสนสบายนี้ ทำไมแสงข้างนอกนี้มันสว่างจ้าแสบตาขนาดนี้ หนาวด้วยนะเนี่ย เสียงอะไรก็ไม่รู้ดังจังเลย แล้วนี่เขาจะพาเราไปไหนกัน เรากลัวจะแย่อยู่แล้ว ใครก็ได้ช่วยที ช่วยพาเรากลับไปที่เดิมได้ไหม เสียงร้องไห้ของทารกอาจจะกำลังพยายามสื่อความรู้สึกให้เรารับทราบแบบนั้นก็ได้
ถ้าเราพิจารณาดูให้ดี ก็จะรู้ว่าชีวิตในท้องแม่กับชีวิตที่ออกมาสู่โลกภายนอกของทารกนั้น แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ความรู้สึกของทารกอาจจะคล้ายๆ กับตกจากสวรรค์แสนสบายลงมาสู่พื้นโลกที่แสนลำบากวุ่นวายก็เป็นได้ ทารกไม่เคยหายใจทางจมูกมาก่อน ไม่เคยกินอาหารทางปาก ไม่เคยย่อยอาหารด้วยกระเพาะตัวเอง ไม่เคยรู้ว่าพื้นที่ภายนอกมันช่างกว้างใหญ่ อ้างว้างเช่นนี้ เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวก็ต้องถูกจับอาบน้ำ ใครๆ ก็มาจับตัว หอมแก้ม เขี่ยมือเขี่ยเท้า พูดอะไรก็ไม่รู้ มาดีหรือมาร้ายกันเนี่ย
เมื่อสภาพแวดล้อมและการดำรงชีวิตของทารกต้องเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ ลองคิดดูว่าถ้าเป็นเรา เราจะต้องใช้เวลาแค่ไหนในการปรับตัวให้เข้ากับชีวิตใหม่ สองสามวันในโรงพยาบาล ทารกจะได้รับการดูแลจากพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ อาจจะกำลังจะเริ่มคุ้นเคย ต้องเปลี่ยนสถานที่กลับไปบ้านหลังใหม่อีกแล้ว เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอีกแล้วเพราะฉะนั้น วันแรกที่เราพาลูกกลับบ้าน แล้วเขาร้องไห้จนเรารู้สึกทนไม่ได้ขนาดนั้น น่าจะเป็นเรื่องปกติหรือเปล่า เพราะเขาไม่มีวิธีสื่อสารอื่นเลย นอกจากการร้องไห้นั่นเอง
ทารกที่ปรับตัวได้เร็วก็จะเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ทารกที่ปรับตัวได้ช้าก็จะถูกตัดสินว่าเป็นเด็กเลี้ยงยาก คำถามประเภทที่ว่าทำไมลูกกินนอนไม่เป็นเวลา ทำไมนอนแป๊บเดียว ทำไมดูดนมแล้วหลับ ทำไมแหวะนม ทำไมถ่ายบ่อย ทำไมไม่ถ่าย ทำไมร้องไห้ไม่หยุด ทำไมติดมือ ฯลฯ เหล่านี้คือกระบวนการในการปรับตัวของทารกแต่ละคนนั่นเอง ถ้าพ่อแม่ให้เวลาและพยายามเข้าใจเขา ทิ้งความคาดหวังลงไปบ้าง พ่อแม่อาจจะรู้สึกทุกข์ทรมานน้อยลง
ตอนที่ได้อ่านบทความเรื่อง "ทำไมทารกร้องไห้โยเย" ใหม่ๆ ยังรู้สึกเสียดายว่า ถ้าเรารู้มาก่อน เราคงไม่รู้สึกแย่ขนาดนั้นในวันแรกที่กลับมาจากโรงพยาบาล เราคงจะรับมือกับการร้องไห้ของลูกได้ดีกว่าที่ผ่านมา
อยากให้ทุกคนที่ผ่านประสบการณ์นั้นมาเหมือนๆ กัน ลองมาคิดถึงลูกเราในวันนั้นกันดีกว่าว่าเขาร้องด้วยสาเหตุอะไรกันแน่
- หิวจังเลย
- กลัวจังเลย (นี่เราอยู่ที่ไหนกัน คนพวกนี้เป็นใคร เขากำลังทำอะไรกับเรา)
- ปวดท้องมากเลย (เพราะนมผสมที่ย่อยยากยังตกค้างอยู่ในกระเพาะ)
- หายใจไม่ค่อยถนัด (ยังไม่ชินกับการหายใจทางจมูก)
- คิดถึงบ้าน (สภาพแวดล้อมเดิมที่อยู่ในท้องแม่)
- หนาวจังเลย (เปิดแอร์เย็นไปหรือเปล่า)
- ร้อนจังเลย (ห่มผ้าให้ซะเต็มที่)
- รำคาญตัวจังเลย (ทำไมต้องมีเสื้อผ้าห่อหุ้มตัวด้วย หัวก็ถูกปิด มือเท้าก็ถูกห่อ ผ้าอ้อมก็รัดตัว เมื่อก่อนไม่เห็นมีอะไรน่ารำคาญแบบนี้เลย)
- ไม่ชอบเสียงแบบนี้เลย (เสียงทีวี เสียงรถวิ่ง เสียงก่อสร้าง ขุดถนน เสียงญาติพี่น้องคุยกันครึกครื้นตื่นเต้นกับหลานคนใหม่ฯลฯ)
- ไม่ชอบให้อุ้มแบบนี้เลย ทำไมต้องเปลี่ยนให้คนโน้นคนนี้อุ้มด้วย
- ไม่ชอบให้ใครมาจับแก้ม มาเขี่ยโน่นเขี่ยนี่
- ฯลฯ
ตอบตัวเองได้มั้ยคะ ว่าเขาร้องไห้เพราะอะไร
ก่อนจบ ขอกลับมาเรื่องร้องแค่ไหนที่ไม่ตายอีกนิดนึงค่ะ คนใกล้ตัวแถมให้ว่า คนที่กำลังจะตายนั้น คือคนที่กำลังจะหมดพลังชีวิต ต้องหมดแรง ไม่มีแรงจะร้อง ถ้ายิ่งร้องยิ่งดัง นั่นก็แสดงว่ายังแข็งแรง ยังมีพลังชีวิตที่จะตะโกน ตะเบ็งเสียงร้อง ไม่ใช่สัญญานของอาการใกล้ตายแน่นอน เด็กส่วนใหญ่จะร้องติดต่อกันจนหมดแรง หมดยก พักหน่อยนึง มีแรงใหม่แล้วร้องต่อ อาจจะสามสี่ยกกว่าจะเงียบยาว (แต่ไม่ตาย) ใช่มั้ยคะ อีกตัวอย่างก็คือ เวลาที่มีอุบัติเหตุตึกถล่มหรืออะไร ส่วนใหญ่ที่จะรอดชีวิต คือเด็กทารกแทบทั้งนั้น บางครั้งตั้งสองสามวันกว่าจะขุดคุ้ยเจอ ผู้ใหญ่กลายเป็นศพไปแล้ว แต่ทารกก็รอดชีวิตมาได้ เป็นข่าวที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ทีเดียว ทารกแข็งแรงและมีสัญชาตญาณที่จะเอาตัวรอดมากกว่าที่เราคิดหรือเปล่า
ที่รำพันมายาวนี้ ไม่ได้กำลังจะบอกว่า ให้ปล่อยให้ลูกร้องไปเถอะ ไม่ตายหรอก ไม่ใช่แบบนั้นนะคะ เมื่อเขาร้อง เราก็ต้องพยายามตอบสนอง พยายามหาวิธีแก้ไขไปตามสถานการณ์ที่จะเดาเอาว่าเพราะอะไร แค่ไม่อยากให้ทุกคนเชื่อว่าสาเหตุของการร้องนั้น เป็นเพราะแม่ไม่มีนมแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นเอง
แหล่งที่มา : breastfeedingthai.com