อาการโรคไมเกรน โรคไมเกรน คือ สมุนไพรรักษาโรคไมเกรน


813 ผู้ชม


อาการโรคไมเกรน โรคไมเกรน คือ สมุนไพรรักษาโรคไมเกรน


โรคไมเกรน (MIGRAINE)
เคล็ดลับ ๙ ประการ

ศ.นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์
ผู้จัดการออนไลน์ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
๑.โรคไมเกรน (MIGRAINE) คืออะไร?
และทำไมจึงเรียกไมเกรน (MIGRAINE)?

โรคไมเกรน คือ โรคที่เกิดจากการบีบตัว และคลายตัว ของหลอดเลือดแดงในสมอง มากกว่าปรกติ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว พร้อมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ในบางรายอาจมีอาการตาพร่ามัวหรือเห็นแสงระยิบระยับร่วมด้วย

โรคไมเกรนนี้ รู้จักกันมานานตั้งแต่สมัย GALEN คือ ราวสองพันปีมาแล้ว คำว่าไมเกรน (Migraine) นี้มาจากคำสองคำคือ HEMI + CRANIUM คำ HEMI แปลว่า ครึ่งซีก ส่วน RANIUM แปลว่า ศีรษะหรือหัว เมื่อคำสองคำมาผสมกันเป็น HEMICRANIUM แต่ยาวเกินไป จึงตัด "HE" ส่วนหน้าออกและ "IUM" ส่วนหลังทิ้ง จึงเหลือ "MICRAN" ในภาษาลาติน

ภาษาอังกฤษมาแปลงใหม่เป็น MIGRANE ในภาษาไทยมีคำแปลว่า "โรคตะกัง" แต่ไม่เป็นที่นิยมใช้กันแต่อย่างใด, จึงมักเรียกทับศัพท์กันว่า "โรคไมเกรน (MIGRAINE)"

๒.โรคนี้พบบ่อยแค่ไหน?

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า อาการปวดหัวหรือปวดศีรษะนั้นเป็นอาการที่พบบ่อยในประชาชนทั่วๆ ไป จนเรียกได้ว่าไม่มีใครที่จะไม่เคยปวดหัวเลย อาการปวดหัวนั้นอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆมากมาย เช่น โรคที่พบบ่อยได้แก่ ตัวร้อนหรือเป็นไข้ เป็นหวัด เจ็บคอ ปวดฟัน ตาแดง หูอักเสบ โพรงจมูกอักเสบ ตลอดจนโรคที่พบน้อยแต่มีอันตราย เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้องอกในสมองและเลือดออกในสมอง เป็นต้น

ในทางการแพทย์แบ่งอาการปวดศีรษะออกเป็น ๒ ชนิดคือ :

๑.ปวดศีรษะชนิดเฉียบพลัน, ซึ่งมักจะมีสาเหตุจากการอักเสบ หรือติดเชื้อในบริเวณโพรงจมูก คอ ปาก หูและตาดังกล่าวแล้ว

๒.ปวดศีรษะเรื้อรัง ซึ่งมักมีสาเหตุใหญ่ๆ เพียง ๒ ชนิดคือ

ก.โรคไมเกรน

ข.โรคปวดศีรษะจากความเครียด

ส่วนภาวะเนื้องอกในสมอง หรือการตกเลือดในสมองนั้น พบได้น้อยมากไม่ถึง ๐.๐๑ % ของผู้ที่มีอาการปวดหัวทั้งหมด ดังนั้น ถ้าใครปวดหัวและกังวลว่าตัวเองจะมีเนื้องอกในสมอง หรือมีเลือดออกในสมองนั้นมีโอกาสเป็นจริงน้อยมาก แต่มักจะปวดศีษะจากความเครียด หรือโรคไมเกรน มากกว่า

มีคนถามว่า โรคไมเกรน กับ โรคปวดศีรษะจากความเครียดนั้น อย่างไหนจะพบมากกว่ากัน

คำตอบคือ โรคไมเกรนจะพบราว ๗% ของประชากร, ส่วนโรคปวดศีรษะจากความเครียดนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะสิ่งแวดล้อม เศรษฐฐานะ และสภาพของสังคม ในเมืองหลวงจะพบผู้ป่วยกลุ่มนี้มากกว่าในชนบท ปัจจุบันนี้คงยอมรับว่า เกือบทุกคนมีความเครียด แต่ใครจะปวดหัวหรือไม่ขึ้นอยู่กับรูปแบบต่างๆ ของการแสดงออกของอาการเครียด เช่น ปวดหัว ปวดท้อง นอนไม่หลับ หงุดหงิด เบื่ออาหาร ท้องผูก ท้องอืดเฟ้อ ตลอดจนท้อแท้เบื่อหน่ายได้

๓.โรคไมเกรนมีอาการอย่างไร?

โรคไมเกรน ความจริงไม่น่าจะจัดว่าเป็นโรคแต่อย่างใด, เพราะเป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงในสมองบีบตัวและคลายตัวมากกว่าปรกติ ในคนปกติหลอดเลือดแดงเหล่านี้ซึ่งมีอยู่มากมายในสมอง ก็จะมีบีบตัวและคลายตัวอยู่เป็นประจำแต่ไม่มากจึงไม่ปวดหัว ในผู้ป่วยไมเกรนจะไม่พบพยาธิสภาพใดๆในหลอดเลือดแดงของสมอง จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดอัมพาตหรือพิการแต่อย่างใด

อาการของโรคไมเกรน ประกอบด้วยลักษณะต่างๆ ดังนี้ :

๑.ปวดศีรษะครึ่งซีก อาจเป็นบริเวณขมับหรือท้ายทอย แต่บางครั้งก็อาจเป็นสองข้างพร้อมกัน หรือเป็นสลับข้างกันได้

๒.ลักษณะการปวดศีรษะส่วนมากจะปวดตุ๊บๆ นานครั้งหนึ่งๆเกิน ๒๐ นาที (ยกเว้นจะได้รับประทานยา) แต่บางครั้งถ้าเป็นรุนแรงอาจปวดนานเป็นวันๆ หรือสัปดาห์ก็ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีปวดตื้อๆสลับกับปวดตุ๊บๆในสมองก็ได้

๓.อาการปวดศีรษะมักเป็นรุนแรง และส่วนมากจะมีคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วยเสมอ โดยอาจเป็นขณะปวดศีรษะ ก่อนหรือหลังปวดศีรษะก็ได้ บางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากจนรับประทานอะไรไม่ได้

๔.อาการนำจะเป็นอาการทางสายตา โดยจะมีอาการนำมาก่อนปวดศีรษะราว ๑๐-๒๐ นาที เช่น เห็นแสงเป็นเส้นๆ ระยิบระยับ แสงจ้าสะท้อนหรือเห็นภาพบิดเบี้ยวนำหน้ามาก่อน

๔.ใครบ้างที่เป็นโรคไมเกรน?

โรคไมเกรนพบบ่อยในผู้หญิงวัยสาว ระหว่าง ๒๐-๔๐ ปี ในเด็ก และผู้สูงอายุพบน้อย ผู้ชายพบว่าเป็นไมเกรนน้อยกว่าผู้หญิง ๓-๔ เท่าตัว แต่ถ้าผู้ชายเป็นมักจะมีอาการรุนแรงกว่า โดยมีอาการปวดตาข้างใดข้างหนึ่ง น้ำตาไหล ตาแดง ปวดรุนแรงมากติดต่อกันเป็นเวลา ๖-๘ สัปดาห์ และอาจเป็นซ้ำบ่อยๆทุก ๖-๑๒ เดือน โรคไมเกรนมักพบบ่อยกับสมาชิกอื่นๆ ในครอบครัวที่เป็นผู้หญิง เช่น แม่ น้องสาว น้า ป้า เป็นต้น

๕.มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้โรคไมเกรนเป็นมากขึ้น?

เป็นที่ทราบกันดีว่า ตัวกระตุ้นหรือทำให้เกิดอาการของโรคไมเกรนมากขึ้นได้แก่

๑.ภาวะเครียด
๒.การอดนอน
๓.การขาดการพักผ่อน หรือทำงานมากเกินไป
๔.ขณะมีระดู หรือรับประทานยาคุมกำเนิด
๕.เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์
๖.อาหารบางชนิด เช่น กล้วยหอม เนยแข็ง และช็อกโกแลต

ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไมเกรนจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงภาวะต่างๆ เหล่านี้ ผู้ป่วยทุกคนต้องสังเกตตัวเองว่า อะไรเป็นตัวกระตุ้นการเกิดโรคไมเกรนในตนเอง เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงและแก้ไขได้ตรงจุด

๖.เมื่อไรโรคไมเกรนจึงหาย?

เป็นที่ยอมรับกันว่า โรคไมเกรนก่อให้เกิดภาวะปวดศีรษะเรื้อรังนานเป็นปีๆ บางรายอาจนานเป็นสิบๆปี จึงมักทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลว่า ทำไมตัวเองจึงไม่ยอมหายจากภาวะปวดศีรษะนั้น และวิตกว่าจะมีความผิดปรกติในสมองต่างๆ เช่น เนื้องอกหรือเลือดคั่งในสมอง หรือเกรงว่าจะเกิดอัมพาตหรือพิการตามมาภายหลัง

ในกรณีนี้จะทำให้อาการปวดศีรษะเลวลง เพราะจะเกิดอาการปวดศีรษะจากภาวะเครียดเพิ่มขึ้นมาทับถมอีก การปวดศีรษะจากภาวะเครียดนั้นพูดโดยย่อ จะปวดแบบตื้อๆ หนักศีรษะทั่วทั้งศีรษะบางรายจะบอกว่า ปวดเหมือนมีอะไรมาบีบรัดโดยรอบหัว อาการนี้จะเป็นมากตอนบ่ายๆ หรือสายๆ ช่วงเช้าไม่ค่อยปวด หลังนอนพักอาการจะดีขึ้น ทั้งนี้เพราะเกิดจากการบีบเกร็งตัวของกล้ามเนื้อรอบศีรษะและบริเวณคอ

โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคไมเกรนจะไม่มีอันตรายใดๆ ที่จะก่อให้เกิดการพิการหรือทุพพลภาพตามมาแต่อย่างใด โดยปรกติอาการปวดศีรษะชนิดไมเกรนนี้จะลดความรุนแรงลงเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเลยวัยหมดระดูไปแล้ว จะพบผู้ป่วยไมเกรนน้อยมาก

๗.ผู้ป่วยโรคไมเกรน ต้องรับการตรวจวินิจฉัยอย่างไรบ้าง?

โรคไมเกรนเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ โดยการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียด ไม่มีวิธีการวินิจฉัยทางอื่นใด ดังนั้น การเจาะเลือด เอกซเรย์ หรือการตรวจคอมพิวเตอร์สมองจึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด กลับจะเจ็บตัวและอาจเป็นอันตรายหรือเสียเงินทองโดยไม่จำเป็น

๘.โรคไมเกรนรักษาอย่างไร?

การปวดศีรษะจากโรคไมเกรน มักรักษาไม่หายด้วยยาแก้ปวดพาราเซตตามอลธรรมดา ยาที่ได้ผลดีคือยาแก้ปวดแอสไพริน ขนาด ๒ เม็ด ในขณะปวด แต่ข้อระวังห้ามรับประทานแอสไพรินในขณะท้องว่าง และผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหารห้ามรับประทานแอสไพรินเด็ดขาด เพราะอาจเกิดเลือดออกในกระเพาะได้มากๆ และอาจทำให้ถึงแก่กรรมได้ ในผู้ป่วยที่ไม่แน่ใจว่า จะมีโรคกระเพาะหรือไม่ ให้รับประทานยาเคลือบกระเพาะอาหารหรือนมร่วมด้วย ก็จะป้องกันการระคายเคืองของแอสไพรินต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารได้

๙.จะป้องกันไม่ให้เกิดโรคไมเกรนได้อย่างไร?

ในผู้ป่วยโรคไมเกรนที่นานๆ เป็นครั้ง เช่นปีละ ๒-๓ หนไม่จำเป็นต้องกินยาป้องกันแต่อย่างใด แต่ถ้าผู้ป่วยโรคไมเกรนที่เกิดอาการปวดศีรษะบ่อยๆ เช่นเกือบทุกสัปดาห์ หรือทุกวัน จำเป็นต้องให้การป้องกันโดยการหลีก เลี่ยงปัจจัยส่งเสริมให้เกิดดังกล่าวแล้ว ในกรณีที่ไม่มีปัจจัยส่งเสริมดังกล่าวอาจจำเป็นต้องให้ยาป้องกัน ซึ่งแบ่งได้หลายชนิด เช่น

ก. ERGOT ALKALOIDS เป็นยาป้องกันมิให้หลอดเลือดในสมองขยายตัว
ข. BETA BLOCKER
ค. CALCIUM CHANNEL BLOCKER
ง. ANTIDEPRESSANT เป็นต้น
จ. SEROTONIN ANTAGONIST เป็นต้น

ยาในกลุ่มดังกล่าวเป็นยาอันตราย และมีผลข้างเคียงทุกชนิด จำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งให้และรับประทานตามกำหนดในช่วงเวลาจำกัด การซื้อใช้เองอาจเกิดผลร้ายได้


แหล่งที่มา : khonnaruk.com

อัพเดทล่าสุด