โรคปอดบวมในเด็ก การรักษาโรคปอดบวม การป้องกันโรคปอดบวม
การรักษาโรคปอดบวม
- ในเด็กส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส อาจจะไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ต้องกระตุ้นให้เด็กดื่มน้ำมากๆ วัดไข้วันละสองถึงสามครั้ง รับประทานยาตามแพทย์สั่งโดยเคร่งคัด ห้ามซื้อยาแก้ไอรับประทานเอง ให้คอยตรวจดูสีริมฝีปาก และเล็บว่ายังคงสีชมพูอยู่หรือไม่ หากมีสีคล้ำควรรีบพบแพทย์
- หากสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรืออาการเป็นมาก เช่น ไข้สูงมาก หอบมาก ไอมาก แพทย์จะให้นอนโรงพยาบาล และตรวจเลือดดังกล่าวข้างต้น และพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ ออกซิเจน และสารน้ำทางหลอดเลือด
- ถ้าเป็นปอดบวมไม่รุนแรง จะได้รับการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะไปกินที่บ้าน จะต้องให้เด็กกินยาสม่ำเสมอ ขนาดยาตามแพทย์สั่ง ควรอ่านฉลากยาก่อนให้กินยาเสมอ และกินจนครบชุด รวม 5-7 วัน
- อาการอื่นๆ เช่น ไข้ พิจารณาใช้ยาลดไข้เฉพาะเวลาตัวร้อนห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ส่วนอาการไอนั้น ในโรคปอดบวมจะไอได้มากกว่าโรคหวัด ยาที่กินอาจเป็นยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะ บางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้ยาขยายหลอดลมด้วย ห้ามกินยากดไม่ให้ไอหรือยาแก้แพ้ หรือยาแก้ไอสำเร็จรูปที่มีตัวยาตั้งแต่สามชนิดขึ้นไป เพราะแทนที่จะมีประโยชน์อาจเป็นโทษ เช่น ทำให้เด็กไอไม่ออก เสมหะที่มีมากอาจตกเข้าไปค้างในหลอดลมทำให้ปอดแฟบได้
- ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำบ่อยๆ และไม่ลดอาหาร พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงเด็กต้องคอยดูอาการ ถ้าอาการมากขึ้นจะต้องพาไปพบแพทย์ใหม่ หรือ 2 วันแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นก็ต้องพาไปตรวจอีก โดยมากควรพาไปตรวจอีกครั้งเมื่อครบ 2 วัน ส่วนมากอาการจะดีขึ้น และค่อยๆ หายในหนึ่งสัปดาห์ อาการที่ไม่ดีขึ้นหรือเลวลงได้แก่ หอบมากขึ้น หายใจต้องออกแรงมากขึ้นหรือมีอาการของภาวะป่วยหนักอื่นๆ เช่น เด็กซึม ไม่กินนมน้ำ ชัก ซึ่งจะต้องรักษาในโรงพยาบาล
- ในรายเป็นปอดบวมรุนแรงและรุนแรงมาก จะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลโดยการฉีดยาปฏิชีวนะ อาจต้องให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือดในบางราย อาจต้องให้ออกซิเจนในรายที่หายใจเหนื่อยมาก หรือริมฝีปากเขียว หรืออ่อนเพลีย ซึมไม่กินนมน้ำ และถ้าอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
แหล่งที่มา : 108health.com