เจ็บหัวนมเกิดจากอะไร สาเหตุเจ็บหัวนม ผู้หญิงเจ็บหัวนม


18,355 ผู้ชม


เจ็บหัวนมเกิดจากอะไร สาเหตุเจ็บหัวนม ผู้หญิงเจ็บหัวนม

รู้ได้อย่างไร! ว่าเป็นมะเร็งเต้านม
 
     
 
    ขึ้นชื่อว่ามะเร็งพอได้ยินก็กลัวกันทั้งนั้น ยิ่งสตรีที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก เมื่อคุณหมอบอกว่าแม้ ตัดออกหรือทำการรักษาจนหาย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งอีก มาดูกันว่าเราจะสังเกตและดูแลตัวเองอย่างไรดี
 
 
 ก้อนที่เต้านม ไม่เจ็บสิน่ากลัว
     บ่อยครั้งสาเหตุที่คนไข้มาหาหมอ มาจากก้อนที่เต้านมเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา คือ อาการเจ็บเต้านม ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อมีอาการเจ็บเต้านม มักจะเริ่มสังเกตและคลำที่เต้านม ส่วนหนึ่งจะพบก้อนร่วมด้วย อีกส่วนหนึ่งไม่พบก้อนหรือไม่แน่ใจ แต่มักจะลงเอยด้วยการพบหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่เป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งมักจะมาพบหมอค่อนข้างเร็ว ผิดกับผู้ที่มีก้อนที่เต้านม คลำได้ แต่ไม่รู้สึกเจ็บ มักจะปล่อยเอาไว้เพราะคิดว่าไม่เป็นไร 
ซีสมักจะเจ็บ ส่วนมะเร็งมักจะไม่เจ็บ 
     ในบรรดาก้อนที่เต้านมนั้น มีโรคกลุ่มหลัก ๆ อยู่ 3 กลุ่ม คือ 1) ซีสเต้านม 2) เนื้องอกเต้านม (ไม่ร้าย) 3) มะเร็งเต้านม ซีสที่เต้านมจะมีการ

เปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน โตก่อนรอบเดือนมาและเล็กลงหลังรอบเดือนมาแล้ว ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่มีซีส มักจะเจ็บที่ก้อน ซึ่งผิดกับกลุ่มเนื้องอก

หรือมะเร็ง ซึ่งมักจะไม่ค่อยเจ็บ พบว่าร้อยละ 90 ของคนที่เป็นมะเร็งเต้านม ระยะเริ่มแรกจะมีแต่ก้อน ไม่มีอาการเจ็บ ผู้หญิงหลายๆ คนมีความเข้าใจ

ผิดคิดว่าก้อนที่ไม่เจ็บคงไม่เป็นไรและปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งก้อนมะเร็งใหญ่โตขึ้นมากแล้วจึงรู้สึกเจ็บได้ 

 
มะเร็งเต้านมพบได้บ่อยแค่ไหน
แนวโน้มคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งสูงขึ้นทุกปี ซึ่งกว่าร้อยละ70 ของโรคมะเร็ง เกิดจากสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป มีมลภาวะเพิ่มมากขึ้น สารพิษที่ปนเปื้อนมากับอาหาร รวมถึงความเครียดภายในจิตใจ จากอุบัติการณ์ในการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉลี่ยแล้วทุก ๆ 3 ชั่วโมง จะพบว่าผู้หญิงไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม 2 คน และพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 30 ของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม ทั้งนี้อัตราการพบมะเร็งเต้านมในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติและวิถีการดำเนินชีวิต เช่น ในประเทศตะวันตก พบมะเร็งเต้านมได้มากกว่า 100 คน ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ 1 แสนคน ส่วนในเอเชียพบน้อยกว่า ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยาของไทยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารระบาดวิทยาระดับโลก พบว่าหญิงไทยมีอัตราการพบมะเร็งเพียง 40 คน ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ 1แสนคน ซึ่งถ้าเทียบเป็นร้อยละก็เพียง 0.04 ซึ่งนับว่าน้อยมาก
 
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
     อายุ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดต่อการเป็นมะเร็งเต้านม พบว่ายิ่งอายุมากขึ้นโดยเฉพาะสตรีวัย 60 ปีขึ้นไป ยิ่งมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึงร้อยละ 50 – 60 รองลงมาคือการเคยผ่าตัดก้อนเนื้อที่เต้านม และพบว่าเป็นซีสเต้านมชนิดที่เริ่มผิดปกติ (atypia) และการพบว่ามีญาติสนิท(แม่ พี่สาว น้องสาว หรือลูก) เป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า 2 คน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อย ได้แก่ การเริ่มมีประจำเดือนมาครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย การหมดประจำเดือน (วัยทอง) ช้า การไม่มีบุตร หรือมีบุตรยาก และการที่เคยใช้ยากลุ่มฮอร์โมนในวัยหมดประจำเดือนติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 10 ปี เป็นต้น 

 
สงสัยว่าเป็นมะเร็งเมื่อไร
       ดังได้กล่าวมาแล้ว มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บหรือปวด (มีเพียงร้อยละ10 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มาพบหมอด้วยอาการปวดเต้านม) แต่จะคลำพบก้อนที่เต้านม สังเกตถ้าก้อนที่เป็นมะเร็งเต้านมมักจะแข็งและขรุขระ แต่อาจเป็นก้อนเรียบๆ ได้ อาการอื่น ๆ อาจพบผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม หรือมีรูปร่างของเต้านมผิดไปจากเดิม หรืออาจมีแผลที่หัวนมและรอบหัวนม หรือมีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดไหลออกจากหัวนม บางรายคลำพบก้อนบริเวณรักแร้ และนานๆ ครั้งจะพบมะเร็งเต้านมที่มีอาการบวมแดงคล้ายการอักเสบที่เต้านม นอกจากอาการผิดปกติที่เต้านมแล้ว การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม(mammogram) และ อัลตราซาวด์ (ultrasound) ยังสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมขนาดเล็กตั้งแต่ยังไม่มีอาการได้ โดยอาจพบก้อน หรือจุดหินปูนในเนื้อเต้านมได้ 
 
ตรวจเลือดและยีน (gene) บอกได้ไหมว่าเป็นมะเร็งเต้านม
     การตรวจเลือดเพื่อหามะเร็งเต้านมนั้น มีความแม่นยำค่อนข้างต่ำ เนื่องจากผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมจะพบผลการตรวจเลือดเกี่ยวกับมะเร็ง เช่น CA153, CEA ผิดปกติน้อยกว่าร้อยละ 20 ขณะเดียวกันผู้ที่มีผลเลือดปกติ ก็อาจเป็นมะเร็งเต้านมอยู่แล้ว ส่วนการตรวจยีน เช่น gene BRCA1, BRCA2 ซึ่งจะมีความผิดปกติในมะเร็งเต้านมที่เป็นกันทั้งครอบครัว หากตรวจพบก็ไม่ได้หมายความว่า กำลังเป็นมะเร็งอยู่ เพียงแต่ทำให้รู้ว่าโอกาสจะพบมะเร็งเต้านมในคน ๆ นั้นมีมากกว่าคนทั่วไป และยีนดังกล่าวก็พบได้เพียงร้อยละ 5 - 10 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด ดังนั้นหากตรวจยีนดังกล่าวแล้วปกติก็ยังมีสิทธิ์เป็นมะเร็งเต้านมอยู่ไม่น้อย รู้อย่างนี้แล้วกันไว้ดีกว่า ด้วยการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ พบแพทย์ตรวจเมื่อมีอาการสงสัย อย่าปล่อยไว้เพราะไม่เจ็บ และตรวจแมมโมแกรมประจำปีตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป จะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง
ตรวจหาความผิดปกติของเต้านม 
     เริ่มจากการตรวจเต้านมด้วยการคลำ สุภาพสตรีทุกท่านสามารถคลำเต้านมด้วยตนเองได้ และหากไม่แน่ใจให้แพทย์เป็นผู้คลำเต้านมเพื่อประเมินความผิดปกติ เช่น พบก้อนที่เต้านมหรือต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรืออาจพบจุดกดเจ็บที่เต้านม แพทย์ก็จะทำการตรวจทางรังสีเพิ่มเติมด้วยเครื่องแมมโมแกรมหรืออัลตราซาวดน์ ซึ่งมีข้อแตกต่างดังนี้ 
 
การตรวจแมมโมแกรม (mammogram)
      การตรวจแมมโมแกรม เป็นการตรวจทางรังสีชนิดหนึ่งคล้ายกับการเอกซเรย์ แต่เครื่องตรวจแมมโมแกรม จะเป็นเครื่องเฉพาะที่ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป แต่มีความสามารถในการตรวจที่ละเอียดกว่ามาก โดยทั่วไปการตรวจแมมโมแกรม จะฉายรูปเต้านมด้านละ 2 รูป โดยการบีบเนื้อนมเข้าหากัน และถ่ายรูปจากด้านบนและด้านข้างอย่างละหนึ่งรูป รวมการตรวจแมมโมแกรมในระบบมาตรฐาน 4 รูป ในกรณีที่พบจุดสงสัย อาจมีการถ่ายรูปเพิ่มหรือขยายรูปเพื่อให้เกิดความชัดเจน สิ่งที่แมมโมแกรมสามารถตรวจพบและดีกว่าการตรวจวิธีอื่น ก็คือ สามารถเห็นจุดหินปูนในเต้านม ซึ่งในบางครั้ง มะเร็งเต้านมอาจมีขนาดเล็กมาก คลำไม่พบ แม้กระทั่งการตรวจอัลตราซาวดน์ก็ไม่พบ สามารถตรวจพบได้ในแมมโมแกรมเท่านั้น ดังนั้น แมมโมแกรม จึงมีประโยชน์ในการตรวจหามะเร็งเต้านมขนาดเล็ก 
การตรวจอัลตราซาวดน์ (ultrasound) 
     การตรวจอัลตราซาวดน์ เป็นการตรวจโดยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับเนื้อเยื่อต่างๆ จะสะท้อนกลับมาที่เครื่องตรวจ ซึ่งจะตรวจจับความแตกต่างของเนื้อเยื่อได้ คล้ายกับการตรวจด้วยเรดาร์ ทำให้สามารถแยกเนื้อเยื่อเต้านมปกติกับก้อนในเต้านมได้ นอกจากนี้ ยังสามารถบอกได้ว่าก้อนที่พบในเนื้อเต้านมนั้น มีองค์ประกอบเป็นน้ำ หรือเป็นก้อนเนื้อ ในกรณีที่เป็นน้ำ ก็ค่อนข้างจะสบายใจเพราะไม่เหมือนมะเร็ง แต่หากเป็นก้อนเนื้อ อัลตราซาวดน์ จะช่วยบอกว่าก้อนเนื้อนั้นมีขอบเขตที่ดูเรียบร้อย หรือดูค่อนไปทางเป็นเนื้อร้าย 
แมมโมแกรมและอัลตราซาวดน์ดีไปคนละอย่าง 
     การตรวจด้วยแมมโมแกรม และอัลตราซาวดน์ มีข้อดีกันคนละอย่าง บางครั้งการตรวจอย่างใดอย่างหนึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่า แต่บางครั้งการตรวจทั้ง 2 อย่าง จะช่วยเสริมให้การวินิจฉัยโรคได้ดียิ่งขึ้น การตรวจแมมโมแกรม จะมีประโยชน์มากในการตรวจหามะเร็งเต้านม ซึ่งมีขนาดเล็ก เพราะสามารถตรวจได้ตั้งแต่ยังคลำก้อนไม่พบ แต่ประโยชน์นี้ จะใช้ได้ดีในคนที่เริ่มสูงอายุ (มากกว่า 40 ปี) ซึ่งเนื้อเต้านมไม่หนาแน่นมาก การตรวจแมมโมแกรม จะเห็นรายละเอียดได้มาก แต่ในผู้อายุน้อย จะแปลผลแมมโมแกรมยาก และในกรณีที่พบก้อน ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าก้อนนั้นเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ 
ส่วนการตรวจอัลตราซาวดน์ แม้ว่าจะสามารถตรวจหาจุดหินปูน ซึ่งเป็นสัญญาณของมะเร็งเต้านม แต่สู้การใช้แมมโมแกรมไม่ได้ ข้อเด่นของการตรวจอัลตราซาวดน์คือ สามารถใช้ในคนอายุน้อย อีกทั้งยังช่วยวินิจฉัยว่าก้อนต่างๆ ในเต้านมเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ทำให้วางแผนการรักษาได้ง่ายขึ้น 
 
และหากจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม แพทย์อาจใช้เข็มเจาะก้อนที่เต้านม เพื่อนำเซลล์ของเต้านมหรือเนื้อเยื่อเต้านมส่งตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป 
เลือกตรวจวิธีไหนดี 
     การจะเลือกตรวจด้วยวิธีใดหรือไม่นั้น แพทย์ผู้รักษาจะใช้อาการและสิ่งที่ตรวจพบจากการตรวจร่างกายเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนสำหรับการตรวจต่อไป แต่ในภาวะที่ไม่มีโรคหรือความผิดปกติใดๆ เลย แนะนำว่า สุภาพสตรีที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรตรวจแมมโมแกรม ปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม

 

แหล่งที่มา : women.postjung.com

อัพเดทล่าสุด