ภูมิแพ้ ไอเรื้อรัง ไอเรื้อรังมาประมาณ 6 เดือนแล้ว อาการของโรคไอเรื้อรัง


9,061 ผู้ชม


ภูมิแพ้ ไอเรื้อรัง ไอเรื้อรังมาประมาณ 6 เดือนแล้ว อาการของโรคไอเรื้อรัง

 

ไอเรื้อรัง รักษาทั้งหอบหืดและกรดไหลย้อนก็ไม่หาย

สวัสดีครับคุณหมอ ผมอยากปรึกษาคุณหมอเรื่องอาการไอครับ คือว่าผมเคยสูบบุหรี่มาเป็นเวลาประมาณสองปี แล้วค่อยเลิกบุหรี่ แต่อาการไอกลับไม่หาย เคยไปพบแพทย์ แพทย์ก็ให้การรักษาเกี่ยวกับหอบหืด กรดไหลย้อน ร่วมกับรับประทานยาแก้ไอ แต่ก็เปลี่ยนยาแก้ไอมาสามตัวแล้ว โดยล่าสุดหมอบอกว่ายาตัวที่ให้เป็นอนุพันธ์ของมอร์ฟีน กินร่วมกันกับยาชงละลายน้ำ แต่ก็ยังมีอาการไอเหมือนเดิม รู้สึกเหมือนมีอะไรติดลำคอตลอดเวลา ต้องกระแอมหรือไอเพื่อให้คอโล่ง 
แต่ไม่มีเสมหะ เป็นอาการไอแห้ง และจะเป็นมากในช่วงที่ต้องหายใจถี่ อย่างเช่นตอนออกกำลังกายครับ ส่วนผลเอ็กเรย์ปอด และสมรรถภาพปอดก็อยู่ในเกณฑ์ปกติครับ เลยอยากจะถามหมอว่ามันเป็นอาการปกติรึเปล่าครับสำหรับผู้ที่เคยสูบบุหรี่น่ะครับ เพราะผมก็กังวลว่าเลิกมานานได้ประมาณแปดเดือนแล้วครับแต่ก็ัยังไอไม่หาย เลยอยากจะปรึกษาหมอสำหรับอาการที่ผมเป็นอยู่ครับ แล้วพอจะมีตัวอย่างคนไข้ที่ไอแล้วรักษาเท่าไหร่ก็ไม่หายรึเปล่าน่ะครับ 
ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ 
................................................ 
ตอบครับ 
เรื่องปัญหาการไอเรื้อรังเป็นเรื่องลึกซึ้ง แนวทางการไล่เลียงปัญหาปกติจะทำกันดังนี้ 
1. ยา ถ้ากินยาที่มีผลทำให้ไอ ต้องหยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาในกลุ่ม ACEI ที่ใช้รักษาโรคหัวใจและความดันเลือด ผมเข้าใจว่าคุณไม่ได้กินยาพวกนี้อยู่ 
2. บุหรี่ ถ้าสูบบุหรี่อยู่ ต้องหยุด กรณีของคุณหยุดบุหรี่ไปแล้ว ประเด็นนี้ก็จบไปแล้ว ปกติการไอจากบุหรี่เกิดจากขนพัดโบกของเซลเยื่อบุหลอดลม (cilia) ถูกควันบุหรี่เผาไหม้ทำให้พัดโบกไล่ฝุ่นและเสมหะไม่ได้ ปัญหานี้จะหายไปเมื่อหยุดสูบบุหรี่ได้สัก 
2 สัปดาห์ กรณีของคุณหยุดสูบบุหรี่ได้แปดเดือนแล้ว ดังนั้นประเด็นไอจากบุหรี่ถือว่าตัดทิ้งได้ 
3. โรคใดๆที่อยู่ที่ทางเดินลมหายใจส่วนบน เช่นโพรงไซนัสอักเสบ ก็ทำให้ไอเรื้อรังได้ เรียกว่า upper airway cough syndrome (UACS) คนที่ไอเรื้อรังจึงต้องให้หมอหูคอจมูกตรวจทางเดินหายใจส่วนบนอย่างเพื่อวินิจฉัยแยก UACS ก่อน 
4. โรคหอบหืด (asthma) ก็ทำให้ไอเรื้อรังได้ กรณีของคุณได้รับการตรวจดูการทำงานของปอดแล้วว่าปกติ แสดงว่าไม่มีการอุดกั้นทางเดินลมหายใจซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของโรคหอบหืด แถมยังเคยได้รับการทดลองรักษาหอบหืดแล้วด้วย แต่ก็ไม่หายไอ แสดงว่าอาการไอไม่ได้เกิดจากหอบหืด 
5. โรคกรดไหลย้อน (GERD) ก็เป็นที่ทราบกันว่าทำให้ไอเรื้อรังได้ กรณีของคุณไม่มีหลักฐานอะไรว่าเป็น GERD หรือเปล่า แต่หมอก็ให้ยารักษา GERD ไปแล้วเรียบร้อย แต่คุณก็ยังไม่หายไอ ดังนั้นในขั้นตอนนี้เราตัดโรค GERD ทิ้งไปก่อน 
6. โรคหลอดลมอักเสบจากอีโอซิโนฟิลที่ไม่ใช่หอบหืด (non asthmatic eosinophilic bronchitis - NAEB) ซึ่งเป็นคล้ายกับโรคภูมิแพ้อย่างหนึ่ง เช่นแพ้ฝุ่นหรือไอระเหยบางชนิดที่มากับงานอาชีพ ทำให้มีเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลออกมาในหลอดลมมาก ทำให้ไอเรื้อรัง การพิสูจน์คือต้องทำการใส่ท่อเข้าไปล้างและดูดเอาน้ำล้างหลอดลม (bronchial washing) ออกมาตรวจหาอีโอซิโนฟิล แต่หมอในเมืองไทยไม่นิยมทำการวินิจฉัยชนิดนี้ เพราะมันทำให้ชีวิตหมอลำบาก หมอส่วนใหญ่จึงนิยมวิธีทดลองรักษาล่วงหน้าไปเลยโดยไม่ต้องวินิจฉัยพิสูจน์ให้ยุ่งยาก คือให้พ่นยาสะเตียรอยด์เลย ถ้าพ่นแล้วหายก็ฮั่นแน่ ใช่เลย ปกติถ้าเป็นโรคนี้ถ้าได้สะเตียรอยด์จะหายไอเป็นปลิดทิ้ง กรณีของคุณเดาเอาว่าตอนที่หมอเขาทดลองรักษาหอบหืดนั้นเขาใช้ยาสะเตียรอยด์พ่นแล้ว แต่ไม่ได้ผล 
7. โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังกำเริบ (acute exacerbation of chronic bronchitis - AECB) คนเป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังจะมีอาการกำเริบในหน้าหนาว ปีหนึ่งหลายเดือน ทำอย่างไรก็ไม่หายไอ ได้แต่ให้ยาบรรเทาอาการลูกเดียว แต่ผู้ป่วยบางรายก็หายจากโรคนี้ด้วยการดูแลสุขภาพทั่วไปให้ภูมิต้านทานดีขึ้น อาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะช่วยรักษาช่วงสั้นๆถ้ามีการติดเชื้อผสมโรง 
8. นอกจากสาเหตุที่พบบ่อย 7 อย่างข้างต้น ยังมีโอกาสเป็นเรื่องที่ไม่พบบ่อยอื่นๆได้อีก เช่นมะเร็งปอด วัณโรคปอด เป็นต้น 
9. ถ้าหาสาเหตุอะไรไม่ได้แล้วจริงๆ ก็ยังมีโอกาสเป็น psychogenic cough คือไอเพราะใจมันคิดแต่เรื่องจะไอก็เลยไอ ไอ ไอ ไม่รู้จบ ถ้าเป็นโรคนี้วิธีรักษาก็คือ make your heart หมายความว่าการทำใจปลงเสียอย่าไปจดจ่อกับมันมาก 
โดยสรุปจากนี้ไปผมแนะนำให้คุณปฏิบัติตัวเป็นขั้นตอนดังนี้ 
1. งดยาที่กินอยู่ประจำไว้ก่อนทั้งหมด ก่อนที่จะเป็นโรคติดยาเสพย์ติดอีกโรคหนึ่ง 
2. ตอนนี้คุณทำงานอะไรอยู่ ตรวจสอบว่าในที่ทำงาน หรือเส้นทางที่เดินทางไปทำงาน หรือที่บ้าน มีอะไรที่เป็นไอ ฝุ่น ควัน ที่จะกระตุ้นให้แพ้ได้บ้าง แล้วเลี่ยงเสีย 
3. เวลามีอาการไอ ถ้าไม่มีเสมหะให้จงใจกลั้นไว้บ้าง จงใจลืมว่ามันกำลังคันคอบ้าง ถ้าไปซื้อยาแก้ไอน้ำดำที่ปากซอยมาจิบเวลาคันคอมากๆก็จะช่วยได้แยะ 
4. ขุดคุ้ยเอายาพ่นรักษาหอบหืดที่หมอเคยให้มาดูฉลากว่าเป็นว่าพ่นพวกสะเตียรอยด์หรือไม่ ถ้าไม่เคยได้ยาพ่นพวกสะเตียรอยด์ ควรกลับไปหาหมอเพื่อขอลองยาพ่นสะเตียรอยด์เผื่อว่าเป็นโรค NAEB จะได้หายไอปึ๊ดเลย 
5. ลงทุนฟูมฟักภูมิต้านทานของร่างกายให้ดีขึ้น ด้วยการ (1) ออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักพอควรคือจนหอบแฮ่กๆวันละครึ่งชั่วโมงสัปดาห์ละ 5 ครั้ง บวกเล่นกล้ามอีกสัปดาห์ละ 2 ครั้ง (2) ปรับโภชนาการ ลดอาหารที่ให้แคลอรี่เช่นไขมันและคาร์โบไฮเดรตลง เพิ่มการกินผักและผลไม้ให้ได้มากน้องๆวัว คือวันละ 5 เสริฟวิ่งขึ้นไป (3) จัดเวลานอนหลับพักผ่อนให้พอ และจัดการความเครียดของตัวเองให้ดี 
6. ทำอยู่อย่างนี้สามเดือน ถ้าไม่หายอีก คราวนี้ให้มาที่คลินิกหูคอจมูก ให้เขาทำ MRI หรือ CT ตรวจดูไซนัสให้ละเอียด แล้วไปที่คลินิกโรคปอด (chest clinic) เพื่อให้เขาตรวจคอมพิวเตอร์( CT chest) ว่ามีอะไรชวนให้สงสัยว่าเป็นมะเร็งปอดหรือวัณโรคหรือไม่ 
7. ถ้าตรวจทั้งหมดนี้แล้วยังไม่พบว่าเป็นอะไรอีก คราวนี้ก็วินิจฉัยแบบเดาสุ่มไว้ก่อนว่าคงเป็น psychogenic cough ก็ไม่มีอะไรจะต้องทำต่อแล้ว แต่ก็อย่าวางใจ ให้หมั่นไปตรวจ CT chest ทุกปีตราบใดที่ยังไออยู่ เพราะคนที่สูบบุหรี่มา หากมีอาการไอด้วย การคัดกรองมะเร็งในปอดด้วยการทำ CT chest ทุกปี จะลดอัตราตายจากมะเร็งปอดได้ 
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ 
บรรณานุกรม 
1. Pratter MR. Cough and common cold: ACCP evidence-based clinical practice guidelines. Chest 2006 ; 129 (1 Suppl): 72S-4S.

แหล่งที่มา : health.co.th

อัพเดทล่าสุด