งานวิจัยเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร ยาฆ่าเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ยากำจัดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไฟโลไร


2,285 ผู้ชม


งานวิจัยเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร ยาฆ่าเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ยากำจัดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไฟโลไร

เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร
โดย : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ


       
  เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร เชื้อแบคทีเรีย "เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร" (Helicobacter pylori) เข้าสู่กระเพาะได้โดยการกลืนเข้าไป หรือขย้อนเชื้อจากลำไส้มาอยู่ในกระเพาะอาหาร
 

โดยปกติในกระเพาะอาหาร จะไม่มีเชื้อแบคทีเรีย หลังจากเชื้อเข้าสู่กระเพาะอาหาร จะใช้หนวดของมันว่ายเข้าไปฝังตัวในเยื่อเมือกบุผนังกระเพาะ และปล่อยน้ำย่อย เอ็นซัยม์ และสารพิษมาทำลาย และกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร ด้วยกลไกนี้ร่วมกับกรดที่หลั่งออกมาจากเซลล์เยื่อบุกระเพาะ จะช่วยกันทำลายผนังกระเพาะให้มีการอักเสบ และเกิดเป็นแผลได้ในที่สุด

ศาสตราจารย์ โรบิน วอเร็น เป็นผู้ที่ค้นพบเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร ร่วมกับ ศาสตราจารย์ แบรี่ มาร์แชล ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่พบปรากฏว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ และการเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหาร ซึ่งในช่วงแรกของการค้นพบยังไม่เป็นที่ยอมรับกันมากนัก ในปี ค.ศ.1979 ศาสตราจารย์ โรบิน วอเร็น ได้ค้นพบเชื้อในเยื่อบุกระเพาะอาหารเป็นครั้งแรกโดยการตรวจทางพยาธิสภาพ และได้ทำการทดลองร่วมกับ ศาสตราจารย์ แบรี่ มาร์แชล ที่ประเทศออสเตรเลีย

การค้นพบ

  1. ในปี ค.ศ.1982 พบว่าเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มีผลทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบ และสามารถเพาะเชื้อนี้จนทราบว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร ในขณะนั้นแม้จะพยายามเพาะเชื้อในห้องทดลองอย่างไร ไม่ว่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการไปอย่างไร ก็ไม่สามารถเพาะเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไรได้สำเร็จ จนกระทั่งในปี 1983 เกิดการระบาดของเชื้อสแตฟฟิลโลคอคคัส ออเรียส ชนิดที่ดื้อต่อยา ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดก่อนเทศกาลอีสเตอร์เพียงไม่กี่วัน ทำให้ต้องมีตัวอย่างเชื้อที่ต้องตรวจสอบมากมาย และทำให้จานเลี้ยงเชื้อถูกทิ้งไว้ในตู้เพาะเชื้อในช่วงวันหยุดเทศกาลอีสเตอร์นานถึงห้าวัน จากที่ปกติแล้วการเพาะเชื้อทั่วไปใช้เวลาเพียง 2 วัน ซึ่งเป็นผลทำให้เชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร เจริญขึ้นเต็มจานเพาะเชื้อ ทำให้ทั้งสองสามารถเพาะเลี้ยงเชื้อได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในห้องปฏิบัติการ
  2. แทบไม่มีใครเชื่อว่า การค้นพบในครั้งนั้นจะส่งผลต่อการรักษาโรคเพาะอาหารเป็นอย่างมาก และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้มีการตระหนักและให้ความสำคัญกับการค้นพบเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้กันมากขึ้น โดยมีอุบัติการณ์การค้นพบเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร ที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นจำนวนมาก
  3. การค้นพบเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร ของศาสตราจารย์ โรบิน วอเร็น ได้ถูกค้นพบในปี ค.ศ.1979 ได้เป็นที่ยอมรับ และได้เป็นการเปิดมิติใหม่ในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งถือว่าการค้นพบในครั้งนี้ได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับมวลมนุษยชาติไว้อย่างมาก ทำให้ศาสตราจารย์ โรบิน วอเร็น ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์เมื่อปี 2005 ร่วมกับศาสตราจารย์ แบรี่ มาร์แชล ในฐานะที่เป็นผู้ค้นพบเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารและมะเร็งกระเพาะอาหาร แผลในลำไส้เล็ก แผลในกระเพาะอาหาร
  4. ถือได้ว่าการค้นพบเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร ทำให้พลิกโฉมแนวทางวิธีการรักษาอาการอักเสบและแผลในกระเพาะอาหารอย่างแท้จริง ทำให้สามารถรักษาโรคกระเพาะให้หายขาดไม่เป็นเรื้อรัง และลดปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหารนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อวงการแพทย์ทั่วโลกเลยทีเดียว

ลักษณะของเชื้อ

  1. เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร เป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบที่มีรูปร่างเกลียว ขนาดกว้าง 0.5-0.9 ไมครอน ยาว 3 ไมครอน และสามารถเปลี่ยนรูปร่างเป็นทรงกลมหลังจากถูกอากาศภายในเวลา 2 ชั่วโมง พบแฟลกเจลลายาวมีปลอกหุ้ม และเคลื่อนไหวได้ โดยมักพบประมาณ 4-5 อัน ตามหลักการจำแนกอนุกรมวิธาน เชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร ถูกจัดอยู่ในไฟลัม Proteobacteria คลาส Epsilonproteobacteria อันดับ Campylobacterales แฟมิลี่ Helicobacteraceae และจีนัส Helicobacter
  2. สามารถพบเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร ในกระเพาะอาหารของประชากรทั่วโลกมากถึงร้อยละ 50 และจะพบได้ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก
  3. สายพันธุ์ของเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร จะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับภูมิภาค และการย้ายถิ่นฐานก็จะทำให้เกิดการผสมระหว่างสายพันธุ์ขึ้นได้ เชื้อสามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้นานหลายสิบปี และมักจะติดเชื้อตั้งแต่เด็ก
  4. สำหรับในประเทศไทยก็พบว่ามีอุบัติการณ์การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร สูงเช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่พบผู้ป่วยที่พัฒนาเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากนัก ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม พันธุกรรม และการบริโภคอาหาร ซึ่งสายพันธุ์ของเชื้อจะแบ่งออกเป็นหลายสายพันธุ์ขึ้นอยู่กับภูมิภาค
  5. สาเหตุของการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร เชื่อว่าอาจติดมาจากการปนเปื้อนอยู่ในอาหาร และอุจจาระซึ่งเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางปาก โดยส่วนมากจะพบอัตราการติดเชื้อตั้งแต่ในวัยเด็ก แต่การแสดงออกทางอาการส่วนมากจะพบได้เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว และจะพบมากในช่วงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงไม่ทราบที่มาของการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร ที่แน่ชัด มีความเชื่อว่าการบริโภคผัก และผลไม้สด ลดการบริโภคอาหารเค็มจัด และการรับประทานวิตามินซีจะช่วยลดการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้ นั่นอาจเป็นเพราะว่าในปัจจุบันมีกรรมวิธีในการเก็บรักษาอาหารที่ดีขึ้น เช่น การเก็บรักษาอาหารในตู้เย็น เป็นต้น
  6. จากการศึกษาวิจัยในประเทศไทยพบว่า สายพันธุ์ของเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร ในประเทศไทยมีสายพันธุ์ที่แตกต่างจากประเทศอื่นในแถบเดียวกัน โดยอาจจะเป็นสายพันธุ์ South/Central Asian Genotypes ส่วนในประเทศญี่ปุ่นอาจจะเป็นสายพันธุ์ East Asian Genotype โดยเชื่อว่าการที่สายพันธุ์มีความหลากหลายอาจเกิดจากการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์เป็นสำคัญ

การแพร่กระจายของเชื้อ

  1. เชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร พบได้บ่อยในบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่ซึ่งประชาชนยังมีฐานะยากจน และมีความเป็นอยู่ที่แออัดในชุมชน ส่วนใหญ่การติดเชื้อเกิดขึ้นผ่านทาง ปาก-ปาก น้ำย่อย–ปาก และอุจจาระ-ปาก
  2. ในขณะนี้มีประชากรโลกติดเชื้อนี้อยู่ประมาณร้อยละ 50 แทบทุกรายจะมีภาวะกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง แต่มีเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่จะแสดงอาการร่วมกับเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
  3. ในผู้ป่วยที่พบแผลในกระเพาะอาหาร มีโอกาสพบเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร ร่วมด้วยประมาณร้อยละ 60-80 ส่วนในผู้ป่วยที่มีแผลที่ลำไส้เล็กส่วนดูโอดินัม มีโอกาสพบเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร ร่วมด้วยร้อยละ 95-100
  4. ในผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มีโอกาสพบเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร ร่วมด้วยประมาณร้อยละ 72 จากการทำการตรวจชิ้นเนื้อกระเพาะอาหาร และพบมากถึงร้อยละ 90 จากการตรวจหาในชิ้นเนื้อที่ได้จากการผ่าตัด
  5. จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร ว่าเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็ง โดยประมาณการว่าผู้ที่มีเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าคนปกติถึง 8-9 เท่า

โรคแผลในกระเพาะอาหาร

  1. ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารในประเทศไทยมีมากถึงร้อยละ 20-25 ของประชากร และแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยทำงาน คิดเป็นผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะประมาณร้อยละ 10-20 โดยแผลในกระเพาะอาหารเป็นโรคที่มีภาวะแทรกซ้อนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น มีเลือดออก แผลทะลุ หากรักษาไม่ทันโอกาสเสียชีวิตได้สูง
  2. เชื้อแบคทีเรีย "เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร" มีส่วนทำให้เกิดแผลในกระเพาะประมาณร้อยละ 50-70 ที่เหลือแผลในกระเพาะอาจเกิดร่วมกับการกินยาแก้ปวดหรือยาชุด
  3. การตรวจพบเชื้อมีความสัมพันธ์กับแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น มากถึงร้อยละ 80 และแผลในกระเพาะอาหารพบการติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 50
  4. ลักษณะการก่อโรคแผลในกระเพาะอาหาร พบว่ากลไกการเกิดโรคของเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร เริ่มจากการติดเชื้อที่บริเวณกระเพาะอาหารส่วนล่าง โดยในระยะแรกจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการปวดท้องบ่อยๆ เนื่องจากเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอไร ที่เกิดการติดเชื้อบริเวณชั้นเยื่อบุกระเพาะอาหาร จะทำให้เกิดกระบวนการทางภูมิคุ้มกัน เม็ดเลือดขาวจะมารวมตัวกันบริเวณเยื่อบุกระเพาะอาหาร เกิดการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับกรดในกระเพาะอาหารที่หลั่งออกมา เป็นผลทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้นได้
  5. อาการสำคัญ คือ ปวดท้อง มักปวดบริเวณลิ้นปี่ ปวดแบบแสบๆหรือร้อนๆ ปวดเรื้อรังมานาน เป็นๆ หายๆ เป็นเดือนหรือเป็นปี ปวดสัมพันธ์กับอาหาร เช่น ปวดเวลาหิวหรือท้องว่าง เมื่อกินอาหารหรือนม จะหายปวด บางรายจะปวดท้อง หลังจากกินอาหาร หรือปวดกลางดึกก็ได้ อาจมีอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด มีลมในท้อง ร้อนในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อาการอื่นที่พบได้แก่ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร แน่นท้อง ท้องเฟ้อ อาการของโรคกระเพาะอาหารจะไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค บางรายไม่มีอาการปวดท้อง แต่มีแผลใหญ่มากในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ บางรายปวดท้องมากแต่ไม่มีแผลเลยก็ได้
  6. อาการแทรกซ้อน ได้แก่ อาเจียนเป็นเลือดดำ หรือแดง หรือถ่ายดำ เนื่องจากมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น ปวดท้องรุนแรงและช็อค เนื่องจากแผลกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กทะลุ ปวดท้องและอาเจียนมาก เนื่องจากการอุดตันของกระเพาะอาหาร




แหล่งที่มา :

อัพเดทล่าสุด