ทำลายเซลล์มะเร็ง ฆ่าเซลล์มะเร็ง การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ผลไม้ฆ่าเซลล์มะเร็ง
วิจัยพบ “ต้นพะวา” มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง-ยับยั้งเชื้อเอดส์
นอกเหนือจากโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปีแล้ว ทศวรรษที่ผ่านมาประชากรไทยยังมีอัตราการติดเชื้อโรคเอดส์สูงขึ้นด้วย การจัดการด้านสาธารณสุขในการหายาที่มีประสิทธิภาพและไม่มีผลข้างเคียง เช่น การดื้อยา หรืออาการบวมอักเสบของเนื้อเยื่อเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี แนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาและช่วยให้การใช้งบประมาณของประเทศเป็นไปอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด คือ การศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อให้ได้ยาใหม่ๆ ที่ใช้ป้องกันและรักษาโรคทั้งสอง โดยใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของทรัพยากรของไทยโดยเฉพาะพืชสมุนไพรซึ่งมีอยู่มาก
น.ส. ปานฤทัย ภัยลี้ นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) รุ่นที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำวิจัยเรื่อง "การแยกสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพจากสมุนไพรไทย" โดยมีศาสตราจารย์ ดร. วิชัย ริ้วตระกูล เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ปี 2543 เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ร่วมกับรองศาสตราจารย์ ดร. วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล โดยวิธีการสกัดและแยกสารบริสุทธิ์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพต้านเชื้อเอดส์ ฆ่าเซลล์มะเร็ง และลดอาการบวมอักเสบจากเนื้อเยื่อของต้นไม้ที่มีอยู่ในประเทศไทย เพื่อนำไปพัฒนาเป็นยารักษาโรคดังกล่าว
งานวิจัยเริ่มจากการคัดเลือกต้นไม้ในประเทศไทย โดยการศึกษาประวัติ สารบริสุทธิ์ที่เคยแยกได้จากต้นไม้นั้น คุณสมบัติทางชีวภาพ และประวัติการนำมาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยของชาวบ้าน จากการสืบค้นภูมิปัญญาชาวบ้านพบว่า "ต้นพะวา" หรือ Garcinia speciosa ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 15 เมตร สามารถนำเปลือกมาต้มเป็นยารักษาโรคเลือดต่างๆ ได้ น.ส. ปานฤทัย จึงนำพะวามาศึกษาวิจัยต่อไป โดยนำมาสกัดและแยกสารสกัดที่ได้ให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีโครมาโตกราฟีและการตกผลึก ผลการศึกษาได้สาร 4 ประเภท คือ triterpenes, xanthones, biphenyls และ benzophenones ซึ่งเมื่อนำสาร triterpenes และ biphenyls บริสุทธิ์มาวิเคราะห์หาโครงสร้างทางเคมี และนำไปทดสอบการออกฤทธิ์ทางชีวภาพ พบว่าสารดังกล่าวสามารถต้านเชื้อเอดส์ทั้งในระดับเซลล์และระดับโมเลกุลได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติฆ่าเซลล์มะเร็งและลดอาการบวมของเนื้อเยื่อด้วย
อย่างไรก็ดี สารบริสุทธิ์ดังกล่าวนี้ จะต้องมีการนำไปทดลองทางคลินิกเพิ่มเติมอีกระยะหนึ่งเพื่อประโยชน์สูงสุดในการรักษาโรคต่อไป นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มปริมาณสารให้เพียงพอต่อการศึกษาประสิทธิภาพของยา สารและอนุพันธุ์ต่างๆ ของสารจะต้องมีการสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการทางเคมี เพื่อศึกษาผลของโครงสร้างทางเคมีต่อฤทธิ์ทางชีวภาพของสารบริสุทธิ์ต่อไปด้วย
แหล่งที่มา : vcharkarn.com