อาหารต้องห้ามสำหรับคนเป็นโรครูมาตอยด์ ผลไม้อะไรที่คนเป็นโรครูมาตอยด์ไม่ควรทาน เอกสารประกอบการบริหารร่างกายโรครูมาตอยด์
อาหารต้องห้ามสำหรับคนเป็นโรครูมาตอยด์
กินอะไร เลี่ยงอะไร ในโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid)
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)เป็น ความผิดปกติเรื้อรัง ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันรุกรานเนื้อเยื่อในร่างกายหลายแห่งโดยเฉพาะส่วนข้อ ทำให้เกิดการอักเสบและทำให้ข้อเสื่อม อาการแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ไม่มีอาการ ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายดี ส่วนระยะที่อาการกำเริบ ผู้ป่วยจะมีอาการเมื่อยล้า เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำๆ ปวดกล้ามเนื้อและข้อ กล้ามเนื้อและข้อเกร็ง(พบมากในช่วงเช้า) ข้อเปลี่ยนเป็นสีแดง บวม ปวด นิ่ม โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นทั้ง 2 ข้างของร่างกายสมดุลกัน มักเกิดกับข้อเล็ก หากทิ้งไว้เรื้อรัง จะลุกลามมีผลทำลายอวัยวะอื่นๆ เช่นปอด หัวใจ เม็ดเลือด ทำให้ต่อมน้ำตาฝ่อ ตาแห้งฝืด ฯลฯ
จะรับประทานอาหารอะไรได้บ้างที่ไม่มีผลทำให้อาการกำเริบ?
อาหารที่ไม่มีผลกระตุ้นให้เกิดอาการปวดข้อ ที่มีบทความต่างประเทศแนะนำไว้ ได้แก่
- ข้าวกล้อง
- ผลไม้ที่ผ่านความร้อน หรือทำแห้ง ได้แก่ เชอรี่ แครนเบอรี่ ลูกแพร์ ลูกพรุน (ยกเว้น ผลไม้ตระกูลส้ม กล้วยลูกพีช หรือมะเขือเทศ)
- ผักสีเขียว เหลือง และส้ม ที่ผ่านความร้อน ได้แก่ หัวอาร์ติโช้ค หน่อไม้ฝรั่ง บร็อคโคลี่ ผักกาดแก้ว ผักโขม ถั่วฝักยาว มันเทศ มันสำปะหลัง และเผือก เป็นต้น
- น้ำ ได้แก่ น้ำธรรมดา หรือ โซดา
- เครื่องปรุงรส ได้แก่ เกลือปริมาณปานกลาง น้ำเชื่อมเมเปิ้ล และสารสกัดวานิลา
ควรหลีกเลี่ยงอาหารอะไรบ้าง?
อาหารที่มีผลกระตุ้นให้อาการกำเริบ คือ ผลิตภัณฑ์นมทุกชนิด ทั้งจากนมวัวและนมแพะข้าวโพด เนื้อสัตว์ทุกชนิด ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวราย ไข่ ผลไม้ตระกูลส้ม มันฝรั่ง มะเขือเทศ ถั่ว กาแฟ
อาหารอื่นที่อาจจะรับประทานได้ หรือควรจะหลีกเลี่ยงเพิ่มเติม มีอะไรบ้าง?
อาหารบางชนิดที่อาจจะกระตุ้นให้อาการกำเริบได้ในบางคน แต่ไม่กระตุ้นอาการในคนกลุ่มใหญ่ เช่น เครื่องดื่มอัลกอฮอล์ กล้วย ช็อกโกแล็ต มอลต์ ไนเตรต หอมใหญ่ ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง น้ำตาลอ้อย และเครื่องเทศบางชนิด
หมายเหตุ บทความสั้น เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ จากภาควิชาอาหารเคมี ลำดับที่ 4
Link https://www.pharmacy.mahidol.ac.th
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ผลไม้อะไรที่คนเป็นโรครูมาตอยด์ไม่ควรทาน
รู้เท่าทันและป้องกัน โรครูมาตอยด์
รู้เท่าทันและป้องกัน โรครูมาตอยด์
โรครูมาตอยด์ Rheumatoid
รู้เท่าทันและป้องกันโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Healthplus)
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือ โรครูมาตอยด์ เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่รุนแรง และสร้างความทรมานต่อผู้ป่วยเป็นเวลาหลายๆ ปี และถ้าได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้องหรือช้าเกินไป สมรรถภาพของข้อจะเสียไป เกิดความพิการ ซึ่งบางครั้งไม่สามารถแก้ไขได้
สาเหตุ การเกิด โรครูมาตอยด์ ยังไม่ทราบแน่นอน เชื่อว่าเริ่มจากมีการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อและเยื่อบุชนิดต่างๆ ของร่างกาย อันเป็นผลจากการตอบสนองของระบบภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคบางชนิด เชื้อไวรัสหรือสารพิษบางอย่าง และอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์
โรครู มาตอยด์ จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 5 เท่า อาการอาจเริ่มปรากฏในช่วงอายุเท่าใดก็ได้ แต่จะพบมากในช่วงอายุ 30-50 ปี ถ้าหากเริ่มเป็น โรครูมาตอยด์ ตั้งแต่เด็ก ก็มักจะมีอาการรุนแรงในเด็กจะมีอาการต่างจากผู้ใหญ่
รู้ได้อย่างไรว่าเป็น โรครูมาตอยด์
1. มีการอักเสบเรื้อรังของข้อหลายๆ ข้อทั้งสองข้างพร้อมๆ กัน ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 อาทิตย์
2. ข้ออักเสบ พบบ่อยที่บริเวณ ข้อมือ ข้อโคนนิ้วมือ ข้อกลางนิ้วมือ ข้อเข่า ข้อเท้า ซึ่งจะมีอาการปวด บวม และกดเจ็บตามข้อต่างๆ ถ้าเป็นมานานจะมีข้อผิดรูปได้ ซึ่งเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุข้อ การคั่งของเลือดในบริเวณข้อ ขาดการออกกำลังกายและการทำกายภาพบำบัด กินอาหารไม่เพียงพอหรือการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ
3. มีอาการข้อฝืด ข้อแข็ง เคลื่อนไหวลำบาก ในช่วยตื่นนอนตอนเช้า มักต้องใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมงจึงจะเริ่มขยับข้อได้ดีขึ้น ในช่วยบ่ายๆ มักจะขยับข้อได้เป็นปกติ
4. พบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อยหมดทั้งตัว น้ำหนักลด มีไข้ต่ำๆ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หลอดเลือดอักเสบปุ่มรูมาตอยด์ใต้ผิวหนัง และภาวะเลือดจาง
5. ตรวจเลือดพบมีรูมาตอยด์แฟคเตอร์ แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้จะตรวจเลือดพบเพียงร้อยละ 50-70 เท่านั้น ดังนั้นถ้าตรวจไม่พบรูมาตอยด์ ก็ไม่ได้ หมายความว่าไม่เป็นโรครูมาตอยด์แต่ผู้ที่มีปริมาณรูมาตอยด์แฟคเตอร์สูงจะมี อาการรุนแรงกว่า
6. เจาะน้ำในข้อไปตรวจ
7. เอกซเรย์ ไม่จำเป็น ยกเว้นในกรณีที่ใช้ประเมินว่าข้อถูกทำลายไปมากน้อยเพียงใด เพราะอาจจะต้องผ่าตัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง มีอาการเป็นๆ หายๆ สามารถใช้ข้อต่างๆ ได้เกือบเท่ากับคนปกติ
จะ มีผู้ป่วย โรครูมาตอยด์ ส่วนน้อยประมาณร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีอาการรุนแรง ทำให้เกิดความพิการมีข้อบิดเบี้ยวผิดรูปร่างจนใช้งานไม่ได้ และมีผู้ป่วยจำนวนน้อยมาก ที่จะมีอาการอักเสบของอวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตา หัวใจ หลอดเลือด ปอดม้าม เป็นต้น
โรครู มาตอยด์ เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ก็เป็นโรคที่สามารถควบคุมอาการได้ แต่ต้องใช้เวลานาน ดังนั้น ผู้ป่วยจะต้องมีความอดทนในการรักษา โรครูมาตอยด์ ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์หรือเปลี่ยนยาเอง เพราะจะทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างมากต่อตัวผู้ป่วยเอง โดยเฉพาะเมื่อเกิดความพิการขึ้นแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเหมือนเดิมได้
สำหรับ ข้อที่มีการอักเสบอยู่แล้ว การรักษาจะเป็นการควบคุมโรคไม่ให้เป็นมากขึ้น ดังนั้นข้อก็อาจจะบวม ผิดรูปอยู่เหมือนเดิม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการรักษาไม่ได้ผล
โรครู มาตอยด์ มีความรุนแรงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ดังนั้นแพทย์ก็จะให้การรักษาแตกต่างกันไป โดยเฉพาะในระยะแรกแพทย์อาจต้องปรับเปลี่ยนยาไปมา เพื่อหาว่ายาตัวใดเหมาะสมกับผู้ป่วยคนนั้นมากที่สุด
ส่วน ผลการรักษา โรครูมาตอยด์ จะดีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับ ระยะเวลาที่เป็นโรค ความรุนแรงของโรค การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย โรครูมาตอยด์ โดยเฉพาะการทำกายภาพบำบัดของข้อและการใช้ข้ออย่างถูกวิธี
แนวทางการรักษา โรครูมาตอยด์
1. การทำกายภาพบำบัดของข้อ เช่น
ประคบด้วยความร้อน หรือแช่ในน้ำอุ่น
ใส่เฝือกชั่วคราวในช่วงที่อักเสบมากหรือตอนกลางคืน เพื่อลดอาการปวดและป้องกันข้อติดผิดรูป
ขยับข้อให้เคลื่อนไหวมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันข้อติดแข็ง โดยเฉพาะนิ้วมือและข้อมือ
ออก กำลังให้กล้ามเนื้อแข็งแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อนิ้วมือ มือ และแขน ซึ่งอาจจะใช้วิธีบีบฟองน้ำ ลูกบอลยาง ลูกเทนนิสหรือเครื่องออกกำลังที่ใช้มือบีบอื่นๆ รวมถึงการยกน้ำหนัก 1-3 กิโลกรัมร่วมด้วยก็ได้
ใช้ ข้ออย่างถูกวิธี พยายามกระจายแรงไปหลายๆ ข้อ เช่น ใช้มือสองข้างช่วยกันจับสิ่งของแทนการใช้มือข้างเดียว ใช้ข้อใหญ่ออกแรงแทนข้อเล็ก เช่น ใช้แขนเปิดประตูแทนใช้ข้อมือ หรือ ใช้อุ้งมือเปิดฝาขวดแทนใช้นิ้วมือ
ปรับ สภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม เช่น ก๊อกน้ำควรเป็นแบบคันโยก ไม่ควรใช้แบบบิด-หมุน ประตูควรเป็นแบบเลื่อนเปิด-ปิด ไม่ควรใช้ลูกบิด
2. ยากลุ่มระงับการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
ใน ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง จะช่วยลดอาการปวดและบวมตามข้อได้ค่อนข้างดี และเมื่อเลือกใช้ยาตัวใดก็ควรรับประทานยาติดต่อกันอย่างน้อย 2 อาทิตย์ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นจึงเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่น
ผล ข้างเคียงที่สำคัญของยาทุกตัวในกลุ่มนี้ คือ ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ แสบท้อง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร อาจจะมีบวมบริเวณหน้าแขน ขา ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังและ ต้องระวังการใช้ยาในผู้สูงอายุ
ยากลุ่ม นี้จะมียาใหม่ที่มีผลข้างเคียงเกี่ยวกับการเกิดแผลในทางเดินอาหารน้อย แต่จะมีราคาค่อนข้างแพง จึงควรเลือกใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในทางเดินอาหาร เช่น ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่เคยมีแผลในทางเดินอาหาร
3. ยากลุ่มสเตียรอยด์
ยากลุ่ม นี้มีทั้งชนิดกินและฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าข้อ จะใช้เมื่อการอักเสบรุนแรง แต่ไม่ควรใช้ในขนาดสูงหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะผลข้างเคียงมาก เช่นกระดูกพรุน ไตวายเฉียบพลัน ติดเชื้อง่าย เมื่อหยุดยาก็จะกลับมีอาการขึ้นอีก ในช่วงที่มีการอักเสบมาก อาจใช้ในขนาดสูง เมื่ออาการดีขึ้นก็ควรลดยาลง
4. ยากลุ่มยับยั้งข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่ออกฤทธิ์ช้า
เป็น ยาที่ค่อนข้างอันตราย มีผลข้างเคียงมาก แพทย์จึงจะใช้ในกรณีที่ใช้ยากลุ่มอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือในผู้ที่มีอาการอักเสบรุนแรง มีรูมาตอยด์แฟคเตอร์ในเลือดสูง ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ช้า กว่าจะเห็นผลต้องให้ยาติดต่อกันอย่างน้อย 2 เดือนขึ้นไป
ยา ที่ใช้บ่อย และค่อนข้างปลอดภัยคือ ยาคลอโรควิน ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย และสามารถลดการอักเสบในโรครูมาตอยด์ได้ด้วย โดยมักจะใช้ควบคู่ไปกับยาในข้อ 2 มีผลข้างเคียงคือ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ตาพร่า ผื่นคัน ผิวแห้ง ผิวคล้ำ ซึ่งจะลดอาการทางผิวหนังได้โดยหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรง แต่ถ้าเกิดผลข้างเคียงมาก เช่น ตาพร่า ก็ต้องหยุดใช้ยา
ยา ตัวอื่นในกลุ่มนี้ เช่น ยา MTX ยาเกลือทอง ยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย และยังมียาใหม่ๆ ที่เริ่มนำมาใช้อีกหลายชนิด ซึ่งเป็นยาที่อันตราย มีผลข้างเคียงสูง ถ้าจะใช้ต้องอยู่ภายได้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด
5. การผ่าตัด เช่น
ผ่า ตัดเลาะเยื่อบุข้อที่มีการอักเสบออก ผ่าตัดเย็บซ่อมหรือย้ายเส้นเอ็น ผ่าตัดเชื่อมข้อติดกัน ผ่าตัดกระดูกปรับแนวข้อให้ตรงขึ้น ผ่าตัดใส่ข้อเทียม การผ่าตัดถือว่าเป็นการรักษาปลายเหตุเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น
เคล็ดลับสุขภาพ สุขภาพใกล้ตัว โรคและการป้องกัน คลิกเลย
คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เอกสารประกอบการบริหารร่างกายโรครูมาตอยด์
รูมาตอยด์ โรคปวดข้ออะไรเอยที่ไม่ได้เป็นแต่มักจะเข้าใจผิดว่าเป็น
โรคปวดข้ออะไรเอ่ย ที่ท่านไม่ได้เป็น แต่มักจะถูก (ท่านหรือคนอื่น) เข้าใจผิดว่าเป็น
คำตอบก็คือ โรครูมาตอยด์ นี่เอง
ท่าน ผู้อ่านจำนวนมากอาจจะเคยได้ยินชื่อโรครูมาตอยด์ มาบ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เคยปวดข้อหรือมีญาติพี่น้องคนรู้จักเป็นโรคปวดข้อ แล้วมักจะมีใครสักคนบอกท่านว่า เป็นโรครูมาตอยด์ และต่อด้วยความว่า เป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย (ฟังแล้วก็ใจหาย) อย่าเพิ่งใจหายกับ โรคนี้และคำพยากรณ์น่าหดหู่เลย ขอให้ท่านสงบใจชั่วครู่และตั้งใจอ่านบทความนี้ต่อไป เพราะเมื่ออ่านจบแล้ว ท่านอาจดีใจ โล่งใจมากจนอยากจะร้องตะโกนดัง ๆ ว่า “ไชโย! หายจากโรครูมาตอยด์แล้ว” (ก็เพราะที่จริงแล้วไม่ได้เป็นโรคนี้สักหน่อย หนอยแน่หลงเข้าใจผิดคิดกังวลอยู่ได้ตั้งนาน) หรือ “ไม่ยักรู้ว่าโรคนี้รักษาได้และหายได้ด้วยแฮะ พบความหวังใหม่แล้ว น่าดีใจจริงๆ”
ความ รู้เกี่ยวกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในคนไทยนั้น เพิ่งจะมีการศึกษาวิเคราะห์วิจัยกันมาภายใน 10 ปีมานี้เอง ซึ่งปราฏว่าโรคนี้สำหรับบ้านเราไม่ได้ร้ายแรงน่ากลัวเหมือนกับเมืองนอกเมือง ฝรั่งเขาหรอก ดังนั้นความเข้าใจผิดต่าง ๆ ที่เกิดจากการอ่านตำราหรือเอกสารจากเมืองนอกที่เกี่ยวกับโรคนี้จึงมีมากทั้ง ในหมู่แพทย์ บุคคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนผู้ป่วยและญาติมิตรและประชาชนทั่วไป เพราะฉะนั้นขอให้ทำความเข้าใจกับโรครูมาตอยด์กันให้ดีเถิด เพื่อจะได้ลดหย่อนผ่อนคลายความเครียดหรือโรคประสาท อันเกิดจากโรคชื่อนี้โดยทั่วกัน
ข้อเท้าความถึงโครงสร้างของกระดูกและข้อ (ที่ได้กล่าวไว้แล้วในนิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 57 ประจำเดือนมกราคม 2527) ว่าข้อต่อที่มีความสำคัญเกี่ยวกับโรคปวดข้อนั้นมี 2 ชนิด คือข้อต่อที่มีเยื่อบุข้อซึ่งสามารถสร้างน้ำหล่อข้อหรือไขข้อได้ และข้อต่อที่ยึดด้วยกระดูกอ่อนไฟบรัสหรือพังผืดซึ่งได้แก่หมอนกระดูกสันหลัง ของเรา
รูมาตอยด์ : เกิดขึ้นได้อย่างไร |
โรครูมาตอยด์นั้นมีสภาพการเกิดโรคที่สำคัญก็คือ เกิดการอักเสบเรื้อรังของข้อต่อชนิดที่มีเยื่อบุข้อพร้อม
กัน หลาย ๆ ข้อทั่วร่างกาย โดยเชื่อว่าระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของคนนั้น มีการตอบสนองความผิดปกติต่อสารพิษบางชนิด ซึ่งอาจจะเป็นเชื้อไวรัสบางอย่างเชื้อโรค หรือสารเคมีบางชนิดในสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันยังหาสาเหตุที่แน่นอนไม่พบ โดยมีปัจจัยร่วมทางกรรมพันธุ์เกี่ยวข้องด้วย ผลก็คือทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุข้อเกือบทุกแห่งในร่างกายพร้อม ๆ กัน และอักเสบยืดเยื้อนานติดต่อกันเป็นเดือน ๆ หรือหลาย ๆ ปีทีเดียว นอกจากนี้ยังมีการอักเสบของพังผืดหุ้มข้อ เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้ออีกด้วย
จากการศึกษาของหน่วยไขข้ออักเสบและรูมาติสซั่มของโรงพยาบาล ศิริราช ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ประมาณ 600 ราย เพศหญิงจะเป็นมากกว่าเพศชาย โดยมีอัตราส่วนประมาณ 4-5 เท่าต่อหนึ่ง อายุที่เป็นกันมากได้แก่ช่วง 20-50 ปี แต่โรคนี้เป็นได้ในผู้ป่วยทุกเพศและอายุ ตั้งแต่เด็กอายุ 4 เดือน จนถึงคนแก่อายุ 80 ปีเศษ
รูมาตอยด์ : เมื่อไรควรสงสัยว่าเป็น |
อาการ จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ข้อที่เริ่มมีการอักเสบก่อน มักจะเป็นข้อมือ ข้อนิ้วมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อนิ้วเท้า ถัดมาคือข้อไหล่ ข้อศอก โดยมีลักษณะจำเพาะคือเป็นทั้ง 2 ข้างพร้อม ๆกัน หรือในเวลาไล่เลี่ยกัน ในที่สุดอาจเป็นหมดทุกข้อทั่วร่างกายตั้งแต่ข้อขากรรไกรสองข้าง ลงมากระดูกข้อต้นคอ ข้อกระดูกไหปลาร้า ข้อไหล่ข้อศอก ข้อนิ้ว นิ้วมือ ฯลฯ บางรายจะมีเสียงแหบและเจ็บที่คอหอย เนื่องจากข้อต่อของกระดูกกล่องเสียงก็อักเสบด้วย
สภาพของผู้ป่วยจึงน่าสงสารมาก เพราะตอนเช้าตื่นนอนขึ้นก็จะรู้สึกปวดร่างกาย ฝืดไปหมดทุกข้อ บางรายเล่าว่า “ข้อ ฝืด แข็ง บังคับให้เคลื่อนไหวไม่ได้เลยจนคิดว่าตนเองเป็นอัมพาตเสียแล้ว เมื่อฝืนขยับทีละข้อ จะปวดข้อมากจนเกือบร้องไห้ นิ้วมือกำไม่ได้เหยียดไม่ออก แขนขาขยับไม่ไหว กล้ามเนื้อปวดล้าไปหมด เหมือนร่างกายถูกประทุษร้ายทุบตีมาร้อยครั้ง ครั้นจะร้องขอความช่วยเหลือ พอขยับปากข้อขากรรไกรก็ปวดมากจนร้องไม่ออกอีก...”
ข้อที่ ปวดจะมีลักษณะอักเสบชัดเจน คือมีการบวมช้ำ จับดูอุ่น ๆ ขยับข้อจะปวดมากทุกทิศทาง และบางรายผิวหนังบริเวณข้อจะมีสีแดงเรื่อ ๆ อีกด้วย อาการปวดข้อจะรุนแรงมากในตอนเช้าหรือช่วงที่มีอากาศเย็นพอตอนสายหรือตอนบ่าย ๆ จะทุเลาลง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพอช่วยเหลือตนเองได้ภายหลังจากฝืนขยับข้อต่าง ๆ อยู่พักใหญ่ ๆ เช่น 10-30 นาที ผู้ที่มีอาการมากอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะลุกก้าวลงจากเตียงได้ การหยุดพักนาน ๆ แล้วลุกขึ้น ข้อจะปวดฝืดมากอีก อาการจะเป็นเช่นนี้ อยู่ตลอดเวลา ทุกวัน ทุกสัปดาห์ นานติดต่อกันเป็นเดือน ๆ หรือเป็นปี โดยบางระยะอาการปวดอาจทุเลาลงเองได้ แต่จะไม่หายสนิทจนถึงขนาดเดิน วิ่ง ได้ตามปกติถ้าไม่รักษา
อาการร่วมที่พบบ่อยก็คือ มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ยิ่งในคนที่มีอาการข้ออักเสบรุนแรง จะนอนหลับไม่สนิท เพราะการขยับส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย จะปวดข้อมากจนต้องตื่น ยิ่งทำให้ร่างกายและจิตใจทรุดโทรมมากขึ้น ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีน้ำหนักลดลงได้รวดเร็วมาก ตั้งแต่ 5-15 กิโลกรัมภายในเวลา 3-6 เดือน จนเข้าใจผิดว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งร้ายแรงต่าง ๆ หากข้ออักเสบเป็นรุนแรงและเรื้อรังอยู่หลาย ๆ ปี จะเกิดการทำลายของข้อและกระดูก จนเกิดข้อพิการผิดรูปใช้งานไม่ถนัด หรือถึงขนาดพิการช่วยเหลือตนเองไม่ได้เลยก็มี
เมื่ออ่านถึงตอนนี้ ขออย่าเพิ่งท้อใจเสียก่อน ที่ เล่ามาเพื่อต้องการให้ท่านผู้ที่ไม่ได้เป็นโรครูมาตอยด์ สามารถจะแยกอาการของท่านออกจากโรครูมาตอยด์ที่แท้จริงได้ ดังนั้นผู้ที่ปวดข้อจากสาเหตุอื่นๆ ซึ่งมักมีอาการไม่รุนแรงขนาดนี้ จงโล่งอกได้แล้วว่าท่านไม่ได้เป็นโรครูมาตอยด์ อย่าไปหลงเชื่อหรือคิดว่าเป็นโรคนี้อีก ซึ่งจะทำให้ท่านหลงรับการรักษาที่ผิด ๆ สิ้นเปลืองเวลา เงินทอง และสุขภาพจิตไปเปล่า ๆ แล้วท่านเป็นโรคอะไรกันแน่ ส่วนใหญ่แล้วท่านมักเป็นโรคอยู่ในจำพวกไม่ร้ายแรง หรือท่านอาจนะเป็นโรคเก๊าท์ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่อง “โรคปวดจำพวกไม่ร้ายแรง” ได้ใน “หมอชาวบ้าน”
ฉบับที่ 57 และเรื่อง “โรคเก๊าท์” ได้ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 49)
สำหรับ ผู้ที่เป็นหรือมีญาติหรือคนรู้จักเป็นโรครูมาตอยด์ โปรดให้ความสนใจอ่านต่อไปนะคะข่าวดี ๆ ค่ะ โรคทุกข์ทรมานเช่นนี้รักษาให้ผู้ป่วยช่วยตัวเองได้ และมีทางหายได้ด้วย
รูมาตอยด์ : รักษากันอย่างไร |
การ รักษาโรครูมาตอยด์ ก็โดยอาศัยความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์ก้าวหน้าในปัจจุบัน ซึ่งพบว่ามียาระงับข้ออักเสบชนิดนี้มากมายหลายสิบอย่างบวกกับความรู้สะสม เกือบร้อยปีในการรณรงค์กับโรคนี้ของชาวต่างประเทศ และก็ความรู้ที่ผู้เขียนได้มาใหม่เอี่ยมจากการวิเคราะห์ดูแลรักษาผู้ป่วย รูมาตอยด์ในเมืองไทยอีกประมาณ 700 คน พอจะสรุปเป็นหลักใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
1.การใช้ยา |
การใช้ยาระงับปวดข้อและข้ออักเสบ แม้ว่าอาการของข้ออักเสบรูมาตอยด์ในคนไทย จะไม่แตกต่างกันกับของชาวตะวันตกหรือพวกฝรั่ง แต่ความรุนแรงมักจะมีน้อยกว่า กล่าวคือความพิการเกิดขึ้นน้อยกว่า และเกิดช้ากว่า การรักษาก็ง่ายกว่า
ยาที่ใช้ระงับข้ออักเสบที่ดีมากก็คือ ยาแอสไพรินนี่เอง ซึ่งเป็นยาเก่าแก่ที่ใช้กันมาหนึ่งร้อยปีแล้ว แต่ต้องกินในขนาดที่ถูกต้องและนานพอ ยา ที่ใช้ได้ผลดีมากทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ต้องกินยาขนาดประมาณ 60-80 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหารและกินร่วมกันกับยาน้ำลดกรดหรือยาเคลือบกระเพาะอะลั่มมิลด์ (Alummilk) 1-2 ช้อนโต๊ะต่อครั้ง เมื่อกินติดต่อกันทุกวันภายใจสัปดาห์แรก จะพบว่าอาการปวดข้อทุเลาลง ผู้ที่มีอาการไข้ก็จะหายไป พอเริ่มสัปดาห์ที่สอง อาการบวม ตึง หรือระบมของข้อต่าง ๆ จะค่อย ๆ ลดลงอย่างช้า ๆ ตอนเช้าจะขยับข้อได้ดีขึ้นหรือข้อฝืดน้อยลง กว่าอาการจะทุเลาได้ 70-80% ต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 3-4 เดือน ดังนั้นจึงต้องกินยาติดต่อกันไปเรื่อย ๆ นานเป็นเดือน ๆ หรือเป็นปี ๆ
ขณะ เดียวกันต้องพยายามฝึกกายบริหารให้กล้ามเนื้อที่อ่อนแรงหรือลีบไป หรือเส้นเอ็นที่ฝืดหรือยึดให้คืนสู่สภาพที่สามารถใช้งานได้ตามปกติ เมื่อรู้สึกแข็งแรงจนเป็นปกติแล้ว จึงค่อย ๆ หยุดยาแอสไพรินได้ หากหยุดแอสไพรินไปแล้ว โรคกำเริบอีกก็ต้องรีบกลับมากินยาในขนาดเดิมอีก หลักการรักษาโรคนี้ก็คือ ขอให้ข้อไม่เจ็บปวด ร่างกายไม่พิการ ยาอาจจำเป็นต้องกินอยู่ประจำ
พบ ว่าผู้ป่วยไทยประมาณร้อยละ 70 ข้ออักเสบจะดีขึ้นมากหลังจากการกินยาแอสไพรินวิธีนี้เพียงอย่างเดียว สำหรับผู้ที่กินแอสไพรินแล้วมีอาการระคายกระเพาะ แสบท้อง ปวดท้อง ควรพยายามกินยาลดกรดเพิ่มขึ้น อาการระคายกระเพาะจะน้อยลงภายหลังจากกินยานาน ๆ แม้ว่าในปัจจุบันมียาระงับการอักเสบหลายสิบชนิดก็จริง แต่ก็ยังไม่มียาตัวไหนที่มีฤทธิ์ระงับอักเสบได้ดีกว่าแอสไพรินเลย และยานี้ก็ใช้ได้ปลอดภัยมากในระยะยาว เช่นผู้ป่วยรูมาตอยด์ที่ต่างประเทศ บางคนกินแอสไพรินขนาด 16-18 เม็ดทุกวันเป็นเวลานาน 20-30 ปีก็ยังไม่เป็นอะไร นอกจากนี้ยังเป็นยาที่ถูกที่สุดในบรรดายาระงับข้ออักเสบทั้งหลายด้วย ขณะที่ยาอื่นๆ มีราคาแพงกว่าหลายเท่าจนถึงหลายสิบเท่า แถมยังมีผลข้างเคียงบางอย่างที่อาจมีลักษณะรุนแรงและคาดคิดไม่ถึงอีกด้วย
2.การใช้กายภาพบำบัด |
การรักษาทางกายภาพบำบัดเป็น หัวใจของการรักษาโรครูมาตอยด์สำคัญรองจากยาระงับอาการอักเสบ เพราะการที่ผู้ป่วยจะฟื้นฟูสมรรถภาพของข้อต่าง ๆ ให้ใช้งานได้ดีที่สุดเพียงใดอยู่ที่ส่วนนี้ ซึ่งผู้ป่วยหรือผู้ดูแลสามารถจะทำได้ที่บ้าน เช่นการประคบน้ำอุ่น การแช่หรืออาบน้ำอุ่น จะช่วยลดความเจ็บปวดและความฝืดของข้อได้ โดยใช้เวลาประคบประมาณ 15 นาที ต่อจากนั้นก็ต้องให้ผู้ป่วยพยายามกัดฟันขยับข้อต่าง ๆ ที่ปวด หรือบวมอย่างช้า ๆ แม้ว่าครั้งแรก ๆ ข้อจะปวดมากเวลาขยับ แต่เมื่อเคลื่อนไหวให้สุดความสามารถแล้ว (เช่นมือกำเต็มที่และเหยียดเต็มที่) สัก 3-5 ครั้ง ความฝืดและความเจ็บปวดจะค่อย ๆ ลดลง ผู้ป่วยควรพยายามขยับข้อต่าง ๆ อย่างช้า ๆท่าละ 10 ครั้ง แล้วทำซ้ำใหม่ทุก 1-2 ชั่วโมง จะช่วยลดอาการเจ็บปวดทรมานในระยะยาวได้ดีมาก
การฝึกท่ากายบริหาร ควรเริ่มทำภายหลังจากเริ่มกินยาแอสไพรินไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ (ดูรายละเอียด “การฝึกท่ากายบริหารได้ใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 58) ท่า การฝึกกายบริหารที่ได้กล่าวถึงนี้ ท่าใดที่ทำไม่ได้ก็งดไว้ก่อน พยายามทำเฉพาะท่าที่พอทำได้ แล้วไปทำเพิ่มทีหลังเมื่อข้อต่าง ๆดีขึ้นแล้ว เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการปวดข้อมากในตอนเช้าจึงขอแนะนำให้พยายามอาบน้ำ อุ่นจัด ๆ หรือแช่น้ำอุ่นในตอนเช้า ซึ่งจะทำให้ทุเลาความฝืดและเจ็บปวดได้มาก จะสามารถเคลื่อนไหวข้อได้รวดเร็วขึ้น ไม่ควรให้ผู้อื่นนวดและดัดข้อ เพราะการดัดอาจจะใช้แรงมากเกินไปทำให้ข้ออักเสบมากขึ้น หรือเส้นเอ็นฉีกขาดจนข้อพิการอย่างถาวรได้
3.การกำหนดการดำเนินชีวิตให้เหมาะสม |
การกำหนดเวลาพักผ่อนและทำงานหรือออกกำลังกายให้พอเหมาะจาก อาการที่ปวดข้อและปวดกล้ามเนื้อทั่ว ๆ ไป จะทำให้ผู้ป่วยพยายามไม่เคลื่อนไหวร่างกายตามธรรมชาติ ผลก็คือข้อต่าง ๆ จะยึดติดหรืออยู่ในท่าผิดรูปหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงมากจนขยับข้อไม่ไหว เมื่อข้อยิ่งอยู่น่านิ่ง ๆ นานมากเท่าใด เวลาเคลื่อนไหวจะปวดทรมานมากเท่านั้น ผู้ป่วยก็จะยิ่งไม่ยอมเคลื่อนไหว เพื่อตัดวงจรนี้ ผู้ป่วยต้องมีความกล้าหาญ อดทนฝืนข้อต่าง ๆ เท่าที่จะทำได้ดังกล่าวไว้ในข้อ 2 รวมทั้งฝืน นั่ง ยืน เดิน หรือทำงานเล็ก ๆ น้อยๆ ตามแต่อัตภาพ แต่กล้ามเนื้อและข้อที่อักเสบต้องการการพักผ่อนด้วย ดังนั้นเมื่อทำอะไรไปสักพักหนึ่งแล้ว รู้สึกอ่อนเพลียหรือเมื่อยมาก ควรรีบหยุดพักทันทีประมาณ 5-10 นาที แล้วจึงค่อยทำงานนั้นต่อ การรู้จักหยุดพักบ้างและทำงานออกกำลังกายบ้างสลับกันไป จะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น และป้องกันความพิการได้ ตลอดจนลดความเจ็บปวดทรมานที่เกิดจากการพักข้อนานเกินไปโดยไม่จำเป็น โรคนี้จะดีขึ้นได้ก็โดยความพยายามเคลื่อนไหวของตัวผู้ป่วยเอง ญาติผู้ดูแลควรส่งเสริมผู้ป่วยให้ช่วยตนเองมากที่สุด การตามใจหรือช่วยทำงานทุกอย่างแทนผู้ป่วยโดยปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่นิ่ง ๆ จะทำให้ผู้ป่วยพิการไปตลอดชีพ
ผู้ ป่วยโรครูมาตอยด์ที่กินเพร็ดนิโซโลนมา 10 กว่าปีจนหน้าบวมฉุ ตาเป็นต้อกระจกคอสั้นมากเนื่องจากกระดูกต้นคอผุและทรุดผู้ป่วยรายนี้ถึงแก่ กรรมในเวลาต่อมาเนื่องจากกระดูกคอทรุดหักจนไปกดทับถูกไขสันหลัง
หลัก 3 ข้อนี้ ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์กว่าร้อยละ 70 จะสามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ และกว่าร้อยละ 50 สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ แม้แต่อาชีพหนัก ๆ เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่ เป็นต้น แต่มีข้อแม้ว่าผู้ป่วยจะต้องกินยาแอสไพรินขนาดเดิมติดต่อกันนานเป็นปี ๆ เพื่อแลกกับการมีชีวิตเหมือนคนปกติ นั่นคือเราสามารถรักษาให้โรคข้ออักเสบหายได้ คือ ข้อไม่ปวด ไม่อักเสบอีก และไม่พิการจนเป็นภาระแก่ตนเองและผู้อื่น มีผู้ป่วยหลายรายที่โรครูมาตอยด์หายสนิทเป็นปี ๆ จนสามารถหยุดกินยาแอสไพรินไปได้หลาย ๆ ปี แต่การฝึกกายบริหารให้ร่างกายแข็งแรงยังคงต้องทำอยู่เสมอ
ดังนั้น กล่าวโดยทั่วไป โรครูมาตอยด์ในเมืองไทยไม่ใช่โรคสิ้นหวัง หรือรักษายากเหมือนโรคในประเทศอื่นแต่ต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือของ ผู้ป่วยและผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20-30 เท่านั้น ที่โรคเป็นค่อนข้างรุนแรง ต้องอาศัยยาชนิดอื่นนอกเหนือจากแอสไพรินดังกล่าว ซึ่งควรจะอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้รักษาต่อไป
ข้อควรระวัง...ระวังให้ดี |
1.การกินยาแก้ปวดข้อ
ควร ใช้ยาเม็ดแอสไพรินชนิดที่มีแต่แอสไพรินเพียงอย่างเดียวเท่านั้นไม่ควรใช้ สูตรเอพีซี หรือยาผสมแอสไพรินชนิดอื่นใด มิฉะนั้นส่วนที่เป็นยาผสมในแอสไพริน เมื่อกินจำนวนมากและระยะยาวจะทำให้เกิดอันตรายต่อไต หรือตับ หรือระบบประสาทได้
2.ไม่ควรซื้อยาชุดแก้ปวดเมื่อยหรือปวดข้อ ยาคลายเส้น ฯลฯ กินเด็ดขาด
เนื่องจากในยาชุดมักจะมียาอันตรายจำพวก สเตียรอยด์ หรือ เพร็ดนิโซโลน เป็น ส่วนประกอบ กินตอนแรกอาการปวดจะหายรวดเร็วมาก ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดว่าเป็นยาเทวดา เมื่อซื้อมากินบ่อย ๆ เข้าจะเกิดติดยา คือต้องกินทุกวันหยุดไม่ได้ หยุดแล้วจะปวดข้อมากกว่าเก่าร้อยเท่า และมักต้องกินเพิ่มขึ้น ๆ คล้ายกับคนติดเฮโรอีน จนเกิดผลข้างเคียงของยาสารพัดอย่างเช่น กระดูกผุกร่อนรวดเร็วขึ้น ข้อผิดรูป พิการรุนแรงกว่าที่ควรเป็น หน้าบวมฉุ ๆ และอ้วนตามลำตัวผิดส่วนมีหนวดขึ้น เป็นโรคเบาหวาน และติดเชื้อได้ง่าย กระเพาะอาหารเป็นแผล เลือดออกหรือทะลุ ปวดกระดูกไปหมดทุกชิ้น
นอกจากนี้ในยาชุดอาจจะมียากลุ่มเฟนิลบิวตาโซน ซึ่ง สามารถทำให้เกิดโรคไขกระดูกฝ่อไม่สร้างเลือด หรือแผลในกระเพาะอาหาร ฯลฯ เกิดโรคแทรกซ้ำเติมบนโรคเดิมที่ทรมานมากอยู่แล้ว ให้ยิ่งต้องรับทุกข์ทรมานมากเป็นทวีคูณเหมือนตกนรกทั้งเป็น อยากจะให้สังวรไว้ว่า ยาชุดแก้ปวดข้อ ซึ่งคล้ายกับยาเทวดาในวันนี้ คือยาปีศาจหรือยมบาลสำหรับท่านในวันหน้า และกว่าท่านจะรู้ถึงความร้ายกาจของยาชุด มักจะสายเกินแก้แล้ว
3.อย่าเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อใด ๆ ว่าวิธีหรือยาวิเศษสามารถรักษาโรครูมาตอยด์ให้หายได้ใน 3 วัน 7 วันหรือในเวลาอันรวดเร็ว
เพราะ นั้นหมายถึง การใช้ยาอันตรายพวกสเตียรอยด์จำนวนมาก ซึ่งจะทำให้อาการหายทันทีแบบชั่วคราว แต่ผลระยะยาวจะไม่แตกต่างจากยาชุดดังกล่าวไว้ในข้อ 2 และจะเกิดรวดเร็วและรุนแรงกว่าด้วย
4.การฉีดยาเข้าข้อในโรคนี้ จะบรรเทาอาหารปวดและอักเสบได้ชั่วคราวเท่านั้น
หากฉีดบ่อย ๆ จะเกิดการทำลายของข้อที่ถูกฉีดยาอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดข้อพิการถาวร แถมยังเกิดภาวะแทรกซ้อนคล้ายข้อ 2 และ 3 อีกด้วย
ก่อนจากฝากสักนิด |
ข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคที่รักษาได้ ความพิการของข้อส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ป้องกันได้
การ รักษาโรคนี้ต้องอาศัยการกินยาสม่ำเสมอนานเป็นเดือน ๆ หรือเป็นปี ร่วมกับความอดทนและมีกำลังใจในการหมั่นฝึกกายบริหารให้กล้ามเนื้อและข้อต่าง ๆ แข็งแรงอยู่เสมอไม่มีวิธีหรือยาวิเศษใด ๆ ในโลกนี้ขณะนี้ที่จะทำให้โรคหายได้ในระยะเวลาสั้น ๆ
ภาพของผู้ป่วยโรครูมาตอยด์รายหนึ่ง
ภาพซ้ายและภาพขวา ก่อนการรักษาข้อนิ้วมือที่บวมอักเสบจนกำมือไม่ถนัด
ภาพซ้ายและภาพขวา หลังการรักษาถ่ายเมื่อ 5 ปีต่อมาข้อต่างๆหายอักเสบนิ้วไม่มีลักษณะผิดรูปเลย และผู้ป่วยกำมือได้เหมือนคนปกติ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++