โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการ การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ


5,685 ผู้ชม


โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการ  การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

          โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ภัยควรรู้..เมื่อ..หัวใจเต้นผิดจังหวะ
โดย.... นางสาวสินีนาฎ  ใฝสุข

อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
(เนื้อหาและภาพประกอบเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน)


           ในสภาพสภาวะความเป็นอยู่ในยุคปัจจุบันเป็นภาวะที่อยู่แบบเร่งรีบ ร้อนรน ความสมดุลทางธรรมชาติหดหาย ทำให้ผู้คนต้องเผชิญ
กับปัญหาในด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ผู้คนมักจะปล่อยปละละเลยไม่สนใจสุขภาพของตนเอง แม้แต่เรื่องที่ใกล้ตัวอย่าง “การเต้นของ
หัวใจ” ที่อาจมีการเต้นผิดปกติได้ ดังนั้นจึงควรจะหันมาสนใจกันได้แล้วก่อนที่จะถึงวิกฤติและสายเกินไป...

          “หัวใจ” (Heart) อวัยวะชิ้นเดียวในร่างกายที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดพัก และยังเป็นอวัยวะสำคัญหลักของร่างกาย
มนุษย์ มีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย โดยอาศัยโครงสร้างของ กล้ามเนื้อหัวใจ (cardiac muscle) และ ระบบนำไฟฟ้า
(conduction system) ภายในหัวใจ สร้างและควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจปกติจะอยู่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที
หากมีอาการผิดจากนี้อาจเกิดอาการของโรค “หัวใจเต้นผิดจังหวะ” ได้

          โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) ไม่มีสาเหตุที่เกิดอย่างแท้จริง อาจเกิดจากจุดกำเนิดไฟฟ้าภายในหัวใจทำงาน
ผิดปกติ หรือ เกิดไฟฟ้าลัดวงจรภายในหัวใจ ซึ่งมักจะเป็นมาแต่กำเนิด และสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยทั่วไปมักแสดงอาการเมื่อ
อายุ 20-40 ปีขึ้นไป โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถแยกออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ “หัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีอัตราการเต้นของหัวใจช้าผิด
ปกติ คือ มีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที และ “หัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วผิดปกติ คือ มีอัตราการเต้น
ของหัวใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที
          สาเหตุของการเกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่สามารถสรุปสาเหตุที่ชัดเจนได้ แต่สามารถสรุปสาเหตุหลัก ๆ ได้ด้วยกัน 4 สาเหตุ
ได้แก่
          (1) กรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นเป็นความผิดปกติของวงจรไฟฟ้าหัวใจตั้งแต่กำเนิด
          (2) การเสื่อมสภาพของระบบไฟฟ้าหัวใจ สาเหตุนี้มักเกิดในผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ เนื่องจาก
หัวใจทำงานมาเป็นเวลานาน จึงเกิดความเสื่อมตามอายุการใช้งาน ระดับพลังงานที่กระตุ้นหัวใจทำงานจึงน้อยลง ส่งผลให้หัวใจเต้นช้าผิด
ปกติ
          (3) โรคบางชนิด โรคบางชนิดส่งผลให้เกิดการเต้นผิดจังหวะเช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเส้น
เลือดสูง โรคเบาหวาน และ ผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
          (4) ยาและสารเสพติดบางชนิด การกินยาบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ เช่น ยารักษาโรคหวัด ยาขยาย
หลอดลม ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ

อาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แยกออกเป็น 2 ประเภท คือ

          “อาการของโรคหัวใจเต้นช้าผิดปกติ” จะมีอาการมึนงง ใจหวิว วูบ ความดันโลหิตต่ำ หากเป็นหนักอาจจะเป็นลมหมดสติ ในรายที่
อาการไม่มากอาจมีเพียงอาการอ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย  “อาการของโรคหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ” หากเป็นเพียงเล็กน้อยจะมีอาการเหนื่อย
ง่ายและหัวใจเต้นเร็วเท่านั้น แต่หากเป็นหนักจะมีการอากร เจ็บหน้าอก หน้ามืด ความดันโลหิตต่ำ หัวใจวายและอาจเสียชีวิตโดยเฉียบพลัน

           การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำโดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เรียกว่า ECG หรือ Electrocardiogram แต่อย่างไรก็ตาม
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะพบความผิดปกติเมื่อผู้ป่วยมีอาการในขณะตรวจเท่านั้น หากผู้ป่วยไม่มีอาการในขณะตรวจก็อาจไม่พบความ
ผิดปกติ ทำให้การวินิจฉัยโรคไม่สามารถทำได้ ในกรณีอาจต้องใช้การตรวจคลื่นหัวใจแบบพกติดตัวตลอด 24 ชั่วโมง ที่เรียกว่า Holter
Monitoring ซึ่งจะเป็นการตรวจและวัดอัตราการเต้นของหัวใจตลอดเวลา หากมีอาการผิดปกติจะได้รีบเข้ารักษาได้ทันที

          วิธีการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ในรายที่ไม่มีอาการรุนแรง อาจไม่ต้องเข้ารับการรักษา ส่วนรายที่มีอาการหนัก จะรักษาด้วยวิธี
กินยา จี้กล้ามเนื้อหัวใจบริเวณที่ลัดวงจรด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง และฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจในผู้ป่วยที่หัวใจเต้นช้าผิดปกติ หรือเครื่อง
กระตุกหัวใจในผู้ป่วยที่หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะไม่เพียงแต่จะรักษาด้วย ยา และ เครื่องมือต่าง ๆ แล้วนั้น
ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองด้วยวิธีตามธรรมชาติ เพื่อช่วยบรรเทาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะและป้องกันการเกิดโรคได้ ดังนี้
          “การผ่อนคลายความเครียด” ความเครียดถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หัวใจเต้นเร็ว เนื่องจากเมื่อเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน
และสารสื่อประสาทต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็ว ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้

          “ลดยาบางชนิด” ผู้ที่มีโรคประจำตัวและต้องกินยาต่อเนื่อง อาจมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของยา ดังนั้นจึงควร
ปรึกษาแพทย์ว่าสามารถลดยาหรือเปลี่ยนชนิดของยาได้หรือไม่ เพื่อป้องกันอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
          “งดเครื่องดื่มคาเฟอีน” เครื่องดื่มคาเฟอีน อาทิ ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำอัดลม เป็นสาเหตุอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
เนื่องจากในเครื่องดื่มมีสารกระตุ้นทำให้จุดกำเนิดไฟฟ้าหรือกล้ามเนื้อหัวใจที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดการลัดวงจารทำงานผิดปกติได้เร็วขึ้น
          “นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ” การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอเป็นการทำให้หัวใจได้รับการพักผ่อนและทำงานน้อยลง ซึ่งเท่ากับ
เป็นการรักษาหัวใจให้แข็งแรงและสูบฉีดเลือดได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

          นอกจากวิธีการรักษาและการควบคุมดังกล่าวแล้วนั้น การรับประทานอาหารก็ยังเป็นอีกปัจจัยเสริมที่จะช่วยลดการเกิดโรคหัวใจเต้น
ผิดจังหวะได้ วารสารสมาคมอายุรแพทย์หัวใจในสหรัฐอเมริกา (American Heart Association’s Journal) ได้แนะนำให้กินปลาทูน่า
หรือ ปลาอื่น ๆ ที่ผ่านกระบวนการย่าง หรือ นึ่ง อย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อลดอัตราความเสี่ยงของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดย
เฉพาะกลุ่มผู้หญิงและผู้ชายที่สูงอายุ


          จะเห็นได้ว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นโรคที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ง่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีวิธีลดความเสี่ยง ฉะนั้นเราจึงควรจะ
สังเกตอาการด้วยตนเอง อย่าละเลย หรือ เพิกเฉย ทั้งยังควรลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพิ่มความแข็งแรงให้สุขภาพกายและสุขภาพใจ เหล่านี้
ก็จะทำให้..หัวใจน้อย ๆ ของเราเต้นไปตามจังหวะอย่างสมบูรณ์ ไม่ออกนอกลู่นอกทางเป็นแน่

       Link   https://www.stou.ac.th

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


                โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการ

อาการโรคหัวใจ article
 

ความเป็นจริงแล้วคำว่า"โรคหัวใจ"มีความหมายกว้างมาก   อาการที่เกิดจากโรคหัวใจหรือสัมพันธ์กับหัวใจนั้น มีไม่มากนัก ดังอาการ ข้างล่างนี้ แต่อย่างไรก็ตามอาการดังกล่าวก็มิได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคหัวใจเท่านั้น ยังมีโรคอื่นๆที่ให้อาการคล้ายกัน ดังนั้นการที่ แพทย์จะพิจารณาให้การวินิจฉัยนั้น จำเป็นต้องอาศัยประวัติ อาการโดยละเอียด ร่วมกับการตรวจร่างกาย บางครั้งต้องอาศัยการ ตรวจพิเศษต่างๆ เช่น เลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ เป็นต้น เพื่อแยกโรคต่างๆที่มีอาการคล้ายกัน

   

เจ็บหน้าอก

อวัยวะที่อยู่ในทรวงอกนอกจากหัวใจแล้วยังมี เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด เยื่อหุ้มปอด หลอดอาหาร หลอดเลือดแดงใหญ่ กระดูกหน้าอก กระดูกซี่โครง เต้านม กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก เมื่อมีการอักเสบหรือพยาธิสภาพของอวัยวะเหล่านี้ก็ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก ได้ทั้งสิ้น แต่ลักษณะอาการอาจแตกต่างกัน

อาการต่อไปนี้เข้าได้กับอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด
1 เจ็บแน่นๆ อึดอัด บริเวณกลางหน้าอก อาจจะเป็นด้านซ้าย หรือ ทั้งสองด้าน (มักจะไม่เป็นด้านขวาด้านเดียว) บางรายจะร้าวไป ที่แขนซ้าย หรือ ทั้งสองข้าง หรือ จุกแน่นที่คอ บางรายเจ็บบริเวณกรามคล้ายเจ็บฟัน
2 อาการตามข้อ 1 เกิดขึ้นขณะออกกำลัง เช่น เดินเร็วๆ รีบ หรือ ขึ้นบันได วิ่ง โกรธโมโห อาการดังกล่าวจะดีขึ้นเมื่อหยุดออกกำลัง
3 ในบางรายที่อาการรุนแรง อาการแน่นหน้าอกอาจเกิดขึ้นในขณะพัก เช่น นั่ง หรือ นอน หรือ หลังอาหาร
4 กรณีที่เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาการจะรุนแรงมาก อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น เหงื่อออก มาก เป็นลม (อาการเช่นนี้ยังพบได้ในโรคของหลอดเลือดแดงใหญ่ปริ ฉีก)

อาการต่อไปนี้ไม่เหมือนอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด
1 เจ็บแหลมๆคล้ายเข็มแทง เจ็บแปล๊บๆ เจ็บจุดเดียว กดเจ็บบริเวณหน้าอก
2 อาการเจ็บเกิดขึ้นในขณะพัก มีอาการนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน
3 อาการมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่า หรือ ขยับตัว หรือ หายใจเข้าลึกๆ
4 อาการเจ็บร้าวขึ้นศีรษะ ปลายมือ ปลายเท้า
อาการตามข้อ 1,2 และ 3 อาจเกิดจากกระดูก กล้ามเนื้อหน้าอก เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือด นอกจากอาการเจ็บหน้าอกแล้ว ต้องอาศัยประวัติอื่นๆด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัย เสี่ยงต่างๆ ดังนั้นในผู้ป่วยบางรายที่อาการไม่เหมือนนัก แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ ก็ควรได้รับการตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วย

หอบ เหนื่อยง่ายผิดปกติ

อาการหอบ เหนื่อยง่าย เวลาออกแรง เช่น เดิน วิ่ง ทำงาน มีสาเหตุมากมาย เช่น โลหิตจาง(ซีด) โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคปอด ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) แม้แต่ความวิตกกังวล หรือ โรคแพนิค ก็ทำให้เหนื่อยได้เช่นกัน อาการเหนื่อยง่ายจากโรคหัวใจ และ ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น จะเหนื่อย หอบ หายใจเร็ว โดยเป็นเวลาออกแรง แต่ในรายที่เป็นรุนแรง จะเหนื่อยในขณะพัก บางรายจะเหนื่อยมากจนนอนราบไม่ได้ (นอนแล้วจะเหนื่อย ไอ) ต้องนอนศีรษะสูงหรือ นั่งหลับ

คำว่าเหนื่อย หอบ ในความหมายของแพทย์หมายถึง อัตราการหายใจมากกว่าปกติ แต่ในความหมายของผู้ป่วยอาจรวมไปถึง อาการเหนื่อยเพลีย หมดแรง เหนื่อยใจ

อาการเหนื่อยแบบหมดแรง มือเท้าเย็นชา พูดก็เหนื่อย (โดยอัตราการหายใจปกติ) เหล่านี้มักจะไม่ใช่อาการเหนื่อยจากโรคหัวใจ

ใจสั่น

ใจสั่นในความหมายแพทย์หมายถึง การที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ผิดจังหวะ หรือ เต้นไม่สม่ำเสมอ เต้นๆหยุดๆ อาการดังกล่าวอาจพบ ได้ในคนปกติ  โรคหัวใจ และโรคอื่นๆที่มีผลต่อหัวใจ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคปอด แพทย์จะซักประวัติละเอียดถึงลักษณะของ อาการใจสั่น เพื่อให้แน่ใจว่าเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยรู้สึก"ใจสั่น"โดยหัวใจเต้นปกติ

การตรวจวินิจฉัยกลุ่มอาการใจสั่นเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการชั่วขณะ เมื่อมาพบแพทย์อาการดังกล่าว ก็หายไปแล้ว แพทย์จึงไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ว่าเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ดังนั้นท่านควรศึกษาวิธีจับชีพจรตัวเอง เมื่อเกิดอาการ ว่าหัวใจเต้นกี่ครั้งในเวลา 1 นาที และสม่ำเสมอหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์ให้การวินิจฉัยได้รวดเร็วขึ้น

ขาบวม

อาการขาบวมเกิดจากการที่ร่างกายมีเกลือ(โซเดียม)และน้ำคั่งอยู่ในร่างกาย โดยอาจเกิดจากโรคไต (ขับเกลือไม่ได้) โรคหลอด เลือดดำอุดตัน (การไหลเวียนไม่สะดวก) ขาดอาหาร โปรตีนในเลือดต่ำ โรคตับ ยาและฮอร์โมนบางชนิด โรคหัวใจ หรือ ในบางราย ไม่พบสาเหตุ (idiopathic edema) การบวมในผู้ป่วยโรคหัวใจเกิดจากการที่หัวใจด้านขวาทำงานลดลง เลือดจากขาไม่สามารถ ไหลเทเข้าหัวใจด้านขวาได้โดยสะดวก จึงมีเลือดค้างอยู่ที่ขามากขึ้น โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรังก็ให้อาการเช่นนี้ได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีอาการขาบวม แพทย์จำเป็นต้องตรวจหลายระบบ เพื่อหาสาเหตุ จึงให้การรักษาได้ถูกต้อง

เป็นลม วูบ

คำว่า "วูบ" นี้เป็นปัญหาในการซักประวัติอย่างมาก เนื่องจากในภาษาไทยคำนี้มีความหมายต่างๆกัน แต่ในความหมายของแพทย์แล้ว จะตรงกับภาษาอังกฤษว่า syncope หมายถึง การหมดสติ หรือ เกือบหมดสติ ชั่วขณะ โดยอาจรู้สึกหน้ามืด จะเป็นลม ตาลาย มองไม่เห็นภาพชัดเจน โดยอาการเป็นอยู่ชั่วขณะ ไม่รวมถึงอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน โคลงเครง วูบวาบตามตัว หายใจไม่ออก อาการดังกล่าวอาจเกิดจาก ความผิดปกติของสมอง เช่น ลมชัก (แม้จะไม่ชักให้เห็น) เลือดออกในสมอง ความผิดปกติของหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง หรือหยุดเต้นชั่วขณะ หรือ ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหัวใจ นอกจากนั้นแล้ว "วูบ" ยังอาจพบได้ในคนปกติที่ขาดน้ำ เสียเลือด ท้องเสีย ไม่สบาย ขาดการออกกำลังกาย ยาลดความดันโลหิต

      Link   https://www.thaiheartweb.com

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

                 การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmia)

คำจำกัดความ

ในภาวะปกติ ที่บริเวณหัวใจห้องบน จะทำหน้าที่สร้างสัญญาณไฟฟ้า เพื่อมากระตุ้นการเต้นของหัวใจเอง

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmia) เป็นคำรวมของโรคที่เกิดจากสัญญาณไฟฟ้าที่หัวใจสร้างขึ้นมีความผิดปกติไปจากเดิม ทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ โดยหัวใจอาจเต้นเร็วขึ้นหรือเต้นช้าลงหรือเต้นไม่เป็นจังหวะ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนี้ บางภาวะไม่อันตรายและคนส่วนใหญ่มีโอกาสเป็นได้ โดยอาจรู้สึกหัวใจเต้นเร็วและแรง หรือใจสั่นเป็นครั้งคราวและหายได้เอง แต่บางโรคอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น ทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองอุดตันหรือหัวใจหยุดเต้นกระทันหันได้ (sudden cardiac arrest)

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สาเหตุแบ่งเป็นกลุ่มได้หลายแบบ
ถ้าแบ่งตามตำแหน่งของหัวใจที่ส่งสัญญาณไฟฟ้าผิดปกติ : แบ่งได้เป็น 4 ชนิด คือ

  • หัวใจห้องบนผิดปกติ (Atrium) เช่น Atrial flutter, Atrial fibrillation, Premature atrial contraction (PAC) เป็นต้น
  • ทางเชื่อมระหว่างหัวใจห้องบนและห้องล่างผิดปกติ (Atrio-ventricular node) เช่น Wolff-Parkinson-White syndrome
  • Junctional arrhythmia เช่น supraventricular tachycardia
  • หัวใจห้องล่างผิดปกติ (Ventricle) เช่น Premature ventricular contraction (PVC), Ventricular fibrillation

ถ้าแบ่งตามอัตราการเต้นของหัวใจ : แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

  • อัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติ (Tachycardia) : อัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 100 ครั้ง/นาที
  • อัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ (bradycardia) : อัตราการเต้นของหัวใจน้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที

ถ้าแบ่งตามกลไกการเกิดโรค : แบ่งได้เป็น

  • Automaticity : เกิดจากมีจุดอื่นในหัวใจสร้างกระแสไฟฟ้าออกมากระตุ้นหัวใจได้เร็วกว่าสัญญาณไฟฟ้าปกติ
  • Reentry : เกิดจากกระแสไฟฟ้าที่สร้างจากจุดกำเนิดปกติในหัวใจ มากระตุ้นที่หัวใจแล้ววกกลับมากระตุ้นหัวใจใหม่อีกซ้ำๆ เป็นวงกลม

อาการ

1. การที่หัวใจเต้นผิดปกติ ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติอะไร แพทย์ก็ตรวจพบโดยบังเอิญ
2. ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจรับรู้ได้ถึงหัวใจที่เต้นผิดปกติ คือ มีอาการสั่นระรัวที่บริเวณหน้าอกหรือใจสั่น : เป็นการที่ผู้ป่วยรับรู้ถึงการที่หัวใจเต้น (ในภาวะปกติ เราจะไม่รู้สึกว่าหัวใจเต้น)
3. ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีอาการจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดตามหลังภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น

  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ ทำให้แรงบีบตัวของหัวใจในแต่ละครั้งไม่เพียงพอจะสูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น เจ็หน้าอก ในรายที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอยู่แล้ว, สับสน มึนงง
  • หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ จนเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่พอ ทำให้มีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลมหรือ เป็นลมหมดสติ
  • มีลิ่มเลือดอยู่ในหัวใจ แล้วลิ่มเลือดหลุดไปที่เส้นเลือดส่วนปลาย ทำให้เกิดอาการจากอวัยวะส่วนปลายอุดตัน เช่น เส้นเลือดสมองตีบ , หลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ไปเลี้ยงแขนขาอุดตันเฉียบพลัน เป็นต้น

สาเหตุ

สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับโรค แต่สาเหตุที่พบได้บ่อย คือ

  • โรคหัวใจบางโรคทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ,โรคลิ้นหัวใจ เป็นต้น
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคเบาหวาน
  • ภาวะฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์สูงเกิน
  • เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ
  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ หรือชา/กาแฟ
  • ใช้ยาผิดวิธี
  • ภาวะเครียด
  • อาหารหรือสมุนไพรบางชนิด
  • ยาบางชนิด

การวินิจฉัย

ประวัติ : ผู้ป่วยจะมีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว

การตรวจร่างกาย : บ่อยครั้งที่แพทย์ตรวจพบความผิดปกติโดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการ ซึ่งการตรวจร่างกายสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการใช้หูฟังฟังเสียงหัวใจที่เต้นผิดปกติหรือจับชีพจรที่แขนขาแล้วรู้สึกถึงการเต้นที่ผิดปกติ การตรวจนี้มีข้อจำกัด คือ

  • สามารถบอกได้แค่คร่าวๆ ว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (คืออัตราการเต้นของหัวใจเร็วหรือช้ากว่าปกติ หรือจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ) แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคอะไร
  • ทุกสัญญาณไฟฟ้าที่สร้างจากหัวใจ โดยเฉพาะที่สร้างออกมาผิดปกติ ไม่ได้สามารถกระตุ้นให้เกิดการเต้นของหัวใจทุกครั้ง จึงไม่สามารถตรวจพบได้จากการฟังเส้นหัวใจเต้นหรือจับชีพจร

การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฎิบัติการ : ประกอบด้วย

  • การตรวจด้วยเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram, EKG) : เป็นการตรวจที่ทำได้ง่ายๆ , ใช้เวลาไม่นานและผู้ป่วยไม่เจ็บ ทำได้โดยใช้เครื่องมือติดที่หน้าอกและแขนขา จากนั้นเครื่องจะตรวจดูสัญญาณไฟฟ้าที่หัวใจสร้าง และแปลผลออกมาเป็นกราฟ
  • การใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง (Holter monitor) : ทำในกรณีที่ตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจแล้วผลออกมาปกติ แต่ผู้ป่วยมีอาการที่ชวนสงสัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพราะคลื่นไฟฟ้าที่สร้างจากหัวใจอาจมีความผิดปกติเป็นๆ หายๆ ได้

ภาวะแทรกซ้อน

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ดังนี้

  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติจนทำให้แรงบีบตัวของหัวใจในแต่ละครั้งไม่เพียงพอจะสูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดอาการจากอวัยวะส่วนปลายขาดเลือด เช่น เจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (มักพบในรายที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอยู่ก่อนแล้ว) , สับสนหรือมึนงง จากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ
  • หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ จนทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่พอ : ทำให้มีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลมหรือเป็นลมหมดสติ
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้เลือดบางส่วนคั่งค้างอยู่ในหัวใจ ไม่ไหลออกจากตามปกติ เมื่อมีเลือดค้างอยู่นานๆ เลิอดเหล่านั้นจะมารวมกันจนกลายเป็นลิ่มเลือดอยู่ในหัวใจ ซึ่งลิ่มเลือดนี้มีโอกาสจะหลุดไปอุดที่เส้นเลือดส่วนปลายได้ตลอดเวลา ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการจากอวัยวะส่วนปลายอุดตัน เช่น เส้นเลือดสมองตีบ (Stroke) , หลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ไปเลี้ยงแขนขาอุดตันเฉียบพลัน (Arterial occlusion) เป็นต้น

การรักษาและยา

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค แต่มีหลักการรักษาที่สำคัญ คือ
1.การทำให้หัวใจที่เต้นผิดจังหวะ กลับมาสู่ภาวะปกติ : สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วยและสาเหตุของโรค คือ

  • การใช้วิธีทางกายภาพ (Physical maneuvers) : เพื่อเพิ่มระบบประสาท parasympathetic (ทำหน้าที่ยับยั้งสัญญาณไฟฟ้าที่สร้างจากหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลงและยับยั้งสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดปกติ) เช่น การนวดบริเวณเส้นเลือดแดงที่คอ (carotid massage), การประคบน้ำแข็งที่หน้า, การให้เบ่ง เป็นต้น
  • การรักษาด้วยยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Antiarrhythmic drug) : มียาหลายกลุ่มที่มีกลไลการออกฤทธิ์แตกต่างกัน แต่ช่วยให้หัวใจกลับมาเต้นตามปกติ เช่น ยา amiodarone
  • การใช้เครื่องผลิตสัญญาณไฟฟ้ากระตุ้นที่หัวใจของผู้ป่วย เพื่อกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นปกติ (electrical cardioversion)
  • การเข้าไปทำลายจุดที่สร้างสัญญาณไฟฟ้าผิดปกติในหัวใจ (Electrical cautery) โดยใช้ความร้อน, ความเย็น, กระแสไฟฟ้า หรือเลเซอร์ มักทำในรายที่กลไกของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจาก Automaticity ( มีจุดอื่นในหัวใจสร้างกระแสไฟฟ้าออกมากระตุ้นหัวใจได้เร็วกว่าสัญญาณไฟฟ้าปกติ)

2.ในรายที่ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติเป็นมานานและกำลังรอวิธีการรักษาที่ทำให้หัวใจที่เต้นผิดจังหวะกลับมาสู่ภาวะปกติ แพทย์จะให้การรักษาเพื่อควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้เหมาะสม เช่น

  • ในกรณีที่หัวใจเต้นเร็วเกินไป แพทย์จะให้ยาช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ เช่น propranolol, verapamil, diltiazem, digoxin เป็นต้น
  • ในกรณีที่หัวใจเต้นช้าเกินไป แพทย์จะให้ผู้ป่วยติดเครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacing, ทำหน้าที่ผลิตสัญญาไฟฟ้ามากระตุ้นให้หัวใจบีบตัว ในจังหวะที่ไม่มีสัญญาณไฟฟ้าจากหัวใจมากระตุ้นตามปกติ) ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร เพื่อป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

3.ให้ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากลิ่มเลือดหลุดไปอุดที่เส้นเลือดส่วนปลาย
ได้แก่ ยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น aspirin) หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เช่น warfarin) แพทย์จะเลือกใช้ยาตัวใด ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากลิ่มเลือดหลุดไปอุดที่เส้นเลือดส่วนปลายในผู้ป่วยแต่ละราย โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดสมองตีบ

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย Aspirin, Diltiazem, Verapamil, amiodarone, propranolol, digoxin, warfarin

แหล่งอ้างอิง

1. วิทยา ศรีดามา, บรรณาธิการ. ตำราอายุรศาสตร์4. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2550, 245-259.
2. Anthony S.Fauci, Eugene Braunwald, et al, editors. Harrison’s principles of internal medicine. 17th edition. 2008, 1416-1442.
3. Ziad F.Issa, John M.Miller, Douglas P.Zipes, editors. Clinical arrhythmology and electrophysiology. 2009.
4. ชาญ ศรีรัตนสถาวร, รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ และคณะ , บรรณาธิการ. ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ บียอนด์ พับลิสซิ่ง จำกัด. พิมพ์ครั้งที่2. 2546.

 

             Link    https://healthy.in.th/disease/arrhythmia/

 

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++=

 

 

อัพเดทล่าสุด