การนวดหน้ารักษาโรคปากเบี้ยว ยารักษาโรคปากเบี้ยว วิธีการรักษาโรคปากเบี้ยว


1,520 ผู้ชม


โรคอัมพาตใบหน้า

 โรคอัมพาตใบหน้าคืออะไร?

          โรคนี้รู้จักกันมานานเกือบ ๒๐๐ ปีแล้ว โดยนายแพทย์เซอร์ชาร์ล เบลล์ เป็นคนแรกที่รวบรวมผู้ป่วยกลุ่มนี้ขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๖๔ จึงมีชื่อเรียกติดต่อกันมาในภายหลังว่า Bell palsy หรือ อัมพาตของเบลล์

           โรคนี้ เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยโรคหนึ่งซึ่งในปัจจุบันเรายังไม่ทราบ สาเหตุแน่นอน แต่เชื่อว่าเชื้อไวรัสน่าจะเป็นตัวการสำคัญ โดยเฉพาะเชื้อเริม โรคนี้ถือว่าเป็นโรคที่ไม่รุนแรง แต่มักจะมีความผิดปรกติเกิดขึ้น โดยมีอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งเพียงซึกเดียว และมักมีอาการเกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน โรคนี้มักจะก่อให้เกิดความวิตกกังวลอย่างสูงขึ้นกับผู้ป่วยเพราะกลัวว่าจะมี โรคอัมพาตหรือโรคหลอดเลือดสมองตามมา ซึ่งอาจทำให้เกิดความพิการจนเดินไม่ได้และต้องนอนอยู่เตียงตลอดไป

           โรค อัมพาตใบหน้าเป็นโรคคนละกลุ่มกับโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาตที่คนทั่ว ๆ ไปรู้จัก กล่าวคือ โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปรกติของหลอดเลือดสมอง แต่โรคอัมพาตใบหน้านี้เกิดจากความผิดปรกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ ๗ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า

โรคอัมพาตใบหน้านั้นพบบ่อยเพียงใด?

           อัตราความชุกของโรคอัมพาตใบหน้านี้พบว่าใกล้เคียงกันทั่วโลกคือ เกิดขึ้นบ่อยราว ๆ ๒๕ คนต่อประชากรแสนคนในทุก ๆ ปี โรคนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายพอ ๆ กัน และใครที่เคยเป็นโรคนี้แล้วก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกในความเสี่ยงเท่ากับคน ทั่วไป มีผู้เคยคำนวณว่าในช่วงชีวิตของคน ๆ หนึ่งนั้น มีโอกาสที่จะเกิดโรคอัมพาตใบหน้าสูงถึง ๑ ใน ๕๐๐ คน คือร้อยละ ๐.๒ ในประเทศไทยยังไม่เคยมีการศึกษาสำรวจอย่างแน่นอนถึงสถิติเกี่ยวกับอุบัติ การณ์ของการเกิดโรคนี้ในประชากรแต่อย่างใด แต่คาดว่าตัวเลขจริง ๆ คงใกล้เคียงกับต่างประเทศ และโรคนี้ไม่ใช่โรคที่มีสาเหตุทางพันธุกรรมแต่อย่างใด จึงไม่พบบ่อยในครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง

อะไรเป็นสาเหตุของโรคอัมพาตใบหน้า?

           แม้ว่าในปัจจุบันเราจะยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ แต่ก็มีคนสงสัยว่าอาจเกิดจากเชื้อไวรัสตัวใดตัวหนึ่ง แต่จากการศึกษาค้นคว้าในปัจจุบันก็ยังไม่ยืนยันถึงข้อสนับสนุนว่าโรคนี้เกิด จากไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะล่าสุดมีการศึกษาจากญี่ปุ่นว่าเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริมเป็น สาเหตุใหญ่ของโรคนี้ อย่างไรก็ตาม ไวรัสตัวที่สามารถก่อให้เกิดอาการอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าได้แน่นอนคือ ไวรัสจากโรคงูสวัด แต่พบได้น้อยและไม่เรียกกันว่าเป็นโรค Bell palsy แต่ก็มีชื่อเรียกพิเศษต่างหากออกไปว่า Ramsay-Hunt syndrome โรคอัมพาตใบหน้าชนิดเบลล์นี้มีข้อมูลจากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่าคนที่ เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงหรือสตรีในขณะตั้งครรภ์ มีอัตราความเสี่ยงกับการเกิดโรคนี้สูงกว่าคนปรกติทั่วไป

ลักษณะของโรคอัมพาตใบหน้ามีอะไรบ้าง?

           ผู้ป่วยโรคอัมพาตใบหน้านั้นพบว่ามักจะเกิดอาการขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วนหรือ แบบทันทีทันใด และไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน  กล่าวคืออาจพบว่ามีอาการแสบตาข้างเดียวเพราะไม่สามารถปิดตาได้สนิทในเวลาถูก ลม หรือมีอาการรับประทานอาหารแล้วน้ำลายไหลออกทางมุมปากข้างใดข้างหนึ่ง ต่อมาอาการของโรคอาจจะเป็นมากขึ้นจนปากเบี้ยวและปิดตาไม่สนิท จนสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนเวลาผู้ป่วยพูด ยิ้ม หรือกระพริบตา บางรายอาจมีอาการมากจนไม่สามารถขยับมุมปาก หลับตา หรือยักคิ้วหลิ่วตาได้เลย บางคนมาพบแพทย์เพราะสังเกตว่าพูดไม่ชัดหรือผิวปากไม่ดัง หรือดูดโอเลี้ยงไม่ได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งทำงานไม่ได้ดีเช่นปรกติ หลายคนบ่นว่ามีความรู้สึกเหมือนหน้าบวมหรือตึงและชาที่ใบหน้าครึ่งซีก ทั้งนี้เป็นเพราะเวลากล้ามเนื้อใบหน้าไม่ทำงานก็จะมีผลทำให้เลือดมาคั่งใน บริเวณนั้นมากกว่าปรกติ และจะมีผลกระตุ้นต่อเซลล์ประสาทรับความรู้สึกที่บริเวณใบหน้า จึงเกิดลักษณะอาการชาขึ้นมาได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการสูญเสียประสาทรับความรู้สึกที่ใบหน้าแต่อย่างใด

           อาการ อ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าในโรคนี้มักจะมีการดำเนินโรคที่รวดเร็วภายในเวลา ไม่เกิน ๒-๓ วัน และผู้ป่วยก็มักจะสังเกตเห็นว่าตนเองมีอาการปากเบี้ยวอย่างชัดเจน ผู้ป่วยบางคนอาจเข้าใจผิดและแย้งแพทย์ว่าตัวเองปากเบี้ยวไปข้างขวา แต่แพทย์บอกว่าเป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าด้านซ้าย เพราะในทางการแพทย์แม้ปากจะเบี้ยวมาทางขวาก็จริง แต่พยาธิสภาพเกิดจากกล้ามเนื้อใบหน้าข้างซ้าย เราก็จะเรียกว่ามีปากเบี้ยวข้างซ้าย ไม่ใช่ปากเบี้ยวข้างขวา

          นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ในผู้ป่วยโรคอัมพาตใบหน้า เช่น
           ๑. อาการชาลิ้นและไม่รู้รสที่ลิ้นซีกเดียวกับด้านที่มีอัมพาตของใบหน้า
           ๒. อาการน้ำตาแห้งหรือไม่มีน้ำตาไหลข้างเดียวกับที่มีอัมพาตใบหน้า แต่บางรายกลับมีน้ำตาไหลออกมามากอันเนื่องจากมีการระคายเคืองจากลมหรือฝุ่น ละอองที่มีผลต่อลูกนัยน์ตาที่ปิดไม่สนิท
           ๓. อาการมีเสียงดังในหูข้างเดียวกับด้านที่มีอัมพาตของใบหน้า

           ผู้ป่วยรายใดที่มีอาการน้ำตาแห้ง หรือมีเสียงดังในหู หรือลิ้นชาไม่รู้รสครึ่งซึก ร่วมกับอาการอัมพาตใบหน้านั้น มักจะมีการฟื้นตัวของโรคได้ไม่ดีเท่าผู้ป่วยที่มีแต่อาการอัมพาตของกล้าม เนื้อใบหน้าอย่างเดียว

มีโรคอะไรบ้างที่คล้ายคลึงกับโรคอัมพาตใบหน้า?

           ผู้ป่วยโรคอัมพาตใบหน้านั้นจำเป็นต้องแยกจากโรคอื่น ๆ ที่อาจมีอาการนำหรืออาการแสดงของโรคแบบอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น โรคหูน้ำหนวก กรณีเกิดตามหลังอุบัติเหตุต่อศรีษะ โรคเรื้อน โรคมะเร็งโพรงจมูก โรคเนื้องอกของประสาทสมอง และโรคเนื้องอกของต่อมน้ำลายหน้าหู ตลอดจนโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น

           อย่าง ไรก็ตามการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์ทั่ว ๆ ไป ก็จะสามารถให้การวินิจฉัยแยกโรคต่าง ๆ ดังกล่าวออกไปได้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยการตรวจโดยวิธีพิเศษ เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองแต่อย่างใด

การรักษาโรคอัมพาตใบหน้ามีกี่วิธี อะไรบ้าง?

           ผู้ป่วยโรคอัมพาตใบหน้านั้นเกิดจากประสาทสมองคู่ที่ ๗ มีการบวมจากการอักเสบและขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง จึงทำให้ประสาทไม่สามารถส่งคำสั่งไปยังกล้ามเนื้อใบหน้าซีกนั้นได้ ดังนั้น จึงปรากฏอาการอ่อนแรงขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน สำหรับวิธีการรักษาที่สำคัญและเป็นวิธีที่ได้ผลดีมีดังนี้

           ก) รักษาทางยา วิธีนี้พบว่าถ้าจะให้ได้ผลดีต้องได้รับยาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ถ้าหากผู้ป่วยรายใดได้รับยารักษาช้า เช่น ได้รับยาภายหลังเป็นโรคมาแล้วนานเกิน ๑ สัปดาห์มักจะไม่ค่อยได้ผล ยาที่ใช้กันคือ ยากลุ่มสเตอรอยด์ในขนาดสูง ๆ เช่น เพรดนิโซโลนขนาด ๑-๒ มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม/วัน เป็นเวลาติดต่อกันนาน ๗–๑๐ วัน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่เป็นแผลในกระเพาะอาหาร หรือผู้มีการติดเชื้อในที่ต่าง ๆ ของร่างกายนั้น การให้ยากลุ่มนี้จำเป็นต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดผลแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายตามมาได้  ดังนั้น การใช้ยากลุ่มนี้จำเป็นต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเสมอ นอกจากนี้ ยังมีการให้ยากลุ่มอื่น ๆ ร่วมกันไปอีกด้วย ได้แก่ วิตามินบีในขนาดสูง ๆ ตลอดจนยาต่าง ๆ ที่มีฤทธิ์รักษาเส้นประสาทส่วนปลาย

           ข) การรักษาทางกายภาพบำบัด วิธีการรักษานี้อาจทำได้หลายวิธี ได้แก่ การนวดหน้าด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ใช้มือนวดเบา ๆ ใช้ผ้าร้อนประคบ และการใช้ไฟฟ้ากระตุ้นประสาทสมองคู่ที่ ๗ วิธีดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีส่วนช่วยเหลือทางด้านจิตใจของ ผู้ป่วยได้มาก แต่หลักฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดถึงคุณ ประโยชน์ของกรรมวิธีดังกล่าว อย่างไรก็ตามหลายคนเชื่อว่าการกระตุ้นประสาทสมองคู่ที่ ๗ ด้วยไฟฟ้าจะทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าที่เป็นอัมพาตไม่ฝ่อลีบเล็กลง และเป็นการรอการฟื้นตัวกลับคืนมาของเส้นประสาทในอนาคต ซึ่งจะมีผลทำให้การฟื้นตัวและการหายจากโรคของผู้ป่วยกลับมาได้สมบูรณ์ยิ่ง ขึ้น แต่การนวดกล้ามเนื้อใบหน้าข้างที่เป็นอัมพาตบ่อย ๆ (วันละ ๓-๔ หน) ก็จะป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อใบหน้าฝ่อลีบได้ และผู้ป่วยยังสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยให้นวดกล้ามเนื้อใบหน้าจากล่างขึ้นบน

           ค) การรักษาโดยวิธีผ่าตัด ปัจจุบันมีการใช้วิธีนี้เพื่อรักษาโรคอยู่ ๒ ระยะคือ

           ๑. ระยะแรกของโรค ศัลยแพทย์บางคนนิยมทำการผ่าตัดในระยะนี้เพื่อให้ประสาทสมองคู่ที่ ๗ ที่บวมอยู่ไม่ถูกกดหรือบวมอัดแน่นในรูกระดูกที่ประสาทวิ่งออกมา โดยหวังจะให้กล้ามเนื้อใบหน้าหายจากอัมพาตโดยเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลใด ๆ ที่ได้เคยทำการศึกษาเปรียบเทียบถึงผลการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดกับการรักษา ทางยาว่า วิธีไหนจะมีประสิทธิผลดีกว่ากัน ประสาทแพทย์บางคนถือว่าไม่น่าจะมีข้อบ่งชี้ใด ๆ ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคนี้ในระยะแรกเลย แต่หลายคนเชื่อว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพชนิดรุนแรงและมีข้อบ่งชี้ถึง การพยากรณ์โรคที่เลวนั้น การรักษาโดยวิธีการผ่าตัดในระยะ ๒-๔ วันแรกภายหลังการเริ่มเกิดโรคก็อาจจะมีประโยชน์บ้าง

           ๒. ระยะท้ายของโรค ศัลยแพทย์นั้นนับว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาผู้ป่วยโรค อัมพาตใบหน้า โดยเฉพาะในรายที่มีการฟื้นตัวของโรคไม่ดีอันเป็นผลเนื่องมาจากประสาทสมองคู่ ที่ ๗ ถูกทำลายหรือฝ่อลีบ วิธีการผ่าตัดรักษาและแก้ไขนั้นมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัดแก้ไขหนังตาที่ปิดไม่สนิทโดยวิธีการต่าง ๆ ตลอดจนการผ่าตัดปลูกกล้ามเนื้อใบหน้าขึ้นมาใหม่ หรือการต่อและเลี้ยงเส้นประสาทสมองคุ่อื่นเพื่อนำมาใช้ทำหน้าที่ทดแทนประสาท สมองคู่ที่ ๗ วิธีการดังกล่าวนี้นับว่าเป็นวิธีที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง แต่การเลือกวิธีผ่าตัดเหล่านี้มักจะเลือกทำเฉพาะในรายที่มีอาการของโรคชนิด รุนแรงและไม่หาย กล่าวคือ ผู้ป่วยยังคงมีอาการปากเบี้ยว หรือมีอัมพาตของใบหน้าหลงเหลืออยู่นานเกิน ๙ เดือนขึ้นไป

การรักษาโรคอัมพาตใบหน้าได้ผลดีหรือไม่เพียงใด?

           พบว่าผู้ป่วยร้อยละ ๘๐–๙๕ จะหายจากโรคได้อย่างสมบูรณ์คือหายสนิทจนเป็นปรกติ ยกเว้นผู้ป่วยบางรายร้อยละ ๑๐–๑๕ ที่มีอาการบ่งชี้ของการพยากรณ์โรคที่เลว อันได้แก่

          ก ) รายที่มีอาการอัมพาตกล้ามเนื้อชนิดรุนแรงจนไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อใบหน้าได้เลย
          ข ) รายที่มีโรคประจำตัวอันได้แก่โรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
          ค ) รายที่มีอาการปวดบริเวณใบหน้าเกิดขึ้นด้วย (ยกเว้นอาการปวดบริเวณหู)

          พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาสเตอรอยด์ในขนาดสูง ๆ ตั้งแต่ต้น คือภายในสัปดาห์แรกของการเกิดโรคมักจะมีการฟื้นและหายได้อย่างดีถึงร้อยละ ๙๕

อาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นตามมาของโรคอัมพาตใบหน้ามีอะไรบ้าง?

           ภาวะผิดปรกติหรืออาการแทรกซ้อนในระยะยาวของโรคอัมพาตใบหน้าภายหลังที่หายจาก อาการปากเบี้ยวแล้ว ผู้ป่วยอาจะมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ตามมาได้คือ

           ๑. อาการใบหน้ากระตุกครึ่งซีก โดยจะมีการกระตุกที่มุมปากและตา ทำให้ตาตี่และปากเบี้ยว มุมปากจะถูกดึงรั้งขึ้นมาเองเป็นพัก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่มีความกังวล อดนอนหรือเครียด ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพราะอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิด ความกังวลอับอายในการเข้าสังคม

           ๒. อาการตาตี่หรือตาปิดในขณะยิ้มหรือพูด ทั้งนี้เป็นเพราะประสาทสมองคู่ที่ ๗ ซึ่งงอกขึ้นมาใหม่งอกไปผิดทาง ดังนั้น จึงทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าบริเวณมุมปากและรอบตาทำงานไปพร้อม ๆ กันทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อของใบหน้า ผู้ป่วยจึงเกิดอาการดังกล่าวขึ้นมา

           ๓. อาการตาแห้งหรือไม่มีน้ำตา ผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยการหยอดน้ำตาเทียมเพื่อทดแทน เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดอาการตาแห้งและระคายเคือง ซึ่งอาจมีผลทำให้แก้วตาเสียได้

           ๔. อาการน้ำตาไหลพราก ๆ ในขณะรับประทานอาหารหรือขณะยิ้ม ทั้งนี้เป็นเพราะประสาทสมองคู่ที่ ๗ งอกใหม่และไปผิดทางจากแนวเดิม

สรุป

           โรคอัมพาตใบหน้าเป็นโรคทางระบบประสาทที่เกิดกับเส้นประสาทสมองคู่ที่ ๗ ซึ่งพบได้บ่อยในคนทุกอายุ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ และทุกเชื้อชาติ ในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรานั้น มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้สูงถึง ๑ ใน ๕๐๐ คน อย่างไรก็ตามโรคนี้ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงหรือรุนแรงแต่อย่างใด และมักจะรักษาให้หายได้เกือบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลาไม่เกิน ๒ เดือน ถ้าหากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วและทันเวลา โรคนี้ต่างจากโรคหลอดเลือดสมองซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอัมพาตของร่างกาย ครึ่งซึก ซึ่งมักจะมีความพิการทางสมองตามมาอย่างถาวร แต่โรคอัมพาตใบหน้าเกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ ๗ ทำงานผิดปรกติอันเนื่องมาจากมีการบวมและขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง โดยที่เรายังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แท้จริงในปัจจุบัน แต่เชื่อว่าเกิดจากเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงขอให้ผู้ที่เป็นโรคนี้ตลอดจนญาติมิตรและพี่น้องของผู้ป่วยทั้ง หลายคลายความวิตกกังวลใจไปได้ เพราะโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้จนกลับมาเป็นปรกติเหมือนเดิมทุกประการ.

ผู้เขียน : ศ. นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ ราชบัณฑิต ประเภทวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิชาแพทยศาสตร์  สำนักวิทยาศาสตร์
ที่มา  จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๑๕๐, พฤศจิกายน ๒๕๔๖

              Link      https://www.royin.go.th/th/

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

 

อัพเดทล่าสุด