เลือดกำเดาไหลขณะตั้งครรภ์ โรคเลือดกำเดาไหล วิธีปฐมพยาบาลเลือดกำเดาไหล


6,282 ผู้ชม


เลือดกำเดาไหลขณะตั้งครรภ์ โรคเลือดกำเดาไหล วิธีปฐมพยาบาลเลือดกำเดาไหล

              เลือดกำเดาไหลขณะตั้งครรภ์

ตอนนี้ดิฉันตั้งครรภ์ได้ 34 สัปดาห์แล้วค่ะ  และช่วงเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา  ดิฉันมีเลือดกำเดาไหลในช่วง
ตื่นนอนตอนเช้าแทบทุกวันเลย และออกมาเยอะด้วย ถึงขนาดเป็นลิ่มเลือดเลยค่ะ ( จริงๆแล้ว ในท้องก่อนๆก็เป็นค่ะ
แต่ไม่มากขนาดนี้ ) ก็เลยเริ่มหาข้อมูลเพื่อดูว่าผิดปกติหรือไม่  และหาวิธีดูแลตัวเองด้วยค่ะ
นี่เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่หามาได้นะคะ เก็บมาฝาก..เผื่อเพื่อนสมาชิกท่านใดมีอาการแบบเดียวกันค่ะ

เลือดกำเดา
สาเหตุ เนื่องมาจากการที่ร่างกายมีเลือดมาหล่อเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น และระบบการไหลเวียนของฮอร์โมนมีผลทำให้
เยื่อบุในจมูกอ่อนตัวลงและมีความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง และด้วยเหตุเดียวกันนี้ ที่ทำให้ว่าที่คุณแม่มีอาการ
เลือดออกตามไรฟันได้ง่ายในช่วงตั้งครรภ์อีกด้วย
ในระหว่างการตั้งครรภ์ ปริมาณเลือดในร่างกายจะเพิ่มขึ้นที่บริเวณจมูก เส้นเลือดฝอยมักจะแตกและทำให้เลือดกำเดาไหลได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าหนาว ซึ่งอากาศแห้ง
วิธีห้ามเลือดกำเดา คือ ให้นั่งลง โน้มตัวไปทางด้านหน้าเล็กน้อย (เพื่อให้เลือดตกไปทางด้านหน้า ไม่ไหลลงลำคอด้านหลัง)
หายใจทางปาก แล้วบีบจมูกนาน 5-10 นาที/ครั้ง ทำซ้ำได้ถ้าเลือดยังไม่หยุดดี
ถ้าไม่โน้มตัวไปข้างหน้า... การกลืนเลือดอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน, แรงเบ่งในช่วงที่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
อาจทำให้แรงดันเลือดสูงขึ้น ตกเลือดมากขึ้นได้
         
ตำแหน่งที่ควรบีบเพื่อห้ามเลือด คือ ส่วนที่แสดงไว้ด้วยแถบกลมสีเทา บริเวณนี้จะอยู่เหนือปีกจมูกเล็กน้อย
และอยู่ใต้ส่วนแนวสันกระดูกแข็ง (ดั้งคนเราส่วนบนเป็นกระดูกแข็ง ส่วนล่างเป็นกระดูกอ่อน)
มีคำแนะนำว่า..ลองทานผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม สับปะรด ฯ อาจช่วยได้บ้างนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก .... นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง
  
              Link     https://www.momyweb.com
  
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
  

                โรคเลือดกำเดาไหล

เลือดกำเดาไหล (Epistaxis)

เลือดกำเดาไหล คือ ภาวะที่มีเลือดออกทางจมูกทั้งทางด้านหน้าและด้านหลัง เกิดจากเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกและบริเวณใกล้เคียงฉีกขาด ภาวะนี้พบได้ทุกอายุ และเพศหญิงพบใกล้เคียงกับเพศชาย

เลือดกำเดาไหล แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ตามตำแหน่งที่หลอดเลือดฉีกขาด คือ

  1. เลือดออกทางส่วนหน้าของจมูก (Anterior epistaxis) : พบได้ 90 % ของเลือดกำเดาไหลทั้งหมด เกิดจากการฉีกขาดของเส้นเลือดบริเวณด้านหน้าของผนังกั้นช่องจมูก มักพบในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อย ส่วนใหญ่เกิดจากการแคะจมูก ผู้ป่วยจะมีอาการ คือ มีเลือดสด ๆ ไหลออกทางรูจมูกข้างเดียวหรือสองข้าง ถ้าเลือดออกมาก อาจมีเลือดบางส่วนไหลลงคอได้ (แยกจากภาวะเลือดออกจากส่วนหลังของจมูกได้โดย ในท่านั่งจะสังเกตว่า มีเลือดไหลออกทางจมูกมากกว่าไหลลงคอ) ภาวะนี้พบได้บ่อย แต่ไม่รุนแรง เพราะมีเลือดออกเพียงเล็กน้อย และสามารถห้ามเลือดได้ง่าย
  2. เลือดออกจากส่วนหลังของจมูก (Posterior epistaxis) : พบได้ 10 % ของเลือดกำเดาไหลทั้งหมด เกิดจากการฉีกขาดของเส้นเลือดบริเวณที่อยู่ลึกเข้าไปในโพรงจมูก มักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีสาเหตุจากความดันโลหิตสูงหรือเส้นเลือดแดงแข็งตัว ในกลุ่มนี้เลือดจะไหลออกมาเองโดยไม่มีปัจจัยนำมาก่อน ผู้ป่วยจะมีอาการ คือ รู้สึกว่ามีเลือดไหลลงไปในคอ แต่ถ้าเลือดออกมาก อาจมีเลือดบางส่วนไหลออกทางรูจมูกได้ ภาวะนี้พบได้น้อยกว่าแต่รุนแรงกว่า (เลือดออกปริมาณมากกว่าและห้ามเลือดได้ยากกว่าเลือดออกทางส่วนหน้าของจมูก)

ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ ในกรณีที่
  • มีเลือดกำเดาออกติดต่อกัน นานมากกว่า 20 นาที
  • เกิดเลือดกำเดาไหล ตามหลังอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ (อาจมีการแตกของฐานกระโหลกศีรษะ) และใบหน้า (อาจมีจมูกหัก)

สาเหตุ

  1. เกิดจากสาเหตุเฉพาะที่ในจมูก (Local condition) :
    • การระคายเคืองหรือบาดเจ็บต่อเยื่อบุจมูก ได้แก่ การแคะจมูก (ผู้ที่มีนิสัยชอบแคะจมูก จะมีน้ำมูกแห้งกรัง เมื่อแคะออกจะเกิดแผลถลอก จึงมีเลือดออกตามมา), การสั่งน้ำมูกแรง ๆ, การเปลี่ยนแปลงความกดอากาศอย่างรวดเร็ว เช่น ระหว่างขึ้นเครื่องบินหรือการดำน้ำ , การได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะและใบหน้า แล้วกระแทกโดนที่จมูกโดยตรงหรือโดนที่โพรงไซนัสซึ่งอยู่ข้างๆ ก็ทำให้มีเลือดออกได้, มีสิ่งแปลกปลอมในรูจมูก
    • การอักเสบและติดเชื้อที่บริเวณโพรงจมูก เช่น โพรงจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้หรือโรคหวัด จะทำให้มีเลือดมาเลี้ยงโพรงจมูกมากขึ้น จึงมีเลือดคั่งที่เยื่อบุจมูกและเยื่อบุโพรงอากาศข้างจมูก ถ้าสั่งน้ำมูกหรือจามรุนแรง อาจทำให้เลือดกำเดาไหลหรือมีน้ำมูกปนเลือด
    • ภาวะอากาศหนาว ความชื้นต่ำ : ทำให้เยื่อบุจมูกแห้ง มีแนวโน้มที่จะทำให้เลือดออกได้ง่าย
    • ผนังกั้นช่องจมูกคด : ผนังกั้นช่องจมูกมีการโค้งงอหรือเป็นสันแหลม ทำให้โพรงจมูกข้างนั้นมีพื้นที่แคบลง ลมหายใจหรืออากาศที่ผ่านเข้า-ออกจึงมากและเร็วกว่า ทำให้เยื่อบุจมูกแห้งมาก ทำให้เกิดสะเก็ดและมีเลือดออกได้ง่าย
    • เนื้องอกในจมูกหรือโพรงอากาศข้างจมูก : ทั้งชนิดเนื้อร้ายและเนื้อดี ก็อาจทำให้มีเลือดกำเดาไหลได้เช่นกัน
  2. เกิดจากสาเหตุทั่วไป (Secondary systemic condition) : เกิดจากโรคทางระบบอื่น ๆ เช่น
    • โรคความดันโลหิตสูงหรือเส้นเลือดแดงแข็งตัว (Atherosclerosis)
    • โรคเลือดที่ทำให้เลือดออกง่าย : เช่น การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ, ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ, การได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด, โรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดทั่วร่างกาย, ขาดวิตามินเค เป็นต้น ในกลุ่มนี้ ผู้ป่วยมักมีเลือดออกผิดปกติที่บริเวณอื่นร่วมด้วย เช่น เลือดออกตามไรฟันหรือมีจุดเลือดออกตามตัว เป็นต้น
    • มีการคั่งของเส้นเลือดดำ เช่น โรคตับแข็ง , โรคหัวใจ เป็นต้น
  3. ไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic or spontaneous epistaxis) : จากการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมโดยละเอียดแล้ว ไม่พบความผิดปกติที่น่าจะเป็นสาเหตุของเลือดกำเดาไหล
  1. การซักประวัติ เพื่อ
    • ประเมินความรุนแรงของการเสียเลือด = ปริมาณเลือดที่ออกในแต่ละครั้งและจำนวนครั้งที่เลือดออก
    • หาสาเหตุของเลือดกำเดาไหล เช่น การแคะจมูก, เป็นหวัด, มีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ, ประวัติได้รับอุบัติเหตุบริเวณศีรษะและใบหน้า, ยาที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำ, มีเลือดออกผิดปกติที่อื่นร่วมด้วย เป็นต้น
  2. การตรวจร่างกาย
    • ตรวจดูค่าสัญญาณชีพ เพื่อประเมินสภาวะทั่วไปของผู้ป่วยและเตรียมการช่วยเหลือ
    • ตรวจภายในโพรงจมูกด้วยไฟฉาย เพื่อหาตำแหน่งที่มีเลือดออก
    • ตรวจร่างกายระบบอื่น เพื่อหาว่ามีเลือดออกผิดปกติที่อื่นร่วมด้วยหรือไม่ และตรวจร่างกายหาโรคที่อาจเป็นสาเหตุของเลือดกำเดาไหล เช่น ตับแข็ง
  3. การส่งตรวจเพิ่มเติม
    • ตรวจเลือดหาความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดและเกร็ดเลือดที่ต่ำผิดปกติ
    • ตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับและไต ในกรณีที่สงสัยว่าเลือดกำเดาไหลจากโรคตับหรือไต
    • ส่องกล้องทางจมูกโดยแพทย์เฉพาะทางหูคอจมูก เพื่อดูว่าเลือดกำเดาที่ไหล ออกมาจากทางด้านหน้าหรือด้านหลังของช่องจมูก
    • การตรวจหาความผิดปกติของเส้นเลือดแดง โดยการใส่สายสวนเข้าไปในเส้นเลือดแดง

ถ้าเลือดออกมาก (โดยเฉพาะเลือดออกจากส่วนหลังของจมูก) อาจทำให้เกิดภาวะซีดหรือความดันโลหิตต่ำได้ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย

การดูแลในช่วงที่เลือดกำเดาไหล

  1. ให้การปฐมพยาบาลขั้นต้น
    • ให้ผู้ป่วยก้มหน้าลง แล้วใช้นิ้วชี้และหัวแม่มือบีบที่ปีกจมูกทั้งสองข้างให้แน่น เป็นเวลานาน 5–10 นาที ในขณะที่หายใจทางปากแทน วิธีนี้จะช่วยห้ามเลือดกำเดาชนิดเลือดออกทางส่วนหน้าของจมูกได้ดี
    • นั่งและโน้มตัวมาข้างหน้า เพื่อลดความดันของหลอดเลือดดำในโพรงจมูก จะช่วยให้เลือดออกน้อยลง และช่วยป้องกันการกลืนเลือดลงคอ ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้
    • นำน้ำแข็งหรือ coldpack มาประคบบริเวณหน้าผากหรือคอ เพื่อให้เลือดหยุด การประคบน้ำแข็งควรประคบนานประมาณ 10 นาที แล้วจึงเอาออกประมาณ 10 นาที แล้วค่อยประคบใหม่เป็นเวลา10 นาที ทำเช่นนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ
  2. ถ้าเลือดออกไม่หยุดหรือออกมากผิดปกติ ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ทันที แพทย์จะรักษาโดย
    • ทำการห้ามเลือด ด้วยวิธีใส่วัสดุห้ามเลือดในจมูก, จี้บริเวณที่เลือดออกด้วยสารเคมีหรือไฟฟ้า, การผ่าตัดผูกหลอดเลือดแดง เป็นต้น เพื่อให้เลือดหยุด
    • บางรายที่เลือดออกมากจนความดันโลหิตต่ำ อาจต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ หรือรายที่ซีด อาจจำเป็นต้องได้รับเลือด
    • หาสาเหตุที่ทำให้เกิดเลือดกำเดาไหล แล้วรักษาตามสาเหตุนั้น เพื่อให้เลือดหยุดไหลและป้องกันการกลับเป็นซ้ำอีก เช่น การปรับลดขนาดยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  3. แม้เลือดหยุดได้เอง แต่ถ้าเกิดขึ้นซ้ำบ่อยๆ ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ
    • การดูแลภายหลังจากที่เลือดกำเดาหยุดไหลแล้ว : เพื่อป้องกันเลือดออกซ้ำ
    • ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรก หลังเลือดกำเดาไหล ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรง ๆ, การแคะจมูก, การกระทบกระเทือนบริเวณจมูก, การออกแรงมาก, การเล่นกีฬาที่หักโหมหรือยกของหนัก เพราะอาจทำให้มีเลือดออกซ้ำได้
    • นอนพัก ยกศีรษะให้สูงกว่าระดับหัวใจ
  1. www.mayoclinic.com
  2. สุภาวดี ประคุณหังสิต และสมยศ คุณจักร. ตำราโสต ศอ นาสิก วิทยา.กรุงเทพฯ : โฮลิสติก พับลิชชิ่ง. พิมพ์ครั้งที่1. 2544 ; 201-211.
  3. Nosebleeds. American Academy of Otolaryngology — Head and Neck Surgery. https://www.entnet.org/HealthInformation/Nosebleeds.cfm. Accessed Oct. 22, 2009.
  4. Nosebleeds. American College of Emergency Physicians. https://www.emergencycareforyou.org/EmergencyManual/WhatToDoInMedicalEmergency/Default.aspx?id=260&terms=nosebleeds. Accessed Oct. 22, 2009.       

                Link      https://healthy.in.th

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

                 วิธีปฐมพยาบาลเลือดกำเดาไหล

วิธีปฐมพยาบาลเลือดกำเดาไหล

เลือดกำเดาไหลเกิดจากเส้นเลือดฝอยในจมูกแตก หรือเกิดแผลในจมูก
เมื่อเกิดอาการเลือดกำเดาไหลให้ทำดังนี้ค่ะ
1. ใช้มือบีบจมูก เพื่อกดแผลในจมูกให้ปิด
2. ให้ก้มหน้า เมื่อก่อนผู้ใหญ่มักจะบอกเราให้แหงนหน้าขึ้น แต่ความจริงแล้วถ้าหากแหงนหน้าขึ้นอาจทำให้เลือดไหลลงคอและจะทำให้สำลัก เลือดได้ คุณหมอจึงแนะนำให้ก้มหน้า
3. ใช้น้ำแข็งประคบที่สันจมูกเพื่อให้เลือดแข็งตัว และเลือดหยุดไหล
ถ้าหากทำตามขั้นตอนแล้วเลือดยังไม่หยุดไหลก็ควรไปพบแพทย์ค่ะ

             Link    https://www.clickazine.com

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ 

 

อัพเดทล่าสุด