เลือดกำเดาไหลเกิดจาก เลือดกำเดาไหลไม่หยุด วิธีรักษาเลือดกำเดาไหล
เลือดกำเดาไหลเกิดจาก
เลือดกำเดามาจากไหน?
ถึงแม้อุณหภูมิในหน้าร้อนจะสูงขึ้นสักเพียงไหน ก็ไม่เคยมาเป็นอุปสรรคขัดขวางความซนของเจ้าตัวแสบได้แม้แต่น้อย แต่…อ้าว! พูดยังไม่ทันขาดคำ เจ้าตัวเล็กก็ร้องไห้จ้า เพราะตกใจที่จู่ๆ ก็มีเลือดไหลออกจากจมูก คุณแม่ก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกตามลูกไปนะคะ เพราะหน้าร้อนแบบนี้ เด็กๆ เขาก็อาจมีเลือดกำเดาไหลกันได้บ้าง
สาเหตุที่เลือดกำเดาไหล
• ในเด็กผนังเยื่อบุโพรงจมูกจะบาง เมื่อเล่นกลางแจ้งนานๆ อุณหภูมิในร่างกายลูกจะสูงขึ้น เส้นเลือดฝอยเล็กๆ อาจเกิดการฉีกขาดทำให้เกิดอาการเลือดกำเดาไหลได้
• เกิดการกระทบกระเทือน เช่น วิ่งชน หกล้ม หรือแม้แต่การแคะแกะเกาจมูกของเจ้าตัวเล็ก ก็อาจทำให้เลือดกำเดาไหลได้
• ร่างกายขาดวิตามินซี ก็อาจทำให้เลือดกำเดาออกง่ายได้
• อาการป่วยจากระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด ทางเดินหายใจอักเสบ ไซนัสอักเสบ ที่ต้องรักษาตามอาการ
• ถ้าเลือดกำเดาไหล พร้อมกับมีอาการเลือดออกใต้ผิวหนังเป็นจ้ำๆ ตามตัว ควรพาไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นโรคเลือด เช่น ลูคีเมีย
วิธีปฐมพยาบาล
• โดยทั่วไปเลือดกำเดาจะหยุดไหลได้เองภายในไม่เกิน 5 นาที ซึ่งคุณแม่สามารถช่วยบรรเทาอาการให้ลูกได้โดยใช้กระดาษชำระม้วนเป็นแท่ง เล็กๆ อุดในรูจมูก ให้ลูกนั่งตัวตรงศีรษะอยู่สูงกว่าระดับหัวใจ และหายใจทางปาก
• หาผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณจมูก เพื่อทำให้เลือดแข็งตัว หยุดไหลเร็วขึ้น และส่วนหนึ่งช่วยลดอุณหภูมิร้อนในร่างกาย
ป้องกันไว้ก่อน
• หลีกเลี่ยงการพาลูกไปวิ่งเล่นกลางแจ้งนานๆ เมื่ออากาศร้อนจัด ก็แวะพักในร่มหรือตามใต้ต้นไม้บ้าง อุณหภูมิในร่างกายจะได้ไม่สูงมาก เพราะอากาศร้อน นอกจากจะทำให้เลือดกำเดาไหลได้แล้ว ลูกอาจเป็นไข้ได้
• อย่าให้ลูกแคะจมูกหรือสั่งน้ำมูกแรงๆ
• เสริมอาหารวิตามินซีสูง อาจนำมาประยุกต์เป็นเครื่องดื่มผลไม้ปั่น เช่น น้ำส้มปั่น สับปะรดปั่น หรือเต้าฮวยฟรุตสลัด ให้ลูกเป็นของว่างสำหรับหน้าร้อนนี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Tags: แม่และเด็ก
Link https://women.kapook.com/baby00341/
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
เลือดกำเดาไหลไม่หยุด
เลือดกำเดาไหล คือ ภาวะที่มีเลือดออกทางจมูกทั้งทางด้านหน้าและด้านหลัง เกิดจากเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกและบริเวณใกล้เคียงฉีกขาด ภาวะนี้พบได้ทุกอายุ และเพศหญิงพบใกล้เคียงกับเพศชาย
อาการ
เลือดกำเดาไหล แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ตามตำแหน่งที่หลอดเลือดฉีกขาด คือ
- เลือดออกทางส่วนหน้าของจมูก (Anterior epistaxis) : พบได้ 90 % ของเลือดกำเดาไหลทั้งหมด เกิดจากการฉีกขาดของเส้นเลือดบริเวณด้านหน้าของผนังกั้นช่องจมูก มักพบในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อย ส่วนใหญ่เกิดจากการแคะจมูก ผู้ป่วยจะมีอาการ คือ มีเลือดสด ๆ ไหลออกทางรูจมูกข้างเดียวหรือสองข้าง ถ้าเลือดออกมาก อาจมีเลือดบางส่วนไหลลงคอได้ (แยกจากภาวะเลือดออกจากส่วนหลังของจมูกได้โดย ในท่านั่งจะสังเกตว่า มีเลือดไหลออกทางจมูกมากกว่าไหลลงคอ) ภาวะนี้พบได้บ่อย แต่ไม่รุนแรง เพราะมีเลือดออกเพียงเล็กน้อย และสามารถห้ามเลือดได้ง่าย
- เลือดออกจากส่วนหลังของจมูก (Posterior epistaxis) : พบได้ 10 % ของเลือดกำเดาไหลทั้งหมด เกิดจากการฉีกขาดของเส้นเลือดบริเวณที่อยู่ลึกเข้าไปในโพรงจมูก มักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีสาเหตุจากความดันโลหิตสูงหรือเส้นเลือดแดงแข็งตัว ในกลุ่มนี้เลือดจะไหลออกมาเองโดยไม่มีปัจจัยนำมาก่อน ผู้ป่วยจะมีอาการ คือ รู้สึกว่ามีเลือดไหลลงไปในคอ แต่ถ้าเลือดออกมาก อาจมีเลือดบางส่วนไหลออกทางรูจมูกได้ ภาวะนี้พบได้น้อยกว่าแต่รุนแรงกว่า (เลือดออกปริมาณมากกว่าและห้ามเลือดได้ยากกว่าเลือดออกทางส่วนหน้าของจมูก)
ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ ในกรณีที่
- มีเลือดกำเดาออกติดต่อกัน นานมากกว่า 20 นาที
- เกิดเลือดกำเดาไหล ตามหลังอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ (อาจมีการแตกของฐานกระโหลกศีรษะ) และใบหน้า (อาจมีจมูกหัก)
สาเหตุ
- เกิดจากสาเหตุเฉพาะที่ในจมูก (Local condition) :
- การระคายเคืองหรือบาดเจ็บต่อเยื่อบุจมูก ได้แก่ การแคะจมูก (ผู้ที่มีนิสัยชอบแคะจมูก จะมีน้ำมูกแห้งกรัง เมื่อแคะออกจะเกิดแผลถลอก จึงมีเลือดออกตามมา), การสั่งน้ำมูกแรง ๆ, การเปลี่ยนแปลงความกดอากาศอย่างรวดเร็ว เช่น ระหว่างขึ้นเครื่องบินหรือการดำน้ำ , การได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะและใบหน้า แล้วกระแทกโดนที่จมูกโดยตรงหรือโดนที่โพรงไซนัสซึ่งอยู่ข้างๆ ก็ทำให้มีเลือดออกได้, มีสิ่งแปลกปลอมในรูจมูก
- การอักเสบและติดเชื้อที่บริเวณโพรงจมูก เช่น โพรงจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้หรือโรคหวัด จะทำให้มีเลือดมาเลี้ยงโพรงจมูกมากขึ้น จึงมีเลือดคั่งที่เยื่อบุจมูกและเยื่อบุโพรงอากาศข้างจมูก ถ้าสั่งน้ำมูกหรือจามรุนแรง อาจทำให้เลือดกำเดาไหลหรือมีน้ำมูกปนเลือด
- ภาวะอากาศหนาว ความชื้นต่ำ : ทำให้เยื่อบุจมูกแห้ง มีแนวโน้มที่จะทำให้เลือดออกได้ง่าย
- ผนังกั้นช่องจมูกคด : ผนังกั้นช่องจมูกมีการโค้งงอหรือเป็นสันแหลม ทำให้โพรงจมูกข้างนั้นมีพื้นที่แคบลง ลมหายใจหรืออากาศที่ผ่านเข้า-ออกจึงมากและเร็วกว่า ทำให้เยื่อบุจมูกแห้งมาก ทำให้เกิดสะเก็ดและมีเลือดออกได้ง่าย
- เนื้องอกในจมูกหรือโพรงอากาศข้างจมูก : ทั้งชนิดเนื้อร้ายและเนื้อดี ก็อาจทำให้มีเลือดกำเดาไหลได้เช่นกัน
- เกิดจากสาเหตุทั่วไป (Secondary systemic condition) : เกิดจากโรคทางระบบอื่น ๆ เช่น
- โรคความดันโลหิตสูงหรือเส้นเลือดแดงแข็งตัว (Atherosclerosis)
- โรคเลือดที่ทำให้เลือดออกง่าย : เช่น การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ, ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ, การได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด, โรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดทั่วร่างกาย, ขาดวิตามินเค เป็นต้น ในกลุ่มนี้ ผู้ป่วยมักมีเลือดออกผิดปกติที่บริเวณอื่นร่วมด้วย เช่น เลือดออกตามไรฟันหรือมีจุดเลือดออกตามตัว เป็นต้น
- มีการคั่งของเส้นเลือดดำ เช่น โรคตับแข็ง , โรคหัวใจ เป็นต้น
- ไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic or spontaneous epistaxis) : จากการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมโดยละเอียดแล้ว ไม่พบความผิดปกติที่น่าจะเป็นสาเหตุของเลือดกำเดาไหล
การวินิจฉัย
- การซักประวัติ เพื่อ
- ประเมินความรุนแรงของการเสียเลือด = ปริมาณเลือดที่ออกในแต่ละครั้งและจำนวนครั้งที่เลือดออก
- หาสาเหตุของเลือดกำเดาไหล เช่น การแคะจมูก, เป็นหวัด, มีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ, ประวัติได้รับอุบัติเหตุบริเวณศีรษะและใบหน้า, ยาที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำ, มีเลือดออกผิดปกติที่อื่นร่วมด้วย เป็นต้น
- การตรวจร่างกาย
- ตรวจดูค่าสัญญาณชีพ เพื่อประเมินสภาวะทั่วไปของผู้ป่วยและเตรียมการช่วยเหลือ
- ตรวจภายในโพรงจมูกด้วยไฟฉาย เพื่อหาตำแหน่งที่มีเลือดออก
- ตรวจร่างกายระบบอื่น เพื่อหาว่ามีเลือดออกผิดปกติที่อื่นร่วมด้วยหรือไม่ และตรวจร่างกายหาโรคที่อาจเป็นสาเหตุของเลือดกำเดาไหล เช่น ตับแข็ง
- การส่งตรวจเพิ่มเติม
- ตรวจเลือดหาความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดและเกร็ดเลือดที่ต่ำผิดปกติ
- ตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับและไต ในกรณีที่สงสัยว่าเลือดกำเดาไหลจากโรคตับหรือไต
- ส่องกล้องทางจมูกโดยแพทย์เฉพาะทางหูคอจมูก เพื่อดูว่าเลือดกำเดาที่ไหล ออกมาจากทางด้านหน้าหรือด้านหลังของช่องจมูก
- การตรวจหาความผิดปกติของเส้นเลือดแดง โดยการใส่สายสวนเข้าไปในเส้นเลือดแดง
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าเลือดออกมาก (โดยเฉพาะเลือดออกจากส่วนหลังของจมูก) อาจทำให้เกิดภาวะซีดหรือความดันโลหิตต่ำได้ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย
การรักษาและยา
การดูแลในช่วงที่เลือดกำเดาไหล
- ให้การปฐมพยาบาลขั้นต้น
- ให้ผู้ป่วยก้มหน้าลง แล้วใช้นิ้วชี้และหัวแม่มือบีบที่ปีกจมูกทั้งสองข้างให้แน่น เป็นเวลานาน 5–10 นาที ในขณะที่หายใจทางปากแทน วิธีนี้จะช่วยห้ามเลือดกำเดาชนิดเลือดออกทางส่วนหน้าของจมูกได้ดี
- นั่งและโน้มตัวมาข้างหน้า เพื่อลดความดันของหลอดเลือดดำในโพรงจมูก จะช่วยให้เลือดออกน้อยลง และช่วยป้องกันการกลืนเลือดลงคอ ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้
- นำน้ำแข็งหรือ coldpack มาประคบบริเวณหน้าผากหรือคอ เพื่อให้เลือดหยุด การประคบน้ำแข็งควรประคบนานประมาณ 10 นาที แล้วจึงเอาออกประมาณ 10 นาที แล้วค่อยประคบใหม่เป็นเวลา10 นาที ทำเช่นนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ
- ถ้าเลือดออกไม่หยุดหรือออกมากผิดปกติ ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ทันที แพทย์จะรักษาโดย
- ทำการห้ามเลือด ด้วยวิธีใส่วัสดุห้ามเลือดในจมูก, จี้บริเวณที่เลือดออกด้วยสารเคมีหรือไฟฟ้า, การผ่าตัดผูกหลอดเลือดแดง เป็นต้น เพื่อให้เลือดหยุด
- บางรายที่เลือดออกมากจนความดันโลหิตต่ำ อาจต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ หรือรายที่ซีด อาจจำเป็นต้องได้รับเลือด
- หาสาเหตุที่ทำให้เกิดเลือดกำเดาไหล แล้วรักษาตามสาเหตุนั้น เพื่อให้เลือดหยุดไหลและป้องกันการกลับเป็นซ้ำอีก เช่น การปรับลดขนาดยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- แม้เลือดหยุดได้เอง แต่ถ้าเกิดขึ้นซ้ำบ่อยๆ ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ
- การดูแลภายหลังจากที่เลือดกำเดาหยุดไหลแล้ว : เพื่อป้องกันเลือดออกซ้ำ
- ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรก หลังเลือดกำเดาไหล ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรง ๆ, การแคะจมูก, การกระทบกระเทือนบริเวณจมูก, การออกแรงมาก, การเล่นกีฬาที่หักโหมหรือยกของหนัก เพราะอาจทำให้มีเลือดออกซ้ำได้
- นอนพัก ยกศีรษะให้สูงกว่าระดับหัวใจ
แหล่งอ้างอิง
- www.mayoclinic.com
- สุภาวดี ประคุณหังสิต และสมยศ คุณจักร. ตำราโสต ศอ นาสิก วิทยา.กรุงเทพฯ : โฮลิสติก พับลิชชิ่ง. พิมพ์ครั้งที่1. 2544 ; 201-211.
- Nosebleeds. American Academy of Otolaryngology — Head and Neck Surgery. https://www.entnet.org/HealthInformation/Nosebleeds.cfm. Accessed Oct. 22, 2009.
- Nosebleeds. American College of Emergency Physicians. https://www.emergencycareforyou.org/EmergencyManual/WhatToDoInMedicalEmergency/Default.aspx?id=260&terms=nosebleeds. Accessed Oct. 22, 2009.
Link https://healthy.in.th/disease/epistaxis/
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
วิธีรักษาเลือดกำเดาไหล
เลือดกำเดาไหล
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เลือดกำเดาไหล คือภาวะที่มีเลือดออกทางจมูก เกิดจากเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก ทำให้มีเลือดไหลออกข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ อาจเกิดจากส่วนหน้าหรือส่วนหลังของจมูก พบได้ทุกอายุทั้งเพศหญิงและชาย เลือดออกทางส่วนหน้าของจมูกมักพบในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อย เลือดออกจาก ส่วนหลังมักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีสาเหตุจากความดันโลหิตสูง
สาเหตุที่ทำให้เกิดเลือดกำเดาไหล
1. จากการระคายเคืองหรือบาดเจ็บต่อเยื่อบุจมูก ได้แก่ การแคะจมูก ผู้ที่มีนิสัยชอบแคะจมูกจะมีน้ำมูกแห้งกรัง เมื่อแคะออกจะเกิดแผลถลอก การสั่งน้ำมูกแรง ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศอย่างเร็ว เช่นระหว่างขึ้นเครื่องบินหรือการดำน้ำ อาจมีผลให้เกิดเลือดออกในโพรงอากาศข้างจมูกและมีเลือดกำเดาไหล นอกจากนี้ยังเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะและใบหน้า อาจโดนที่จมูกโดยตรงหรือโพรงไซนัส ทำให้มีเลือดออกได้
2. การอักเสบในช่องจมูก ได้แก่ ภาวะติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หรือโรคแพ้อากาศ ซึ่งมีเลือดคั่งที่เยื่อบุจมูกและเยื่อบุโพรงอากาศข้างจมูก ถ้ามีการสั่งน้ำมูก อาจทำให้เลือดกำเดาไหล มีน้ำมูกปนเลือด ส่วนภาวะอากาศหนาว ความชื้นต่ำ จะทำให้เยื่อบุจมูกแห้ง มีแนวโน้มที่จะทำให้เลือดออกได้ง่าย
3. การผิดรูปของผนังกั้นช่องจมูก มีการโค้งงอหรือเป็นสันแหลม ทำให้มีน้ำมูกแห้งกรัง เมื่อแคะจะมีเลือดออกได้
4. เนื้องอกในจมูกหรือโพรงอากาศข้างจมูก ทั้งชนิดร้ายและไม่ร้าย ก็อาจทำให้มีเลือดกำเดาไหลได้เช่นกัน
5. โรคทางระบบอื่น ๆ ได้แก่ โรคเลือดที่ทำให้เลือดออกง่าย เช่น การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ, ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ, การได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด , โรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดทั่วร่างกาย หรือความดันโลหิตสูง ทำให้เส้นเลือดแตกได้
การรักษา
ขั้นต้นให้ผู้ป่วยเงยหน้าหรือก้มหน้าลง ใช้นิ้วชี้และหัวแม่มือบีบปีกจมูกทั้งสองข้างให้แน่นเป็นเวลา 5 – 10 นาที ให้หายใจทางปากแทน อาจวางผ้าเย็นหรือถุงน้ำแข็งบนดั้งจมูกด้วยก็ได้ ถ้าเลือดไม่หยุดไหลควรรีบมาพบแพทย์ อาจต้องทำการห้ามเลือดด้วยวิธีจี้บริเวณที่เลือดออกด้วยสารเคมีหรือไฟฟ้า , การใส่วัสดุห้ามเลือดในจมูก หรือการผูกหลอดเลือดแดง เพื่อให้เลือดหยุด และหาสาเหตุ แล้วรักษาตามสาเหตุนั้น ๆ เช่น
1. สาเหตุที่เกิดจากการระคายเคืองหรือบาดเจ็บต่อเยื่อบุจมูก ควรหลีกเลี่ยงการแคะจมูก หรือสั่งน้ำมูกแรง ๆ และ ถ้ามีการอักเสบของโพรงไซนัสหรือแพ้อากาศก็รักษาโรคนั้น
2. ถ้ามีความดันโลหิตสูง ก็ต้องควบคุมความดันให้ปกติ
3. ถ้ามีความผิดปกติของผนังกั้นช่องจมูก หรือเป็นริดสีดวงจมูก หรือเป็นก้อนเนื้องอก อาจรักษาด้วยการผ่าตัด
4. ถ้ามีตับม้ามโตหรือจุดจ้ำเลือดออก ต้องตรวจหาความผิดปกติและรักษาทางโรคเลือด
5. ถ้ารับประทานยาที่อาจทำให้เลือดหยุดยาก เช่น แอสไพริน ควรแจ้งแพทย์ทราบด้วย
คำแนะนำ ควรมาพบแพทย์เมื่อ เลือดกำเดาไหลไม่หยุด หรือ มีอาการเลือดกำเดาไหลบ่อย ๆ
Link https://www.zazana.com/Health-/id617.aspx
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++