สาเหตุเลือดกำเดาไหล อาการเลือดกำเดาไหล ภาพการปฐมพยาบาลเลือดกำเดา


76,120 ผู้ชม


สาเหตุเลือดกำเดาไหล อาการเลือดกำเดาไหล ภาพการปฐมพยาบาลเลือดกำเดา

                   สาเหตุเลือดกำเดาไหล

 เลือดกำเดาไหล

ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน
  ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            เลือด กำเดาไหล คือภาวะที่มีเลือดออกทางจมูก เกิดจากเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูกแตก ทำให้มีเลือดไหลออกข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ อาจไหลจากส่วนหน้าหรือส่วนหลังของจมูก พบได้ทุกอายุทั้งเพศหญิงและชาย เลือดออกทางส่วนหน้าของจมูกมักพบในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อย เลือดออกจากส่วนหลังของจมูกมักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีสาเหตุจากความดันโลหิตสูง

รูปที่ 1

รูปที่ 2

รูปที่ 3


สาเหตุที่ทำให้เกิดเลือดกำเดาไหล
            1.การ ระคายเคือง หรือบาดเจ็บต่อเยื่อบุจมูก ได้แก่ การแคะจมูก ผู้ที่มีนิสัยชอบแคะจมูกจะมีน้ำมูกแห้งกรัง เมื่อแคะออกจะเกิดแผลถลอก การสั่งน้ำมูกแรง ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศอย่างเร็ว เช่น ระหว่างขึ้นเครื่องบินหรือการดำน้ำ อาจมีผลให้เกิดเลือดออกในโพรงอากาศข้างจมูกและมีเลือดกำเดาไหล นอกจากนี้ยังเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะและใบหน้า อาจโดนที่จมูกโดยตรงหรือโพรงไซนัส ทำให้มีเลือดออกได้
            2.การ อักเสบในช่องจมูก ได้แก่ ภาวะติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หรือโรคแพ้อากาศ ซึ่งมีเลือดคั่งที่เยื่อบุจมูกและเยื่อบุโพรงอากาศข้างจมูก ถ้าสั่งน้ำมูกหรือจามรุนแรง อาจทำให้เลือดกำเดาไหล มีน้ำมูกปนเลือด ส่วนภาวะอากาศหนาว ความชื้นต่ำ จะทำให้เยื่อบุจมูกแห้ง มีแนวโน้มที่จะทำให้เลือดออกได้ง่าย
            3.ผนัง กั้นช่องจมูกคด มีการโค้งงอหรือเป็นสันแหลม ผู้ป่วยมักมีเลือดกำเดาไหลข้างที่มีผนังกั้นช่องจมูกคดหรือข้างที่แคบ เนื่องจากข้างที่แคบนั้น มีลมหายใจหรืออากาศผ่านเข้า-ออกมากและเร็วกว่า ทำให้เยื่อบุจมูกแห้งมากทำให้เกิดสะเก็ดและมีเลือดออกได้ง่าย 
            4.เนื้องอกในจมูกหรือโพรงอากาศข้างจมูก ทั้งชนิดร้ายและไม่ร้าย ก็อาจทำให้มีเลือดกำเดาไหลได้เช่นกัน
            5.โรคทางระบบอื่น ๆ ได้แก่ โรคเลือดที่ทำให้เลือดออกง่าย เช่น การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ,ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ,การได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด,โรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดทั่วร่างกาย หรือความดันโลหิตสูง ทำให้เส้นเลือดแตกได้

การรักษา
            1.ขั้นต้นให้ผู้ป่วยเงยหน้าหรือก้มหน้าลง ใช้นิ้วชี้และหัวแม่มือบีบปีกจมูกทั้งสองข้างให้แน่นเป็นเวลา 5–10 นาที ให้หายใจทางปากแทน อาจวางผ้าเย็นหรือถุงน้ำแข็งบนดั้งจมูกด้วยก็ได้  
            2.หลังเลือดกำเดาไหล ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรก ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรง ๆ การแคะจมูก,การกระทบกระเทือนบริเวณจมูก,การออกแรงมาก,การเล่นกีฬาที่หักโหมหรือยกของหนัก เพราะอาจทำให้มีเลือดออกได้    
            3.ถ้าเลือดหยุดแล้วควรนอนพัก ยกศีรษะสูง นำน้ำแข็งหรือ coldpack มาประคบบริเวณหน้าผากหรือคอ อมน้ำแข็งเพื่อให้เลือดหยุด การประคบหรืออมน้ำแข็งควรประคบหรืออมประมาณ 10 นาที แล้วจึงเอาออกประมาณ 10 นาที แล้วค่อยประคบหรืออมใหม่เป็นเวลา10 นาที ทำเช่นนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ   
            4.ถ้าเลือดออกไม่หยุดหรือออกมากผิดปกติ ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ทันที อาจต้องทำการห้ามเลือดด้วยวิธีจี้บริเวณที่เลือดออกด้วยสารเคมีหรือไฟฟ้า,การ ใส่วัสดุห้ามเลือดในจมูก หรือการผูกหลอดเลือดแดง เพื่อให้เลือดหยุด หาสาเหตุ แล้วรักษาตามสาเหตุนั้น แม้เลือดหยุดได้เองก็ควรไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ

              Link    https://www.si.mahidol.ac.th

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

              อาการเลือดกำเดาไหล  

อาการ

เลือดกำเดาไหล แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ตามตำแหน่งที่หลอดเลือดฉีกขาด คือ

  1. เลือดออกทางส่วนหน้าของจมูก (Anterior epistaxis) : พบได้ 90 % ของเลือดกำเดาไหลทั้งหมด เกิดจากการฉีกขาดของเส้นเลือดบริเวณด้านหน้าของผนังกั้นช่องจมูก มักพบในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอายุน้อย ส่วนใหญ่เกิดจากการแคะจมูก ผู้ป่วยจะมีอาการ คือ มีเลือดสด ๆ ไหลออกทางรูจมูกข้างเดียวหรือสองข้าง ถ้าเลือดออกมาก อาจมีเลือดบางส่วนไหลลงคอได้ (แยกจากภาวะเลือดออกจากส่วนหลังของจมูกได้โดย ในท่านั่งจะสังเกตว่า มีเลือดไหลออกทางจมูกมากกว่าไหลลงคอ) ภาวะนี้พบได้บ่อย แต่ไม่รุนแรง เพราะมีเลือดออกเพียงเล็กน้อย และสามารถห้ามเลือดได้ง่าย
  2. เลือดออกจากส่วนหลังของจมูก (Posterior epistaxis) : พบได้ 10 % ของเลือดกำเดาไหลทั้งหมด เกิดจากการฉีกขาดของเส้นเลือดบริเวณที่อยู่ลึกเข้าไปในโพรงจมูก มักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีสาเหตุจากความดันโลหิตสูงหรือเส้นเลือดแดงแข็งตัว ในกลุ่มนี้เลือดจะไหลออกมาเองโดยไม่มีปัจจัยนำมาก่อน ผู้ป่วยจะมีอาการ คือ รู้สึกว่ามีเลือดไหลลงไปในคอ แต่ถ้าเลือดออกมาก อาจมีเลือดบางส่วนไหลออกทางรูจมูกได้ ภาวะนี้พบได้น้อยกว่าแต่รุนแรงกว่า (เลือดออกปริมาณมากกว่าและห้ามเลือดได้ยากกว่าเลือดออกทางส่วนหน้าของจมูก)

ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ ในกรณีที่
  • มีเลือดกำเดาออกติดต่อกัน นานมากกว่า 20 นาที
  • เกิดเลือดกำเดาไหล ตามหลังอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ (อาจมีการแตกของฐานกระโหลกศีรษะ) และใบหน้า (อาจมีจมูกหัก)

สาเหตุ

  1. เกิดจากสาเหตุเฉพาะที่ในจมูก (Local condition) :
    • การระคายเคืองหรือบาดเจ็บต่อเยื่อบุจมูก ได้แก่ การแคะจมูก (ผู้ที่มีนิสัยชอบแคะจมูก จะมีน้ำมูกแห้งกรัง เมื่อแคะออกจะเกิดแผลถลอก จึงมีเลือดออกตามมา), การสั่งน้ำมูกแรง ๆ, การเปลี่ยนแปลงความกดอากาศอย่างรวดเร็ว เช่น ระหว่างขึ้นเครื่องบินหรือการดำน้ำ , การได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะและใบหน้า แล้วกระแทกโดนที่จมูกโดยตรงหรือโดนที่โพรงไซนัสซึ่งอยู่ข้างๆ ก็ทำให้มีเลือดออกได้, มีสิ่งแปลกปลอมในรูจมูก
    • การอักเสบและติดเชื้อที่บริเวณโพรงจมูก เช่น โพรงจมูกอักเสบจากโรคภูมิแพ้หรือโรคหวัด จะทำให้มีเลือดมาเลี้ยงโพรงจมูกมากขึ้น จึงมีเลือดคั่งที่เยื่อบุจมูกและเยื่อบุโพรงอากาศข้างจมูก ถ้าสั่งน้ำมูกหรือจามรุนแรง อาจทำให้เลือดกำเดาไหลหรือมีน้ำมูกปนเลือด
    • ภาวะอากาศหนาว ความชื้นต่ำ : ทำให้เยื่อบุจมูกแห้ง มีแนวโน้มที่จะทำให้เลือดออกได้ง่าย
    • ผนังกั้นช่องจมูกคด : ผนังกั้นช่องจมูกมีการโค้งงอหรือเป็นสันแหลม ทำให้โพรงจมูกข้างนั้นมีพื้นที่แคบลง ลมหายใจหรืออากาศที่ผ่านเข้า-ออกจึงมากและเร็วกว่า ทำให้เยื่อบุจมูกแห้งมาก ทำให้เกิดสะเก็ดและมีเลือดออกได้ง่าย
    • เนื้องอกในจมูกหรือโพรงอากาศข้างจมูก : ทั้งชนิดเนื้อร้ายและเนื้อดี ก็อาจทำให้มีเลือดกำเดาไหลได้เช่นกัน
  2. เกิดจากสาเหตุทั่วไป (Secondary systemic condition) : เกิดจากโรคทางระบบอื่น ๆ เช่น
    • โรคความดันโลหิตสูงหรือเส้นเลือดแดงแข็งตัว (Atherosclerosis)
    • โรคเลือดที่ทำให้เลือดออกง่าย : เช่น การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ, ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ, การได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด, โรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดทั่วร่างกาย, ขาดวิตามินเค เป็นต้น ในกลุ่มนี้ ผู้ป่วยมักมีเลือดออกผิดปกติที่บริเวณอื่นร่วมด้วย เช่น เลือดออกตามไรฟันหรือมีจุดเลือดออกตามตัว เป็นต้น
    • มีการคั่งของเส้นเลือดดำ เช่น โรคตับแข็ง , โรคหัวใจ เป็นต้น
  3. ไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic or spontaneous epistaxis) : จากการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมโดยละเอียดแล้ว ไม่พบความผิดปกติที่น่าจะเป็นสาเหตุของเลือดกำเดาไหล

การวินิจฉัย

  1. การซักประวัติ เพื่อ
    • ประเมินความรุนแรงของการเสียเลือด = ปริมาณเลือดที่ออกในแต่ละครั้งและจำนวนครั้งที่เลือดออก
    • หาสาเหตุของเลือดกำเดาไหล เช่น การแคะจมูก, เป็นหวัด, มีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ, ประวัติได้รับอุบัติเหตุบริเวณศีรษะและใบหน้า, ยาที่ผู้ป่วยใช้เป็นประจำ, มีเลือดออกผิดปกติที่อื่นร่วมด้วย เป็นต้น
  2. การตรวจร่างกาย
    • ตรวจดูค่าสัญญาณชีพ เพื่อประเมินสภาวะทั่วไปของผู้ป่วยและเตรียมการช่วยเหลือ
    • ตรวจภายในโพรงจมูกด้วยไฟฉาย เพื่อหาตำแหน่งที่มีเลือดออก
    • ตรวจร่างกายระบบอื่น เพื่อหาว่ามีเลือดออกผิดปกติที่อื่นร่วมด้วยหรือไม่ และตรวจร่างกายหาโรคที่อาจเป็นสาเหตุของเลือดกำเดาไหล เช่น ตับแข็ง
  3. การส่งตรวจเพิ่มเติม
    • ตรวจเลือดหาความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดและเกร็ดเลือดที่ต่ำผิดปกติ
    • ตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับและไต ในกรณีที่สงสัยว่าเลือดกำเดาไหลจากโรคตับหรือไต
    • ส่องกล้องทางจมูกโดยแพทย์เฉพาะทางหูคอจมูก เพื่อดูว่าเลือดกำเดาที่ไหล ออกมาจากทางด้านหน้าหรือด้านหลังของช่องจมูก
    • การตรวจหาความผิดปกติของเส้นเลือดแดง โดยการใส่สายสวนเข้าไปในเส้นเลือดแดง

ภาวะแทรกซ้อน

ถ้าเลือดออกมาก (โดยเฉพาะเลือดออกจากส่วนหลังของจมูก) อาจทำให้เกิดภาวะซีดหรือความดันโลหิตต่ำได้ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย

การรักษาและยา

การดูแลในช่วงที่เลือดกำเดาไหล

  1. ให้การปฐมพยาบาลขั้นต้น
    • ให้ผู้ป่วยก้มหน้าลง แล้วใช้นิ้วชี้และหัวแม่มือบีบที่ปีกจมูกทั้งสองข้างให้แน่น เป็นเวลานาน 5–10 นาที ในขณะที่หายใจทางปากแทน วิธีนี้จะช่วยห้ามเลือดกำเดาชนิดเลือดออกทางส่วนหน้าของจมูกได้ดี
    • นั่งและโน้มตัวมาข้างหน้า เพื่อลดความดันของหลอดเลือดดำในโพรงจมูก จะช่วยให้เลือดออกน้อยลง และช่วยป้องกันการกลืนเลือดลงคอ ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้
    • นำน้ำแข็งหรือ coldpack มาประคบบริเวณหน้าผากหรือคอ เพื่อให้เลือดหยุด การประคบน้ำแข็งควรประคบนานประมาณ 10 นาที แล้วจึงเอาออกประมาณ 10 นาที แล้วค่อยประคบใหม่เป็นเวลา10 นาที ทำเช่นนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ
  2. ถ้าเลือดออกไม่หยุดหรือออกมากผิดปกติ ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ทันที แพทย์จะรักษาโดย
    • ทำการห้ามเลือด ด้วยวิธีใส่วัสดุห้ามเลือดในจมูก, จี้บริเวณที่เลือดออกด้วยสารเคมีหรือไฟฟ้า, การผ่าตัดผูกหลอดเลือดแดง เป็นต้น เพื่อให้เลือดหยุด
    • บางรายที่เลือดออกมากจนความดันโลหิตต่ำ อาจต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ หรือรายที่ซีด อาจจำเป็นต้องได้รับเลือด
    • หาสาเหตุที่ทำให้เกิดเลือดกำเดาไหล แล้วรักษาตามสาเหตุนั้น เพื่อให้เลือดหยุดไหลและป้องกันการกลับเป็นซ้ำอีก เช่น การปรับลดขนาดยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  3. แม้เลือดหยุดได้เอง แต่ถ้าเกิดขึ้นซ้ำบ่อยๆ ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ
    • การดูแลภายหลังจากที่เลือดกำเดาหยุดไหลแล้ว : เพื่อป้องกันเลือดออกซ้ำ
    • ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรก หลังเลือดกำเดาไหล ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรง ๆ, การแคะจมูก, การกระทบกระเทือนบริเวณจมูก, การออกแรงมาก, การเล่นกีฬาที่หักโหมหรือยกของหนัก เพราะอาจทำให้มีเลือดออกซ้ำได้
    • นอนพัก ยกศีรษะให้สูงกว่าระดับหัวใจ

แหล่งอ้างอิง

  1. www.mayoclinic.com
  2. สุภาวดี ประคุณหังสิต และสมยศ คุณจักร. ตำราโสต ศอ นาสิก วิทยา.กรุงเทพฯ : โฮลิสติก พับลิชชิ่ง. พิมพ์ครั้งที่1. 2544 ; 201-211.
  3. Nosebleeds. American Academy of Otolaryngology — Head and Neck Surgery. https://www.entnet.org/HealthInformation/Nosebleeds.cfm. Accessed Oct. 22, 2009.
  4. Nosebleeds. American College of Emergency Physicians. https://www.emergencycareforyou.org/EmergencyManual/WhatToDoInMedicalEmergency/Default.aspx?id=260&terms=nosebleeds. Accessed Oct. 22, 2009.

               Link   https://healthy.in.th/disease/epistaxis/

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

                    ภาพการปฐมพยาบาลเลือดกำเดา  

อาการเลือดออกทางจมูกหรือที่เรียกว่า "เลือดกำเดา" (เพื่อให้แปลกไปจากเลือดออกทางบาดแผล) นั้น นับว่าเกิดได้บ่อย จนคิดว่าทุกบ้านทุกครัวเรือนรู้จักอาการนี้ดี
หลาย ท่านอาจจะบอกว่าลูกของท่านเคยเลือดกำเดาไหลตอนนอน รุ่งเช้าเห็นเลือดเปื้อนหมอนแดงเถือก เด็กบางคนชอบแคะจมูก แกะไปแกะมาเลือดกำเดาก็ไหลออกมา บางคนเป็นหวัด สั่งน้ำมูกบ่อยๆ เลือดกำเดาก็ออก เด็กๆ บางทีหกล้มจมูกกระแทกพื้นเลือดกำเดาก็ออกได้เหมือนกัน ผู้ใหญ่บางคนอยู่ๆ เลือดกำเดาไหลออกมาเอง วัดความดันโลหิตดูก็ต้องตกใจ เพราะสูงกว่าปกติจาก 140 กลายเป็น 200
เหล่านี้ล้วนเป็นกรณีที่พบเลือดกำเดาออกอยู่บ่อยๆ
เลือดกำเดามาจากไหน ? อาจเป็นคำถามที่ท่านนึกอยู่ในใจ
คำ ตอบว่ามาจากจมูก…คงไม่ใช่ เพราะใครๆ เขาก็รู้กันทั้งนั้นแหละ คงต้องขยายความสักหน่อย ผมขอเจาะลึกลงไปยังแหล่งของเลือดที่ออกเลยว่า เลือดกำเดาส่วนใหญ่ออกมาจากเส้นเลือดฝอย ที่มาเลี้ยงเยื่อบุจมูกครับ ส่วนใหญ่จะอยู่ไม่ลึกจากปลายจมูกเท่าใดนัก
บางกรณีเลือด กำเดาออกจากเส้นเลือดแดงขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุจมูก หรืออกจากติ่งเนื้องอกในจมูกก็มี หรือกรณีเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะอย่างรุนแรงจนกะโหลกร้าว ก็ทำให้เลือดออกทางจมูกได้ครับ
สาเหตุต่างๆ ที่เลือดกำเดาไหล
ผมขอสรุปดังนี้ครับ
1. จากการระคายเคืองหรือบาดเจ็บต่อเยื่อบุจมูก
สาเหตุ นี้ ได้แก่ การแคะจมูก การสั่งน้ำมูกแรงๆ หรืออยู่ในที่ที่อากาศแห้งเป็นเวลานาน บางคนนั่งเครื่องบินต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง อากาศในเครื่องบินที่แห้งมาก มีความชื้นต่ำ ทำให้เยื่อจมูกแห้งและเปราะ เลยเกิดเลือดออกได้
2. จากเนื้องอกในจมูก ริดสีดวงจมูก เยื่อจมูกอักเสบเรื้อรังจากโรคภูมิแพ้
พวก นี้เป็นโรคของจมูก เป็นแล้วเรื้อรัง เลือดกำเดาไหลเป็นอาการอย่างหนึ่งของโรคเหล่านี้ มักเป็นๆ หายๆ บางช่วงเป็นมาก บางช่วงเป็นน้อย ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ หรือสิ่งที่แพ้ที่แขวนลอยอยู่ในอากาศครับ
3. ความดันโลหิตสูง
โรค นี้พบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยกลางคนและสูงอายุ ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง อาจมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ เนื่องด้วยสาเหตุทางพันธุกรรมครับ บางคนเลือดกำเดาไหล เลยทำให้รู้ว่าเป็นความดันโลหิตสูง ก่อนหน้าที่สบายดี ไม่เคยวัดความดันเลย จึงไม่รู้ว่าเป็น กรณีนี้เรียกได้ว่า เลือดกำเดาเป็นสัญญาณแจ้งเหตุให้รู้โรคที่อยู่เบื้องหลัง
4. โรคเลือดออกง่าย
โรค เลือดและอีกหลายโรคที่มีอาการของโรคคือ ภาวะเลือดออกง่าย ฉะนั้นการที่เลือดกำเดาไหล อาจเป็นอาการแสดงของภาวะเลือดออกง่าย ความผิดปกติของเกล็ดเลือด หรือกลไกการแข็งตัวของเลือด สามารถทำให้เลือดกำเดาไหลได้
5. การบาดเจ็บที่ศีรษะ
อาจ เป็นการบาดเจ็บที่บริเวณจมูกโดยตรง เช่น จมูกกระแทกของแข็งหรือของมีคมทิ่มตำ หรือบาดเจ็บบริเวณข้างเคียง รวมถึงกะโหลกศีรษะ กรณีรุนแรง-กะโหลกศีรษะร้าว อาจมีเลือดปนน้ำใสๆ ไหลออกทางจมูกหรือทางหูด้วยก็ได้ครับ น้ำใสๆ ที่ไหลปนออกมานั้นคือ น้ำหล่อเลี้ยงสมองครับ เมื่อกะโหลกศีรษะแตกน้ำนี้จึงซึมไหลออกมาได้

การรักษา
หลักการที่สำคัญของการรักษาก็คือ การค้นหาสาเหตุ แล้วรักษาตามสาเหตุนั้นๆ ครับ
สาเหตุที่ 1 ต้อง แนะนำเด็กๆ ให้หลีกเลี่ยงการแคะจมูกหรือสั่งน้ำมูกแรงๆ วิธีสั่งน้ำมูกที่ถูกต้องคือ กดจมูกข้างหนึ่งเบาๆ แล้วสั่งน้ำมูกออกทางรูจมูกอีกข้าง อย่าสั่งแรงมากหรือกดจมูกอีกข้างจนแน่น เพราะจะทำให้เกิดแรงดันสูงขึ้น หูส่วนกลาง แก้วหูอาจแตกได้ หรือเชื้อโรคในจมูกอาจถูกดันเข้าไปในช่องหูหรือโพรงไซนัสได้ครับ
เด็กที่แพ้อากาศ เป็นหวัดบ่อยๆ รีบรักษาหวัดหรือแพ้อากาศให้ถูกต้อง อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง เลือดกำเดาจะหายไปได้เองครับ
สาเหตุที่ 2 อาจต้องผ่าตัด เอาเนื้องอกหรือริดสีดวงจมูกออกครับ รักษาด้วยยาอย่างเดียวคงไม่พอ
ยา รักษาเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ได้พัฒนาดีขึ้นมาก ในปัจจุบันมียารับประทานและยาพ่นจมูกด้วย ขอให้ติดตามการรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิดครับ
สาเหตุที่ 3 ความ ดันโลหิตสูง ต้องให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุและรักษาตามความเหมาะสมอย่างต่อเนื่องครับ ส่วนใหญ่แล้วต้องรักษาตลอดไป หยุดไม่ได้ ความดันจะกลับมาสูงอีก
สาเหตุที่ 4 มี หลายภาวะมากเลยที่นำไปสู่ภาวะเลือดออกง่าย แพทย์จะตรวจค้นหาสาเหตุอย่างละเอียด แล้วให้การรักษาครับ เพราะบางโรคก็ร้ายแรงเอาการทีเดียว…ระดับมะเร็งเลยก็มีครับ
สาเหตุที่ 5 คงต้องตรวจเอกซเรย์ หรือตรวจพิเศษอื่นๆ หลายอย่างครับ เพื่อดูว่าบาดเจ็บต่ออวัยวะส่วนใดบ้าง จะได้ซ่อมแซมหรือผ่าตัดตามความเหมาะสม

การปฐมพยาบาลเลือดกำเดาไหล
ผมขอแนะนำวิธีห้ามเลือดกำเดาไหลที่เกิดขึ้นในบ้าน ไม่ใช่อุบัติเหตุหรือบาดเจ็บร้ายแรง ดังนี้ครับ
1. ให้เด็กหรือผู้ที่มีเลือดกำเดาไหลนั่งโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย
2. บีบจมูกด้วยนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ตรงบริเวณที่สูงเลยปลายจมูกขึ้นไปเล็กน้อย
3. ให้อ้าปากเพื่อหายใจทางปากแทนจมูก
4. บีบจมูกให้แน่นไว้ตลอดเวลา สัก 6-10 นาที ต้องบีบตลอดเวลานะครับ อย่าบีบๆ ปล่อยๆ เพราะจะทำให้เลือดหยุดไหลช้า
5. อาจวางผ้าเย็นหรือถุงน้ำแข็งบริเวณดั้งจมูกด้วยก็ได้ขณะที่บีบจมูกอยู่ การวางผ้าเย็นหรือถุงน้ำแข็งอย่างเดียวได้ผลน้อยกว่าการบีบจมูกครับ
ว่างๆ ลองซ้อมทำดูบ้างก็ดีนะครับ เผื่อเกิดเหตุการณ์จริงจะได้ทำได้คล่องแคล่ว ไม่เก้งก้าง

                        Link   www.oknation.net

เลือดกำเดา 

  1. ให้นั่งนิ่ง หงายศรีษะไปด้านหลัง หรือนอนหนุนไหล่หรือศีรษะให้สูง
  2. ใช้ผ้าสะอาดม้วนอุดรูจมูกข้างนั้น หรือใช้มือบีบจมูกทั้งสองข้าง ให้หายใจทางปากแทน
  3. วางน้ำแข็งหรือผ้าเญ้นบนสันจมูก หน้าผากใต้ยากระไกร
  4. ถ้าเลือดไม่หยุด ควรรีบไปพบแพทย์
  5. ถ้าออกบ่อย อาจเป็นความดันโลหิตสูง ควรปรึกษาแพทย์

  Link   https://www.ekachonhospital.com

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อัพเดทล่าสุด