ข่าวเกี่ยวกับโรคคอตีบ โรคคอตีบ สถานการณ์โรคคอตีบ


2,503 ผู้ชม


ข่าวเกี่ยวกับโรคคอตีบ โรคคอตีบ สถานการณ์โรคคอตีบ

       ข่าวเกี่ยวกับโรคคอตีบ


จ.ยะลาพบโรคคอตีบระบาด 19 ราย เสียชีวิตแล้ว 4 ราย
นายสุนทร สุริยพงศกร นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกันสาธารณสุขจังหวัดยะลา พร้อมเจ้าหน้าที่ ได้ดำเนินการให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ –บาดทะยัก ในเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 ปี และในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พร้อมให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคคอตีบแก่ประชาชน และผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุต่ำกว่า 12 ปี หลังพบเด็กชายอายุ 4 ปีเสียชีวิตด้วยโรคคอตีบ รายล่าสุดเมื่อวานนี้ ในพื้นที่หมู่ 6 บ้าน ก.ม.38 ตำบล อัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
นายแพทย์สุนทรฯ กล่าวว่า จังหวัดยะลาได้พบโรคคอตีบตั้งแต่ปี 2551-2553 จำนวน 19 ราย เสียชีวิตแล้ว 4 ราย โดยพบเป็นผู้ป่วยในพื้นที่อำเภอบันนังสตามากที่สุด สำหรับในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดโรคนี้ระบาด เนื่องจากเด็กในพื้นที่ได้รับวัคซีนไม่ถึง 50 เปอร์เซ็น และบางส่วนก็รับวัคซีนไม่ครบ 5 ครั้ง ทำให้ไม่มีภูมิต้านทานโรคและเกิดการติดต่อกันได้อย่างรวดเร็วขึ้น โรคคอตีบ หรือ ดิพทีเรีย เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ มีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ จึงได้ชื่อว่าโรคคอตีบ ซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ โดยจะพบอยู่ในจมูกหรือลำคอของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ ไม่มีอาการและติดต่อกันได้โดยตรงจากการไอ จาม หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด เชื้อจะเข้าสู่ผู้สัมผัสทางปากหรือทางการหายใจ บางครั้งอาจติดต่อกันได้โดยการใช้ภาชนะร่วมกัน ส่วนใหญ่จะพบในเด็กอายุระหว่าง 1-6 ปี ระยะฟักตัวของโรคอยู่ระหว่าง 2-5 วัน หรืออาจจะนานกว่านี้ หลังระยะฟักตัวจะเริ่มมีอาการไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก มีอาการไอเสียงก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ในเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายกับคออักเสบ บางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโตด้วย ผู้ที่มีอาการของโรคจะมีเชื้ออยู่ในจมูก ลำคอ เป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ ดังนั้น จึงต้องแยกผู้ป่วยจากผู้อื่นอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย ผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคจะติดเชื้อได้ง่าย จึงต้องเพาะเชื้อจากลำคอ และติดตามดูอาการ 7 วัน อย่างไรก็ตาม เมื่อพบผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคคอตีบ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพราะแพทย์จะต้องรีบให้การรักษาโดยเร็ว สำหรับการป้องกันนับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยการให้วัคซีนป้องกันคอตีบ 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุ 4 ปี

 
ข้อมูลข่าวและที่มา

ผู้สื่อข่าว : เบตง(สวท.)   Rewriter : ยุวรรณ์ดา พานทอง(2) / สวท.
สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ : https://thainews.prd.go.th

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

          โรคคอตีบ

โรคคอตีบ (Diphtheria) : โรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

 

            โรคคอตีบ หรือ ดิพทีเรีย เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ มีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ จึงได้ชื่อว่าโรคคอตีบ ซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ และจากพิษ (exotoxin) ของเชื้อจะทำให้มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นประสาทส่วนปลาย

สาเหตุ
            โรคคอตีบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Corynebacterium diphtheriae (C. diphtheriae) ซึ่งมี   รูปทรงแท่งและย้อมติดสีแกรมบวก มีสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดพิษ (toxogenic) และไม่ทำให้เกิดพิษ (nontoxogenic) พิษที่ถูกขับออกมาจะชอบไปที่กล้ามเนื้อหัวใจและปลายประสาท ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงจะทำให้ถึงตาย

ระบาดวิทยา
           โรค ติดต่อชนิดนี้ เชื้อจะพบอยู่ในคนเท่านั้นโดยจะพบอยู่ในจมูกหรือลำคอของผู้ป่วยหรือผู้ติด เชื้อ โดยไม่มีอาการ (carrier) ติดต่อกันได้ง่ายโดยการได้รับเชื้อโดยตรงจากการไอ จามรดกัน หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด เชื้อจะเข้าสู่ผู้สัมผัสทางปากหรือทางการหายใจ บางครั้งอาจติดต่อกันได้โดยการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน หรือ การดูดอมของเล่นร่วมกันในเด็กเล็ก ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญในชุมชน ส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยโรคคอตีบในชุมชนแออัด ในกลุ่มชนที่มีเศรษฐานะไม่ดี เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนจะติดเชื้อได้ตั้งแต่เล็กหลังจากภูมิต้านทานจากแม่ หมดลง ในประเทศที่ยังพบโรคนี้ได้ชุกชุมส่วนใหญ่จะพบในเด็กอายุระหว่าง 1-6 ปี สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วและมีระดับการได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบสูง โรคนี้จะหมดไปหรือพบได้น้อยมาก ในประเทศไทยอุบัติการณ์ของโรคได้ลดลงมาก ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่พบจะอยู่ในชนบทหรือในชุมชนแออัด เป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับไม่ครบ และพบในเด็กโตได้มากขึ้น
            ถึงแม้อุบัติการณ์ของโรคจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนทุกแห่ง แต่อัตราป่วยตาย (case-fatality rate) อยู่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่ คือ ประมาณร้อยละ 10
            ระยะฟักตัวของโรคอยู่ระหว่าง 2-5 วัน อาจจะนานกว่านี้ได้ เชื้อจะอยู่ในลำคอของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาได้ประมาณ 2 สัปดาห์ แต่บางครั้งอาจนานถึงหลายเดือนได้ ผู้ที่ได้รับการรักษาเต็มที่เชื้อจะหมดไป ภายใน 1 สัปดาห์

อาการและอาการแสดง
            หลังระยะฟักตัวจะเริ่มมีอาการไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก มีอาการไอเสียงก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ในเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายกับคออักเสบ บางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโตด้วย เมื่อตรวจดูในคอพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณทอนซิล และบริเวณลิ้นไก่ แผ่นเยื่อนี้เกิดจากพิษที่ออกมาทำให้มีการทำลายเนื้อเยื่อ และทำให้มีการตายของเนื้อเยื่อทับซ้อนกันเกิดเป็นแผ่นเยื่อ (membrane) ติดแน่นกับเยื่อบุในลำคอ

            ตำแหน่งที่จะพบมีการอักเสบและมีแผ่นเยื่อได้ คือ
            -  ในจมูก ทำให้มีน้ำมูกปนเลือดเรื้อรัง มีกลิ่นเหม็น
            -  ในลำคอและที่ทอนซิล ซึ่งแผ่นเยื่ออาจจะเลยลงไปในหลอดคอ จะทำให้ทางเดินหายใจตีบตันหายใจลำบาก ถึงตายได้
            -  ตำแหน่งอื่นๆ ได้แก่ ที่ผิวหนัง เยื่อบุตา ในช่องหู

โรคแทรกซ้อน
            1) ทางเดินหายใจตีบตัน
            2) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
            3) ปลายประสาทอักเสบ ทำให้มีอัมพาตของกล้ามเนื้อ

การวินิจฉัยโรค
            อาศัยอาการทางคลินิก มีไอเสียงก้อง เจ็บคอ ตรวจพบแผ่นเยื่อในลำคอ บริเวณทอนซิลและลิ้นไก่ (uvula) มีอาการของทางเดินหายใจตีบตัน การวินิจฉัยที่แน่นอนคือการเพาะเชื้อ C. diphtheriae โดยใช้ throat swab เชื้อบริเวณแผ่นเยื่อหรือใต้แผ่นเยื่อ หรือจากแผ่นเยื่อที่หลุดออกมา เนื่องจากต้องใช้มีเดียพิเศษในการเพาะเชื้อ จึงควรจะต้องติดต่อแจ้งห้องปฏิบัติการเมื่อนำส่ง specimen เมื่อเพาะได้เชื้อ C. diphtheriae จะต้องทดสอบต่อไปว่าเป็นสายพันธุ์ที่สร้าง exotoxin

การรักษา
            เมื่อพบผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคคอตีบ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพราะแพทย์จะต้องรีบให้การรักษาโดยเร็ว ผลการรักษาจะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็นมาก่อนได้รับการรักษา
            1) การให้ diphtheria antitoxin (DAT)* เมื่อแพทย์ตรวจและสงสัยว่าเป็นคอตีบ จะต้องรีบให้ DAT โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ไปทำลาย exotoxin ก่อนที่จะเกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจและปลายประสาท ทั้งนี้ โดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
            ขนาดของ DAT ที่ให้อยู่ระหว่าง 10,000-20,000 หน่วย โดยพิจารณาตามความรุนแรงของโรค
            หมายเหตุ *การให้ antitoxin ต้องทำ skin test
            2) ให้ยาปฎิชีวนะ เพนนิซิลิน ฉีดเข้ากล้ามเป็นเวลา 14 วัน ถ้าแพ้เพนนิซิลิน ให้ erythromycin แทน ยาปฏิชีวนะจะไปทำลายเชื้อ C. diphtheriae
            3) เด็กที่มีโรคแทรกซ้อนจากการอุดกลั้นของทางเดินหายใจ จะต้องได้รับการเจาะคอเพื่อช่วยให้หายใจได้ ส่วนโรคแทรกซ้อนทางหัวใจและทางเส้นประสาท ให้การรักษาประคับประคองตามอาการโรคแทรกซ้อนทางหัวใจนับเป็นสาเหตุสำคัญของ การตายในโรคคอตีบ
            4) เด็กที่เป็นโรคคอตีบจะต้องพักเต็มที่ อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหัวใจ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นปลายสัปดาห์ที่ 2

การป้องกัน
            1) ผู้ที่มีอาการของโรคจะมีเชื้ออยู่ในจมูก ลำคอ เป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ ดังนั้น จึงต้องแยกผู้ป่วยจากผู้อื่นอย่างน้อย 3 สัปดาห์ หลังเริ่มมีอาการ หรือตรวจเพาะเชื้อไม่พบเชื้อแล้ว 2 ครั้ง ผู้ป่วยที่หายจากโรคคอตีบแล้ว อาจไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้นเต็มที่ จึงอาจเป็นโรคคอตีบซ้ำอีกได้ ดังนั้นจึงต้องให้วัคซีนป้องกันโรค (DTP หรือ dT) แก่ผู้ป่วยที่หายแล้วทุกคน
            2) ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย เนื่องจากโรคคอตีบติดต่อกันได้ง่าย ดังนั้นผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคจะติดเชื้อได้ง่าย จึงควรได้รับการติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยทำการเพาะเชื้อจากลำคอ และติดตามดูอาการ 7 วัน ในผู้ที่สัมผัสโรคอย่างใกล้ชิดที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน หรือได้ไม่ครบ ควรให้ยาปฏิชีวนะ benzathine penicillin 1.2 ล้านหน่วย ฉีดเข้ากล้าม หรือให้กินยา erythromycin 50 มก./กก/วัน เป็นเวลา 7 วัน พร้อมทั้งเริ่มให้วัคซีน เมื่อติดตามดูพบว่ามีอาการ และ/หรือตรวจพบเชื้อ ให้ยาปฏิชีวนะดังกล่าว พร้อมกับให้ diphtheria antitoxin เช่นเดียวกับผู้ป่วย
            3) ในเด็กทั่วไป การป้องกันนับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยการให้วัคซีนป้องกันคอตีบ 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุ 4 ปี 

            Link   https://blog.eduzones.com

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

              สถานการณ์โรคคอตีบ

สำนักระบาดยันปีนี้ยังไม่พบ “โรคคอตีบ” ระบาด

ผอ.สำนักระบาด ยันปี 54 ยังไม่พบคอตีบระบาด ส่วนกรณีกระบือตายที่ สุรินทร์ เป็นโรคคอบวม ชี้ไม่ติดต่อสู่คน
       
       จากกรณีที่ อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ มีการพบกระบือป่วยตาย 3 ตัว และล้มป่วยอีกนับ 100 ตัว จนทำให้ชาวบ้านสงสัยว่าเป็นโรคคอตีบระบาด ทำให้เกิดการหวาดผวาในหมู่บ้านเกรงว่าจะเกิดโรคระบาดมาสู่คนนั้น
       
       ล่าสุด นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักงานระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็น ความเข้าใจผิด เพราะจากการที่นักวิชาการในพื้นที่สำรวจมานั้น พบว่า กระบือที่ป่วยและตายเป็นเพราะโรคคอบวม ซึ่งเป็นโรคที่เกิดในโค กระบือ โดยมีเชื้ออยู่ในลำคออยู่แล้ว ถ้าร่างกายสัตว์ดังกล่าวอ่อนแอเชื้อโรคก็จะทำให้เกิดอาการของโรคขึ้น โดยเป็นเชื้อแบคทีเรียซึ่งหากเข้าสู่ร่างกายสัตว์เลี้ยงก็จะมีอาการไข้สูง คอจะเจ็บ และบวม บริเวณคอจะร้อน ไม่เคี้ยวเอื้อง การของคอจะบวมทั้งหลอดลม ลิ้น ทำให้สัตว์หายใจไม่ออกและจะเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งโรคนี้มีอาการคล้ายคอตีบก็จริง แต่ไม่ใช่โรคที่เกิดในคน และไม่สามารถถ่ายทอดสู่คนได้
       
       แต่หากพื้นที่มีการระบาด ควรมีการแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ให้รับทราบจะได้ดำเนินการทำลายซาก อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันที่ดีแม้จะยังไม่พบการถ่ายทอดสู่คนก็ตาม แต่ก็ไม่ควรนำมารับประทาน แต่กรณีที่ จ.สุรินทร์ นั้นเป็นการเข้าใจผิดอย่างชัดเจน
       
       นพ.ภาสกร กล่าวต่อด้วยว่า สำหรับ สถานการณ์โรคคอตีบในปี 2554 นั้น ยังไม่พบการระบาด ขณะที่ปี 2553 พบระบาดในพื้นที่ จ.ปัตตานี แค่ 20 ราย ซึ่งถือว่าไม่ร้ายแรงแต่จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกเกินไป เนื่องจากปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน การควบคุมและเฝ้าระวังจึงสามารถทำได้ง่าย แต่ยืนยันว่า โรคคอตีบและโรคคอบวมเป็นกรณีที่ต่างกันมาก เพราะคอตีบ จะพบอยู่ในคนเท่านั้นโดยจะพบอยู่ในจมูกหรือลำคอของผู้ป่วย หรือผู้ติดเชื้อ โดยไม่มีอาการ (carrier) ติดต่อกันได้ง่ายโดยการได้รับเชื้อโดยตรงจากการไอ จามรดกัน หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด เชื้อจะเข้าสู่ผู้สัมผัสทางปาก หรือทางการหายใจ บางครั้งอาจติดต่อกันได้โดยการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน หรือการดูดอมของเล่นร่วมกันในเด็กเล็ก ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญในชุมชน ส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยโรคคอตีบในชุมชนแออัด

Link    https://www.manager.co.th/

อัพเดทล่าสุด