โรคคอพอกเกิดจากอะไร ความหมายของโรคคอพอก โรคคอพอกและตาโปน


9,745 ผู้ชม


โรคคอพอกเกิดจากอะไร ความหมายของโรคคอพอก โรคคอพอกและตาโปน

                          โรคคอพอกเกิดจากอะไร

"โรคน่ารู้ฉบับนี้จะขอพาผู้อ่านมาพบกับ เรื่อง "คอพอก" ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยโดยแบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ ตอนที่ 1 มารู้จักคอพอกกัน ตอนที่ 2 ทำไมคอพอกจังเป็นพิษ ตอนที่ 3 คอพอกอย่างไร จึงไม่เป็นพิษ"
ตอนที่ 1 มารู้จักคอพอกกันเถิด
คอพอก คือ ต่อมธัยรอยด์ที่คอโตผิดปกติ ทำให้คอโป่งเป็นลูกออกมาเหมือนลูกโป่ง ต่อมธัยรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายอยู่ที่ลำคอ ด้านหน้าต่ำกว่าลูกกระเดือกนิดเดียว มีรูปร่างเหมือนเกือกม้าประกอบด้วยปีกซ้ายและปีกขวาเชื่อมต่อกันด้วยคอคอด (ดูรูปที่ 1) ขนาดของต่อมธัยรอยด์นี้ปกติจะใหญ่กว่านิ้วหัวแม่มือของเจ้าของต่อมและมองไม่ เห็นขัดเจนถ้ามันใหญ่กว่านี้ก็จะมองเห็นชัดเหมือนมีอะไรมาพอกที่คอหรือเป็น ก้อนที่คอข้างหน้าก็เรียกว่า เป็นคอพอกหรือที่เรียกว่าคอหอยพอก
                                                      
เรื่องของคอหอยพอกนี้มักเป็นปัญหาของผู้หญิงเสียเป็นส่วนใหญ่ ผู้หญิงมีคอพอกบ่อยกว่าผู้ชายหลายเท่าตัวนัก (คุณผู้ชายอย่าเพิ่งดีใจ) ปกติผู้หญิงจะมีต่อมธัยรอยด์โตกว่าผู้ชายอยู่แล้วว่ากันว่าเพื่อให้ลำคอของ ผู้หญิงดูกลมกลึงสวยงามดี เพราะถ้าไม่มีต่อมธัยรอยด์หรือต่อมอันนี้มีขนาดเล็กเกินไป จะทำให้ตรงบริเวณด้านหน้าคอแถวกล่องเสียงเป็นแอ่งลงไปนิดๆ
คำว่า "ธัยรอยด์" เป็นภาษากรีก แปลว่า โล่ หรือ เกราะ ที่คนโบราณเขาตั้งชื่ออย่างนี้เพราะแต่ก่อนเขาเชื่อว่า ต่อมธัยรอยด์มีไว้เพื่อป้องกันเป็นโล่คุ้มครองป้องกันหลอดลม
แต่ เดี๋ยวนี้เขารู้กันแล้วว่าต่อมธัยรอยด์มีหน้าที่สร้างและหลั่งฮอร์โมน ธัยรอยด์ออกมาสู่กระแสเลือด ฮอร์โมนนี้ต่อมธัยรอยด์ผลิตขึ้นมาเองโดยใช้ไอโอดีนจากอาหารที่เรากินเข้าไป เป็นวัตถุดิบ

ฤทธิ์ของฮอร์โมนธัยรอยด์มีมากมาย ออกฤทธิ์กระตุ้นทั่วร่างกายคือ กระตุ้นให้เซลล์ต่างๆ ทำงานเป็นปกติ แต่บริเวณที่กระตุ้นมากที่สุดเห็นจะเป็นที่หัวใจกับประสาท ถ้าอยากรู้ว่ามันมีฤทธิ์กระตุ้นอย่างไรบ้างก็ลองอ่านตอนต่อไปดูเรื่องคอพอก เป็นพิษจะเห็นว่า ถ้ามีฮอร์โมนนี้มากเกินไปร่างกายก็ทนไม่ไหวเหมือนกัน เพราะโดนกระตุ้นมากไปจนรับไว้ไม่ไหว
หรือถ้าขาดฮอร์โมนธัยรอยด์เสีย แล้วร่างกายอยู่เป็นปกติไม่ได้เหมือนกัน มันเฉื่อยชา ซึม อะไรทุกอย่างในตัวเราจะช้าไปหมดทั้งร่างกายและจิตใจ
เรื่องขาด ฮอร์โมนนี้มีผลอย่างไรบ้าง ลองอ่านเรื่อง "คอพอกขาดฮอร์โมน" ดูในตอนต่อไป ฮอร์โมนนี้สำคัญมากในเด็ก เพราะกระตุ้นให้เด็กเจริญเติบโตเป็นปกติ ถ้าขาดฮอร์โมนนี้ตอนเด็กๆ จะทำให้เด็ก ตัวเตี้ย แคระ สมองทึบ เป็นเด็กปัญญาอ่อน
ทำไมคอจึงพอก
เพราะต่อมธัยรอยด์ต้องทำงานมากขึ้นก็เลยโตผิดปกติ เกิดคอพอกขึ้น
สาเหตุที่ทำให้ต่อมต้องทำงานมากขึ้นนี้ ที่สำคัญมีเพียง 2 อย่างเท่านั้น

อย่างแรก
เพราะ ร่างกายขาดฮอร์โมนธัยรอยด์ อาจเกิดจากขาดอาหารที่มีธาตุไอโอดีนหรือขาดอาหารทะเล (เพราะอาหารทะเลมีธาตุไอโอดีน) เมื่อขาดไอโอดีนซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตฮอร์โมน ต่อมก็ต้องทำงานให้หนักขึ้นเพื่อเร่งผลิตฮอร์โมนให้พอใช้ บางคนขาดไอโอดีนเอามากๆ จนต่อมเร่งทำงานเท่าไรก็สร้างฮอร์โมนไม่พอ เลยเกิดโรคอพอกขาดฮอร์โมนขึ้น
อย่างที่สอง คือต่อมธัยรอยด์ไม่อยู่ในความควบคุมของร่างกาย อาจโตขึ้นเพราะเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งหรือต่อมอาจจะแข็งข้อประกาศตัวเองเป็น อิสระไม่ขึ้นกับใครเลย สร้างฮอร์โมนมากเกินไป ตัวต่อมเลยโตขึ้น ร่างกายเจ้าของต่อมจะห้ามจะคุมอยางไรก็ไม่อยู่ เลยเกิด โรคคอพอกเป็นพิษ ขึ้น
เมื่อพอจะรู้จักต่อมธัยรอยด์กันดีพอสมควรแล้ว ทีนี้ จะมาว่ากันเรื่องคอพอก หรือต่อมธัยรอยด์ที่โตผิดปกติ
                                                        
ลองดูแผนภูมิที่แสดงไว้แล้วอ่านคำอธิบายแผนภูมิประกอบ และทำตามแผนภูมินี้ดู

คำอธิบายแผนภูมิ
ขั้นที่หนึ่ง
ตรวนดูว่าเป็นโรคคอพอกจริงหรือไม่ ถ้าเป็นคอพอกชนิดที่โตมากๆ (ดูรูปที่ 2) ก็ จะเห็นห้อยเป็นถุงขนาดใหญ่ออกมาที่คอข้างหน้า อย่างนี้คงไม่ต้องตรวจอะไรให้เสียเวลาอีกแล้ว แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นคอพอกกันอย่างที่โตไม่มากนักจำเป็นต้องแยกว่าเป็นคอพอก หรือเป็นก้อนเนื้ออย่างอื่น (ดูรูปที่ 2) ที่พบบ่อยและต้องแยกให้ ได้ว่าเป็นก้อนไขมันหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นก้อนไขมันแล้วก็จบกันแค่นั้นไม่ต้องตรวจอะไรอีกแล้ว และไม่ต้องกินยารักษาโรคด้วย
ผู้หญิงบางคนพออ้วนขึ้น ที่คอจะเห็นเป็นปล้องๆ เหมือนคอพอกมาก แต่ที่จริงเป็นเนื้อไขมัน หมอบางคนเรียกว่า "คอพอกเทียม"

เพราะ ฉะนั้น ก่อนอื่นต้องพิสูจน์กันให้แน่ด้วยตนเองก่อนว่าเราเป็นคอพอกจริงหรือไม่ อย่าเพิ่งไปเชื่อที่คนเขาทักว่าคอโต เพราะอาจจะโตเนื่องจากการกินดีอยู่ดีเกินไปก็ได้
วิธีตรวจคอพอกด้วยตนเอง
ทำได้ง่ายมาก หากระจกมา 1 บาน ส่องให้เห็นที่คอด้านหน้า ถ้าเห็นมีก้อนหรือคล้ายมีอะไรมา "พอก" ที่หน้าคอใต้ลูกกระเดือกทำให้แถวนั้นดูหนาใหญ่กว่าปกติ ให้สงสัยก่อนว่าจะเป็นคอพอก
ต่อไปลองกลืนน้ำลายดู ถ้าเป็นคอพอกหรือต่อมธัยรอยด์ที่โตจริง ก้อนหรืออะไรที่พอกอยู่หน้าคอนี้มันขยับเลื่อนขึ้นลงตามการกลืนได้ คือขยับตามไปพร้อมๆ ลูกกระเดือก ถ้ายังเห็นไม่ชัดให้แหงนหน้าแล้วมองในกระจกดูอีกที ถ้ายังไม่เห็นมีอะไรโตที่คอก็เลิกดูได้ ไม่มีคอพอกแน่แต่ถ้าเห็นอะไรตุ่ยๆ ออกมาที่คอด้านหน้าก็ลองทำเหมือนเก่า คือกลืนน้ำลายแล้วมองดูกระจกในขณะที่แหงนหน้านั้นว่ามันขยับขึ้นลงตามการ กลืนหรือเปล่าถ้าขยับก็ใช่คอพอกแน่ๆ ถ้าเป็นก้อนไขมันหรือต่อมน้ำเหลืองที่โตแถวข้างๆ คอหรือก้อนเนื้ออื่นๆ จะไม่ขยับตามจังหวะการกลืน เพราะฉะนั้นก็แยกจากคอพอกได้ง่าย ถ้าตรวจแล้วพบว่าตัวเองมีคอพอกจริงค่อยผ่านไปขั้นที่สองและขั้นที่สามต่อไป
ขั้นที่สอง คือหาสาเหตุของคอพอกของเราและ ขั้นที่สามคือ วิธีการรักษาคอ พอกซึ่งจะว่ารวมๆ กันไปเลย ดูตามแผนภูมิเริ่มต้นให้ลองคลำดูตรงที่เห็นว่าเป็นคอพอกให้ทั่วว่ามีตรงไหน ที่เจ็บหรือไม่ ถ้ามีก็ว่าไปตามแผนภูมิที่แสดงไว้

การหาสาเหตุและวิธีรักษาคอพอก

คือ ถ้ามีไข้ ปวดเมื่อยครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลียร่วมด้วย และอาการเจ็บปอดที่คอพอกนั้นอาจจะเจ็บร้าวไปถึงคางก็ได้ อาการที่ว่าเจ็บนี้คล้ายต่อมทอนซิลหรือคออักเสบมาก แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่ามันเจ็บอยู่นอกคอและถ้าลองอ้าปากดูในคอจะไม่เห็น แดง ถ้ามีอาการเหล่านี้น่าจะเป็น คอพอกอักเสบ โรคนี้ถ้าคลำดีๆ ที่ก้อนหรือคอพอกตรงที่เจ็บจะมีลักษณะค่อนข้างแข็งมาก
ถ้าเป็นคอพอกอักเสบ ลองกินยาแก้ปวดแก้ไข้ดู แอสไพริน นั่นแหละครับดีที่สุด หรือจะใช้พาราเซตามอล ก็ได้ แล้วก็อย่าไปบีบหรือกดตรงแถวๆ คอพอกที่เจ็บนั้นบ่อยๆ ถ้า ได้นอนพักแล้วกินยาแก้ปวดแก้ไอ อาการคอพอกอักเสบก็มักจะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว อาการไข้และเจ็บที่คอจะหายไปก่อน ส่วนก้อนหรือคอพอกนั้นใช้เวลานานหน่อยกว่าจะยุบหายไปหมดอาจเป็นเดือนเดียว โรคนี้อาจเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียาอะไรรักษาเฉพาะแต่เวลาหายมักจะหายขาดเลย
ถ้าทำอย่างที่ว่าแล้ว 2 อาทิตย์ ก้อนที่คอหรือคอพอกที่เห็นนั้นไม่ยุบหรือกลับโตขึ้นอีก (อาการไข้หรือเจ็บคอพอเจอกับยาแก้ไข้แก้ปวดมักจะหายไปได้) ให้ไปหาหมอได้แล้ว หมอเขาอาจลองให้ยาสเตียรอยด์หรือถ้าไม่แน่ใจเขาอาจต้องตรวจทาง "แล็บ" (ทางห้องปฏิบัติการ) อีก และอาจต้องผ่าตัดออกมาเพราะมีโอกาสเป็นถุงน้ำ (ซีสต์) หรือเนื้องอกทั้งชนิดร้ายแรงและไม่ร้ายแรงได้เหมือนกัน
ก็ตามลูกศรในแผนภูมินั่นแหละครับ

ถ้าคลำแล้วไม่เจ็บ (ส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้เสียด้วย) ก็เห็นจะต้องตัดสินใจ (ด้วยตัวเอง) กันว่าคอพอกของเรานั้นมีพิษหรือไม่มีพิษ
วิธีตรวจก็ไม่ยากเลย ลองตอบคำถาม 20 ข้อต่อไปนี้ แล้วให้คะแนนตัวเองดู
         
คำถามเหล่านี้ไม่ได้เขียนขึ้นเองนะ แต่ดัดแปลงจากคำถามี่พวกหมอเขาใช้กันในโรงเรียนแพทย์ที่อังกฤษเพื่อช่วยวินิจฉัยโรคคอพอกเป็นพิษ
พวก เขาลองทดสอบคำถามเหล่านี้ดูแล้วโดยเปรียบเทียบกับการตรวจทาง "แล็บ" เช่น เจาะเลือดตรวจหรือตรวจธัยรอยด์ด้วยวิธีอื่นพบว่าได้ผลดี คือสามารถบอกได้ถูกต้องว่า ใครจะเป็นคอพอกเป็นพิษหรือไม่เป็นพิษ
ลองตอบคำถามดู แล้วอย่าลืมให้คะแนนด้วยว่าเป็นบวกหรือลบเท่าไหร่หรือไม่ได้คะแนนเลย (0)
เสร็จแล้วก็ลองรวมคะแนน (เรียกว่า "คะแนนพิษ") ดู บวกบางตัวเลขกันตามธรรมดาว่าได้ผลรวมเท่าไร
ถ้าได้คะแนนรวมเท่ากับ 20 หรือมากกว่านี้ แปลว่าสอบผ่านคือ เห็นจะเป็นโรคคอพอกเป็นพิษเสียแล้ว คงต้องหาหมอรักษา
ถ้าได้คะแนนเท่ากับ 10 หรือน้อยกว่านี้ แปลว่าเราสอบตก คือ คอพอกที่เป็นอยู่นั้นไม่มีพิษ จะทำอย่างไรต่อก็ดูตามลูกศรที่แผนภูมิที่แสดงไว้แล้ว
ถ้ามีคะแนน 11-19 อันนี้ตัดสินยาก คงต้องหาหมอให้ช่วยตรวจดูเหมือนกัน แต่หมอเองก็อาจจะบอกไม่ได้แน่ว่าคอพอกเป็นพิษหรือไม่เป็นพิษ อาจต้องตรวจ "แล็บ" เพิ่ม
การตรวจ "แล็บ" คอพอก
ถึงตอนนี้ขอเขียนเรื่องการตรวจ "แล็บ" อย่างที่เอ่ยอยู่บ่อยๆ สักนิด เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจดีขึ้น
                                       
"แล็บ" มีวิธีตรวจอยู่ 2 วิธี คือ อาจเจาะเลือดมาตรวจหาระดับฮอร์โมนธัยรอยด์ดู ถ้าสูงกว่าปกติก็น่าจะเป็นคอพอกเป็นพิษ (ถ้าต่ำไปก็เป็นคอพอกชนิดขาดฮอร์โมน)
อีกวิธีคือ ตรวจต่อมธัยรอยด์โดยใช้ ไอโอดีนกัมมันตรังสี ซึ่งต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือหลายอย่างยุ่งยากไปอีก และต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ถ้ากำลังตั้งท้องอยู่ก็ไม่ควรตรวจวิธีนี้ อาจมีผลเสียต่อเด็กในท้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาท้องอ่อนๆ 2-3 เดือนแรก แต่ถ้าไม่ท้องก็ตรวจได้ไม่มีอันตรายอะไร
เพราะฉะนั้นถ้าประจำเดือนขาดหรือสงสัยว่าตัวเองจะท้องให้รีบบอกหมอเสียก่อน จะได้ตรวจแน่ว่าท้องจริงหรือเปล่า เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการตรวจด้วยกัมมันตภาพรังสีวิธีนี้เลย
เอาละครับ พอตรวจ "แล็บ" อย่างนี้ก็พอจะบอกได้แน่ชัดขึ้นได้ว่า คุณเป็นคอพอกเป็นพิษหรือไม่เป็นพิษ
แต่เห็นจะต้องบอกกันตรงนี้เลยว่า บางทีตรวจหมดครบเครื่องแล้วก็ยังบอกไม่ได้ว่ามีพิษหรือไม่มีพิษกันแน่
ถ้า เป็นอย่างนี้เห็นจะต้องลองรักษาดู อาจรักษาแบบคอพอกมีพิษหรือไม่มีพิษก็ได้ แล้วแต่ว่าน้ำหนักของอันไหนจะมากกว่ากัน แล้วก็ติดตามดูผลของการรักษา ถ้าดีขึ้นก็แสดงว่ารักษาถูกทางแล้วแปลว่าวินิจฉัยถูกด้วย เป็นอันว่าเรียบร้อยไป ถ้าไม่ดีขึ้นก็ต้องเปลี่ยนวิธีรักษาลองกันใหม่
แต่ บางทีหมอบางคนอาจเห็นว่าอาการไม่เห็นมาก เลยน่าจะลองปล่อยไว้เฉยๆ ก่อนและคอยตรวจดูเป็นระยะๆ ถ้ามันเป็นพิษอีกหน่อยมันก็จะแสดงอาการออกมามากขึ้นค่อยรักษาเอาตอนนั้นก็ ได้ นาจะดีกว่าลองรักษาด้วยวิธีผิดๆ ไป

              Link  https://www.doctor.or.th

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

                  โรคคอพอกและตาโปน

โรคคอพอก

By benz M.1/6 No. 13

โรคคอพอกตาโปน หรือ โรคเกรฟส์ (อังกฤษ: Graves' disease) เป็นความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ซึ่งมีลักษณะเด่นคือคอพอก (goiter) , ตาโปน (exophthalmos) , ผิวเหมือนเปลือกส้ม ("orange-peel" skin) , และมีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperthyroidism) โรคนี้มีสาเหตุมาจากแอนติบอดีในปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง แต่สิ่งกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาดังกล่าวยังไม่ทราบชัดเจน โรคนี้เป็นสาเหตุหลักของภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินที่พบมากที่สุดในโลก และเป็นภาวะต่อมไทรอยด์โตที่พบมากที่สุดในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในยุโรปบางประเทศเรียกโรคนี้ว่า โรคเบสโดว์ (Basedow’s disease) หรือ โรคเกรฟส์-เบสโดว์ (Graves-Basedow disease)

  1. โรคคอพอกตาโปนมีอาการเด่นคืออาการต่อมไทรอยด์โตขึ้นและปัญหาของดวงตา อาการแสดงที่ดวงตาของโรคนี้พบมากในผู้สูบบุหรี่และอาจแย่ลงหลังจากการรักษาอาการที่ไทรอยด์ด้วยไอโอดีนรังสี (radioiodine) ดังนั้นอาการแสดงที่ดวงตาจึงไม่ได้เกิดจากตัวต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ความเข้าใจผิดดังกล่าวเกิดเพราะว่าภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินจากสาเหตุอื่นๆ ทำให้หนังตาบนหดรั้งขึ้นไป (eyelid lag หรือ hyperthyroid stare) แต่ลูกตาไม่ได้โปนยื่นออกมา ซึ่งทำให้สับสนกับอาการตาโปนที่ลูกตาทั้งลูกยื่นออกมา อย่างไรก็ตามสภาวะทั้งหนังตาบนหดรั้งขึ้นไปและตาโปนอาจเกิดขึ้นพร้อมกันในผู้ป่วยภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินร่วมกับโรคเกรฟส์
     
    แหล่งอ้างอิง
    Wallaschofski H, Kuwert T, Lohmann T (2004). "TSH-receptor autoantibodies - differentiation of hyperthyroidism between Graves' disease and toxic multinodular goitre". Exp. Clin. Endocrinol. Diabetes 112 (4): 171–4.
    doi:10.1055/s-2004-817930. PMID 1512731

อัพเดทล่าสุด