โรคคอพอก โรคคอพอกหมายถึง อาการของโรคคอพอก


1,939 ผู้ชม


โรคคอพอก โรคคอพอกหมายถึง อาการของโรคคอพอก

 

 

โรคคอพอก (Graves' disease)

    โรคคอพอกต่อมธัยรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ตั้งอยู่บริเวณลำคอด้านหน้า รูปร่างคล้ายเกือกม้า ขนาดใหญ่กว่านิ้วหัวแม่มือเล็กน้อย มีหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนธัยรอยด์ หรือธัยร็อกซิน โดยใช้สารไอโอดีน จากอาหารที่กินเข้าไปเป็นวัตถุดิบ และมีฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (Thyroid Stimulating Hormone : TSH) เป็นตัวควบคุมการทำงานของต่อมธัยรอยด์ ฮอร์โมนธัยรอยด์จะออกฤทธิ์กระตุ้นให้เซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกายทำงานตามปกติ

คอพอก หรือ คอหอยพอก หมายถึง อาการที่ต่อมธัยรอยด์บวมโตผิดปกติ ทำให้คอโป่งเป็นลูกออกมา เห็นได้อย่างชัดเจน คลำได้เป็นก้อน โดยเฉพาะเวลากลืนน้ำลาย ก้อนนี้จะขยับขึ้นลงตามจังหวะการกลืน

คอพอก แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ คอพอกธรรมดา และ คอพอกเป็นพิษ

 ภาพจาก : https://www3.ipst.ac.th/research/assets/web/mahidol/hormone(9)/chapter4/goiter.htm

คอพอกธรรมดา (Simple goiter)

สาเหตุที่สำคัญ ได้แก่
1. การขาดสารไอโอดีน ซึ่งมีมากในเกลือทะเล อาหารทะเล เมื่อร่างกายขาดสารไอโอดีน ก็จะเกิดการขาดฮอร์โมนธัยรอยด์ตามมา ทำให้ต่อมธัยรอยด์ถูกฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้น ดังนั้น ต่อมธัยรอยด์จึงมีขนาดโตขึ้น
2. การเปลี่ยนแปลงปกติของร่างกาย (Physiologic goiter) มักพบในผู้หญิงที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น หรือผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายต้องการฮอร์โมนธัยรอยด์มากขึ้น ต่อมธัยรอยด์จึงทำงานมากกว่าธรรมดา ทำให้เกิดคอพอกขึ้น โดยที่ไม่ได้ขาดสารไอโอดีนแต่อย่างใด
3. ความผิดปกติของเอนไซม์ ในการสร้างธัยรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งเป็นตั้งแต่กำเนิด
4. ได้รับสารบางชนิด (Goitrogen) พบมากในดอกกะหล่ำ
5. ไม่ทราบสาเหตุ (พบร้อยละ 70 ของผู้ป่วยทั้งหมด)

ภาพจาก : https://www3.ipst.ac.th/research/assets/web/mahidol/hormone(9)/chapter4/goiter.htm

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการคอโต (คอพอก) กว่าปกติ โดยไม่มีอาการผิดปกติของร่างกายอื่นๆ หากคอพอกก้อนโตมากๆ อาจทำให้หายใจลำบาก หรือกลืนอาหารลำบากได้

การรักษา
1. คอพอกเนื่องจากขาดสารไอโอดีน
ให้กินอาหารที่มีสารไอโอดีน เช่น อาหารทะเล เกลือไอโอดีน (เกลืออนามัย) ในการปรุงอาหารเป็นประจำ หรือแพทย์อาจให้กินยาไอโอไดด์ ในผู้หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรที่มีคอพอก ควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกมีภาวะขาดสารไอโอดีน ซึ่งจะกลายเป็นโรคเอ๋อ คือ เป็นใบ้ หูหนวก สติปัญญาต่ำ ตัวเตี้ยแคระแกร็น เจริญเติบโตช้า
2. คอพอกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
โดยทั่วไปคอจะโตไม่มาก แทบจะสังเกตไม่เห็น ไม่ต้องรักษาอย่างไร เพราะจะยุบหายไปได้เอง เมื่อพ้นระยะวัยรุ่น หรือหลังคลอดแล้ว
3. คอพอกชนิดไม่ทราบสาเหตุ
จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยแต่อย่างใด นอกจากมีปัญหาความสวยงาม แพทย์อาจพิจารณาให้ธัยรอยด์ฮอร์โมน เพื่อกดการเจริญเติบโตของต่อมธัยรอยด์ แต่ผลการรักษามักไม่ดี หากคอโตมากๆ มีอาการหายใจลำบากหรือกลืนอาหารลำบาก แพทย์อาจให้การรักษาโดยการผ่าตัด

 

 

คอพอกเป็นพิษ (Toxic goiter หรือ Hyper thyroidism)
เป็นโรคที่พบบ่อยในช่วงอายุ 20 - 40 ปี พบว่าเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 5 เท่า

สาเหตุ
เกิดจากต่อยธัยรอยด์ทำงาน มากกว่าปกติ โดยอยู่นอกเหนือจากการควบคุมของต่อมใต้สมอง ทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนธัยรอยด์ออกมาในกระแสเลือดมาก จึงไปกระตุ้นให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานมากผิดปกติ จนเกิดอาการต่างๆ ขึ้น
สาเหตุที่ทำให้ต่อยธัยรอยด์ เสียหน้าที่ในการทำงานนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่า เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาแพ้ภูมิตนเอง (Autoimmune) โดยมีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางเพศ กรรมพันธุ์

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อง่าย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ มือสั่น ใจสั่นหวิว ชีพจรเต้นเร็วกว่าปกติและอาจไม่สม่ำเสมอ ขี้ร้อน(ฝ่ามือจะมีเหงื่อชุ่มตลอดเวลา) น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่หิวบ่อย หรืออาจกินจุกว่าเดิม เนื่องจากร่างกายมีการเผาผลาญอาหารมาก แต่ในคนแก่บางคนกลับกินได้น้อยลง ผู้ป่วยมักมีลักษณะลุกลี้ลุกลน หรืออาจหงุดหงิดโมโหง่าย บางคนถ่ายเหลวบ่อย อาจพบประจำเดือนมาน้อยหรือมากผิดปกติได้

การวินิจฉัย
แพทย์จะให้การวินิจฉัยโดยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดหาระดับฮอร์โมนธัยร็อกซิน หรืออาจมีการตรวจพิเศษอื่นๆ

การรักษา
พทย์อาจรักษาด้วยการใช้ยา ต้านธัยรอยด์ในขนาดสูง เพื่อกดการทำงานของต่อมธัยรอยด์ จนกว่าอาการจะดีขึ้น คือ น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นปกติ เหนื่อยน้อยลง ชีพจรเต้นช้าลง แล้วจึงค่อยๆ ลดปริมาณยาลงทีละ 1 - 2 เม็ด จนเหลือการกินยาวันละ 1 - 3 เม็ด แล้วคงกินยาขนาดนี้ไปเรื่อยๆ นานประมาณ 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปีขึ้นไป แพทย์จึงจะพิจารณาหยุดยา ซึ่งในระหว่างการรักษานี้ แพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการ หรือดูระดับฮอร์โมนธัยร็อกซินเป็นระยะๆ ผลการรักษาบางรายจะหายขาด แต่บางรายอาจมีอาการกำเริบใหม่ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรไปตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง

ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วย
1. โรคคอพอกเป็นพิษอาจมีอาการต่างๆ ได้ ในบางคนอาจมีอาการคล้ายโรคกังวล เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ใจสั่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและให้การรักษาที่ถูกต้อง
2. โรคคอพอกเป็นพิษสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ต้องใช้เวลานาน ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามนัด เพื่อติดตามการรักษาและปรับขนาดยาตามภาวะของโรคที่เป็นอยู่ ไม่ควรหยุดยาเองเพราะจะทำให้โรคกำเริบได้
3. หากรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล เช่น ได้รับยามากกว่า 2 ปีแล้ว ยังลดขนาดยาลงไม่ได้ แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีอื่นตามความเหมาะสม ได้แก่ การผ่าตัด การกลืนรังสีไอโอดีน 131 เป็นต้น
4. ผู้ป่วยคอพอกเป็นพิษที่รักษาหายแล้ว มีโอกาสกำเริบซ้ำได้ ส่วนรายที่ได้รับรังสีไอโอดีน 131 หรือผ่าตัด อาจมีโอกาสเป็นโรคต่อยธัยรอยด์ทำงานต่ำ ดังนั้น หากมีปัญหาผู้ป่วยควรกลับไปปรึกษาแพทย์ผู้ที่ให้การรักษาเดิม
5. ผู้ป่วยหญิงในวัยเจริญพันธุ์ ควรคุมกำเนิดให้ดีในช่วงที่ยังรักษาอยู่ และถ้าต้องการจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อผลดีต่อผู้ป่วยและทารกในครรภ์

การแยกโรค
1. อาการน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว อาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรงอื่นๆ เช่น
 เบาหวาน มักมีอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย หิวบ่อยร่วมด้วย
 เอดส์ มักมีไข้เรื้อรัง ท้องเสียเรื้อรัง ร่วมด้วย
 มะเร็ง มักมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และอาการจำเพาะของมะเร็งแต่ละชนิดร่วมด้วย เช่น    จุกเสียดลิ้นปี่ (มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร) เจ็บหน้าอก ไอ (มะเร็งปอด) ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ท้องเดิน เรื้อรัง ท้องผูกสลับท้องเดิน (มะเร็งลำไส้ใหญ่) เป็นต้น
2. อาการใจสั่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ อาจมีสาเหตุจากโรควิตกกังวล แต่มักจะไม่มีอาการคอพอก และชีพจรเต้นเร็วแบบคอพอกเป็นพิษ
3. อาการคอพอก อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น คอพอกจากภาวะขาดไอโอดีน ภาวะพร่องฮอร์โมน ไทรอยด์ เป็นต้น ซึ่งมักจะไม่มีอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลดแบบคอพอกเป็นพิษร่วมด้วย
4. อาการใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก อาจมีสาเหตุจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

      
การวินิจฉัย
แพทย์ จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการแสดงของโรค ได้แก่ ใจสั่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด มือสั่น ชีพจรเต้นเร็ว คอพอก และตาโปน และยืนยันโดยการตรวจเลือดพบระดับฮอร์โมนไทรอยด์ (ไทร็อกซีน) สูงกว่าปกติ ถ้าจำเป็น อาจทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น สแกนไทรอยด์ ตรวจคลื่นหัวใจ เอกซเรย์ปอด เป็นต้น
      
การดูแลตนเอง

เมื่อมีอาการคอโต (คอพอก) ใจสั่น เหนื่อยง่าย   น้ำหนักลด มือสั่น ชีพจรเต้นเร็ว หรือตาโปน ควรรีบปรึกษาแพทย์
หากตรวจพบว่าเป็นคอพอกเป็นพิษ ก็ควรปฏิบัติดังนี้
• ติดตามรักษาตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
• กินยาตามคำแนะนำของแพทย์ อย่าหยุดยาหรือปรับขนาดยาเอง ยาที่ให้อาจเป็นยาต้านไทรอยด์  ที่ใช้รักษาคอพอกเป็นพิษ ซึ่งต้องกินนานเป็นแรมปี ในรายที่แพทย์ทำการรักษาด้วยน้ำแร่หรือผ่าตัด อาจมี ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แทรกซ้อน แพทย์ก็จะให้    ยาฮอร์โมนไทรอยด์กินทดแทนทุกวันไปจนชั่วชีวิต
• เมื่อได้รับการรักษาจนอาการทุเลาดีขึ้น สามารถทำกิจกรรมต่างๆ เช่น คนปกติ สามารถออกกำลังกายหรือทำงานที่ต้องใช้แรงกายได้เป็นปกติ
• นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย (มีอาการเหนื่อยหอบ เท้าบวม) โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (มีอาการใจเต้นเร็ว จังหวะไม่สม่ำเสมอ)
บางรายอาจมีอาการแขนขาเป็นอัมพาตเป็นครั้งคราว

ในรายที่มีอาการตาโปนมากๆ อาจทำให้ปิดตาไม่มิด เกิดแผลที่กระจกตาดำ สายตาพิการได้
ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจมีภาวะกระดูกพรุน กระดูกหักง่าย ผู้ชายอาจมีอาการนมโต จำนวนเชื้ออสุจิลดลง (อาจเป็นหมัน) รวมทั้งความรู้สึกทางเพศลดลง
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจเกิดอาการร้ายแรง เรียกว่าภาวะไทรอยด์วิกฤติ (thyroid crisis) มีอาการไข้สูง หัวใจเต้นเร็วมาก อาเจียน ท้องเดิน ร่างกายขาดน้ำ และอาจเกิดภาวะช็อก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ภาวะร้ายแรงนี้มักเกิดเมื่อร่างกายเผชิญกับความเครียด เช่น เป็นโรคติดเชื้อ เข้ารับการผ่าตัด เป็นต้น

      
การดำเนินโรค

หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน    ดังกล่าว
หากได้รับการรักษา อาการต่างๆ มักจะทุเลาได้ภายหลังการรักษาประมาณ ๑-๒ สัปดาห์ แต่ต้องอาศัย ยาต้านไทรอยด์ควบคุมไปเป็นระยะยาวนาน
ในรายที่รักษาด้วยน้ำแร่หรือการผ่าตัด มักจะมีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แทรกซ้อน ซึ่งต้องกินยาฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนตลอดไป

      
การป้องกัน
เนื่อง จากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จึงไม่มีวิธีป้องกันโดยตรง ส่วนผู้ที่เป็นโรคนี้แล้วควรหลีกเลี่ยงความเครียด ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้อาการกำเริบ
      
ความชุก
โรคนี้พบได้ค่อนข้างบ่อย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ๕-๑๐ เท่า อายุที่เริ่มเป็นส่วนมากอยู่ในช่วง ๒๐-๔๐ ปี 

อ้างอิง
- สุรเกียรติ อาชานานุภาพ, ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไปเล่ม 2. สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน กรุงเทพ ฯ : 2531. น. 483 - 486
- สุภาพ สุทธิสันต์ชาญชัย, แพทย์ประจำกลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลลำปาง

สะท้อนความคิดเห็น:

    เนื่องจากเด็กในปัจจุบันขาดไอโอดีนมาก จึงทำให้ข้าพเจ้าอยากจะศึกษาเรื่องนี้ เพื่อเป็นแนวทาง ป้องกันสำหรับคนที่เป็นโรคนี้ 

คิดอย่างไรกับโรคนี้

    เนื่องจากเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักใจด้านการบริโภค ข้าวของราคาแพง จึงทำให้หมู่คนจนขาดสารอาหาร ทำให้เป็น   โรคคอพอก 

แต่ไม่ปรากฏชื่อผู้คนพบโรคนี้

ที่มา :

https://www.herblpg.com/thai/node/202

https://dekmor.cmu.ac.th/img_data/4741.jpg

https://www.doctor.or.th/node/1083 

 https://guru.sanook.com/picfront/main/30122008021008.jpg

 https://www3.ipst.ac.th/research/assets/web/mahidol/hormone(9)/chapter4/goiter.htm

 +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อัพเดทล่าสุด