มะเร็งกระเพาะอาหาร สาเหตุโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อาการโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร การป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อาหารสําหรับผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร


5,003 ผู้ชม


 มะเร็งกระเพาะอาหาร

ภาพ:มะเร็งกระเพาะอาหาร.gif

        มะเร็งกระเพาะอาหาร หมายถึง มะเร็งที่เกิดขึ้นตรงบริเวณเยื่อบุภายในโพรงกระเพาะอาหาร เป็นมะเร็งที่พบได้พอประมาณ มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ในบ้านเรามักจะตรวจพบผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งชนิดนี้ในระยะสุดท้าย เนื่องจากผู้ป่วยมักจะมาหาหมอเมื่อมีอาการปรากฏชัดเจน ได้แก่ อาการปวดท้องและน้ำหนักลด ซึ่งเป็นระยะที่มะเร็งลุกลามไปมากแล้ว จนสุดจะเยียวยารักษาได้ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ (เช่น มีญาติเป็นโรคนี้) ควรปรึกษาหมอเพื่อตรวจเช็กก่อนมีอาการผิดปกติ หากมีการตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกๆ ก็มีทางรักษาให้หายขาดหรือมีชีวิตยืนยาวได้

        ชื่อภาษาไทย มะเร็งกระเพาะอาหาร

        ชื่อภาษาอังกฤษ Cancer of stomach, Gastric cancer


สาเหตุโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

มีปัจจัยหลายอย่างที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร ที่สำคัญได้แก่

        1. พันธุกรรม ผู้ที่มีญาติสายตรง เช่น พ่อแม่พี่น้องป่วยเป็นมะเร็งชนิดนี้ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีพันธุกรรมของโรคนี้

        2. การมีประวัติเป็นโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรังบางชนิดหรือเป็นโรคแผลกระเพาะ อาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เฮลิโคแบกเทอร์ไพโลรี (Helicobacter pylori) โรคเหล่านี้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องแบบโรคกระเพาะเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง

        3. การดื่มเหล้าจัด หรือสูบบุหรี่

        4. การกินอาหารรสเค็มจัด อาหารหมักดอง รมควัน หรืออาหารใส่ดินประสิว (เช่น ไส้กรอก แหนม กุนเชียง)

        5. การกินผักและผลไม้น้อย

        6. การมีประวัติเคยผ่าตัดกระเพาะอาหารมานานกว่า 20 ปี

        จะเห็นได้ว่าโรคนี้เกิดจากเหตุ ปัจจัยได้หลายอย่าง คนที่ไม่ได้สูบบุหรี่หรือดื่มเหล้า แต่ถ้ามีปัจจัยอื่น (เช่น พันธุกรรม เป็นแผลกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นจากเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว กระเพาะอักเสบเรื้อรัง) ก็อาจเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้ จึงไม่ควรประมาทว่าตัวเองมีพฤติกรรมสุขภาพดีแล้วจะไม่เป็นมะเร็ง ทางที่ดีเมื่อมีอาการผิดสังเกต ก็ควรรีบไปหาหมอตรวจกระเพาะแต่เนิ่นๆ หรือถ้ามีปัจจัยเสี่ยง ก็ควรตรวจเช็กกระเพาะตั้งแต่ก่อนมีอาการแสดง

 อาการโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

        ระยะแรกเริ่มจะไม่มีอาการผิด ปกติให้สังเกตเห็นต่อมาเมื่อ ก้อนมะเร็งโตขึ้นจะมีอาการปวดท้อง รู้สึกหิวง่าย อาหารไม่ย่อย ท้องอืด แน่นท้องตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือเหนือสะดือแบบเดียวกับโรคกระเพาะ ซึ่งในช่วงแรกกินยารักษาโรคกระเพาะ อาหารก็ทุเลาได้จนผู้ป่วยคิดว่าเป็นเพียงโรคกระเพาะธรรมดา ปล่อยไว้จนต่อมากินยารักษากระเพาะไม่ได้ผล และอาจมีอาการที่รุนแรงเพิ่มเติมตามมา เช่น

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ (เป็นสีเลือดเก่าที่ตกค้าง)
  • คลำได้ก้อนในท้อง ตรงบริเวณเหนือสะดือเป็นก้อนแข็ง ไม่เจ็บล
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  • คลำได้ก้อนต่อมน้ำเหลืองที่แอ่งไหปลาร้าข้างซ้าย

        ถ้าปล่อยจนกระทั่งมะเร็งลุกลาม ไปยังอวัยวะต่างๆ ก็จะมีอาการของโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น ดีซ่านหรือตาเหลือง (ลามไปตับ) ปวดท้อง อาเจียน (ก้อนมะเร็งอุดตันกระเพาะลำไส้) หายใจหอบเหนื่อย (ลามไปปอด) ปัสสาวะไม่ออกหรือออกน้อย (ลามไปอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ) เป็นต้น

 การแยกโรค

        ในระยะแรกของการแสดงอาการในผู้ ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งมีลักษณะปวดหรือแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่ จะดูคล้ายโรคกระเพาะ โรคน้ำย่อยไหลกลับ (โรคกรดไหลย้อนหรือโรคเกิร์ด) โรคเหล่านี้หากให้กินยารักษาโรคกระเพาะมักจะทุเลาหรือหายขาดได้ ส่วนมะเร็งกระเพาะอาหารในช่วงแรก หากกินยารักษาโรคกระเพาะ อาจได้ผลชั่วคราว แต่ต่อมาจะไม่ได้ผล

        อาการในระยะต่อมา คือ คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด จะดูคล้ายมะเร็งหลอดอาหาร (กลืนอาหารลำบาก เริ่มจากกลืนอาหารแข็ง เช่น ข้าวสวยไม่ได้ก่อน) มะเร็งตับ (คลำได้ก้อนแข็ง บริเวณใต้ชายโครงขวา)

การวินิจฉัยโรค

        แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้ด้วยการ ตรวจพิเศษ ปัจจุบันนิยมใช้วิธีส่องกล้องลงไปตรวจดูสภาพภายในกระเพาะอาหาร (เป็นวิธีที่ไม่เจ็บปวดแต่อย่างใด แต่อาจทำให้รู้สึกอึดอัดพะอืดพะอม) จะพบแผลมะเร็ง และไม่ว่าจะพบแผลมะเร็งอย่างชัดแจ้งหรือไม่ แพทย์จะใช้เข็มสะกิดเอาชิ้นเนื้อบนผิวกระเพาะไปพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการ

        บางครั้งแพทย์อาจทำการตรวจโดยวิธีให้ผู้ป่วยกลืนแป้งแบเรียม แล้วถ่ายภาพเอกซเรย์ของกระเพาะลำไส้

        เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง กระเพาะอาหารแน่ชัดแล้ว แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ อีก (เช่น อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์) เพื่อประเมินว่ามะเร็งกระจายตัวไปมากน้อยเพียงใด หรืออยู่ในระยะใด (มะเร็งแบ่งเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 เป็นเล็กน้อยหรือระยะแรก ซึ่งเซลล์ยังอยู่เฉพาะในผนังกระเพาะอาหารเท่านั้น ส่วนระยะ 4 เป็นระยะสุดท้ายซึ่งมะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้ว)

การดูแลตนเอง

        1. ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ (เช่น มีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรัง หรือติดเชื้อเฮลิโคแบกเทอร์ไพโลรี) ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็กกระเพาะโดยการส่องกล้อง อาจต้องทำการตรวจเช็กปีละครั้ง ถ้าพบว่าเริ่มมีความผิดปกติ จะได้รีบหาทางป้องกันหรือรักษาให้ได้ผล และมีชีวิตยืนยาว

        2. ผู้ที่มีอาการปวดแสบลิ้นปี่เวลาก่อนกินอาหาร หรือจุกแน่นท้องหลังกินอาหาร ถ้าเพิ่งเป็นครั้งแรก โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ และมีอายุต่ำกว่า 40 ปี ให้กินยาต้านกรด ครั้งละ 15-30 มิลลิลิตร หลังอาหาร 3 มื้อและก่อนนอน

  • ถ้ากินยา 2-3 วันรู้สึกทุเลา ให้กินยาจนครบ 2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ทุเลาตั้งแต่แรก ควรไปพบแพทย์
  • ในกรณีกินยา 2 สัปดาห์แล้วไม่หายดี ควรไปพบแพทย์
  • ถ้าหายดี ควรกินยาจนครบ 6-8 สัปดาห์
  • หากกินยาครบ 6-8 สัปดาห์ แล้วต่อมามีอาการกำเริบก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ

        นอกจากนี้ ถ้าผู้ป่วยมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ก็ควรรีบไปพบแพทย์

        (1) มีอายุเกิน 40 ปี แม้จะมีอาการเป็นครั้งแรกและไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์

        (2) มีอาการปวดรุนแรง ปวดนานเกิน 6 ชั่วโมง กระเทือนถูกเจ็บ อาเจียน ถ่ายอุจจาระดำ ตาเหลือง ตัวเหลือง หรือน้ำหนักลด เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

        3. หากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • ติดตามรักษากับแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่องตามนัด
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
  • ควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจ ด้วยการยอมรับความจริง ทำใจให้อยู่กับปัจจุบัน หมั่นทำสมาธิ เจริญสติ สวดมนต์ ภาวนา
  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ กินผักผลไม้ เมล็ดถั่วเหลือง เต้าหู้ให้มากๆ ควรเป็นอาหารที่ย่อยง่ายไม่ทำให้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  • หมั่นออกกำลังกายเท่าที่ร่างกายจะรับได้เป็นประจำ

การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

        การรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบัน ประกอบด้วยการผ่าตัด การให้ยาบำบัด (เคมีบำบัด หรือการให้คีโม) การให้รังสีบำบัด (ฉายแสง)

        ถ้าเป็นระยะแรกๆ แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดกระเพาะอาหาร (อาจตัดบางส่วน หรือทั้งหมดแล้วแต่ความรุนแรงของโรค) และให้เคมีบำบัดเป็นหลัก เคมีบำบัดจะให้ต่อเนื่องระยะหนึ่ง เพื่อควบคุมไม่ให้มะเร็งกระจายตัวหรือยุบตัวลง อาจให้ก่อนผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด แล้วแต่แพทย์จะเห็นควร การรักษาในขั้นนี้มุ่งหวังให้โรคทุเลาหรือหายขาด และมีอายุยืนยาว

        ในรายที่เป็นมาก อาจจำเป็นต้องให้เคมีบำบัดเป็นหลัก บางครั้งอาจร่วมกับการฉายแสง ส่วนการผ่าตัดอาจทำเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ก้อนมะเร็งอุดกั้นทางเดินอาหารหรือทางเดินปัสสาวะ การรักษาในขั้นนี้ ไม่ได้มุ่งหวังให้โรคหาย แต่เพื่อป้องกันหรือบรรเทาภาวะแทรกซ้อน ช่วยให้ผู้ป่วยมีความสุขสบาย

        ประชาชนมักมีความเชื่อผิดๆ ว่า การผ่าตัดมักจะทำให้โรคทรุดหนัก เนื่องเพราะจะเห็นผู้ป่วยส่วนมากที่อยู่ในระยะสุดท้ายมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องผ่าตัดช่วยชีวิตหรือบรรเทาอาการทุกข์ทรมาน (ไม่ได้มุ่งหวังให้โรคหาย) ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอาการทรุดหนักตามมาและอยู่ได้ไม่นาน จึงทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและกลัวการผ่าตัด

        ส่วนเคมีบำบัด เนื่องจากอาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง เม็ดเลือดขาวต่ำ (ติดเชื้อง่าย) จนผู้ป่วยบางคนทนไม่ได้ จึงทำให้เกิดความรู้สึกกลัว การรักษาโดยวิธีนี้ จริงๆ แล้วปัจจุบันมีการพัฒนายาเคมีบำบัดให้มีผลดีในการรักษามากขึ้น และลดผลข้างเคียงลง ข้อเสียคือราคาแพงจนผู้ป่วยบางคนสู้แบกรับภาระค่ารักษาไม่ไหว อย่างไรก็ตาม อาการข้างเคียงมักจะเกิดขึ้นชั่วคราว ผู้ป่วยจะค่อยๆ ทนต่อยาได้มากขึ้น และหลังหยุดยา (เมื่อให้ครบ) ร่างกายก็จะสามารถฟื้นสภาพสู่ปกติได้

ภาวะแทรกซ้อน

        เกิดจากมะเร็งลุกลาม และแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น

  • ก้อนมะเร็งอุดกั้นทางเดินอาหาร (มีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน กินอาหารไม่ได้)
  • มะเร็งอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ (ทำให้ปัสสาวะไม่ออก ไตวาย)
  • มะเร็งแพร่ไปที่ปอด (ทำให้หายใจลำบาก)
  • มะเร็งแพร่ไปที่ตับ (ทำให้มีอาการดีซ่าน ท้องบวมน้ำ)
  • ภาวะตกเลือด (อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ หน้าตาซีดเซียว) หรือมีอาการเจ็บปวด เป็นต้น

การดำเนินโรค

        ถ้าเป็นมะเร็งระยะแรก ก็มักจะรักษาให้หายขาดหรือมีชีวิตยืนยาวได้แต่ถ้าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย การรักษาเพียงแค่ประคับประคองเพื่อไม่ให้ทุกข์ทรมาน และมักมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน เช่น เป็นระยะที่ 4 ซึ่งมะเร็งลุกลามกระจายทั่วร่างกายแล้ว มักจะอยู่ได้ประมาณ 6-12 เดือน (บางคนดูแลตนเองได้ดี ก็อาจอยู่ได้นานกว่านี้)

การป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร

        1. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น งดบุหรี่ เหล้า หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีรสเค็ม อาหารหมักดอง รมควัน และอาหารใส่ดินประสิวเป็นประจำ

        2. กินผักและผลไม้ให้มากๆ ทุกวัน

อาหารสําหรับผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร 

         มะเร็งกระเพาะอาหารสามารถ เกิดขึ้นที่ส่วนใดของกระเพาะอาหารก็ได้ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นเซลล์ชนิด adenocarcinoma ปัจจัยเสี่ยงเกิดจาก การสูบบุหรี่ การติดเชื้อ Helicobacter pyroli การมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง เพศชายจะเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง 2 เท่า การป่วยเป็นโรคโลหิตจางชนิด Pernicious anemia Hereditary nonpolyposis (HNPCC หรือ lynch syndrome) ,familial adenomatous polyposis (FAP) และโรคอ้วน เหล่านี้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร อาการของโรคบางครั้งผู้ป่วยอาจ ไม่มีอาการใด หรือมีอาการท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียนก็ได้ การวินิจฉัยอาจทำการส่องกล้องหรือกลืนแป้งเพื่อดูชิ้นเนื้อที่เป็นอยู่ การรักษามะเร็งกระเพาะอาหารขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อร้าย การกระจายไปอวัยวะอื่นๆ หรือไม่ และสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย ในหลายกรณี คณะแพทย์ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ระบบทางเดินอาหาร ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์โรคมะเร็ง และแพทย์รังสีรักษา ต้องปรึกษากันเพื่อวางแผนการรักษาที่ดีที่สุด ที่สำคัญอีกอย่าง คือ หลังจากการผ่าตัดกระเพาะอาหารผู้ป่วยมักจะเกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า dumping syndrome ซึ่งอาหารก็จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมาก


การจัดอาหาร
ข้าวแป้ง

    ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารคงต้องหันมาให้ความสำคัญต่อการควบคุมคาร์โบไฮเดรตร่วมด้วย เนื่องจากพบว่า หากคาร์โบไฮเดรตมากไปอาจทำให้เกิดผลเสียต่อโรคมะเร็งที่ เป็นอยู่ได้ พลังงานจากอาหารหมู่นี้ยังคงได้รับเท่าเดิม คือ  55-60% ของพลังงานทั้งหมด แต่การได้รับนั้นควรกระจายให้มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตเท่ากันทุกมื้ออาหาร ยกเว้นในกรณีที่เพิ่งผ่าตัดกระเพาะออกไปบางส่วน ควรแบ่งมื้ออาหารและลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตให้น้อยเท่าที่ทำได้ เพื่อลดอาการไม่สบายท้องรวมไปถึงคลื่นไส้อาเจียน ควรรับประทานอาหารที่หลากหลาย หากเบื่ออาหารประเภทข้าวอาจเปลี่ยนเป็นขนมปัง หรือก๋วยเตี๋ยวราดหน้าบ้างก็ได้

เนื้อสัตว์
     การรับประทานเนื้อสัตว์มากอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารมาก ขึ้น โดยเฉพาะในเนื้อสัตว์ที่ติดมันมาก หรือในกรณีที่มีการปนเปื้อนของสารเคมี เช่น ในเนื้อหมูอาจจะมีไขมันอยู่เยอะ และมีการปนเปื้อนของสารเร่งเนื้อแดง ดังนั้น ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำจากแหล่งหรือร้านที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีการ ปนเปื้อนสารเคมี  โดยควรได้รับโปรตีนวันละ 15% ของปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องการแต่ละวัน แหล่งโปรตีนที่ดีที่สุด คือ ไข่ไก่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่มีกรดอะมิโนครบทุกชนิด

ไขมัน
     ไขมันยังคงเป็นสิ่งที่ควรจำกัด และดูแลเป็นพิเศษ ควรงดเว้นของทอด กะทิ และอาหารอื่นๆ ที่มีส่วนประกอบไขมันสูง การปรุงประกอบอาหารโดยใช้น้ำมันมะกอกจะสามารถส่งผลดีต่อผู้ป่วยมะเร็งได้ ดังมีรายงานของการรับประทานอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งจะใช้น้ำมันมะกอกปรุงอาหาร พบว่าอัตราเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหารลดลง  แต่อย่างไรก็ตาม ถึงมีข้อมูลว่าน้ำมันมะกอกให้ผลดีต่อผู้ป่วย แต่ไม่ได้หมายถึงการรับประทานไขมันมากๆ และจะส่งผลดีต่อร่างกายดังนั้นควรลดการรับประทานไขมันเท่าที่เป็นไปได้

ผัก
       พืชในกลุ่มผักที่มีสาร Isoflavone มีรายงานทั้งช่วยควบคุมเซลล์มะเร็งและไม่มีผลต่อการควบคุมมะเร็ง แต่อย่างไรก็ตาม สารเหล่านี้ก็ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จึงถือว่าการรับประทานผักกลุ่มกะหล่ำ บร็อคโคลี่ ยังให้ผลดีในการต้านอนุมูลอิสระอยู่ ควรรับประทานผักให้ได้วันละ 5 ทัพพี ขึ้นไป และมีรายงานถึงเห็ดหัวลิง ว่าสามารถให้ผลดีในการลดการเกิดมะเร็งกระเพาะรวมไปถึงแผลในกระเพาะอาหารได้

ผลไม้
    ผลไม้สามารถรับประทานได้ทุกชนิด แต่ให้ระมัดระวังในกรณีของการผ่าตัดกระเพาะแล้วเท่านั้น หลังจากนั้นสามารถเลือกรับประทานผลไม้ที่ไม่มีเนื้อหยาบเกินไปได้ตามต้องการ อาทิ มะละกอสุก ส้ม เป็นต้น

      สำหรับผู้ป่วยที่ มีอาการ dumping syndrome (เกิดจากการที่อาหารผ่านกระเพาะอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กเร็วเกินไป ทำให้มีอาการปวดเกร็งช่องท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย และอาจพบอาการน้ำตาลในเลือดต่ำได้) ร่วมด้วย ควรมีการดูแลอาหารพิเศษเพิ่มขึ้น คือ
• ทานอาหารให้ลดปริมาณต่อมื้อให้น้อยลงแต่รับประทานเพิ่มจำนวนมื้อขึ้นแทน
• ไม่ทานอาหารร้อนจัด หรือเย็นจัดจนเกินไป
• ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น พวกเครื่องดื่มธัญพืช 
• ไม่ดื่มน้ำร่วมกับมื้ออาหารควรเว้นระยะห่างจากการรับประทานอาหาร 30 นาที
• ควรอยู่ในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนขณะรับประทานอาหารเพื่อให้อาหารเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น
• หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดสูง เช่น มะเขือเทศ ส้ม มะนาว เป็นต้น
• ควรรับประทานอาหารที่มี pectin สูง เช่น  แอปเปิ้ล พลัม  พีช  เป็นต้น
• ควรได้รับแคลเซียมและวิตามิน บี 12  เสริมจะสามารถทำให้ฟื้นฟูร่างกายได้เร็วขึ้น

ตัวอย่างการเลือกอาหารสำหรับผู้ป่วย dumping syndrome 

ข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว 

การเลือกอาหาร 

อาหารที่ควรเลี่ยง 

รับประทาน 6-11 ส่วนต่อวัน
โดย 1 ส่วนเท่ากับขนมปัง 1 แผ่น, ข้าว 1 ทัพพี, พาสต้า 1/2 ถ้วย

ขนมปังทุกชนิดที่ไม่มีรสหวาน, ข้าว พาสต้า, แครกเกอร์, ซุป

อาหารหวาน, แครกเกอร์, ขนมปัง หวาน, แพนเค้ก, วาฟเฟิล

ผลไม้

การเลือกอาหาร

อาหารที่ควรเลี่ยง

รับประทาน 2-4 ส่วนต่อวัน
โดย 1 ส่วน คือ 1 ผลของผลไม้ขนาดกลาง เช่น ส้ม 1 ผล                          

ผลไม้สดที่ไม่หวานจัด, น้ำผลไม้ 100% ไม่หวานจัด ควรรับประทานหลังอาหาร 1 ชั่วโมง

ผลไม้กระป๋องในน้ำเชื่อม, น้ำผลไม้ที่เติมน้ำตาล

นม

การเลือกอาหาร

อาหารที่ควรเลี่ยง

วันละไม่เกิน 2 ส่วน
โดย 1 ส่วน เท่ากับ 1 แก้ว 

โยเกิร์ตรสธรรมชาติ, นมพร่องมันเนยจืด                   

มิลค์เชค, โยเกิร์ตรสหวาน

เครื่องดื่ม

การเลือกอาหาร

อาหารที่ควรเลี่ยง

เครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลทุกชนิด

แอลกอฮอล์, เครื่องดื่มใส่น้ำตาล

หมายเหตุ  :  กลุ่มผักและเนื้อสัตว์สามารถรับประทานได้ตามปกติและไขมันเลี่ยงให้ได้มากที่สุด
คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร
• รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด เนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา กุ้ง ถ้าจะรับประทานเนื้อสัตว์ที่ย่อยยากควรต้มให้เปื่อยก่อน  หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีกากมาก เช่น เมล็ดพืช เปลือกผลไม้ ผักเยื่อใยหยาบ เป็นต้น
• เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืนและรับประทานอาหารช้าๆ
• อาหารควรสะอาดสุกใหม่ งดอาหารที่คิดว่าอาจจะปนเปื้อนทำความสะอาดไม่ได้ เช่น หอยทุกชนิด อาหารหมักดอง เนื่องจากน้ำกรดที่ช่วยในการย่อยและทำลายเชื้อโรคมาจากกระเพาะ เมื่อกระเพาะถูกตัดน้ำกรดก็เหลือน้อยลง อาหาร มือ และภาชนะควรล้างให้สะอาดก่อนปรุง อาหารที่ปรุงแล้วปิดให้มิดชิด และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร

อัพเดทล่าสุด