อาหารบำรุงครรภ์ อาหารสำหรับคนท้อง เคล็ดลับการกินสำหรับคนท้อง อาหารที่เหมาะกับคนท้อง


15,086 ผู้ชม


อาหารบำรุงครรภ์
อาหารการกินเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต แล้วยิ่งเป็นเรื่องกินของแม่ท้องด้วยแล้ว สำคัญสุดๆค่ะ เพราะทุกอย่างที่คุณกินหมายถึงอาหารของลูกในท้องด้วย นอกจากอาหารครบคุณค่าที่คุณและลูกต้องการแล้ว คุณยังต้องการสารอาหารพิเศษที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงอายุครรภ์ ไปดูกันค่ะว่า แต่ละช่วงร่างกายคุณต้องการอะไร และควรเน้นอะไร เป็นพิเศษ
ก่อนตั้งครรภ์ : สร้างสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ก่อนที่จะมีเจ้าหนู ด้วยการออกกำลังกายให้แข็งแรง และเตรียมพร้อมด้วยอาหารจำพวกโปรตีนและวิตามินให้มาก รวมทั้งผักใบเขียวที่เป็นแหล่งกรดโฟลิกด้วย เพราะสมัยนี้กรดโฟลิกสามารถสะสมได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์แล้ว
ไตรมาสที่ 1 (0-3 เดือน) : เอาแล้วไง...เริ่มโอ้กอ้ากกินข้าวไม่ได้แล้วใช่ไหมคะ ตอนนี้คุณแม่บางคนจะรู้สึกเหนื่อยวิงเวียน ได้กลิ่นอะไรก็เหม็นไปหมด ฉะนั้นควรเป็นอาหารที่ปรุงง่ายมีรสเปรี้ยวนิดๆ และไม่มีเครื่องเทศอย่างกระเทียม โดยช่วงนี้อาหารจำพวก ข้าว แป้ง น้ำตาล ยังมีความจำเป็นน้อยอยู่ แต่ควรเพิ่มโปรตีนจากเนื้อสัตว์ และกรดโฟลิกจากผักใบเขียว ส้ม และกล้วย ให้มากเพื่อป้องกันภาวะพิการทางสมอง ช่วงนี้แม้จะกินได้น้อย แต่ก็กินให้บ่อยเถอะนะคะ เพื่อลูกค่ะ
ไตรมาสที่ 2 (3-6 เดือน) : ท้องเริ่มป่องจนเห็นได้ชัดแล้วใช่ไหมคะ ช่วงนี้แหละที่เจ้าหนูในท้องของ คุณกำลังสร้างอวัยวะสำคัญต่างๆ จึงต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะ โปรตีน เหล็ก และแคลเซียม จากเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ตับ นม และผักผลไม้ แม่ตั้งครรภ์จึง ควรเลือกให้มีสารสำคัญหล่านี้ในทุกมื้ออาหาร และดื่มนมเป็นประจำเพื่อสุขภาพลูกที่แข็งแรง ช่วงนี้เลือกสรรของดีมากคุณค่าเพื่อสุขภาพแม่และลูกค่ะ
ไตรมาสที่ 3 (7-9 เดือน) : อุ้ยอ้ายมากขึ้นแล้วล่ะสิ เป็นเพราะว่าน้ำหนักของลูกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาหารจำพวกเนื้อสัตว์จึงยังจำเป็นอยู่เหมือนเดิม เพื่อการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์แข็งแรงของลูก รวมทั้งอาหารอย่างอื่นอย่าง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต ฯลฯ ก็ต้องไม่ลืมด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีกากใยมากอย่างผักผลไม้ก็ต้องกินให้เยอะขึ้น เพราะนอกจากจะได้เกลือแร่เรียกความสดชื่นแล้ว ยังช่วยให้ท้องไม่ผูกและป้องกันโรคริดสีดวงทวารอีกด้วยค่ะ

เคล็ดลับการกินสำหรับคนท้อง
  • เลือกอาหารที่หลากหลายจากอาหารในแต่ละหมู่เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ได้รับอาหารครบทั้งห้าหมู่
  • หากคุณแม่รู้สึกกังวลว่า ไม่ได้รับประทานอาหารครบหมู่ ขอแนะนำให้สอบถามสูติแพทย์และพยาบาลผดุงครรภ์เกี่ยวกับ อาหารเสริม
  • ทานอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 - 3 ครั้งต่อวัน
  • พยายามทานผลไม้และผัก ซีเรียลธัญพืช และถั่วชนิดต่างๆ เพื่อเพิ่มปริมาณไฟเบอร์ในร่างกาย
  • ดื่มน้ำบ่อยๆ อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน
  • ดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ เช่น นมพร่องไขมัน น้ำผลไม้สด และซุป
  • ในแต่ละสัปดาห์ ควรรับประทานปลาที่มีไขมันหนึ่งส่วน และปลาไร้ไขมันหนึ่งส่วน (แต่ให้หลีกเลี่ยงปลาฉลาม ปลาดาบเงิน และปลากระโทงแทง)
  • ใช้น้ำมันพืชในการทำอาหาร เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก และน้ำมันดอกทานตะวัน โดยใช้ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป
  • จำกัดการรับประทานอาหารที่ผ่านกรรมวิธี หรืออาหารหมักดอง ซึ่งมักจะมีเกลืออยู่ในปริมาณมาก
  • ลดปริมาณคาเฟอีนที่คุณรับประทานลงให้น้อยกว่า 4 แก้วต่อวัน
  • จำกัด การทานของหวาน ของขบเคี้ยว เค้ก คุกกี้ ไขมัน น้ำมัน และน้ำตาล อาหารเหล่านี้ให้แคลอรี่ แต่ไม่ค่อยมีคุณค่าทางอาหารที่คุณแม่และลูกน้อยต้องการ การทานตามใจปากในช่วงนี้ จะทำให้คุณแม่กลับมามีรูปร่างเหมือนเดิมได้ยาก ดังนั้น พยายามหักห้ามใจ ไม่ทานของหวานพวกนั้นบ่อยเกินไป

อัพเดทล่าสุด