ข้าว...อาหารจานหลักของคนไทย
เม็ดสวยอวบหอมกรุ่นนุ่มน่ากิน คือนิยามของข้าวสวยของไทย... โดยส่วนใหญ่คนไทยนิยมกินข้าวหอมมะลิ เนื่องจากมีเม็ดเรียวสวยมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ อีกทั้งยังนุ่มนวลรสชาติอมหวานอร่อยเลิศ ส่วนเทคนิคการหุงข้าวนั้นก็มีหลายวิธี ครั้งนี้เราจึงรวบรวมเรื่องเกี่ยวกับ ข้าว มาให้ดูกันค่ะ...
วิธีการหุงข้าวให้นุ่มน่ากิน...
สามารถใช้ได้ทั้งวิธีหุงข้าวด้วยหม้อไฟฟ้า และหุงด้วยเตาถ่านโดยเมื่อใส่น้ำลงในข้าวพร้อมจะนำไปหุงแล้วนั้น ให้บีบมะนาวใส่ลงไปด้วยประมาณ 2-3 หยด (ไม่ควรใส่มากเกินไปเดี๋ยวข้าวจะกลายเป็นข้าวเปรี้ยวไป) แล้วข้าวจะสุกนุ่มน่ากิน อีกทั้งยังมีสีขาวสวยด้วยค่ะ...
การแก้ไขปัญหาข้าวสุก ๆ ดิบ ๆ
สำหรับมือใหม่ ถ้าหุงด้วยหม้อฟ้าคงไม่มีปัญหามากนัก เนื่องจากระบบไฟฟ้าจะทำการตัดไฟเมื่อข้าวสุก แต่ก็มีบางครั้งเหมือนกันที่เราต้องออกนอกสถานที่ไปหุงข้าวที่อื่น ดังนั้นหม้อธรรมดา จึงเป็นปัญหาหนักสำหรับมือใหม่ เมื่อเห็นเป็นเช่นนั้นแล้วให้เตรียมละลายน้ำเกลือไว้เลยค่ะ จากนั้นนำน้ำเกลือลงไปพรมให้ทั่วฝาหม้อ (ต้องปิดฝาให้สนิทจริงๆ) ไม่ช้าข้าวในหม้อก็จะสุกขึ้นมาทันที...
แก้อย่างไรถ้าหุงข้าวแฉะเกิน...
วิธีนี้นิยมใช้กันมากค่ะ สามารถใช้ได้ทั้งหม้อหุงข้าวไฟฟ้าและหม้อหุงข้าวแบบดั้งเดิม เมื่อเห็นว่าข้าวสวยของคุณแฉะเกินงามให้หาขนมปังสัก 2-3 แผ่น วางลงไปในหม้อ จากนั้นกดสวิตซ์หุงอีกครั้ง ขนมปังที่อยู่ด้านในจะซับเอาน้ำจากข้าวออกมาให้คุณค่ะ แล้วข้าวหม้อนั้นของคุณก็จะสวยสมใจ...
วิธีการมูนข้าวเหนียวให้เก็บได้นาน ๆ...
หลังจากที่นึ่งข้าวเหนียวสุกดีแล้ว นำมามูนกับน้ำกะทิ ปิดฝาหม้อ แล้วให้นำหม้อข้าวเหนียวนี้ไปตั้งบนไฟอ่อนๆ หมุนไปรอบๆ ประมาณ 15-20 นาที แล้วยกลงปล่อยให้ระอุสักครู่ วิธีการแบบนี้จะทำให้ข้าวเหนียวสามารถเก็บไว้ค้างคืนได้โดยไม่บูด และสามารถเก็บไว้ได้หลาย ๆ วัน โดยที่ไม่ต้องนำเข้าตู้เย็นค่ะ แต่ทางที่ดีควรทำข้าวเหนียวมูนให้พอดีกับการรับประทานแต่ละครั้งก็พอค่ะ จะได้ไม่ต้องเหลือไว้ข้ามคืน...
ต้มข้าวอย่างไรไม่ให้ล้นหม้อ...
เวลาที่ทำข้าวต้มสังเกตได้ว่าขณะที่ข้าวต้มกำลังเดือดมักจะมีปัญหาเกิดขึ้น เสมอ เพราะน้ำจากข้าวต้มจะล้นออกจากหม้อ ทำให้เราต้องยืนคนตลอดเวลา ดังนั้นเวลาที่คุณทำข้าวต้มให้หย่อนถ้วยกระเบื้องเคลือบใบเล็กๆ ใส่ลงไปในหม้อด้วย จะช่วยไม่ให้ข้าวต้มล้นเลอะหม้อเลอะเตาอีกต่อไปค่ะ...
สุดฮิตกับเมนูข้าวญี่ปุ่น...
ข้าวญี่ปุ่นกำลังได้รับความนิยมกันมากในหมู่คนไทย คงเนื่องมาจากอาหารญี่ปุ่นที่มีให้เห็นกลาดเกลื่อน เมื่อก่อนนี้ข้าวญี่ปุ่นมีราคาแพงมากค่ะ จึงไม่มีผู้ซื้อมาหุงกินเอง แต่เดี๋ยวนี้ราคาพอคบหากันได้ วัยรุ่นส่วนใหญ่จึงหันมากินมากขึ้น ส่วนขั้นตอนการหุงข้าวญี่ปุ่นนั้นต่างจากของไทยบ้านเรา ด้วยเพราะขนาดที่ไม่เท่ากัน อีกทั้งยังมีความเหนียวนุ่มต่างกันด้วย ครั้งนี้จึงมีวิธีการหุงข้าวญี่ปุ่นมานำเสนอค่ะ เริ่มจากปริมาณข้าวกับน้ำ ควรใช้ข้าวญี่ปุ่น 1 ถ้วย และน้ำเปล่า 2 ถ้วย แต่ก่อนนำมาหุงต้องนำข้าวญี่ปุ่นไปแช่น้ำอุณหภูมิปกติประมาณ 30 นาที จากนั้นนำข้าวใส่กระซอนพักไว้อีก 30 นาที แล้วจึงนำมาหุงได้ตามปกติค่ะ...
หุงข้าวมันให้สวยน่าหม่ำ...
ข้าวมันในที่นี้คือข้าวมันที่กินกับส้มตำนะคะ เป็นข้าวมันที่ใส่กะทิลงไป รสชาติอมหวาน อมเค็ม แถมด้วยมันนิดๆ จากกะทิ วิธีการทำข้าวมันนั้นสามารถทำได้ทั้งวิธีหุงและนึ่ง โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีการนึ่งเพื่อให้ได้รสชาติและกลิ่นไหม้อ่อนๆ เทคนิคคือหลังจากที่นึ่งไปแล้วประมาณ 15 นาที ให้คุณเปิดฝาภาชนะ จากนั้นใช้พายหรือทัพพีค่อยๆ คน เพื่อให้ส่วนผสมของข้าวและกะทิเข้ากันจนทั่ว วิธีนี้จะทำให้กะทิไม่ลอยหน้าหรือแตกมัน อีกทั้งข้าวที่นึ่งเสร็จแล้วจะมีเม็ดสวยนุ่ม...
ข้าวบูดหรือหม้อบูด...
เมืองไทยเป็นเมืองร้อน ดังนั้นถ้ากินข้าวไม่หมดแนะนำให้คดข้าวใส่ถ้วยแล้วล้างหม้อหุงข้าวให้สะอาด ค่ะ ไม่อย่างนั้นแล้วข้าวของคุณจะบูดจนกินไม่ได้ ส่วนผู้ที่บอกว่าถ้าหม้อหุงข้าวบูดแล้วเวลาหุงครั้งต่อๆ ไปข้าวก็จะบูดด้วยเช่นกัน อันนี้ไม่ใช่เรื่องของหม้อหรอกค่ะ แต่เป็นเรื่องการทำความสะอาดมากกว่า วิธีแก้แบบเห็นผลคือให้หุงด้วยน้ำเปล่า (ไม่ต้องใส่ข้าว) ประมาณ 3-4 ครั้ง กลิ่นและเชื้อโรคจะตายหายไปเองค่ะ แต่ถ้าไม่ได้ผลแนะนำให้หุงน้ำส้มสายชูพร้อมกับน้ำเปล่า สัดส่วนอยู่ที่ 60:40 จากนั้นก็หุงด้วยน้ำเปล่าอีกครั้ง เท่านี้หม้อของคุณก็จะกลับมาใช้ได้เหมือนเดิมค่ะ...
ขอแถมเรื่องวิธีป้องกันเราขึ้นขนมปังสักหน่อย...
หลายๆ ท่านคงจะเคยประสบปัญหาเมื่อซื้อขนมปังมาเก็บไว้ แค่เก็บเพียงไม่กี่วันขนมปังจะขึ้นราเสียแล้ว วิธีป้องกันง่ายๆ คือ เมื่อซื้อขนมปังมาให้นำไปเก็บไว้ในช่องแช่แข็งในตู้เย็น เวลาจะรับประทานก็เอาออกมาตั้งทิ้งไว้ให้คลายความเย็น ขนมปังก็จะยังสดใหม่ นุ่มเหมือนเดิม วิธีนี้ยังสามารถใช้ได้กับขนมเค้กด้วยค่ะ...