"กระเพาะปัสสาวะอักเสบ"
สาว ๆ ที่นั่งทำงานนาน ๆ จนบางครั้งก็ลืมไปเข้าห้องน้ำ ทำให้ต้องอั้นปัสสาวะเป็นประจำ หรือบางทีก็ต้องเดินทางไกล ทำให้ไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้ ระวังให้ดีล่ะ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจะถามหาเอาได้นะคะ หากสาว ๆ คนไหนที่กำลังผจญกับอาการอย่างที่กล่าวมานี้ WP มีคำแนะนำง่าย ๆ เพื่อให้พ้นจากโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบนี้มาฝากกันค่ะ แต่ก่อนอื่น ต้องมาเริ่มทำความรู้จักกับลักษณะทั่วไปของโรคนี้กันก่อน
อย่างไหนถึงเรียกว่าเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ส่วนมากจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวกับที่อยู่ในลำไส้ของเรา โดยเข้าไปทางท่อปัสสาวะ โรคนี้พบมากในผู้หญิง เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงทั้งสั้นและอยู่ใกล้ทวารหนัก ซึ่งเป็นแหล่งซ่องสุมของเชื้อโรค ทำให้เชื้อโรคเข้าทางท่อปัสสาวะของผู้หญิง ได้ง่ายกว่าผู้ชายค่ะ
ฮิตมากในหมู่ผู้หญิง
ผู้หญิงแทบทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ แต่จะพบมากในผู้หญิงมีครรภ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์) หรือผู้หญิงที่ชอบอั้นปัสสาวะนาน ๆ เป็นประจำ บางครั้งอาจพบเป็นโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวาน นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต
นอกจากนี้ ผู้หญิงที่แต่งงานใหม่ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ เนื่องจากหลังร่วมเพศอาจมีอาการขัดเบาแบบกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งแพทย์เรียกว่า โรคฮันนีมูน (Honeymoon’s Cystitis) สาเหตุเกิดจากการฟกช้ำจากการร่วมเพศ แล้วทำให้มีอาการอักเสบของท่อปัสสาวะ ส่วนผู้ชายนั้นมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยมาก ซึ่งถ้าพบก็มักจะมีความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมลูกหมากโต หรือมีก้อนเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ หรือมีความผิดปกติทางโครงสร้างของทางเดินปัสสาวะ
อาการเป็นอย่างไร
สาว ๆ คนไหนมีอาการปัสสาวะกะปริดกะปรอยและปัสสาวะบ่อยครั้ง รู้สึกปวดขัดหรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ บางครั้งอาจมีอาการปวดที่ท้องน้อยร่วมด้วย หรือสังเกตพบว่าปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น สีมักจะใส แต่บางคนอาจขุ่นหรือมีเลือดปน ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นหลังอั้นปัสสาวะนาน ๆ หรือหลังร่วมเพศ แต่โรคนี้มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่บางคนอาจเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นเรื้อรัง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา เชื้อโรคอาจลุกลามทำให้กลายเป็นโรคกรวยไตอักเสบได้ค่ะ
เป็นแล้วต้องทำอย่างไร
เริ่มแรก ขณะที่มีอาการแสดง ควรดื่มน้ำมาก ๆ และไม่ควร อั้นปัสสาวะ แต่ถ้าปวดมาก ให้กินยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะ เช่น โคไตรม็อกซาโซล 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง อะม็อกซีซิลลิน 500 มก. ทุก 8 ชั่วโมง หรือนอร์ฟล็อกซาซิน 400 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน
ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นซ้ำมากกว่า 2-3 ครั้ง ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุโดยการตรวจปัสสาวะ เพื่อนำปัสสาวะไปเพาะหาเชื้อ เอกซเรย์ หรือใช้กล้องส่องตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ (Cystoscope) แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ
โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
อะไรเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ
โดย ปกติเชื้อโรคก็จะมาตามท่อปัสสาวะของเรานี่เองแล้วขึ้นมาที่กระเพาะปัสสาวะ โดยปกติก็จะเป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่อยู่ในทางเดินอาหารและพบในอุจจาระ (ซึ่งไม่เกิดโรค) แต่ถ้าเข้ามาอยู่ในทางเดินปัสสาวะแล้วจะเกิดโรคครับ
ผู้หญิง จะมีโอกาสเกิดการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะได้มากว่าผู้ชายครับ เนื่องมาจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงจะสั้น จึงง่ายมากที่จะทำให้เชื้อขึ้นมาที่กระเพาะปัสสาวะ และการมีเพศสัมพันธ์ก็จะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดิน ปัสสาวะได้ครับ
ผู้หญิงบางคนก็มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะซ้ำแล้ว ซ้ำอีก เหตุผลก็ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันครับ
อาการของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
คุณจะมีอาการดังต่อไปนี้
- รู้สึกมีอาการปัสสาวะแสบขัด หรือเจ็บเวลาปัสสาวะ
- รู้สึกเหมือนปัสสาวะไม่สุด
- รู้สึกปวดหลังใต้ชายโครงข้างใดข้างหนึ่ง
- ไข้ หนาวสั่น
- คลื่นไส้อาเจียน
ให้ไปพบแพทย์ทันทีถ้า
- มีอาการปวดหลังใต้ชายโครงข้างใดข้างหนึ่ง ร่วมกับมืออาการคลื่นไส้อาเจียน
- เป็นเบาหวาน หรือโรคไตอยู่เดิม
- อายุมากกว่า 65 ปี
- เป็นหญิงที่กำลังตั้งครรภ์
การวินิจฉัยโรค
แพทย์ จะทำการเก็บปัสสาวะส่งตรวจ เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อในน้ำปัสสาวะหรือไม่ ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อก็อาจมีการตรวจเพิ่มเติม ว่ามีสาเหตุหรือความเสี่ยงอะไรที่ทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น
การรักษา
ยา ปฎิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ เป็นยาที่แพทย์สั่งในโรคกระเพราะปัสสาวะอักเสบ และให้ดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อให้ปัสสาวะบ่อยๆ (และช่วยขับเชื้อโรคออกไปด้วยครับ)
ให้รับประทานยาตามแพทย์สั่ง อย่าเพิ่งหยุดยาเพียงถ้าคุณรู้สึกดีขึ้น นั่นยังไม่หายหรอกครับ คุณต้องรับประทานยาจนหมดเพื่อป้องกันไม่ให้กลับเป็นใหม่ขึ้นอีกครั้งครับ
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะสามารถป้องกันได้หรือไม่
- ดื่มน้ำมากๆทุกๆวัน
- พยายาม ดื่มน้ำเพื่อให้ปัสสาวะบ่อยๆ อย่ากลั้นปัสสาวะ การกลั้นปัสสาวะ ก็จะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะนาน และแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นครับ
- ถ้าคุณกำลังตั้งครรภ์ ให้ปัสสาวะหลังทันทีที่มีเพศสัมพันธ์ ( สังเกตว่าไม่ได้ห้ามการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างการตั้งครรภ์นะครับ )
ขับถ่ายปัสสาวะให้ถูกวิธี
ไม่น่าเชื่อว่า แม้คนเราจะขับถ่ายปัสสาวะกันมาตั้งแต่แรกเกิด แต่หลายคนไม่ทราบวิธีที่ดีที่ทำให้ระบบขับถ่ายปัสสาวะเป็นปกติ วันนี้จะขอนำเสนอ 14 อุปนิสัยที่ดีในการขับถ่ายปัสสาวะ
1. อย่ากลั้นปัสสาวะ เมื่อรู้สึกปวดต้องไปปัสสาวะ
2. เวลาปัสสาวะไม่ควรรีบร้อนเบ่งมาก เพราะอาจทำให้หูรูดปัสสาวะชำรุดได้
3. ควรถ่ายปัสสาวะให้เหลือน้อยที่สุดในหนึ่งครั้ง นั่นคือเมื่อรู้สึกถ่ายหมดแล้วให้เบ่งต่ออีกนิดหน่อย ปัสสาวะที่เหลือจะไหลออกมา
4. ไม่ควรบังคับให้ตนเองถ่ายปัสสาวะบ่อย เพราะจะติดเป็นนิสัย เวลาที่เหมาะสมคือ 2-4 ชั่วโมงควรถ่ายปัสสาวะหนึ่งครั้ง
5. ให้สังเกตการถ่ายปัสสาวะ และน้ำปัสสาวะของตนเองทุกครั้งว่า ต้องเบ่งมากผิดปกติหรือไม่ น้ำปัสสาวะพุ่งดีหรือไม่ ลำน้ำปัสสาวะมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมหรือไม่ น้ำปัสสาวะมีสีเหลืองใสหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นอาการผิดปกติที่สามารถบอกโรคได้
6. หากจะล้างทำความสะอาดหลังปัสสาวะ อย่าให้บริเวณนั้นเปียกชื้น เพราะอาจเกิดเชื้อราได้ ทางที่ดีหลังปัสสาวะทุกครั้ง ควรซับให้แห้ง
7. เมื่อปัสสาวะไม่ออก ต้องหาสาเหตุโดยการไปพบแพทย์ อย่าซื้อยาขับปัสสาวะมารับประทานเพราะจะเกิดอันตรายได้
8. เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน การบริหารอุ้งเชิงกรานโดยการขมิบ (ฝ่ายหญิงขมิบช่องคลอด ฝ่ายชายขมิบทวารหนัก) วันละ 100 ครั้ง จะช่วยป้องกันอาการปัสสาวะเล็ด
9. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 10 แก้ว หรือหนึ่งลิตร จะช่วยให้น้ำปัสสาวะใส มีจำนวนพอดีและป้องกันภาวะปัสสาวะอักเสบ
10. ก่อนมีเพศสัมพันธ์ และหลังมีเพศสัมพันธ์ คุณผู้หญิงควรถ่ายปัสสาวะทิ้ง จะช่วยป้องกันการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
11. น้ำปัสสาวะจะต้องเป็นน้ำเท่านั้น ถ้ามีมูก หนอง น้ำเหลือง เลือดปนออกมา ถือว่าผิดปกติต้องไปพบแพทย์
12. การขับถ่ายปัสสาวะ ต้องขับถ่ายคล่องไม่มีอาการเจ็บปวด ถ้าปัสสาวะแสบขัดลำบากนับว่าเป็นอาการผิดปกติ ต้องไปพบแพทย์อีกเช่นกัน
13. คนเราทุกคนต้องปัสสาวะทุกวัน วันละ 4-6 ครั้ง ถ้าไม่ปัสสาวะเลย 1วันถือว่าตกอยู่ในภาวะอันตรายต้องไปพบแพทย์โดยด่วน
14. ก่อนเดินทางไกล ก่อนยกของหนัก ควรปัสสาวะทิ้งก่อนทุกครั้ง