มะเร็งตับ
มะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma หรือ HCC ) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประชากรทั่วโลก เป็นสาเหตุลำดับที่สองของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งของประชากรโลก ในประเทศไทยมะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบบ่อยอันดับแรกในเพศชาย และอันดับที่สามในเพศหญิงรองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก อัตราการเสียชีวิตของมะเร็งตับค่อนข้างสูง การลดปัจจัยเสี่ยงและการเฝ้าระวังโรคจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ
มะเร็ง ตับพบบ่อยในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 2-3 เท่า นอกจากนี้ภาวะตับแข็งจากสาเหตุใดๆก็ตาม เช่น จากไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี หรือแอลกอฮอล์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ สำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังแตกต่างจากโรคอื่นคือสามารถพบมะเร็ง ตับได้ในขณะที่ยังไม่มีภาวะตับแข็ง และความเสี่ยงจะสูงขึ้น ถ้าผู้ป่วยอายุมากขึ้นกล่าวคือในเพศชายที่อายุมากกว่า 40ปี และเพศหญิงมากกว่า 50ปี ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ การมีประวัติญาติสายตรงในครอบครัวเป็นมะเร็งตับ การสูบบุหรี่ การได้รับสารอะฟลาท็อกซิน
อาการของโรคมะเร็งตับ ผู้ป่วยมะเร็งตับในระยะแรกอาจไม่มีอาการ แสดงใดๆ ที่จำเพาะ เพียงแต่แสดงอาการของโรคตับแข็งที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว อาการที่พบได้ของมะเร็งตับ เช่น เบื่ออาหาร แน่นท้อง ปวดท้อง ท้องโตขึ้น ตัวเหลืองตาเหลือง น้ำหนักลด รับประทานอาหารได้น้อยลง คลำก้อนได้ในท้อง
การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ
การ ตรวจสามารถทำได้หลายวิธี ในบางครั้งแพทย์อาจใช้การตรวจหลายแนวทางร่วมกัน เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งตับทำได้ดังนี้
1. การตรวจทางรังสีวิทยา ได้แก่ การตรวจอัลตร้าซาวน์(Ultrasound) การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์(Computerized Tomography หรือ CT) การตรวจเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) โดยอาจใช้การฉีดสารทึบแสงร่วมด้วยเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย
2. การตรวจเลือดหาระดับของสารอัลฟ่าฟีโตโปรตีน(AFP) ซึ่งอาจพบสูงขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งตับ
การรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับ
แนว ทางการรักษามะเร็งตับสามารถทำได้หลายวิธี แต่ต้องคำนึงถึงสภาพและความรุนแรงของโรคตับที่ผู้ป่วยอาจมีอยู่ก่อนแล้ว เช่น หากโรคตับแข็งของผู้ป่วยอยู่ในระยะที่การทำงานของตับไม่ดีหรืออยู่ในระยะ ท้ายๆของโรค การรักษามะเร็งตับ อาจมีข้อจำกัดได้ นอกจากนั้นขนาดของมะเร็งตับและการแพร่กระจายของมะเร็งก็มีความสำคัญต่อแนว ทางการรักษาด้วย ผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาโรคตับที่เป็นพื้นฐานอยู่เดิม พร้อมๆ ไปกับการรักษามะเร็งตับ
วิธีการรักษามะเร็งตับ ได้แก่
1. การผ่าตัด ทำได้ในผู้ป่วยที่ยังไม่มีภาวะตับแข็งหรือเป็นตับแข็งระยะแรก และก้อนมะเร็งมีขนาดไม่โตมาก และยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะข้างเคียง
2. การฉีดแอลกอฮอล์ เข้าก้อนมะเร็งโดยตรง ผ่านทางผิวหนัง ในกรณีที่ก้อนมีขนาดเล็ก
3. การใช้คลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงทำลายก้อน โดยใช้เข็มสอดผ่านทางผิวหนัง (RADIOFREQUENCY ABLATION) คลื่นเสียงนี้ก่อให้เกิดความร้อน จนสามารถทำให้เซลล์มะเร็งตายได้
4. การฉีดยาเคมีผ่านทางเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง ร่วมกับการใช้สารอุดเส้นเลือดที่เลี้ยงก้อนมะเร็ง (CHEMOEMBOLIZATION) เป็นการลดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง และให้ยาเคมีเพื่อทำลายเนื้อมะเร็งโดยตรง
5. ยาเคมีบำบัดโดยใช้ยารักษาแบบมุ่งเป้า (TARGETED THERAPY) เพื่อลดการเจริญเติบโตของมะเร็ง เช่น ยา SORAFENIB
6. การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ
การเฝ้าระวังและการป้องกันการเกิดมะเร็งตับ
1. รับประทานอาหารให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วป่นและพริกแห้ง ซึ่งอาจมีสารอัลฟ่าท๊อกซินปนเปื้อนอยู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
2. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่
3. แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี ในกรณีที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน
4. ในกรณีที่มีภาวะตับแข็งแล้ว ควรได้รับการตรวจเลือด และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ตรวจอัลตร้าซาวน์ช่องท้องส่วนบน อย่างสม่ำเสมอทุก 6-12 เดือน เพื่อเฝ้าระวังมะเร็งตับ
นพ. พงษ์ภพ อินทรประสงค์