การลดความอ้วน วิธีลดความอ้วนง่ายๆ “อ้วน..ลดได้” เอาอยู่ โรคแทรกทุเลา-หาย!!
บ้างว่า คนอ้วนตัวกลมดูน่ารัก แต่รู้หรือไม่ว่า ภายใต้รูปร่างตุ้ยนุ้ยนั้น อาจซุกไปด้วยโรคแทรกมากมาย เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นจึงขอเตือน คนน้ำหนักตัวเกินเหมาะสม ควรใส่ใจกับการควบคุมและลดน้ำหนักให้เป็นปกติ มิเช่นนั้น ในอนาคตคุณอาจเป็นหนึ่งในคนอ้วนผิดปกติแถมสุขภาพก็ยังวิกฤติ จนเป็นเรื่องใหญ่!!!...คุณหมอต้องลงมีดรักษา
ตัวอย่างมีให้เห็น เช่นกรณีของคุณปิ๊ก น้ำหวาน หรืออัฐพล แดงคำคูณ อ้วนที่สุดในชีวิตที่น้ำหนัก 350 กิโลกรัม เนื่องจากแต่ก่อน เมื่อตอนเริ่มอ้วนใหม่ๆ เลือกวิธีกินยาและดื่มกาแฟที่อ้างสรรพคุณช่วยลดน้ำหนัก แต่ก็ไม่สามารถช่วยได้จริง น้ำหนักตัวกลับมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะเลิกใช้ก็ยังลดไม่ลง น้ำหนักทะยานทะลุ 300 กิโลกรัม จนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องนอนอย่างเดียว
นอกจากความทุกข์เพราะไม่สามารถทำอะไรได้เลย คุณปิ๊ก ยังมีโรคแทรกซ้อนหลายโรค โดยเฉพาะภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จนกระทั่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทีมแพทย์ต้องเตรียมหาเตียงขนาดเฉพาะรองรับเพื่อรักษาประคับประคองโรคแทรกต่างๆ ให้เป็นที่น่าพอใจก่อนเข้าผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร ปัจจุบันคุณปิ๊ก มีน้ำหนัก 91 กิโลกรัม ต้องควบคุมอาหาร โดยลดแป้ง ของหวาน และของมันด้วย
ตัวอย่างถัดมา คุณสายสุนีย์ บุญเต๊ก เคยอ้วนผิดปกติถึง 150 กิโลกรัม ทั้งๆ ที่ก่อนมีบุตรน้ำหนักเพียง 57 กิโลกรัม หลังคลอด 87 กิโลกรัม และค่อยๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ มิหนำซ้ำโรคแทรกซ้อนที่เป็น คือ เบาหวาน ยาที่ต้องกินบางชนิดก็ยิ่งทำให้อ้วนขึ้น อีกทั้งมีโรคภูมิแพ้อยู่ด้วย ยิ่งทำให้สุขภาพทรุดโทรมไปกันใหญ่ โดยหลังรักษาทำให้น้ำหนักตัวในขณะนี้เหลือ 96 กิโลกรัม
ส่วนกรณีของคุณบุลวัชร์ ปานบุณ ในอดีตดื่มน้ำอัดลม น้ำหวานแทนน้ำเปล่า ประกอบกับชอบทานขนมหวานมาก ทำให้น้ำหนักขึ้นไปถึง 143 กิโลกรัม พบโรคแทรกทั้งควานดัน เบาหวาน และภาวะไขมันผิดปกติ จนต้องรักษาโรคอ้วน และน้ำหนักลดลงได้เหลือ 80 กิโลกรัม
และอีกตัวอย่างของคุณ สมโภช เกตุแก้ว เผยว่าตนเองน้ำหนักตัวเคยสูงสุดที่ 180 กิโลกรัม เพราะชอบดื่มเบียร์และน้ำหวาน ประกอบกับลดความอ้วนอย่างผิดๆ ด้วยการกินยา หลังรักษาโรคอ้วน ตอนนี้น้ำหนักลงมาที่ 136 กิโลกรัม ซึ่งแพทย์ยังคงให้รักษาตัวต่อเนื่องเพื่อลดน้ำหนักลงไปอีก
จากตัวอย่างที่กล่าวมา ล้วนได้รับด้วยหลักศัลยศาสตร์ ซึ่งรศ.นพ.สุเทพ อุดมแสวงทรัพย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มค่า BMI ไม่เกิน 35 จะใช้วิธีควบคุมปริมาณอาหาร ลดแป้ง น้ำตาลและไขมัน ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
แต่ในกลุ่มโรคอ้วนผิดปกติได้แก่ผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 40 หรือผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 ร่วมกับมีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน ความดัน เป็นต้น การรักษาหลักจะใช้วิธีศัลยศาสตร์ โดยอาศัยหลักการในการการรักษา 2 หลัก คือ 1.การลดขนาดกระเพาะ และ 2.การลดการดูดซึม
จากสองหลักการดังกล่าวสามารถให้การผ่าตัด 3 วิธี คือ 1. การรัดกระเพาะ โดยใช้ซิลิโคนทางการแพทย์รัดส่วนต้นของกระเพาะอาหารทำให้อิ่มเร็ว 2.การตัดกระเพาะส่วนใหญ่ที่ขยายได้ออกให้เหลือเป็นหลอดของกระเพาะอาหารแทน และ 3. การตัดลดขนาดกระเพาะอาหารและบายพาสลำไส้ซึ่งทำให้กระเพาะมีขนาดเล็กและการบายพาสทำให้น้ำย่อยและอาหารพบกันในระดับที่ไกลลงไปอีก 150 เซนติเมตร วิธีนี้จึงเป็นวิธีหลักและได้ผลดีที่สุด
“จากประสบการณ์ในการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนผิดปกติใน รพ.จุฬาลงกรณ์ จำนวนทั้งสิ้น 100 ราย โดยเป็นผู้หญิง 51 ราย และผู้ชาย 49 ราย อายุระหว่าง 18-57 ปี น้ำหนักเฉลี่ยก่อนรักษา 136 กิโลกรัม (87-280 กก.) โดยพบว่า มีโรคแทรกซ้อน คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ และโรคไขมันในเลือดสูงผิดปกติ จากการติดตามหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยดังกล่าว พบว่าโดยเฉลี่ยสามารถลดน้ำหนักได้ถึงคนละ 50 กิโลกรัม และผู้ป่วยทั้งหมดดีขึ้นจากโรคแทรกซ้อน โดยหายขาดจากโรคเบาหวานร้อยละ 82 และโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดและโรคหยุดหายใจขณะเวลาหลับก็หายขาดถึงร้อยละ 60 จากประสบการณ์นี้ทำให้ทราบถึงมหันตภัยจากโรคอ้วน และหากสามารถควบคุมโรคอ้วนได้ โรคแทรกซ้อนต่างๆ จะดีขึ้นหรือหายไป จากความรู้ที่ได้นี้หากเราสามารถช่วยกันหยุด โรคอ้วนได้ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน ต่างๆ จึงอยากเชิญชวนทุกคนดูแลตัวเองไม่ให้อ้วนจะได้มีสุขภาพที่ดี” รศ.นพ.สุเทพกล่าว
สำหรับดัชนีมวลกาย หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า BMI คิดคำนวณได้จากการนำน้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเซนติเมตรกำลังสอง มากกว่า 30 จะมีความเสี่ยงต่อชีวิตเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงในการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นตามค่า BMI ที่เพิ่มขึ้น ผู้ที่มี BMI มากกว่า 35-40 ขึ้นไปจะอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยอ้วนผิดปกติซึ่งจะยากต่อการรักษาและควบคุมอาหาร
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน แต่ยังไม่เข้าข่ายโรคอ้วนผิดปกติขั้นอันตราย แพทย์จะไม่ใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัดตามหลักข้างต้น แต่จะเน้นวิธีอื่นๆ เช่น จำกัดอาหาร เข้ากลุ่มบำบัด ซึ่งคนอ้วนที่อยากลดน้ำหนักอย่างถูกหลัก ถูกวิธี สามารถสอบถามเพิ่มเติมที่คลินิกศัลยกรรมโรคอ้วน ฝ่ายศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์.
ที่มา : ทีมเดลินิวส์ออนไลน์