เตือน! น้ำมันพืชเก่า น้ำมันพืชใช้แล้ว ใช้ซ้ำ ต้นเหตุป่วยมะเร็ง-ความดัน


1,525 ผู้ชม


เตือน! น้ำมันพืชเก่า น้ำมันพืชใช้แล้ว ใช้ซ้ำ  ต้นเหตุป่วยมะเร็ง-ความดัน
คนไทยบริโภคน้ำมันพืชปีละกว่า 8 แสนตัน เตือนน้ำมันทอดซ้ำตัวการ ต้นเหตุป่วยมะเร็ง-ความดัน พุ่ง สสส.-คคส. จับมือ ภาคีเครือข่าย ผุดยุทธศาสตร์จัดการน้ำมันทอดซ้ำ ปกป้องสุขภาพคนไทย เตรียมขอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ รับรอง หวังบูรณาการแก้ปัญหาทั้งระบบหนุนแปลงน้ำมันทอดซ้ำ เป็นไบโอดีเซล ด้านกรมวิทย์ฯ ผลิตชุดตรวจคุณภาพน้ำมันทอดซ้ำ “ซุปเปอร์จิ๋ว” ได้ผลแม่นยำ 99.2%

ตะลึง!! คนไทยบริโภคน้ำมันพืชปีละกว่า 8 แสนตัน


เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าว “ยุทธศาสตร์จัดการน้ำมันทอดซ้ำ เพื่อป้องกันมะเร็งและความดันโลหิตสูงในคนไทย” พร้อมสาธิตการทดสอบน้ำมันทอดซ้ำ จากชุดทดสอบที่ผลิตโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


โดย นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว ว่า แต่ละปีคนไทยบริโภคน้ำมันพืชกว่า 800,000 ตัน ส่วนใหญ่นิยมรับประทานอาหารประเภททอด โดยพบว่า มีร้านค้าจำนวนมากที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะมีสารอันตราย คือ สารโพลาร์ (Polar compounds) เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbons ; PAHs) เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งพบได้ทั้งในน้ำมันทอดอาหารที่เสื่อมสภาพ และในไอที่ระเหยขณะทอดอาหาร จึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้ทั้งผู้ขายและผู้บริโภค


เตือนน้ำมันทอดซ้ำตัวการ


“ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2552 พบคนไทยมีอัตราการป่วยโรคความดันโลหิตสูงถึง 981.48 คนต่อประชากรแสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นขึ้นทุกปี ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงมีความสัมพันธ์กับโรคระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจตีบ และเส้นเลือดสมอง เป็นสาเหตุการตายอันดับที่สี่ของคนไทย ส่วนโรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทย มีอัตราป่วย 133.1 คนต่อประชากรแสนคน ทั้งนี้ ภาควิชาการได้นำเสนออันตรายจากน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในระดับประเทศยังไม่มีนโยบายและมาตรการทางกฎหมายหรือบทลงโทษการแก้ปัญหา น้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพในภาพรวมอย่างเป็นระบบ หากภาครัฐให้ความสำคัญและนำไปสู่การผลักดันมาตรการทางกฎหมายควบคู่กับการ รณรงค์ให้ความรู้ประชาชน จะสามารถกำจัดน้ำมันที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพคนไทย อีกทั้งยังได้น้ำมันไบโอดีเซล เป็นพลังงานทดแทน ช่วยลดภาระทางเศรษฐกิจระดับประเทศได้อีกด้วย” นพ.มงคล กล่าว


ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้ช่วยอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว ว่า ที่ผ่านมากรมวิทย์ฯ ร่วมกับ สสส. และ คคส. ทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่องหลายแห่ง ดำเนินโครงการปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ เพื่อสร้างความตื่นตัวในทุกภาคส่วนและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการ คุ้มครองสุขภาพประชาชน โดยให้ความรู้เรื่องอันตรายของน้ำมันทอดซ้ำ และสนับสนุนการนำน้ำมันทอดซ้ำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนไบโอดีเซล ซึ่งได้ผลอย่างมากช่วยตัดวงจรน้ำมันเสื่อมสภาพไม่ให้เข้ามาในวงจรอาหารได้ หากนำน้ำมันทอดซ้ำไปผลิตเป็นพลังงานทดแทนไบโอดีเซลได้ทั้งหมด ไทยจะมีพลังงานทดแทนใช้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านลิตรต่อปี


“กรมวิทย์ฯ และเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค สำรวจพบมีกลุ่มพ่อค้าเห็นแก่ได้ออกซื้อน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพจากแหล่งต่างๆ นำไปฟอกสีให้ใส ใส่ถุงพลาสติกไม่มีฉลาก แล้วนำกลับมาขายให้กับโรงงานผลิตอาหารขนาดเล็ก โรงงานก๋วยเตี๋ยว ตลอดจนให้กับผู้บริโภคตามตลาดนัด และตลาดสด หรือที่รู้จักในชื่อ “น้ำมันลูกหมู” ซึ่งอันตรายต่อสุขภาพประชาชนอย่างมาก” ภก.วรวิทย์ กล่าว


ภก.วรวิทย์ กล่าวว่า แต่ขณะนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบน้ำมันพืชก่อนใช้ได้ว่าเป็นน้ำมันมีคุณภาพ หรือไม่ โดยกรมวิทย์ฯ ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คิดค้นชุดตรวจสอบน้ำมันทอดซ้ำ “ซุปเปอร์จิ๋ว” ราคาเพียง 20 บาท รู้ผลเร็วภายใน 2 นาที ได้ผลแม่นยำถึง 99.2% โดยใส่น้ำยาจากชุดดทดสอบลงไปในน้ำมันทอดซ้ำแล้วเขย่า หากน้ำมันเปลี่ยนสีเป็นสีชมพู แสดงว่าน้ำมันดังกล่าวยังมีคุณภาพดีอยู่ ซึ่งในอดีตต้องใช้เครื่องตรวจในห้องปฏิบัติการ ราคาถึง 40,000 บาท ใช้เวลานานถึง 4 ชั่วโมง ผู้สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี โทร 045312231-3


รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงาน คคส. กล่าวว่า เครือข่ายภาควิชาการ องค์กรภาครัฐ และภาคประชาสังคม ร่วมจัดทำ “ยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางอาหาร : การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ” เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 ในวันที่ 2-4 ก.พ.นี้ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ท้องถิ่นปลอดภัยจากน้ำมันทอดซ้ำ 2.ยุทธศาสตร์ผู้ประกอบการรับผิดชอบต่อสังคม 3.ยุทธศาสตร์พัฒนามาตรการกำกับดูแลและดำเนินทางกฎหมาย 4.ยุทธศาสตร์พัฒนาองค์ความรู้เพื่อการจัดการ และ 5.ยุทธศาสตร์การสร้างความตระหนักรู้ต่อสังคม

อัพเดทล่าสุด