เรื่องสุขภาพน่ารู้ โรคยอดนิยม หยุด! 5 โรคยอดนิยม 5 เหตุผล 5 ทางออก ที่คุณทำได้ง่ายๆ


968 ผู้ชม


เรื่องสุขภาพน่ารู้ โรคยอดนิยม หยุด! 5 โรคยอดนิยม 5 เหตุผล 5 ทางออก ที่คุณทำได้ง่ายๆ

ไม่กี่วันก่อนหลังจากการประชุมแลก เปลี่ยนประสบการณ์กับรัฐมนตรีสาธารณสุข 6 ประเทศ นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงแนวคิดที่จะพัฒนาและผลักดันโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ เป็นวาระแห่งโลกอนาคต


'555 คุณไม่ได้บ้าถ้ากล้ากิน' 5เหตุผล5ทางออก หยุด5โรคยอดนิยม


ทั้งนี้ ประเทศไทยอีก 5 ปีข้างหน้า จะให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ หนึ่ง การผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงการรับบริการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมอย่าง เท่าเทียมและเสมอภาค สอง การรับมือสังคมผู้สูงอายุ ที่มีแนวโน้มว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น


และสุดท้ายคือ การบริหารพฤติกรรมของประชาชน ในเรื่องของการออกกำลังกายและการรับประทานอาหาร เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้โรคต่างๆ เหล่านี้รุนแรงมากขึ้น


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาลและเอกชนจะมีความพยายามพัฒนาส่ง เสริมระบบการบริการสาธารณสุขและการดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่พบว่า คนไทยส่วนใหญ่กลับมีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตทำลายสุขภาพมากกว่าส่งเสริม โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่ไม่ ก่อให้เกิดประโยชน์กับสุขภาพอันเป็นที่มาของความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บ ต่างๆ เช่น เลือกรับประทานอาหารที่มีแคลอรีสูง เน้นไขมัน แป้งน้ำตาล มากกว่าผักและผลไม้


จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยของสถาบัน โภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังพบว่าคนไทยมากกว่าร้อยละ 80 บริโภคผักผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเองเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรกรรม และการรับประทานผักผลไม้ที่หลากหลายทุกวันจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ได้


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่าย "โครงการ 555 คุณไม่ได้บ้าถ้ากล้ากิน" รวบรวม 5 เหตุผลทำไมคนไทยถึงกินผักผลไม้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น 5 เหตุผลที่ทำไมเราต้องกินผักผลไม้ และ 5 ทางออกที่ทำให้คนไทยบริโภคผักผลไม้เพิ่มขึ้นกล่าวว่า การส่งเสริมให้มีการบริโภคผักผลไม้ในปัจจุบันต้องไม่มองเฉพาะแค่การรับ ประทานเพื่อให้ครบตามหลักอาหาร 5 หมู่เท่านั้น แต่ต้องมองให้ยาวถึงเรื่องการกินเพื่อป้องกันโรคด้วย


มีงานวิจัยมากมายที่มองว่า สารสำคัญที่อยู่ในผักผลไม้ไม่ใช่มีแค่ใยอาหารอย่างเดียว แต่ผักและผลไม้แต่ละชนิดจะมีสารอาหารที่แตกต่างกันไป และมีการศึกษาวิจัยยืนยันในต่างประเทศมากมายว่าการกินผักและผลไม้ทุกวันลด ความเสี่ยงต่อการเกิด 5 โรคยอดนิยมในปัจจุบัน คือ 1.โรคมะเร็ง 2.หัวใจและหลอดเลือด 3.ไขมันในเลือดสูง 4.เบาหวาน 5.ภาวะอ้วน


กรณีของโรคมะเร็ง มีผลการวิจัยในต่างประเทศมากกว่า 7,000 เรื่อง ที่ยืนยันว่าการกินผักผลไม้ชนิดต่างๆ สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้ ยกตัวอย่าง "ผักใบและใยอาหาร" จะช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหาร ช่องปากคอหอย กล่องเสียงและหลอดอาหาร โดยเฉพาะ "ใยอาหาร" จะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักซึ่งใยอาหารสามารถพบได้จาก ถั่ว ธัญพืช (ที่ไม่ผ่านการขัดสี) ผักและผลไม้ หรือในผักจำพวก หอมและกระเทียมเองจะมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ในการช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งกระเพาะอาหาร


สำหรับการบริโภคผลไม้กับการลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง มีรายงานการวิจัยสนับสนุนมากมายโดยเฉพาะ ผลไม้กลุ่มส้มและมะนาวจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในหลอดอาหารได้ โรคหัวใจและหลอดเลือดหรือโรคไขมันในโลหิตสูงเองก็เกิดจากความเสี่ยงของ ลักษณะการบริโภคที่ไม่ถูกต้องตามโภชนาการ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ติดมัน อาหารที่มีไขมันสูง จะทำให้เราบริโภคอาหารที่ให้พลังงานสูงเกินความจำเป็น แต่ในผักผลไม้จะมีไขมันต่ำหรือน้อยมาก ขณะเดียวกันก็จะมีใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งจะไปลดกระบวนการทำลายเซลล์ที่เป็นสาเหตุของโรคดังกล่าว


ส่วนโรคเบาหวานเกิดจากความพร่องของฮอร์โมนอินซูลิน การรับประทานแป้งต้องรับประทานปริมาณที่น้อย การรับประทานผักผลไม้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะคนที่มีประวัติว่ามีครอบครัวป่วยเป็นโรคเบาหวาน


ถามว่าแล้วเราควรจะรับประทานผักอะไรดี? ตอบ ง่ายๆ ผักใบเขียวทุกชนิด รวมทั้งถั่วเหลืองมะเขือเทศ ผลไม้ที่แนะนำ เช่น ฝรั่ง แก้วมังกรแอปเปิล ส้มเขียวหวาน เป็นต้น และต้องเป็นผักที่ไม่ผ่านกระบวนการเพิ่มพลังงาน เช่น ชุบแป้งทอดหรือผัดผักที่ใส่น้ำมันมากๆ ถ้าทำได้เช่นนี้โรคอ้วนที่เป็นปัญหาหนักอกก็เบาลงได้ รวมทั้งกลุ่มคนสูงวัย ซึ่งเป็นวัยที่ไม่ต้องการพลังงานมาก ผักและผลไม้จึงเป็นสิ่งสำคัญ


อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันดูเหมือนว่าจะมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยนิยมรับประทานสารอาหารที่ สกัดจากผักและผลไม้ในรูปแบบยาเม็ด ซึ่งบางอย่างก็ได้ประโยชน์ตามที่ต้องการ แต่บางชนิดกลับจะทำให้เกิดโทษมากกว่า อย่างเช่น สารแคโรทีนอยหรือเบต้าแคโรทีนสารอาหารสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิด โรคมะเร็งหลอดอาหารและมะเร็งปอดซึ่งจะอยู่ในผักใบเขียวเข้ม หรือผักสีเหลือง ส้ม เช่นฟักทอง และแครอต ฯลฯ หากรับประทานแบบสกัดเป็นยาเม็ด จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดให้มีมากขึ้นทางที่ดีควร บริโภคในรูปแบบของอาหารผักผลไม้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคได้ดีกว่า


สำหรับปริมาณการกินผักผลไม้ที่ เหมาะสมตามความต้องการพลังงานตามธงโภชนาการที่กำหนดคือ ควรรับประทานผักไม่น้อยกว่า 6 ทัพพีต่อวันทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงการสูญเสียคุณค่าขณะแปรรูปผักให้ไปอยู่ในรูปอาหารด้วย เช่น การต้ม ผัด ทอด


ส่วนผลไม้ควรรับประทานให้ได้ประมาณ 4 ส่วนในแต่ละวัน (1 ส่วนถ้าเป็นผลไม้ขนาดใหญ่เช่น มะละกอ สับปะรด แตงโม ขนาดพอดีคำประมาณ 6-8 ชิ้น ผลไม้ขนาดกลาง เช่น ส้ม ชมพู่กล้วย 1-2 ผล ผลไม้ขนาดเล็ก เช่น ลองกอง ลำไย องุ่น ประมาณ 6-8 ผล) หรืออาจจะประเมินง่ายๆคือ รับประทาน 1 ส่วน ต่อปริมาณอาหาร 3 ส่วนใน 1 วัน


แม้ว่าจะมีหลายเหตุผลที่ทำให้หลายคนไม่กิน ผักและผลไม้ บ้างว่าไม่อร่อย หรือนิยมบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยไขมัน แป้งและน้ำตาล ตามแบบสมัยนิยม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ แต่หากคำนึงถึงประโยชน์และสุขภาพที่แข็งแรงแล้ว น่าจะทำให้หลายคนหันมากินผักและผลไม้กันมากขึ้น


ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน  โดย  สุรชา กอบเจริญธรรม

อัพเดทล่าสุด