มาลาเรีย ใน กระแสเลือด


1,175 ผู้ชม


มาลาเรีย มหันตภัยในกระแสเลือด


เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นจากรอยกัดที่ไม่ทำให้เราเจ็บปวด ยุงที่บินออกหากินตอนกลางคืนค่อยๆร่อนลงเกาะผิวหนังนอกร่มผ้าของเรา จากนั้นก็โค้งตัวก้มหัวต่ำราวกับนักวิ่งกำลังจะออกตัวจากลู่วิ่ง แล้วปักปากที่แหลมเหมือนเครื่องเจาะลงไป ยุงตัวนั้นมีขาเล็กยาว ปีกของมันเป็นลาย จัดอยู่ในสกุล Anopheles หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อยุงก้นปล่อง
ยุงชนิดนี้เป็นแมลงเพียงชนิดเดียวที่เป็นพาหะของปรสิตไข้มาลาเรียในมนุษย์ โดยจะต้องเป็นยุงเพศเมียเท่านั้น เพราะยุงเพศผู้ไม่สนใจกินเลือด แต่ยุงเพศเมียต้องอาศัยโปรตีนในเฮโมโกลบินเพื่อเลี้ยงไข่ ปากของยุงก้นปล่องมีลักษณะเป็นหนามแข็ง ประกอบด้วยอวัยวะลักษณะคล้ายใบมีดและท่อดูดอาหารที่อาศัยพลังงานจากปั๊มจิ๋วสองปั๊ม ยุงจะเจาะผิวหนังชั้นนอกของเรา ทะลุชั้นไขมันบางๆเข้าสู่เครือข่ายหลอดเลือดฝอยเล็กๆที่อุดมไปด้วยเลือด และเริ่มดื่ม
ยุงจะพ่นน้ำลายรอบๆรอยกัดเพื่อไม่ให้เลือดจับตัวเป็นลิ่ม และมหันตภัยก็เกิดขึ้นในขณะนั้นเอง สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กรูปร่างคล้ายหนอนที่อยู่ในต่อมน้ำลายของยุงจะแอบเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ สัตว์เซลล์เดียวที่มีชื่อว่าพลาสโมเดีย (plasmodia) นี้คือปรสิตก่อโรคมาลาเรีย และในแอ่งน้ำลายที่มีขนาดเท่าจุดปากกาอาจมีปรสิตถึง 50,000 ตัวแหวกว่ายอยู่ โดยปกติจะมีปรสิตราวสิบถึงยี่สิบตัวผ่านเข้าไปสู่กระแสเลือด แต่เชื้อเพียงตัวเดียวก็สามารถฆ่าคนได้แล้ว
ปรสิตพลาสโมเดียอยู่ในกระแสเลือดเพียงไม่กี่นาทีก็จะเข้าสู่ตับ และหยุดพักอยู่ที่นั่น แยกย้ายกันฝังตัวอยู่ในเซลล์ตับแต่ละเซลล์ มนุษย์ที่ถูกยุงกัดแทบไม่รู้สึกตัวตื่นด้วยซ้ำ และภายในหนึ่งหรือสองสัปดาห์หลังจากนั้น ร่างกายก็ไม่มีอาการใดๆที่ส่อเค้าว่ามีสิ่งผิดปกติร้ายแรงเกิดขึ้นแม้แต่น้อย เราอยู่ในโลกของมาลาเรีย แต่ประเทศที่มีฐานะร่ำรวยอาจไม่คิดเช่นนั้น ถ้าจะคิด ก็คงคิดว่ามาลาเรียเป็นโรคที่ใกล้ควบคุมได้แล้วเหมือนไข้ทรพิษหรือโปลิโอ แต่ในความเป็นจริง ขณะนี้มาลาเรียกำลังระบาดหนักกว่าที่เคย แหล่งระบาดของโรคไข้มาลาเรียกระจายอยู่ใน 106 ประเทศ คุกคามประชากรครึ่งโลก
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปรสิตในประเทศเหล่านั้นได้พัฒนาตัวเอง และดื้อยาหลายชนิดจนเราแทบไม่อาจควบคุมสายพันธุ์ที่ร้ายแรงที่สุดได้ ในปีนี้คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อไข้มาลาเรียเป็นจำนวนมากกว่า 500 ล้านคน ส่วนใหญ่อายุต่ำกว่าห้าปี และส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแอฟริกา โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้อาจสูงถึงหนึ่งล้านคนเป็นอย่างน้อย หรือสูงกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตต่อปีของคนรุ่นก่อนสองเท่า การระบาดของโรคเป็นไปอย่างเงียบเชียบยาวนานก่อนหน้านี้ มาลาเรียเป็นโรคระบาดที่เกิดกับคนจน จึงมักถูกมองข้าม นักวิจัยบางคนเชื่อว่า ข้อเท็จจริงที่เลวร้ายที่สุดของมาลาเรียก็คือประเทศร่ำรวยสามารถกำจัดโรคนี้ได้แล้ว ในขณะที่ภูมิภาคยากจนที่เต็มไปด้วยฝูงแมลงดูดเลือดกำลังจะล่มจมเพราะมาลาเรีย
มาลาเรียเพิ่งกลายเป็นจุดสนใจและได้รับการดูแลอย่างเต็มที่จากองค์กรช่วยเหลือและผู้บริจาคเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง องค์การอนามัยโลกกำหนดให้การลดจำนวนผู้ป่วยมาลาเรียเป็นเป้าหมายสำคัญอันดับต้นๆ บิล เกตส์ ผู้เรียกมาลาเรียว่า "สิ่งเลวร้ายที่สุดบนโลก" บริจาคเงินหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯเพื่อช่วยเหลือผ่านมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ รัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช มอบเงินช่วยเหลือ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กองทุนที่ทำงานเกี่ยวกับโรคไข้มาลาเรียเพิ่มเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 2003 โดยมีแนวคิดที่จะยับยั้งมาลาเรียทุกวิถีทางที่มีบันทึกไว้ ทั้งวิธีโบราณ (สมุนไพรจีน) วิธีเก่า (มุ้ง) และวิธีสมัยใหม่ (การให้ยาผสม) ในขณะเดียวกัน นักวิจัยมาลาเรียก็กำลังมุ่งหน้าไปสู่จุดหมายที่ไขว่คว้ามานานอย่างไม่เป็นผล นั่นคือการค้นคว้าวัคซีนที่จะควบคุมโรคนี้ไปตลอดกาล
มีการระดมความช่วยเหลือจำนวนมากส่งไปยังแหล่งมาลาเรียระบาดหนักสองสามแห่ง ซึ่งกระจายอยู่ในเขตซับสะฮาราของแอฟริกา ถ้าหากประเทศเหล่านี้สามารถเอาชนะมาลาเรียได้ ก็จะเป็นต้นแบบการต่อสู้กับมาลาเรียให้ประเทศอื่นๆต่อไป แต่ถ้าหากสู้ไม่ได้เล่า นี่เป็นคำถามที่ไม่มีใครในโลกแห่งมาลาเรียใบนี้อยากเป็นผู้ตอบ ประเทศที่เป็นแหล่งระบาดหนักแห่งหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นจุดที่ผู้เชี่ยวชาญด้านมาลาเรียจับตามองมากที่สุดคือแซมเบีย ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลซึ่งเต็มไปด้วยพื้นที่ป่าสมบูรณ์ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา
เราอาจนึกภาพไม่ออกว่ามาลาเรียทำลายล้างประเทศนี้มากขนาดไหน แต่ในบางจังหวัดจะมีเด็กอายุต่ำกว่าห้าปีป่วยด้วยโรคนี้มากกว่าหนึ่งในสาม ไม่ว่าจะสำรวจเมื่อไรก็ตาม สิ่งที่ร้ายแรงกว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อคือชนิดของมาลาเรียที่พบ เชื้อมาลาเรียที่พบในมนุษย์มีสี่สายพันธุ์ ชนิดที่ร้ายแรงที่สุดคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดผู้ป่วยทั่วโลกกว่าครึ่ง และมีผู้เสียชีวิตอีกร้อยละ 95 นี่คือมาลาเรียชนิดเดียวที่ขึ้นสมอง และสามารถทำลายล้างร่างกายได้อย่างรวดเร็ว โดยเป็นหนึ่งในเชื้อโรคไม่กี่ชนิดที่ทำได้ เด็กชาวแอฟริกันอาจเล่นฟุตบอลอย่างสนุกสนานในตอนเช้า และเสียชีวิตจากเชื้อ falciparum ในตอนกลางคืน เชื้อ falciparum เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กชาวแซมเบียเกือบร้อยละ 20 มีอายุไม่ถึงห้าขวบ เด็กโตและผู้ใหญ่ก็ติดเชื้อเช่นกัน โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์มีโอกาสติดเชื้อสูงเป็นพิเศษ แต่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันมากพอจะต่อสู้กับปรสิตและป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงได้ แม้ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการเรื้อรัง คือจับไข้เป็นระยะๆนานหลายปีก็ตาม ดูเหมือนทุกคนในแซมเบียจะมีช่วงที่ป่วยเป็นมาลาเรียด้วยกันทั้งนั้น
หลายคนเป็นเกือบสิบครั้งหรือมากกว่านั้น จึงเป็นธรรมดาที่แซมเบียจะเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง เศรษฐกิจของประเทศยากจะฟื้นตัวได้จนกว่าสุขภาพของประชาชนจะได้รับการฟื้นฟูให้ดีขึ้นเสียก่อน เป้าหมายของแซมเบียคือลดอัตราการตายจากไข้มาลาเรียลงร้อยละ 75 ภายในสี่ปีจากนี้ ถ้าหากอยากรู้ว่าไข้มาลาเรียเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศอย่างไร เราต้องออกจากลูซากา เมืองหลวง ขับรถขึ้นเหนือผ่านที่ราบเขียวชอุ่ม สวนกล้วย และเหมืองทองแดงซึ่งเป็นสินค้าออกสำคัญของแซมเบีย เข้าสู่ป่าที่อยู่ระหว่างพรมแดนแองโกลาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
จังหวัดนอร์ทเวสเทิร์นของแซมเบียมีสภาพเป็นชนบทเกือบสิ้นเชิง การเข้าออกในหลายหมู่บ้านทำได้ทางเดียวคือการเดินเท้าบนทางลูกรังเข้าไป การสำรวจสุขภาพประชาชาติเมื่อปี 2005 สรุปว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่อาศัยในจังหวัดนี้ ทุกๆหนึ่งพันคนเป็นผู้ติดเชื้อถึง 1,353 ราย อัตราต่อปีที่สูงเกินร้อยละร้อยดูไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่นี่คือตัวเลขจริง ไม่ได้พิมพ์ผิด เหตุเพราะเด็กหลายคนติดเชื้อมาลาเรียมากกว่าหนึ่งครั้งต่อปีนั่นเอง จังหวัดนอร์ทเวสเทิร์นแห่งนี้แทบไม่มีสถานพยาบาลที่เหมาะสมเลย ชาวบ้านที่อยู่ทางตอนเหนืออันห่างไกลในพื้นที่ป่ากว่า 2,500 ตารางกิโลเมตร มีโรงพยาบาลคาเลเนมิชชั่นเป็นที่พึ่งแห่งเดียวที่พอจะช่วยให้เด็กติดเชื้อมาลาเรียขั้นรุนแรงมีโอกาสรอดได้
สถานพยาบาลเล็กๆที่สร้างด้วยอิฐพังๆและมุงสังกะสีขึ้นสนิมแห่งนี้เป็นแนวหน้าในการต่อสู้ระหว่างมาลาเรียและมนุษย์ ระหว่างที่นักวิทยาศาสตร์ในห้องทดลองไฮเทคของโลกพยายามไขปริศนาของปรสิต องค์การการกุศลต่างๆขอรับบริจาคเงิน และบริษัทยาทดลองยาใหม่ๆ แต่โรงพยาบาลคาเลเนซึ่งมีเพียงกล้องจุลทรรศน์หนึ่งตัว พยาบาลวิชาชีพสองคน ไฟที่ต้องอาศัยเครื่องปั่นไฟ และแพทย์ที่มีบ้างไม่มีบ้าง (ถึงแม้จะมียาต้านมาลาเรียพร้อมอยู่เสมอ) คือสนามรบที่ต่อกรกับโรคไข้มาลาเรียในชีวิตจริง

ตลอดระยะเวลา 100 ปีนับตั้งแต่มิชชันนารีก่อตั้งโรงพยาบาลนี้ขึ้นเมื่อปี 1906 ต้นฤดูฝนของทุกปีคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางเพื่อรักษาชีวิต เมฆก่อตัว ฝนกระหน่ำ ยุงไข่ลงในน้ำ มาลาเรียระบาด เวลาไม่รอท่า พ่อแม่หอบลูกที่ล้มป่วยมาโรงพยาบาล ส่วนใหญ่พวกเขาจะเดินเท้ามากัน บางคนใช้เวลาหลายวันเดินมาตามทางที่ตัดข้ามพรมแดน ลุยแม่น้ำ ฝ่าสุมทุมพุ่มไม้ เมื่อมาถึงโรงพยาบาล เด็กแต่ละคนจะได้ทำบัตรรายชื่อเก็บเอาไว้ในกล่องไม้เก่าๆที่เคาน์เตอร์พยาบาล ฟลอเรนซ์, อีไลยาห์, แอชิลี พวกเขาเดินฝ่าความร้อน สายฝน และค่ำคืนที่เมฆหม่นปกคลุม เพียวริตี, วัตสัน, มินิวา บ้างหมดสติ บ้างส่งเสียงกรีดร้อง บ้างชักเกร็ง เนลสัน, จาเฟียส, คูกีนา
บางครอบครัวก็ขี่จักรยานราคาถูกที่ผลิตขึ้นในประเทศจีนมา โดยมีพ่อเป็นคนปั่น แม่ซ้อนท้าย อุ้มลูกนั่งกลาง เดลิเฟีย, ฟิเดลี, ซิลเวสเตอร์ เตียงในหออภิบาลผู้ป่วยเด็กเต็มแน่นจนหลายคนต้องนอนบนพื้น และยังล้นทะลักออกมาถึงลานด้านนอก เมทีลีน, มิลตัน, คริสทีน พวกเขาออกจากป่า อ่อนเพลีย มอมแมม และเสียขวัญ พวกเด็กๆมาถึงโรงพยาบาล และการต่อสู้เพื่อยื้อชีวิตก็เริ่มขึ้น
การเดินทางของเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายยุงสู่เซลล์ตับนั้นเงียบสงบ ทุกอย่างดูปกติ แม้แต่ตับสีแดงที่เต็มไปด้วยเซลล์กรองเลือดก็ไม่แสดงอาการว่ามีปัญหาอะไร มีเซลล์ตับอยู่เพียงไม่กี่เซลล์เท่านั้นที่ติดเชื้อ falciparum เจ้าตัวก่อเหตุเลวร้าย ปรสิตก่อโรคมาลาเรียในเซลล์เหล่านี้จะพากันกินและแบ่งตัวอย่างไม่หยุดหย่อนอยู่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ สิ่งที่อยู่ในเซลล์ตับถูกย่อยสลายไปหมด แต่เซลล์นั้นกลับอัดแน่นไปด้วยปรสิตจนบวมเป่งราวกับกระป๋องผลไม้ที่หมดอายุ และเมื่อมาถึงตอนนี้ เชื้อ falciparum แต่ละตัวที่เข้าสู่ร่างกายก็แบ่งตัวไปแล้วกว่า 40,000 ครั้ง จากนั้นเซลล์ตับก็แตกออก ปรสิตพรั่งพรูเข้าสู่กระแสเลือดและเข้าสู่เซลล์ใหม่ภายใน 30 วินาที คราวนี้เจาะเซลล์เม็ดเลือดแดงและกระจายไปตามระบบไหลเวียนโลหิต
ปรสิตจะซุ่มกินและขยายพันธุ์อย่างเงียบๆในช่วงสองวันต่อมา เมื่อเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ถูกบุกรุกโดนกินหมดแล้วก็จะแตกออกอีกครั้ง สร้างความปั่นป่วนในเลือดอีกรอบ ครั้งแรกที่ร่างกายของเรารู้ตัวว่าถูกโจมตี อาการปวดศีรษะและปวดกล้ามเนื้อเป็นสัญญาณชี้ว่า ระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นให้ทำงาน แต่ถ้านี่เป็นการบุกจู่โจมระลอกแรกของมาลาเรีย การตอบโต้ของภูมิคุ้มกันก็ถือว่าไร้ประสิทธิภาพ เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนภัยที่ดังขึ้นหลังผู้ร้ายบุกเข้าบ้านและหลบไปซ่อนใต้เตียงอย่างปลอดภัย
ปรสิตจะชอนไชเข้าไปฝังตัวในเซลล์เม็ดเลือดแดงชุดใหม่อย่างรวดเร็ว กระบวนการเพิ่มจำนวนและแบ่งตัวยังคงดำเนินต่อไป จากนั้นอุณหภูมิภายในร่างกายสูงขึ้นเพราะร่างกายพยายามกำจัดผู้บุกรุก ผู้ป่วยมีอาการสั่นเพราะกล้ามเนื้อเกร็งตัวเพื่อเพิ่มความร้อน ตามมาด้วยไข้สูงและเหงื่อออกจนเปียกชุ่ม อาการหนาว ร้อน เปียก นี้เป็นอาการเฉพาะของโรค แต่ปรสิตยังคงเติบโตแบบทวีคูณต่อไป และเมื่อได้แบ่งตัวอีกไม่กี่รอบ ร่างกายของผู้ป่วยก็จะมีปรสิตหลายพันล้านตัวในกระแสเลือด เมื่อถึงจุดนี้ ไข้จะขึ้นสูงถึงขีดสุด ร่างกายเพิ่มอุณหภูมิราวกับจะต้มตัวเองให้สุกตายเพื่อหยุดยั้งการโจมตี แต่ก็ปราศจากผล ปรสิตยังควบคุมเม็ดเลือดแดงเพื่อความอยู่รอดของพวกมันได้
ในคนไข้บางราย เซลล์ที่ติดเชื้อ falciparum จะมีตุ่มขรุขระขึ้นบนผิวเซลล์ เมื่อเม็ดเลือดแดงไหลผ่านหลอดเลือดฝอยในสมอง เซลล์ที่มีผิวขรุขระเหล่านี้จะเกาะติดผนังหลอดเลือดเหมือนกับตีนตุ๊กแก ทำให้เชื้อร้ายเหล่านั้นรอดพ้นจากการถูกลำเลียงไปสู่ม้ามซึ่งมีหน้าที่ทำความสะอาดเลือดโดยจะขจัดเซลล์เม็ดเลือดแดงที่เสียหาย การเกาะติดยังส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการสมองบวมด้วย แต่ยังไม่มีใครทราบสาเหตุแน่ชัด การติดเชื้อนี้เองที่นำไปสู่มาลาเรียขึ้นสมอง ซึ่งเป็นอาการที่น่ากลัวที่สุดของโรคนี้ ตอนนี้เองที่ร่างกายเริ่มมีอาการทรุดหนัก ปรสิตได้ทำลายเม็ดเลือดแดงที่ขนส่งออกซิเจนไปเป็นจำนวนมากจนเม็ดเลือดแดงเหลือไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ปอดต่อสู้เพื่อสูดอากาศหายใจ หัวใจดิ้นรนเพื่อสูบฉีดเลือด เลือดกลายเป็นกรด เซลล์สมองเริ่มตาย เด็กจะเริ่มมีอาการทุรนทุราย ชัก และโคม่าในที่สุด
มาลาเรียเป็นโรคที่ยุ่งเหยิง และมักจะมีลักษณะตรงข้ามกับหลักเหตุผล การรักษาผู้ป่วยมาลาเรียเกือบทุกรายอาจแย่กว่าไม่รักษาเลย การทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความเสี่ยงในประเทศที่มาลาเรียระบาดกลายเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง ราเชล คาร์สัน ผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งโจมตีดีดีทีกลับกลายเป็นผู้ร้าย ขณะที่ดีดีทีเป็นวีรบุรุษ ผู้ที่มียีนผิดปกติของโรคภาวะเลือดจางที่เม็ดเลือดแดงมีลักษณะเป็นรูปเคียว (sickle-cell anemia) ซึ่งเป็นโรคเลือดรุนแรงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ ถือเป็นผู้โชคดี เพราะมีภูมิต้านทานบางส่วนต่อเชื้อ falciparum บรรดานักวิจัยชั้นนำในศูนย์การแพทย์กว่าร้อยแห่งกำลังค้นคว้าหายาต้านมาลาเรีย ทว่าสมุนไพรในบันทึกเมื่อ 1,700 ปีก่อนอาจจะเป็นยาที่ดีที่สุดที่มีอยู่ โรเบิร์ต กวาดซ์ จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติใกล้กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ผู้ศึกษาโรคไข้มาลาเรียเป็นเวลาเกือบ 35 ปี กล่าวว่า "ปรสิตก่อโรคมาลาเรียนั้นมีความสามารถในการปรับตัวและเอาชีวิตรอด มันเป็นอัจฉริยะและฉลาดกว่ามนุษย์เรามากเลยครับ"
มาลาเรียมีอยู่ในโลกก่อนที่มนุษย์จะถือกำเนิดขึ้น เป็นไปได้ว่าบรรพบุรุษของเราอาจทุกข์ทรมานจากโรคมาลาเรีย เพราะทั้งปรสิตและยุงต่างเป็นสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ในยุคดึกดำบรรพ์ ไดโนเสาร์อาจเคยติดเชื้อมาลาเรียก็ได้ และระยะเวลาอันยาวนานในประวัติศาสตร์ทำให้เชื้อมีเวลาในการปรับตัวและหาช่องโหว่จากจุดอ่อนของระบบภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่แค่มนุษย์เราเท่านั้น แต่กระทั่งสัตว์อื่นๆอย่างหนู นก เม่น ลีเมอร์ ลิง และเอป ต่างก็มีเชื้อมาลาเรียของตัวเอง ค้างคาว งู และกระรอก ก็เช่นกัน
ประวัติศาสตร์โลก มีอารยธรรมน้อยมากที่รอดพ้นจากมาลาเรีย มัมมี่ของอียิปต์บางร่างมีร่องรอยของโรคนี้ ฮิปโปเครติสได้บันทึกอาการแต่ละระยะเอาไว้ชัดเจน มาลาเรียน่าจะคร่าชีวิตพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ส่งผลให้จักรวรรดิกรีกอันเกรียงไกรล่มสลาย และอาจหยุดยั้งกองทัพของแอตติลาจักรพรรดิฮั่นและเจงกิสข่าน ชื่อของโรคมาจากภาษาอิตาลี mal'aria แปลว่า "อากาศไม่ดี" ชาวโรมซึ่งถูกมาลาเรียโจมตีหลายศตวรรษเชื่อว่า ไอจากหนองน้ำทำให้เกิดโรคซึ่งคร่าชีวิตพระสันตะปาปาอย่างน้อยสี่พระองค์ และอาจปลิดชีพดันเต กวีผู้โด่งดังชาวอิตาลี ขณะที่ประธานาธิบดีสามคนของสหรัฐฯ ได้แก่ จอร์จ วอร์ชิงตัน, เอบราฮัม ลิงคอล์น และยูลิสซิส เอส. แกรนต์ ล้วนเคยติดเชื้อไข้มาลาเรีย
ในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้า โรคนี้ระบาดอย่างหนักในวอชิงตัน ดี.ซี. จนนายแพทย์คนหนึ่งออกมาเรียกร้องให้สร้างมุ้งลวดขนาดใหญ่ล้อมรอบเมือง แต่ไม่สำเร็จ ทหารสหรัฐฯฝ่ายเหนือในสงครามกลางเมืองหนึ่งล้านคนต้องจบชีวิตด้วยโรคไข้มาลาเรีย
ในสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารในสมรภูมิแถบแปซิฟิกมีจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากมาลาเรียมากกว่าการปะทะกัน นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า หนึ่งในสองของมนุษย์ที่เคยมีชีวิตอยู่ในโลกเสียชีวิตด้วยโรคไข้มาลาเรีย ยารักษามาลาเรียขนานแรกที่รู้จักกันแพร่หลายค้นพบในเขตประเทศเปรูและเอกวาดอร์ในปัจจุบัน โดยมาจากเปลือกของต้นซิงโคนา ญาติสนิทของกาแฟ ยาซึ่งคนพื้นเมืองเรียกว่า กีนา กีนา (เปลือกของเปลือกไม้) ได้แพร่หลายไปทั่วโลกในเวลาต่อมาในชื่อควินิน (quinine)
เมื่อข่าวเรื่องยาตัวนี้แพร่สะพัดผ่านคณะมิชชันนารีนิกายเยซูอิตมาถึงอิตาลีซึ่งถูกมาลาเรียกระหน่ำในปี 1632 ความต้องการยาก็ถล่มทลาย เปลือกไม้ที่คนงานท้องถิ่นเก็บและลำเลียงไปยังชายฝั่งแปซิฟิกเพื่อขนลงเรือส่งไปยังทวีปยุโรปมีราคามหาศาล คณะสำรวจหลายคณะออกเดินทางไปอเมริกาใต้เพื่อนำเมล็ดหรือไม้อ่อนกลับมา เมื่อไปถึงที่นั่น นักล่าควินินต้องฝ่าฟันการเส้นทางมหาโหดผ่านช่องเขาที่มีหิมะทับถมในเทือกเขาแอนดีส ก่อนจะเข้าป่าเมฆคลุมซึ่งไม้หายากชนิดนี้เติบโตอยู่ หลายคนเสียชีวิตระหว่างทาง และแม้พวกเขาจะไม่ตาย แต่ต้นไม้ก็มักไม่รอด
ตลอด 200 ปีก่อนที่การปลูกซิงโคนาในไร่ที่อินเดีย ศรีลังกา และชวา จะสำเร็จ ตัวยาต้องส่งตรงจากอเมริกาใต้เท่านั้น ควินินที่ยับยั้งการแบ่งตัวของปรสิตช่วยชีวิตผู้คนไว้นับไม่ถ้วน แต่ยาตัวนี้มีข้อเสียที่ออกฤทธิ์ได้ไม่นาน และถ้าได้รับบ่อยเกินไปอาจก่อผลข้างเคียงรุนแรงต่อร่างกายซึ่งรวมถึงอาการหูหนวกด้วย แต่ในทศวรรษ 1940 มีการค้นพบครั้งสำคัญสองคราว เริ่มจากการสังเคราะห์ยาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ ซึ่งเป็นสารประกอบชื่อคลอโรควินที่มีราคาถูก ปลอดภัย และสามารถป้องกันเชื้อมาลาเรียทุกชนิดได้ชะงัดเป็นเวลานาน ซึ่งเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่าปาฏิหาริย์ นวัตกรรมที่สองก็อัศจรรย์พอๆกัน พอล มึลเลอร์ นักเคมีชาวสวิส พบคุณสมบัติในการกำจัดแมลงของสารประกอบไดคลอโร-ไดเฟนนิล-ไตรคลอโรอีเทน หรือดีดีที
มึลเลอร์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์เมื่อปี 1948 จากการค้นพบสารเคมีที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในประวัติศาสตร์การควบคุมแมลง การใช้ดีดีทีปริมาณเพียงเล็กน้อยสามารถกำจัดยุงได้นานหลายเดือน ซึ่งนานพอที่จะตัดวงจรการแพร่เชื้อไข้มาลาเรียได้ ทั้งยังออกฤทธิ์ได้นานกว่ายาฆ่าแมลงที่มีคุณสมบัติดีรองลงมาถึงสองเท่า ที่สำคัญคือมีราคาถูกกว่าสี่เท่า เมื่อมีทั้งยาคลอโรควินและดีดีที องค์การอนามัยโลกจึงเริ่มโครงการกำจัดมาลาเรียทั่วโลกเมื่อปี 1955 โดยวางเป้าหมายจะกำจัดโรคนี้ให้หมดไปในสิบปี ใช้เงินกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และใช้ดีดีทีปีละหลายหมื่นตันเพื่อกำจัดยุง
อินเดียซึ่งเผชิญภัยพิบัติจากมาลาเรียมาช้านาน จ้างคนงานเต็มเวลา 150,000 คนออกพ่นยาตามบ้าน มีการแจกจ่ายยาคลอโรควินไปทั่วโลก นี่อาจเป็นโครงการสาธารณสุขสากลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา
แผนรณรงค์ดังกล่าวเริ่มต้นจากความสำเร็จในการกำจัดโรคอย่างรวดเร็วของประเทศบราซิลและสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1930 สหรัฐฯมีผู้ป่วยมาลาเรียหลายล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐทางใต้ และแล้วปฏิบัติการต่อต้านมาลาเรียอย่างจริงจังก็เริ่มขึ้น มีการถมพื้นที่ชุ่มน้ำกว่า 10,000 ตารางกิโลเมตร พ่นดีดีทีในบ้านของราษฎรหลายแสนหลังคาเรือน รัฐบาลก่อตั้งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคในแอตแลนตาเมื่อปี 1946 เพื่อต่อสู้กับโรคไข้มาลาเรียโดยเฉพาะ
ความมั่งคั่งร่ำรวยของสหรัฐฯ คือปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้ประชากรเกือบทุกคนได้รับการรักษา ติดมุ้งลวดประตูหน้าต่าง และถมหนองน้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้ โชคดีที่ยุงสกุล Anopheles สองชนิดซึ่งมีมากที่สุดในประเทศ ชอบดูดเลือดสัตว์มากกว่ามนุษย์ พอถึงปี 1950 การระบาดของมาลาเรียในสหรัฐฯก็ยุติลง ความพยายามในการกำจัดมาลาเรียทั่วโลกถือว่าได้ผลดี โรคนี้หายไปจากแถบแคริบเบียน แปซิฟิกใต้ คาบสมุทรบอลข่าน และไต้หวัน ในศรีลังกาซึ่งมีผู้ป่วยมาลาเรีย 2,800,000 ราย ในปี 1946 ลดเหลือ 17 รายในปี 1963 ในอินเดีย อัตราการตายจากมาลาเรียลดลงจาก 800,000 รายต่อปีจนแทบไม่มีเลย แต่เป้าหมายในการรณรงค์ยังไกลเกินเอื้อม มาลาเรียยังคงแพร่ระบาดอยู่ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศในเขตร้อน เงินสนับสนุนค่อยๆร่อยหรอจนทำให้โครงการต้องยุติเมื่อปี 1969 ในหลายประเทศ
โครงการรณรงค์กำจัดมาลาเรียทั่วโลกสิ้นสุดลงพร้อมกับการลดความช่วยเหลือจากต่างชาติ ความไม่มั่นคงทางการเมือง ความยากจนที่แผ่ลาม และบริการสาธารณสุขที่ไม่ทั่วถึง ในหลายๆพื้นที่ที่โรคไข้มาลาเรียถูกกำจัดจนเกือบสูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น อินเดียและศรีลังกา กลับเกิดการระบาดขึ้นมาอีก แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ในซับสะฮาราของแอฟริกาไม่เคยมีโครงการกำจัดมาลาเรียเลย โครงการรณรงค์ขององค์การอนามัยโลกในครั้งนั้นได้มองข้ามทวีปนี้ไป และโครงการเล็กๆก็คืบหน้าไปได้ไม่มากนัก ไม่นานหลังจากโครงการยุติ การควบคุมยุงก็ขาดเครื่องมือสำคัญอย่างดีดีที เนื่องจากการใช้มากเกินไป ซึ่งไม่ได้ใช้ในการกำจัดมาลาเรียด้วยซ้ำ แต่เป็นการกำจัดแมลงศัตรูพืช ชาวไร่ที่ต้องการปกป้องพืชไร่ของตน โดยเฉพาะฝ้าย ใช้ดีดีทีซึ่งมีราคาถูกในปริมาณสูงเกินควร จนเกิดการสะสมในดินและปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ถึงแม้จะไม่เป็นพิษต่อมนุษย์ แต่ดีดีทีก็เป็นอันตรายต่อเหยี่ยวเพเรกริน สิงโตทะเล และปลาแซลมอน ในปี 1962 ราเชล คาร์สัน ตีพิมพ์ไซเลนต์สปริง ซึ่งกล่าวถึงการใช้ดีดีทีในทางที่ผิดและบรรยายผลลัพธ์อันเลวร้ายจนกระทั่งมีกฎหมายห้ามใช้สารเคมีนี้ในการเกษตรทั่วโลก แม้จะอนุญาตให้ใช้ในการควบคุมมาลาเรียได้ แต่ดีดีทีก็กลายเป็นของหายาก กวาดซ์บอกว่า "การห้ามใช้ดีดีทีอาจคร่าชีวิตเด็กไปแล้ว 20 ล้านคน" ตามมาด้วยวิกฤติการณ์ร้ายแรงที่สุด คือการดื้อยาเป็นวงกว้าง ปรสิตก่อโรคมาลาเรียขยายพันธุ์และวิวัฒน์อย่างรวดเร็ว มีการกลายพันธุ์อย่างสม่ำเสมอ การกลายพันธุ์บางอย่างทำให้ปรสิตดื้อยาคลอโรควิน ลักษณะพิเศษนี้ถูกส่งทอดไปสู่ปรสิตรุ่นหลังอย่างรวดเร็ว
ทุกครั้งที่ผู้ป่วยกินยาคลอโรควิน ปรสิตที่ดื้อยาก็เพิ่มจำนวนขึ้น ไม่ช้าก็ส่งผลให้เกิดการระบาดไข้มาลาเรียครั้งใหญ่ที่ยากแก่การรักษา ในทศวรรษ 1990 เชื้อมาลาเรียระบาดมากกว่าที่ผ่านมา และส่อเค้าว่าจะรักษายากกว่าที่เคย แม้กระทั่งทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลคาเลเนมิชชั่นในแซมเบียยังคงจดบันทึกเรื่องราวของมาลาเรียด้วยปากกาลูกลื่น ทุกๆเช้าหลังจากฟ้าสาง ผู้ช่วยพยาบาลเวรกลางคืนจะสรุปอาการล่าสุดของเด็กๆในห้องไอซียูสั้นๆ โดยจดไว้ในกระดาษมีเส้นที่เก็บไว้ในแฟ้มเก่าคร่ำคร่า ส่วนเวรกลางวันจะบันทึกข้อมูลเพิ่มเติมในบัตรผู้ป่วยใบเล็กๆที่เคาน์เตอร์ แฟ้มบันทึกอาการของผู้ช่วยพยาบาลเวรกลางคืนและบัตรผู้ป่วยนั้นประกอบกันเป็นเรื่องราวที่บีบคั้นของโรคมรณะนี้
ข้อมูลของผู้ป่วยหลายคนเขียนเป็นคำง่ายๆสั้นๆ เช่น "แมรี: เป็นมาลาเรีย หมดสติ" "เบลินดา: มาลาเรีย ชัก" แต่บางคนก็ยาวกว่านั้น โดยแจงรายละเอียดการรักษา เช่น ชนิดและขนาดของยา เวลาที่ให้ นี่คือภาพการดิ้นรนยื้อชีวิตในถิ่นที่มาลาเรียชุกชุมที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หน้ากระดาษทุกหน้า บัตรผู้ป่วยทุกใบ ข้อมูลหลายพันเหล่านี้ร้อยเรียงเรื่องราวที่เกิดขึ้น
นี่คือเมทีลีน คูมาฟัมโบ เด็กหญิงร่างผอมวัยสามขวบที่ยายพาเดินจากบ้านมาถึงโรงพยาบาลเป็นระยะทาง 16 กิโลเมตร ตอนมาถึง เชื้อไข้มาลาเรียเข้าไปอยู่ในสมองของเธอแล้ว ผู้ช่วยพยาบาลเวรกลางคืนบันทึกไว้ว่า "รับตัวไว้เมื่อวานนี้ มีไข้และชัก เป็นมาลาเรีย" ศีรษะด้านขวาของเมทีลีนถูกโกนและต่อสายน้ำเกลือไว้ พวกเขาฉีดควินินซึ่งเป็นยาที่โรงพยาบาลคาเลเนยังคงใช้รักษาผู้ป่วยมาลาเรียที่มีอาการหนักให้เธอครั้งแล้วครั้งเล่า ทุกครั้งมีการบันทึกรายละเอียดอย่างครบถ้วน เมทีลีนโคม่าอยู่เกือบหนึ่งสัปดาห์ อาการโคม่าที่เกิดจากไข้มาลาเรียนั้นน่ากลัว แผ่นหลังของเธอแอ่น แขนทั้งสองเกร็งแข็ง มือหงิกงอ นิ้วเท้าจิก เป็นภาพแห่งความทรมาน บันทึกอาการยังคงดำเนินต่อไป "ไม่รู้สึกตัว ให้ควินินทางหลอดเลือดดำต่อ" "ยังไม่รู้สึกตัว แต่ไม่ชัก" และ "ยังไม่รู้สึกตัว" แล้วอาการชักก็กำเริบขึ้นอีกครั้ง
หลายครั้งที่รายงานของผู้ช่วยพยาบาลเวรกลางคืนดูคล้ายบันทึกส่วนตัว "ฉันเป็นห่วง ก็เลยเรียนซิสเตอร์" นี่คือคำเรียกพยาบาลสองคนที่อยู่ประจำโรงพยาบาลอย่างยกย่อง "เธอมาดูและสั่งให้ฉีดแวเลียม ทำให้อาการทุเลา" สุดท้ายข้อความกลับเปี่ยมความหวัง "เธอลืมตาแล้ว แต่ยังดูมีอาการอยู่" "ดื่มและกินข้าวต้ม" และ "รู้สึกตัวและพูดได้แล้ว!!" สามวันต่อมาเมทีลีนก็กลับบ้านได้ "ดูสดใส" รายงานกล่าว "แต่ยังเดินได้ไม่ดีนัก" ความร้ายกาจประการหนึ่งของมาลาเรียคือการทำให้ผู้ป่วยหลายคนที่รอดชีวิตพิการ
"การเดินของเด็กคนนี้แสดงให้เห็นปัญหาที่ใหญ่กว่าครับ" โรเบิร์ต กวาดซ์ บอกหลังตรวจประวัติการเจ็บป่วยของเมทีลีน "ระบบประสาทของเธออาจเสียหายถาวร" มาลาเรียส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชนและประเทศ กวาดซ์บอกว่า "เป็นไปได้ที่เด็กเกือบทุกคนในแอฟริกาจะมีระบบประสาทบางอย่างเสียหายจากมาลาเรีย" ถึงกระนั้น เมทีลีนก็เป็นหนึ่งในผู้โชคดี เพราะรายงานเวรกลางคืนของโรงพยาบาลคาเลเนเต็มไปด้วยเรื่องรันทด คริสตาเบล: "ผู้ป่วยอาการแย่มาก เพ้อและเหนื่อยอ่อน หายใจไม่เป็นจังหวะ แจ้งซิสเตอร์ เธออาการทรุดและสิ้นใจตอนเที่ยงคืน ครอบครัวรับศพกลับบ้าน ขอให้วิญญาณของเธอไปสู่สุคติ" มีข้อความคล้ายกันอยู่เกือบทุกหน้า โรนัลโด: "สะลึมสะลือ ให้ควินินทางหลอดเลือดดำ ชัก ให้แวเลียม สวนยาแก้ปวดทางทวารหนัก มีไข้ สวนยาแก้ปวดเพิ่ม ตีห้า หายใจเฮือกสุดท้ายก่อนจะสิ้นใจ ครอบครัวรับศพกลับบ้าน" ทั่วทั้งแซมเบีย มีการระดมกำลังทหาร ลูกเสือ และนักแสดงท้องถิ่น มาเพื่อหยุดยั้งมาลาเรีย
งบประมาณในการควบคุมมาลาเรีย 30,000 เหรียญสหรัฐฯ ในปี 1985 ทวีคูณเป็นกว่า 40 ล้านเหรียญในปัจจุบันด้วยเงินสนับสนุนจากต่างชาติ มีการติดโปสเตอร์ทั่วประเทศเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสาเหตุและอาการของไข้มาลาเรีย และเน้นความสำคัญของการใช้ยารักษา (ผู้ป่วยมาลาเรียส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์) ทางการมอบเหรียญให้ลูกเสือที่มีความรู้เรื่องมาลาเรีย
แผนการของแซมเบียคือการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน และใช้วิธีทำลายโรค 3 วิธี คือ ยากิน ยาฆ่าแมลง และมุ้ง แซมเบียใช้ยารักษามาลาเรียตัวใหม่ล่าสุดซึ่งทำมาจากตัวยาเก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่ง เป็นสมุนไพรจากวัชพืชซึ่งเป็นญาติของหญ้าเสจบรัช และสวีตเวิร์มวู้ด มีชื่อว่าอาร์ทีมิเซีย ยานี้มีบันทึกครั้งแรกในตำราแพทย์ของจีนในช่วงปี ค.ศ. 400 แต่ถูกมองข้ามมาตลอดจนปัจจุบัน
ยารูปแบบใหม่ที่ชื่ออาร์ทีมิซินินมีประสิทธิภาพเทียบเท่าควินิน แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า นับเป็นยารักษามาลาเรียตัวสุดท้ายที่มีอยู่ เพราะปรสิตได้พัฒนาจนดื้อยาทุกชนิดที่ใช้รักษา รวมทั้งควินินด้วย มีการนำอนุพันธ์ของยาไปให้ร่วมกับยาอื่นเพื่อลดโอกาสในการดื้อยาอาร์ทีมิซินินของปรสิต กลายเป็นยาผสมต้านมาลาเรียเอซีที (ACT: artemisinin-based combination therapy)
ทุกปีก่อนเข้าฤดูฝน แซมเบียจะซื้อยาฆ่าแมลงจำนวนมากเพื่อฉีดให้ทุกบ้านที่อยู่ในเขตมาลาเรียชุกชุม ดีดีทีถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งโดยฉีดเฉพาะในบริเวณบ้านและในปริมาณจำกัด เมื่อจำนวนผู้เสียชีวิตจากมาลาเรียเพิ่มสูงขึ้น ดีดีทีก็หาง่ายขึ้น และเซียร์ราคลับซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ไม่ต่อต้านการใช้ดีดีทีอย่างจำกัดเพื่อควบคุมมาลาเรีย รัฐบาลยังแจกมุ้งชุบยาฆ่าแมลงเพื่อให้ประชาชนใช้กันยุงในตอนกลางคืน อันเป็นช่วงเวลาที่ยุงก้นปล่องซึ่งเป็นพาหะของมาลาเรียออกหากิน แผนการนี้ไม่ซับซ้อน แต่การต่อสู้กับมาลาเรียไม่ใช่เรื่องง่าย ชาวแซมเบียหลายคนที่อยู่ห่างไกลโรงพยาบาลหาซื้อยาจากแผงขายยาข้างถนน ที่นั่นยาเอซีทีหนึ่งชุดมีราคาสูงกว่าหนึ่งเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งแพงเกินไปสำหรับประเทศที่ประชากรร้อยละ 70 มีรายได้ต่อวันไม่ถึงหนึ่งเหรียญสหรัฐฯ คนจึงหันไปซื้อยาอื่นที่มีราคาประมาณ 15 เซนต์ ยาเหล่านี้ช่วยลดไข้และทำให้อาการดีขึ้นได้ชั่วคราว แต่ไม่ช่วยในการยับยั้งปรสิต

แหล่งข้อมูล: eduzones.com

อัพเดทล่าสุด