การพยาบาลผู้ป่วยผ่าตัดไส้เลื่อน ป้องกันไส้เลื่อน อาการของโรคไส้เลื่อน


23,824 ผู้ชม


ไส้เลื่อนเกิดขึ้นได้เมื่อลำไส้ยื่นออกมานอกช่องท้อง ทางตำแหน่งที่ผนังของหน้าท้องอ่อนแอ บางรายทำให้มีการเจ็บ หรือเห็นเป็นก้อนยื่นออกมา โดยเฉพาะเวลาไอ ยืน หรือยกของหนัก
     ไส้เลื่อนพบได้หลายตำแหน่ง
      ที่หัวหน่าว inguinal hernia พบบ่อยที่สุดคือ ประมาณ 75 %
      ที่สะดือ พบได้ 10-30%หากเป็นในเด็กอาจหายเองได้ก่อนอายุ 2ปี ถ้าไม่หายต้องผ่าตัด และหากเป็นผู้ใหญ่มักพบในหญิงตั้งครรภ์ หรือหลังคลอด
      ที่โคนขา femoral hernia ซึ่งเป็นชนิดที่มักพบในผู้หญิง
      นอกจากนั้นยังมีตำแหน่งอื่นๆ ที่อาจเป็นได้ แต่พบได้น้อย
    อาการของไส้เลื่อน
       ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีอาการ แต่ที่พบได้คือ
        - มีก้อนนูนขึ้นมาที่ขาหนีบข้างใดข้างหนึ่ง
        - มีอาการจุก แสบร้อน ปวด บริเวณที่นูน
        - เวลามีอาการไอ ยกของหนัก จะปวดจุกที่ท้องน้อยหรือขาหนีบ
        - ในผู้ชายบางครั้งไส้เลื่อนจะลงไปถึงถุงอัณฑะทำให้เป็นก้อนขนาดใหญ่ในถุงอัณฑะข้างหนึ่ง
          ถ้าหากว่ามีอาการปวด หรือพบก้อนบริเวณหัวหน่าว หรือโคนขา ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจ โรคนี้สามารถให้การวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกาย โดยไม่จำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษใดๆ
          โดยในการตรวจร่างกายแพทย์จะตรวจคลำพบตำแหน่งที่มีไส้เลื่อน และสามารถคลำหาจุดที่ผนังหน้าท้องอ่อนแอจนไส้เลื่อนดันออกมา บางครั้งแพทย์อาจจะให้ยืน หรือให้ออกแรงเบ่ง เพื่อจะได้ตำแหน่งที่ชัดเจนขึ้น
         โดยปกติแล้วไส้เลื่อนจะไม่อันตราย แต่หากว่าไส้เลื่อนออกภายนอก แล้วไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ อาจจะทำให้เกิดการขาดเลือดทำให้มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ไข้ขึ้น ปวดรุนแรง ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องการการผ่าตัดโดยด่วน
    สาเหตุของการเกิดไส้เลื่อน
            - ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นผิดปกติ
            - มีตำแหน่งที่ผนังหน้าท้องอ่อนแอกว่าปกติ
            - ท้องผูก
            - ยกของหนักเป็นประจำ
            - ภาวะที่มีน้ำในช่องท้อง
            - ตั้งครรภ์
            - น้ำหนักตัวมากกว่าปกติ
            - ไอเรื้อรัง จามเรื้อรัง
         บางคนจะมี ตำแหน่งที่ผนังหน้าท้องไม่แข็งแรงตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากมีจุดที่ผนังหน้าท้องปิดไม่สนิท ตั้งแต่เล็กๆ และทำให้เกิดไส้เลื่อนตามมา เมื่ออายุมากขึ้น กล้ามเนื้ออ่อนแอลง หรือออกกำลังกายหนักไป ไอเรื้อรัง ในผู้ชาย เนื่องจากมีตำแหน่งที่ท่ออสุจิออกจากช่องท้องลงไปถึงอัณฑะ จึงเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดไส้เลื่อนที่ตำแหน่งนี้ได้ง่าย
    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดไส้เลื่อน
            - เพศชาย
            - มีประวัติในครอบครัว
            - ไอเรื้อรัง
            - ท้องผูกเรื้อรัง
            - อ้วน
            - ตั้งครรภ์
            - งานบางอย่างที่ต้องยืนมาก ยกของหนักมาก
            - ทารกที่คลอดก่อนกำหนด

โดยเฉพาะอ้วนลงพุง

 

 

          หาก เอ่ยนิยามของคำว่า "โรคไส้เลื่อน" หมายถึง การยื่นของอวัยวะภายในภายในช่องท้อง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลำไส้ ออกมานอกช่องของตัว ซึ่งช่องที่ออกไปนั้นอ่อนแอผิดปกติ ไส้เลื่อนที่พบได้มากที่สุดคือ ไส้เลื่อนขาหนีบ นอกจากนี้มี ไส้เลื่อนที่สะดือ ไส้เลื่อนแผลผ่าตัดด้วย

          สาเหตุ ของโรคคือ เริ่มแรกอาจมีการเพิ่มความดันในช่องท้อง ทำให้ช่องทางปกติที่มีผนังที่แข็งแรงกันอยู่แล้วนั้น เริ่มอ่อนแอมากขึ้น จนเกิดช่องว่างขึ้น ทำให้ลำไส้หลุดออกไปนอกช่องได้ หรือในกรณีคนที่มีการเบ่ง หรือเพิ่มความดันในช่องท้องเรื้อรัง เช่น ยกของหนัก หรือต้องเบ่งท้องผูกเป็นประจำ หรือมีอาการไอเรื้อรัง หรือในผู้สูงอายุที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโต ก็มีโอกาสที่จะเป็นไส้เลื่อนขาหนีบได้ สังเกตอาการได้จากการเริ่มปวดตุงๆ บริเวณขาหนีบ เริ่มมีก้อนเข้าๆ ออกที่ขาหนีบ และเลื่อนมาที่ลูกอัณฑะในผู้ชาย

           ส่วน กรณีผู้หญิง ก้อนที่ว่านี้จะเลื่อนมาข้างๆ อวัยวะเพศ ควรให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยเมื่อพบก่อนจะได้รีบทำการรักษา ซึ่งแพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดได้วิธีเดียว ไม่มียารับประทาน เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนของไส้เลื่อน เพราะเมื่อลำไส้ออกมานอกร่างกายแล้ว บริเวณช่องที่ลำไส้ออกมานั้นแคบ บางครั้งอาจเกิดการรัดของลำไส้ขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นสาเหตุทำให้ลำไส้ขาดเลือด และเน่าในที่สุด

          ผู้ ป่วยที่เคยเป็นโรคไส้เลื่อน 1 ข้าง จะมีโอกาสเป็นอีก 1 ข้างประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์มากกว่าคนปกติ เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวังมาก นอกจากนี้ในภาวะอ้วนของคนที่อ้วนลงพุง จะทำให้เนื้อเยื่อ หรือเยื่อที่กันลำไส้อ่อนแอมากกว่าคนที่ไม่อ้วน โดยเฉพาะไส้เลื่อนที่สะดือมักพบในคนที่อ้วนลงพุงทั้งผู้ชายและผู้หญิง ทั้งคนสูงอายุและอายุน้อย เนื่องจากว่าบริเวณสะดือเป็นจุดที่อ่อนแอจุดหนึ่ง ถ้ามีการยืดของผนังหน้าท้อง คือลงพุงมากขึ้นเรื่อยๆ จุดที่อ่อนแอนี้ก็จะค่อยๆ ยืดๆ ทำให้ลำไส้โผล่ตามมา ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีรูสะดือเล็กประมาณ 1-2 เซนติเมตร ลำไส้ที่ออกมาอาจมีลักษณะบิดขั้ว ทำให้ขาดเลือด จนต้องทำการผ่าตัดฉุกเฉิน

          ปัจจุบัน การผ่าตัดโรครักษาไส้เลื่อนมี 2 วิธี คือ การผ่าตัดเปิด และการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งการผ่าตัดเปิด แพทย์จะเลือกกรณีที่ไส้เลื่อนลงขาหนีบที่มีขนาดใหญ่มาก แต่ถ้ามีขนาดไม่ใหญ่มาก โดยเฉพาะที่เป็น 2 ข้าง หรือกรณีที่ไส้เลื่อนกลับเป็นซ้ำ ซึ่ง 2 กรณีนี้เป็นข้อบ่งชี้ที่สำคัญในการผ่าตัดส่องกล้อง มีข้อดีคือ แผลผ่าตัดเล็ก เจ็บตัวน้อย และฟื้นตัวได้เร็ว ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 1 คืน ก็สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ โดยทั่วไปการผ่าตัดทั้ง 2 วิธีนั้น แพทย์จะใช้ตาข่ายสังเคราะห์เพื่อช่วยให้แผลหายรวดเร็ว ไม่ตึง เจ็บน้อย แต่ตาข่ายพิเศษนี้ กว่าที่จะสมานกับร่างกายจนแข็งแรง ต้องใช้เวลา 3 เดือน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวหลังผ่าตัด ผู้ป่วยไม่ควรยกของหนักเลย ไม่ควรเพิ่มความดันในช่องท้อง ไม่เช่นนั้นอาจเกิดเป็นซ้ำ เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรดีกว่าการป้องกัน และดูแลสุขภาพให้ดี พบแพทย์เพื่อตรวจเช็คสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปีก่อนที่โรคไส้เลื่อนจะถาม หา

  ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

อัพเดทล่าสุด