ไส้เลื่อนในผู้หญิง ไส้เลื่อน ผู้หญิง การผ่าตัดไส้เลื่อน


1,347 ผู้ชม


ไส้เลื่อนเกิดขึ้นได้เมื่อลำไส้ยื่นออกมานอกช่องท้อง ทางตำแหน่งที่ผนังของหน้าท้องอ่อนแอ บางรายทำให้มีการเจ็บ หรือเห็นเป็นก้อนยื่นออกมา โดยเฉพาะเวลาไอ ยืน หรือยกของหนัก

     ไส้เลื่อนพบได้หลายตำแหน่ง 

      ที่หัวหน่าว inguinal hernia พบบ่อยที่สุดคือ ประมาณ 75 %
      ที่สะดือ พบได้ 10-30%หากเป็นในเด็กอาจหายเองได้ก่อนอายุ 2ปี ถ้าไม่หายต้องผ่าตัด และหากเป็นผู้ใหญ่มักพบในหญิงตั้งครรภ์ หรือหลังคลอด
      ที่โคนขา femoral hernia ซึ่งเป็นชนิดที่มักพบในผู้หญิง
      นอกจากนั้นยังมีตำแหน่งอื่นๆ ที่อาจเป็นได้ แต่พบได้น้อย
    อาการของไส้เลื่อน

       ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีอาการ แต่ที่พบได้คือ
        - มีก้อนนูนขึ้นมาที่ขาหนีบข้างใดข้างหนึ่ง
        - มีอาการจุก แสบร้อน ปวด บริเวณที่นูน
        - เวลามีอาการไอ ยกของหนัก จะปวดจุกที่ท้องน้อยหรือขาหนีบ
        - ในผู้ชายบางครั้งไส้เลื่อนจะลงไปถึงถุงอัณฑะทำให้เป็นก้อนขนาดใหญ่ในถุงอัณฑะข้างหนึ่ง

          ถ้าหากว่ามีอาการปวด หรือพบก้อนบริเวณหัวหน่าว หรือโคนขา ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจ โรคนี้สามารถให้การวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกาย โดยไม่จำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษใดๆ
          โดยในการตรวจร่างกายแพทย์จะตรวจคลำพบตำแหน่งที่มีไส้เลื่อน และสามารถคลำหาจุดที่ผนังหน้าท้องอ่อนแอจนไส้เลื่อนดันออกมา บางครั้งแพทย์อาจจะให้ยืน หรือให้ออกแรงเบ่ง เพื่อจะได้ตำแหน่งที่ชัดเจนขึ้น
         โดยปกติแล้วไส้เลื่อนจะไม่อันตราย แต่หากว่าไส้เลื่อนออกภายนอก แล้วไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ อาจจะทำให้เกิดการขาดเลือดทำให้มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ไข้ขึ้น ปวดรุนแรง ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องการการผ่าตัดโดยด่วน
    สาเหตุของการเกิดไส้เลื่อน 

            - ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นผิดปกติ
            - มีตำแหน่งที่ผนังหน้าท้องอ่อนแอกว่าปกติ
            - ท้องผูก
            - ยกของหนักเป็นประจำ
            - ภาวะที่มีน้ำในช่องท้อง
            - ตั้งครรภ์
            - น้ำหนักตัวมากกว่าปกติ
            - ไอเรื้อรัง จามเรื้อรัง
         บางคนจะมี ตำแหน่งที่ผนังหน้าท้องไม่แข็งแรงตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากมีจุดที่ผนังหน้าท้องปิดไม่สนิท ตั้งแต่เล็กๆ และทำให้เกิดไส้เลื่อนตามมา เมื่ออายุมากขึ้น กล้ามเนื้ออ่อนแอลง หรือออกกำลังกายหนักไป ไอเรื้อรัง ในผู้ชาย เนื่องจากมีตำแหน่งที่ท่ออสุจิออกจากช่องท้องลงไปถึงอัณฑะ จึงเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดไส้เลื่อนที่ตำแหน่งนี้ได้ง่าย
    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดไส้เลื่อน

            - เพศชาย
            - มีประวัติในครอบครัว
            - ไอเรื้อรัง
            - ท้องผูกเรื้อรัง
            - อ้วน
            - ตั้งครรภ์
            - งานบางอย่างที่ต้องยืนมาก ยกของหนักมาก
            - ทารกที่คลอดก่อนกำหนด
    ภาวะแทรกซ้อนจากไส้เลื่อน

        - แรงกดทับบนเนื้อเยื่อรอบๆ ไส้เลื่อนขนาดใหญ่ อาจะทำให้มีอาการบวมอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆ ได้ ยิ่งในผู้ชายที่มีไส้เลื่อนลงไปในถุงอัณฑะ จะยิ่งมีอาการปวดบวมได้
        - ลำไส้ส่วนที่ออกมาอุดตัน บางครั้งผนังหน้าท้องส่วนที่ไส้เลื่อนออกมา ไปบีบรัดหรือกดทับลำไส้ ทำให้เกิดลำไส้อุดตัน จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องรุนแรงได้ ถือว่าเป็นภาวะทีต้องผ่าตัดด่วน
        - ลำไส้ขาดเลือด ถ้าเส้น เลือดที่ไปเลี้ยงลำไส้ส่วนที่ออกมาถูกกดทับ จะทำให้เกิดการขาดเลือด และเนื้อเยื่อลำไส้ส่วนนั้นตายได้ ภาวะนี้ก็ต้องรับการผ่าตัดด่วนเช่นกัน
    การรักษา

        ถ้าไส้เลื่อนมีขนาดเล็ก และไม่มีอาการใดๆ รบกวน ก็สามารถสังเกตอาการและติดตามไปก่อนได้ แต่ถ้ามีขนาดใหญ่ขึ้นหรือมีอาการปวดเจ็บ ควรจะรับการรักษาโดยการผ่าตัด
        การผ่าตัด โดยหลักการก็คือการเข้าไปดันไส้เลื่อนให้กลับเข้าไปในช่องท้อง และสร้างความแข็งแรงให้กับผนังหน้าท้อง โดยการเย็บเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ และอาจจะให้วัสดุสังเคราะห์ เย็บปิดไปบนตำแหน่งนั้นเพิ่มอีกขึ้น โดยใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ก่อนจะกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่
        แต่หากเป็นการผ่าตัดรักษาด้วยการส่องกล้องจะใช้เวลาพักฟื้นสั้นกว่า และแผลที่หน้าท้องก็จะเล็กกว่ามาก ทำให้ทดแทนการผ่าตัดแบบเดิมไป
    การป้องกันไส้เลื่อน

            - ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
            - ทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เพื่อป้องกันท้องผูก
            - เลี่ยงการยกของหนัก หรือยกด้วยท่าที่ถูกต้อง
            - หยุดสูบบุหรี่
            - การใส่อุปกรณ์หรือ support เพื่อช่วยเรื่องไส้เลื่อน อาจไม่ได้ผล ควรปรึกษาแพทย์ หรือใช้ระยะสั้นก่อนผ่าตัดเท่านั้น

ที่มา .... Dr.carebear

อัพเดทล่าสุด