โรคหัดในเด็ก โรคหัดกุหลาบ การรักษาโรคหัด
โรคหัด Measles
เป็นโรคติดต่อโรคหนึ่งมักเป็นกับเด็กเล็ก 9 เดือน- 6 ปี ติดต่อโดยทางหายใจ น้ำลายที่ออกจากปาก คอ มักจะระบาดตอนฤดูหนาวถึงฤดูร้อน ระยะติดต่อ 2-4 วันก่อนเกิดผื่น และหลังเกิดผื่นแล้ว 2-5 วัน
อาการ
- ระยะฟักตัว คือจะเกิดอาการหลังได้รับเชื้อ 8-12 วัน
อาการนำเริ่มต้นด้วยเด็กจะมีอาการงอแง กระสับกระส่าย ปวดตามตัว น้ำมูกไหล ตาจะแดงและแพ้แสง ไอแห้งๆ มีอาการไข้สูงปวดตามตัว ระยะที่เริ่มเป็น 2-3 วันแพทย์อาจตรวจพบผื่นแดงเล็กๆในปากเรียก Koplick'spot
- ระยะออกผื่น หลังมีไข้ 3-4 วันจะไอมากขึ้น มีผื่น โดยผื่นขึ้นหน้าผาก และลามไปที่หน้า คอ และลำตัว เมื่อผื่นขึ้นอาการปวดเมื่อจะดีขึ้น ไข้จะค่อยๆลง ผื่นจะใช้เวลา 3 วันลามจากหัวถึงขา ผื่นจะเริ่มจางที่ศีรษะก่อน ผื่นจะจางใน 7-10 วัน เหลือรอยดำๆ
โรคแทรกซ้อน
ระบบหายใจ อาจเกิดได้ตั้งแต่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ จนถึงปอดบวม
- ภาวะแทรกซ้อนทางหู อาจเกิดหูชั้นกลางอักเสบ
- ภาวะแทรกซ้อนทางตา จะมีเยื่อบุตาอักเสบ จนเป็นแผลที่แก้วตา corneal ulcer
- ภาวะแทรกซ้อนทางเดินอาหาร มีการอักเสบของลำไส้ทำให้ถ่ายเหลว
- ภาวะแทรกซ้อนระบบส่วนกลาง อาจพบสมองอักเสบ encephalitis เป้นภาวะที่รุนแรงที่สุด ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ และซึมลง
การรักษา
เนื่องจากโรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัสดังนั้นจึงไม่มียาที่รักษาโดยตรง ท่านต้องปรึกษาแพทย์ของท่านให้ทราบถึงวิธีดูแล และโรคแทรกซ้อนต่างๆ หลักการดูแลทั่วๆไป คือ
- ให้ตรวจวัดอุณหภูมิอย่างสม่ำเสมอให้ยาลดไข้ด้วย paracetamol หรือibuprofen ห้ามใช้ยา aspirin ในการลดไข้ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสเนื่องจากจะทำให้เกิด Reye's syndrome
- กระตุ้นให้เด็กดื่มน้ำมากๆ อาจเป็นน้ำเปล่า น้ำหวาน หรือน้ำผลไม้ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
- เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้ติดเชื้อได้ง่ายโดยเฉพาะที่หูและปอดควรให้ยาปฏิชีวนะทันที่เมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรีย
โรคจะหายเมื่อไร
โดยทั่วไปโรคจะหายใน10-14 วันนับจากตั้งแต่เริ่มมีอาการวันแรก และสามารถไปโรงเรียนหรือทำงานได้หลังจากไข้ลง หรือผื่นหายไปแล้ว 7 วัน
การป้องกัน
สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน MMR ตามตารางการฉีด หรือสามารถฉีดวัคซีนก่อนสัมผัสโรคหรือหลังสัมผัสโรคไม่เกิน 3 วันก็กันโรคได้
ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ ทารถ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งหรือวัณโรค กลุ่มคนเหล่านี้มีภูมิคุ้มกันต่ำหากสัมผัสโรคต้องให้ Gamma globulin
จะไปพบแพทย์เมื่อไร
- ถ้าเด็กไม่ได้ฉีดวัคซีน เป็นเด็กทารก เป็นวัณโรคหากสัมผัสโรคต้องรีบปรึกษาแพทย์
- เด็กที่เป็นโรคหัดมีอาการปวดหู หรือหายใจหอบ
โรคหัดกุหลาบ(ส่าไข้) (ROSEOLA INFANTUM)
อาการของโรคคือ มีไข้สูงเฉียบพลัน 39.4-41.2°C (103-106°F) โดยมากมักมีไข้นาน 3-4 วัน ช่วงที่มีไข้สูงเด็กอาจมีอาการชักจากภาวะไข้สูง บางรายอาจมีกระหม่อมศีรษะโป่งตึงกว่าปกติ ทำให้หมอต้องวินิจฉัยแยกโรคจากเยื่อหุ้มสมองหรือโรคไข้สมองอักเสบ แต่โดยทั่วไปมักพบว่าเด็กไม่มีอาการนอนซึม สามารถลุกขึ้นมาเล่นได้ทั้งๆที่มีไข้สูง และหากมีการเจาะน้ำไขสันหลังตรวจ จะพบว่าผลเป็นปกติ หรืออาจมีเซลเม็ดเลือดขาวเล็กน้อย อาการอื่นที่อาจพบเช่นน้ำมูกเล็กน้อย เจ็บคอ ทานได้น้อย ถ่ายเหลว หนังตาบวม ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ตรวจร่างกายอาจพบ คอแดงและเยื่อแก้วหูแดงเล็กน้อย
วันที่ไข้ลงจะเริ่มมีผื่นแดงลักษณะเรียบหรือนูนเล็กน้อย ขนาดประมาณ 1-5 มม.ขึ้นที่ลำตัวแล้วจึงลามไปที่คอ และ อาจมีลามไปที่หน้าและขาได้เล็กน้อย ในวันต่อมาผื่นจะดูมากขึ้น ผื่นมักไม่คัน เด็กมักเริ่มทานอาหารได้มากขึ้นในวันที่ 3 ของผื่นและผื่นจะจางหายไปภายในเวลา 3-4 วัน มักไม่มีผิวหนังลอกหรือรอยคล้ำตามมา ช่วงที่มีผื่นขึ้นคนสมัยก่อนอาจเรียกว่าส่าไข้
การวินิจฉัย หมอวินิจฉัยโรคจากอาการและอาการแสดงเป็นหลัก เนื่องจากการวินิจฉัยที่แน่นอนทำโดยการตรวจพบเชื้อไวรัสในเลือดหรือน้ำลาย หรือการตรวจระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นจากเลือดยังไม่มีที่ใช้โดยทั่วไป เป็นเพียงการวิจัยเท่านั้น หากมีการตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดพบว่าจำนวนเม็ดเลือดขาวอยู่ในเกณฑ์ปกติเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป
ภาวะแทรกซ้อน พบได้น้อยมากๆมักเป็นเฉพาะผู้มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้แก่ อาการปอดอักเสบ ตับอักเสบ สมองอักเสบ หรือความผิดปกติของระบบเลือดเช่น จำนวนเม็ดเลือดและจำนวนเกล็ดเลือดต่ำลง ควรพาพบแพทย์ หากลูกมีการชักจากไข้สูง ซึมลง ทานอาหารหรือนมได้น้อย มีอาการของภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น
การรักษา เนื่องจากเป็นโรคที่หายได้เอง เพียงแต่ให้การรักษาตามอาการเช่น ยาลดไข้ ยากันชัก (ในรายที่มีความเสี่ยงภาวะชักจากไข้สูง) การดูแลรักษาประคับประคองภาวะท้องเสีย ไม่ให้ขาดสารน้ำและพลังงาน ไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัส ยกเว้นรายที่มีอาการรุนแรงจากภาวะแทรกซ้อน
การป้องกัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำลายของผู้เป็นโรคทั้งทางตรงและทางอ้อม (โดยจับสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสติดอยู่ แล้วเอามือเข้าปาก)
ข้อมูล : thaibreastfeeding.org