วิธีรับประทานน้ำมันปลา น้ำมันปลามีประโยชน์อย่างไร น้ำมันปลาน่ารู้


15,572 ผู้ชม


วิธีรับประทานน้ำมันปลา น้ำมันปลามีประโยชน์อย่างไร น้ำมันปลาน่ารู้

น้ำมันปลา : Fish Oil น้ำมันปลาน่ารู้

ความมหัศจรรย์ของน้ำมันปลา

         ปัจจุบันนี้ วงการแพทย์หันมาสนใจถึงความมหัศจรรย์ของน้ำมันปลามากขึ้น หลังจากที่พบว่าชาวเอสกิโมกรีนแลนด์และชาวญี่ปุ่น มีอัตราการตายจากโรคหัวใจขาดเลือดต่ำกว่าชนชาติอื่นๆ เพราะรับประทานเนื้อปลาทะเลเป็นอาหารหลัก

สารประกอบสำคัญของน้ำมันปลา
         น้ำมันปลา เป็นสารประกอบของกรดไขมัน ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ ซึ่งอยู่ในกลุ่มของโอเมก้า-3 มี 2 ชนิด ได้แก่
1. EPA (Eicosapentaenoic Acid)
         มีคุณสมบัติในการลดไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด พร้อมทั้งป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด และยังป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคสมองขาดเลือด และโรคที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

2. DHA (Docosahexaenoic Acid)
         เป็นส่วนประกอบสำคัญของสมองและดวงตา ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง การเรียนรู้ ความจำ ตลอดจนระบบสายตา ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

น้ำมันปลา มีผลดีต่อสุขภาพอย่างไร

ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดและสมองขาดเลือดชั่วคราว
          การรับประทานน้ำมันปลา จะช่วยยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือดและช่วยลดไขมันในเลือด จึงป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจและสมอง โดยมีผลการวิจัยทางการแพทย์พบว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจที่รับประทานน้ำมันปลาวันละ 3 กรัม ร่วมกับวิตามินอีธรรมชาติ 200-400 ยูนิต สามารถลดอัตราการตายเนื่องจากหัวใจล้มเหลวลง 15% เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้รับประทานน้ำมันปลา
ป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน
         กรดไขมันไม่อิ่มตัวในน้ำมันปลา เป็นสารตั้งต้นของสารกลุ่มไอโคซานอยด์ (Eicosanoids) อันได้แก่ พรอสตาแกลนดิน-3 (Prostaglandins-3) และทรอมบอกแซน-3 (Thromboxan-3) ซึ่งสารกลุ่มนี้จะยับยั้ง การเกาะตัวของเกล็ดเลือด จึงช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด และช่วยให้หลอดเลือดขยายตัวทำให้การไหลเวียนของเลือดในร่างกายดีขึ้น
ช่วยลดไขมันในเลือด กรดไขมันกลุ่มโอเมก้า-3 จะช่วยยับยั้งการสร้างไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglycerides) และไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำมาก (VLDL) นอกจากนี้ยังเพิ่ม HDL ซึ่งเป็นไลโปโปรตีนที่นำโคเรสเตอรอลไปทำลายที่ตับ จึงช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
ลดความดันโลหิตสูง
การรับประทานน้ำมันปลาช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว และป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น จึงมีผลให้ความดันเลือดลดลง
ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อรูมาตอยด์และข้อเสื่อม กรดไขมันในน้ำมันปลา ช่วยลดการสร้างสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ (สารกลุ่มลิวโคไตรลิน) ช่วยบรรเทาอาการปวด บวม อักเสบตามข้อและยังช่วยลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวดข้อ (NSAID) ลงได้

ข้อควรทราบของน้ำมันปลา
- กรดไขมัน EPA และ DHA ในปลาน้ำจืดมีน้อยกว่าปลาทะเล
- การกินปลาทะเล 200-300 กรัมต่อวัน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะสามารถเพิ่มกรดไขมันโอเมก้า-3 ในอาหารได้ถึง 0.2 - 0.5 กรัมต่อวัน
- น้ำมันปลาต่างจากน้ำมันตับปลา
- น้ำมันปลา 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี่
น้ำมันปลา เหมาะสำหรับ

-ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ ซึ่งได้แก่
     - ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
     - ผู้ที่สูบบุหรี่จัด
     - ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารประเภทที่มีไขมันสูง
     - ผู้ที่ทำงานนั่งโต๊ะประจำ และขาดการออกกำลังกาย
- ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะไตรกลีเซอร์ไรด์
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือ โรคหลอดเลือดอุดตัน
- ผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูง

ข้อมูล : www.gotoknow.org

อัพเดทล่าสุด