ท่าออกกำลังกายผู้ป่วยผ่าตัดข้อเข่า ท่าออกกำลังกายอยู่กับที่


1,392 ผู้ชม


ท่าออกกำลังกายผู้ป่วยผ่าตัดข้อเข่า ท่าออกกำลังกายอยู่กับที่

การฟื้นฟูสมรรถภาพและการบริหารข้อเข่า หลังผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่า

          การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมได้ผลดีขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากวงการแพทย์มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการเปลี่ยนข้อเข่าอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การฟื้นฟูสมรรถภาพและการบริหารข้อเข่า ทีมแพทย์ให้การรักษาจะให้คำแนะนำในการปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ระยะเวลารักษาภายในโรงพยาบาลสั้นที่สุด และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสภาพปกติอย่างเร็วที่สุด

         ผู้ป่วยควรฝึกบริหารกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าอย่างสม่ำเสมอและฝึกการงอเหยียดข้อเข่าอย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไปการเหยียดข้อเข่ามีการเปลี่ยนแปลงได้มากใน 6 สัปดาห์แรกหลังจากการผ่าตัด ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นเวลาที่ควรฝึกบริหารอย่างต็มที่ และควรงอเข่าได้อย่างน้อย 100 องศา ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทุกคนจะรู้สึกขาตึง และปวดข้อเข่า ขณะพยายามงอข้อเข่าใน 2-3 วันแรก แต่เมื่อปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอแล้วอาการปวดและตึง จะลดลงจนหายไป

 ท่าบริหารข้อเข่า

1. กระดกข้อเท้าขึ้น

   - ลง นอนหงายกระดกข้อเท้าขึ้น ค้างไว้ 3 วินาที แล้วกระดกข้อเท้าลง 3 วินาที ทำซ้ำได้จนรู้สึกกล้ามเนื้อล้า การบริหารท่านี้ช่วยทำให้การไหลเวียนเลือดของขาดีขึ้น และทำให้กล้ามเนื้อขามีความยืดหยุ่นมากขึ้น
2. การบริหารกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า

   2.1 นอนเหยียดขา ใช้ผ้ารองใต้ข้อเท้า ไม่ให้ส้นเท้าสัมผัสกับเตียง พยายามเกร็งกล้ามเนื้อกดข้อพับเข่าให้สัมผัสกับเตียงเกร็งขาค้างไว้ 5 – 10 วินาที พัก 1 นาที แล้วเริ่มทำซ้ำใหม่ จนรู้สึกกล้ามเนื้อล้า ถึงค่อยหยุด
   2.2 นอนราบบนเตียง ใช้หมอนหรือผ้าหนุนใต้ข้อพับข้างที่ผ่าตัดให้เข่างอ 30 – 45 องศา แล้วพยายามเหยียดเข่าให้ตรง
   2.3 นอนเหยียดขา วางมือข้างลำตัว เกร็งกล้ามเนื้อต้นขา ให้ยกขาขึ้นสูงจากพื้น 6 นิ้ว แล้วค่อยๆวางขาช้าๆ ทำซ้ำประมาณ 5 – 10 ครั้ง
3. การบริหารพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเข่า 

   ความสามารถในการเคลื่อนไหวของข้อเข่า มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ถ้าข้อเข่าสามารถงอได้ 90 องศา ผู้ป่วยจะสามารถประกอบกิจวัตรประจำวัน โดยส่วนใหญ่ได้ เช่น การเดินปกติ การขึ้นลงบันได การลุกจากเก้าอี้ เป็นต้น
   3.1 นอนงอเข่า นอนราบบนเตียง ค่อยๆเลื่อนข้อเท้าข้างที่ผ่าตัดเข้าหาตัวให้มากที่สุดเท่าที่จำทำได้ งอข้างไว้ 5 – 10 วินาที แล้วค่อยๆ เหยียด ทำซ้ำๆ จนรู้สึกกล้ามเนื้อล้า
   3.2 นั่งงอเข่า นั่งบนเตียง หรือ เก้าอี้ วางขาข้างที่ไม่ได้ทำผ่าตัดทับขาข้างที่ผ่าตัด ใช้แรงกดให้ขาข้างที่ทำผ่าตัด งอเข่าให้ได้มากที่สุด แล้วผ่อนออก ทำซ้ำๆจนรู้สึกกล้ามเนื้อล้า แล้วให้หยุดพัก
4 การเดิน
   ผู้ป่วยสามารถเดินลงน้ำหนักได้เต็มที่หลังผ่าตัด โดยใช้อุปกรณ์พยุงเดิน ( walker) ในระยะ 2 – 4 สัปดาห์แรก จากนั้นถ้าผู้ป่วยมีกล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงขึ้น ก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ไม้เท้า ( cane ) โดยใช้มือข้างตรงข้ามกับเข่าที่รับการผ่าตัด ประมาณ 2 – 3 เดือน ผู้ป่วยจะเดินได้ใกล้เคียงปกติ
5 การฝึกขึ้นลงบันได

ให้ก้าวขึ้นลงบันได ทีละขั้น ใช้ไม้เท้าด้านตรงข้ามกับเข่าที่ได้รับการผ่าตัด
   - การขึ้นบันได ให้ก้าวขาข้างที่ไม่ผ่าตัดขึ้นก่อน แล้วตามด้วยขาข้างที่ผ่า จากนั้นจึงยกไม้เท้าตามมา
   - การลงบันได เริ่มจากใช้ไม้เท้าลงก่อน ตามด้วยขาข้างที่ผ่าแล้วจึงก้าวข้างที่ไม่ได้ผ่าตาม
** การขึ้นลงบันได ควรทำเมื่อเดินบนพื้นราบได้คล่อง ในระยะแรกต้องมีผู้ดูแลและต้องระวังอุบัติเหตุ

ข้อมูล : phyathai.com

อัพเดทล่าสุด