ปวดท้องน้อยตรงกลาง ปวดท้องน้อยข้างขวา ปวดท้องน้อยหน่วงๆ


1,368 ผู้ชม


ปวดท้องน้อยตรงกลาง ปวดท้องน้อยข้างขวา ปวดท้องน้อยหน่วงๆ

ปวดท้องน้อยในสตรี อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม (Pelvic Pain)

ในชีวิตของผู้หญิงหลายๆ คน จะต้องมีอาการปวดท้องน้อย หรือปวดในอุ้งเชิงกรานบ้าง บางทีปวดน้อย บางทีปวดมาก บางทีปวดนานๆ ครั้ง  บางทีก็ปวดบ่อย บางทีก็ปวดก่อน ขณะมีหรือหลังมีประจำเดือน ฯลฯ ภายในอุ้งเชิงกรานก็มีอวัยวะไม่กี่อย่าง คือ อวัยวะสืบพันธ์  (ได้แก่  ช่องคลอด มดลูก รังไข่ และท่อรังไข่) ทางเดินปัสสาวะ (กระเพาะปัสสาวะ และท่อไต) ลำไส้ใหญ่ สำไส้เล็ก กล้ามเนื้อ หลอดเลือด การที่จะหาสาเหตุของอาการปวด บางทีก็เป็นเรื่องยุ่งยากในการค้นหา และบางอย่างก็เป็นอันตรายได้  โดยเฉพาะถ้าปวดจนทำให้รู้สึกว่า มันทำให้ชีวิตประจำวันธรรมดาของเราเสียไป หรือมากจนสุดทนในบางคราว

ถ้าเป็นดังกล่าว สิ่งที่คุณผู้หญิงคงอยากทราบว่า อะไรที่ทำให้ปวดท้องน้อยได้บ้าง จะรู้ได้อย่างไรว่าเกิดจากอะไร และ แล้วจะรักษาอย่างไร

ลักษณะของการปวดท้องน้อย

อาการปวดจะแตกต่างกันไป จากสาเหตุที่แตกต่างกัน อาการปวดอาจเป็นพักๆ หรือตลอดเวลา อาจเกี่ยวข้องกับระยะของประจำเดือน การถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ หลังจากรับประทานอาการ หรือระหว่าง  หรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์ บางทีก็ร้าวไปที่อวัยวะอื่น ซึ่งมักเป็นหลัง ก้นกบ ต้นขา เป็นต้น อาการปวดดังกล่าว อาจรบกวนการทำงาน การเคลื่อนไหว การนอน การมีเพศสัมพันธ์ และบางครั้งก็ปวดจนสุดที่จะทนได้  ถ้าเกิดขึ้นนานๆ ก็ทำให้เกิดความเครียด ร่างกายและจิตใจผิดปกติไป 

ถ้าคุณสามารถอธิบายลักษณะการปวดได้ ว่า เป็นๆ หายๆ หรือตลอดเวลา ปวดตื้อๆ หรือแปลบๆ ปวดร้าวไปที่ไหน และเมื่อไรที่ คุณจะรู้สึกว่ามันปวดมากขึ้น เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ ให้แพทย์ช่วยวินิจฉัยได้ง่ายขึ้น

สาเหตุของการปวดท้องน้อย

การปวดท้องน้อย อาจเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน อาจเป็นลักษณะทันทีทันใด หรือเป็นเรื้อรังนานๆ ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ต่างกัน เมื่อจะไปหาแพทย์ แพทย์มักจะถามหลายคำถามเกี่ยวกับลักษณะการปวด และการรบกวนผิดปกติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน  ขณะที่มีอาการปวด การปวดท้องน้อยแบ่งออกเป็น  2  ลักษณะ  คือ 

1. การปวดท้องน้อยอย่างทันทีทันใด (Acute Pelvic Pain)

การปวดท้องน้อยทันทีทันใด มักเกิดจากสาเหตุอย่างหนึ่งอย่างเดียว เช่น การอักเสบ มดลูกอักเสบ เนื้องอกของรังไข่ หรือ ท้องนอกมดลูก

การอักเสบ ได้แก่ มดลูกอักเสบ ปีกมดลูกอักเสบ การอักเสบของทางเดินปัสสาวะ ลำไส้ หรือ ไส้ติ่งอักเสบ

มดลูกอักเสบ (Pelvic in flammatory disease) โดยทั่วไป หมายถึง มีการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ อาจมีอาการปัสสาวะลำบาก  ปัสสาวะบ่อย มีอาการปวดหลังร่วมด้วย

เนื้องอกรังไข่ อาจมีลักษณะเป็นเนื้องอกตันหรือถุงน้ำ (Cyst) อาการปวดอาจมีลักษณะปวดตื้อๆ ถ่วงๆ ท้องน้อย  จะมีอาการปวดแบบทันทีทันใด  ถ้าถุง Cyst มีการรั่ว ทำให้น้ำหรือเลือดออกมาในช่องท้อง หรือมีการบิดตัวที่ขั้ว Cyst

ท้องนอกมดลูก คือ  การตั้งครรภ์ที่ตัวอ่อนไปเกาะ เจริญที่อื่นนอกตัวมดลูก มักเกิดขึ้นที่ท่อนำไข่ คือ หลังจากปฏิสนธิตัวอ่อน ซึ่งควรจะเคลื่อนเข้ามาในมดลูก แต่มาไม่ได้  อาจจะเกิดจากมีพังผืดในท่อนำไข่ เมื่อเจริญมากขึ้นก็ดันท่อนำไข่โป่งและแตก มีเลือดไหลออกมาในช่องท้อง ทำให้ปวดและมีอาการเสียเลือด  อาจมีอาการช็อกและเสียชีวิตได้

2. การปวดท้องน้อยเรื้อรัง

อาจมีสาเหตุเดียวหรือเกิดจากหลายๆ สาเหตุร่วมกัน อาการเริ่มแรกมักปวดเป็นๆ หายๆ แล้วต่อมาปวดตลอดเวลา หรือ บางรายปวดร่วมกับการมีรอบประจำเดือน  ตัวอย่างเช่น  ปวดประจำเดือน สาเหตุจากโรคอวัยวะอื่นๆ เนื้องอกมดลูก และเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่

ปวดประจำเดือน  เมื่อสตรีมีประจำเดือนไม่ควรจะปวด หรือปวดเพียงเล็กน้อยพอรู้สึก ถ้าปวดมากมักจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น อาจเกิดจากการมีสารเคมีบางอย่าง ที่ทำให้มดลูกบีบตัวมากเกินไป (Prostaglandin) หรือจากมีเนื้องอกมดลูก หรือจากโรคเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่  ถ้าปวดช่วงกลางๆ รอบเดือน (คือ ประมาณวันที่ 14 - 15 ของรอบเดือน) บางครางมีเลือดออกด้วยน้อยๆ อาจเกิดจากการตกไข่  เชื่อว่า น้ำจากถุงรังไข่ขณะตกไข่ ไหลออกมาระคายเคืองเยื่อบุช่องท้อง ที่อาจมีความผิดปกติบางอย่าง ซึ่งอาจจะมีอาการน้อยๆ หรือปวดมากก็ได้

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่ หมายความว่า การที่มีเยื่อบุโพรงมดลูก ที่มีหน้าที่เลี้ยงตัวอ่อนเวลาเริ่มตั้งครรภ์  หรือเมื่อหลอดเลือดออกมา พร้อมกับเลือดจากโพรงมดลูก เวลามีประจำเดือนนั้น ไปขึ้นอยู่นอกโพรงมดลูก  ซึ่งอาจจะเป็นว่าขึ้นอยู่ภายในเนื้อมดลูก หรือขึ้นอยู่ภายนอกมดลูกในอุ้งเชิงกราน ซึ่งโรคนี้จะทำให้มีอาการปวดประจำเดือน  โดยเฉพาะในวันแรกๆ ของประจำเดือน หรือวันก่อนมีประจำเดือนมา แล้วมักจะปวดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ 

สำหรับคนที่มีคู่แล้ว  อาจมีปัญหาว่าเจ็บในท้องน้อย เวลามีเพศสัมพันธ์หรือมีบุตรยาก  ทั้งนี้เพราะการที่เยื่อบุโพรงมดลูกไปขึ้นผิดที่ ทำให้มีปฏิกิริยาของร่างกายบริเวณนั้น ต่อต้านเหมือนมีการอักเสบ เมื่อนานๆ เข้า ก็เกิดเป็นพังผืดเกิดขึ้น  และการที่เลือดออกเหมือนประจำเดือน ก็ทำให้เลือดขังอยู่ โดยเฉพาะในเนื้อมดลูกและรังไข่ ทำให้เกิดเป็นถุง Cyst ขึ้นและทำให้ปวด  บางครั้งเลือดที่ขังอยู่ใน Cyst รั่วหรือแตกออกมา ระคายเคืองเนื้อเยื่อช่องท้อง ก็ทำให้มีอาการปวดรุนแรงฉับพลันได้  ส่วนที่ขึ้นอยู่ในเนื้อมดลูก ทำให้ตัวมดลูกโตขึ้น ทำให้เลือดประจำเดือนมามากขึ้น เหมือนอาการของเนื้องอกมดลูกได้

เนื้องอกมดลูก หมายถึง กล้ามเนื้อของมดลูกกลายเป็นเนื้องอก คือ แบ่งตัวเจริญเร็วกว่าธรรมดาไม่หยุดนิ่ง แต่ไม่ใช่มะเร็ง  เพราะไม่ลุกลามไปที่อื่น แต่มดลูกที่โตจะไปเบียดบังอวัยวะอื่น ทำให้ปวด หรือเนื้อดีของมดลูกพยายามบีบตัว ไล่ก้อนเนื้องอกเวลามีประจำเดือน เพราะคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงทำให้มีอาการปวดขึ้นได้

สาเหตุจากโรคอวัยวะอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอวัยวะสืบพันธ์ ก็ทำให้มีอาการปวดท้องน้อยได้ เช่น กล้ามเนื้อหน้าท้อง หลัง กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานอักเสบ ลำไส้อักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือที่ท่อไต หรือแม้กระทั่งภาวะทางจิตใจหรือภาวะเครียด
การวินิจฉัยโรคปวดท้องน้อย
เนื่องจากสาเหตุของการปวดท้องน้อยมีหลายอย่าง เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจจะต้องใช้เวลาในการหาสาเหตุที่ถูกต้อง เริ่มต้นด้วยการซักถามประวัติ เกี่ยวกับการปวดการมีประจำเดือน การมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย รวมทั้งความเป็นอยู่ สภาพจิตใจ และการตรวจร่างกาย รวมทั้งการตรวจภายใน อาจต้องปรึกษาแพทย์ต่างแผนกบ้าง แล้วแต่ว่านึกถึงโรคอื่นใด  นอกเหนือจากโรคทางสตรี  อาจต้องมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม นอกเหนือจากการตรวจภายใน และการตรวจร่างกาย แล้วแต่ว่าอาการและการตรวจของแพทย์สงสัยโรคอะไร  เพื่อความมั่นใจในการวินิจฉัย  เช่น

  • การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง  (Ultrasound) ซึ่งจะทำให้เห็นลักษณะของมดลูกและปีกมดลูกได้ดี
  • การส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ
  • การตรวจทวารหนักและส่องตรวจสำไส้ใหญ่
  • การส่องตรวจทางหน้าท้องดูในอุ้งเชิงกราน 
  • การทำเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์หรือเอ็มอาร์ไอ
  • การฉีดสีดูระบบทางเดินปัสสาวะ 
  • การกลืนแป้งหรือสวนแป้งเอกซ์เรย์ดูทางเดินอาหาร

การซักประวัติ  :  ให้บอกแพทย์ให้ละเอียดว่าลักษณะการปวดเป็นอย่างไร

  • เป็นมากเวลาไหน
  • ปวดประจำเดือนหรือไม่
  • เกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ
  • การถ่ายอุจจาระ 
  • การมีเพศสัมพันธ์
  • ท่าทางการเดินนั่งในชีวิตประจำวัน 
  • การออกกำลังกาย
  • การหลับนอนกลางคืน 

เล่าให้แพทย์ฟังถึงลักษณะการปวด

  • ปวดจี๊ดๆ  หรือ ตื้อๆ 
  • ปวดเป็นพักๆ หรือปวดตลอดเวลา 
  • ระยะเวลาที่ปวดมาก
  • ความรุนแรง 
  • ตำแหน่งที่ปวดอยู่ที่เดียว  หรือเปลี่ยนตำแหน่ง
  • อะไรทำให้ดีขึ้น  หรือ เลวลง  
 
ปวดท้องน้อยในสตรี - การรักษา

เมื่อทราบสาเหตุแล้ว  แพทย์จะแนะนำหรือรักษา โดยทางเลือกต่างๆ ที่จะทำให้การปวดหาย หรือดีขึ้น หรือไม่เลวลง คือ

  1. โดยการใช้ยารักษา  เช่น  ยาปฏิชีวนะ ถ้ามีการอักเสบติดเชื้อ เช่น มดลูกอักเสบ ยาลดการอักเสบ ถ้ามีการอักเสบที่ไม่ติดเชื้อ เช่น เยื่อบุมดลูกเจริญขึ้นผิดที่ หรือบางทีอาจทำให้ยาฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิด เพื่อลดอาการปวดประจำเดือน ส่วนใหญ่การให้ยาในโรคเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ หรือเนื้องอกมดลูก มักเป็นการรักษาแบบชั่วคราว เมื่องดยาอาการก็เกิดขึ้นอีก 
  2. การผ่าตัด  โรคบางอย่างต้องรักษาโดยการผ่าตัด เช่น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ในอุ้งเชิงกราน การผ่าตัดโดยวิธีการส่องกล้องผ่านช่องท้อง จะทำให้รู้สาเหตุ และรักษาสาเหตุไปในคราวเดียวกันได้บางอย่าง เช่น เนื้องอกมดลูก หรือ มีถุงน้ำรังไข่ (Cyst)  ก็ทำการผ่าตัดวิธีใดวิธีหนึ่งได้ โดยทราบวินิจฉัยก่อนผ่าตัดได้ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้อธิบายให้ฟัง ก่อนการผ่าตัดถึงความจำเป็น ผลดีและโรคแทรกซ้อน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคอะไร 
  3. การรักษาวิธีอื่นๆ เช่น การให้กายภาพบำบัด การให้าคลายการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ การฉีดยาชาเฉพาะที่ รวมทั้งการสอนให้มีการออกกำลังกาย การฝึกท่าทางการเดินการนั่ง ฯลฯ

 สรุป 

การปวดท้องน้อย มีทั้งชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง ส่วนใหญ่เกิดจากอวัยวะสืบพันธุ์ แต่ก็เกิดจากอวัยวะอื่นใกล้เคียง อาจจำเป็นต้องรักษาแบบฉุกเฉิน ซึ่งอาจจะเป็นโดยยาหรือผ่าตัด หรือแพทย์ทางเลือก แล้วแต่สถานการณ์ และสาเหตุ ซึ่งแพทย์ที่ชำนาญจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำได้

แหล่งข้อมูล : โรงพยาบาลวิภาวดี - www.vibhavadi.com

อัพเดทล่าสุด