พิมพ์ขนมลูกชุบ รูปดอกไม้ เครื่องพิมพ์ขนมลูกชุบ


3,902 ผู้ชม


พิมพ์ขนมลูกชุบ รูปดอกไม้ เครื่องพิมพ์ขนมลูกชุบ

เครื่องพิมพ์ลูกชุบ" ผลงาน นักคิดอิสระ ใจรักขนมไทย

"ลูกชุบ" ขนมไทยโบราณ ที่มีส่วนผสมทำจากถั่วเขียวนึ่งบด น้ำตาล กะทิสด รสชาติอร่อยเป็นที่นิยมกว้างขวาง แต่ผู้ผลิตอาจทำออกมาขายได้ครั้งละไม่มากนัก ด้วยเพราะการทำลูกชุบนั้น ต้องใช้ฝีมือในการปั้นให้ออกมาเป็นรูปต่างๆ อาทิ มะม่วง มะยม ชมพู่ ฟักทอง พริก ชมพู่ เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า กว่าจะปั้นขนมลูกชุบออกมาได้ซักหนึ่งลูกนั้น ต้องใช้เวลานานพอสมควร และหากลองคำนวณกันดูเล่นๆ อาจพบว่า คนที่มีความชำนาญแล้วและใช้เวลาในการปั้นประมาณ 8 ชั่วโมง จะสามารถปั้นขนมลูกชุบออกมาได้แค่เพียง 200-300 ลูก ทำให้การ "ทำออกขาย" เป็นจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องยากยิ่ง ส่งผลให้การค้าขายขนมลูกชุบที่ผ่านมา จึงอยู่ในวงจำกัดเพียงอาชีพเสริมในครัวเรือนเท่านั้น
  ในเมื่อ "ลูกชุบ" เป็นขนมที่ถูกปากผู้บริโภค แต่การจะทำออกจำหน่ายให้ทันกับความต้องการนั้น ยังเป็นปัญหาของผู้ผลิต ด้วยสาเหตุนี้เองที่เป็นตัวกระตุ้นสำคัญทำให้ชายผู้หนึ่งขวนขวายหาความรู้จากทุกแหล่ง ลองผิดลองถูกมาสารพัด นานนับหลายปี กระทั่งสามารถผลิตเครื่องมือชนิดหนึ่ง ซึ่งเขาเรียกขานว่า "เครื่องพิมพ์ขนมลูกชุบ" ออกมารับใช้ สร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำมานานแล้ว
  เรื่องราวความเป็นมาของ "เครื่องพิมพ์ขนมลูกชุบ" ผลงานนักคิดอิสระ วัยห้าสิบปีเศษ นามว่า "เชษฐ์ ธนะสังข์" มีความน่าสนใจไม่น้อย "เส้นทางเศรษฐี" คัดสรรมาฝากเหมือนเคย
"ความลำบาก" ตัวเดียว
จุดผลักดันให้คิดสร้างสรรค์
  "ครอบครัวผมมีพี่น้องเยอะ พี่สาวจึงอยากประกอบอาชีพอะไรซักอย่างเพื่อหาเลี้ยงน้อง และพอดีช่วงนั้นได้ยินมาว่าคนที่จังหวัดฉะเชิงเทราทำขนมลูกชุบขายจนร่ำรวย ก็อยากเป็นแบบเค้าบ้าง จึงเริ่มทำลูกชุบออกขาย ซึ่งใช้มือปั้นเหมือนทั่วไป แต่ลำบากมาก กว่าจะได้เงินแต่ละบาท" คุณเชษฐ์ ย้อนอดีตกลับไปเมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้ว ก่อนจะเล่าต่อว่า ลูกชุบฝีมือของพี่สาวเขานั้น รสชาติดีจึงทำให้ขายดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ มีร้านดังๆ อย่าง "ร้านเก้าพี่น้อง" มารับไปขายที่ตลาด อ.ต.ก.ย่านจตุจักร ทำให้เขาเกิดความคิดในใจว่าน่าจะมีเครื่องมืออะไรซักอย่าง ที่เป็นเครื่องทุ่นแรง สามารถทำให้ผลิตลูกชุบได้มากขึ้น เร็วขึ้น และประณีตขึ้นด้วย
  คุณเชษฐ์ เล่าอีกว่า ช่วงนั้นคิดอยู่อย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรให้พี่สาวมีเครื่องทุ่นแรง เพราะเห็นพี่ลำบาก ทั้งๆ ที่ลูกชุบขายดี แต่ว่ายอดไม่กระเตื้อง ทำยังไงคงได้แค่สามถึงสี่ร้อยลูกต่อวัน หากอยากทำได้เป็นพันลูกก็ต้องมาช่วยกันหลายคน ซึ่งสิ้นเปลืองแรงงานมาก
  "ผมไม่ได้เรียนจบอะไรมาทั้งนั้น แต่เป็นเพราะความลำบากตัวเดียว ที่ทำให้ดิ้นรนขวนขวายประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ขนมลูกชุบออกมา ตอนนั้นไม่รู้จักไฟเบอร์ซะด้วยซ้ำ แต่เกิดโจทย์ในใจว่า มีอะไรแข็งๆ มั้ยที่จะนำมาเป็นแม่พิมพ์ได้ เริ่มแรกใช้เทียนแกะสลัก แต่ทำได้แค่หน้าเดียว
จึงหันมาใช้ยางพารา ซึ่งใช้ไปได้แค่สามถึงหกเดือน ยางจะคืนตัวไม่ได้รูป เลยลองไปใช้เรซิ่น
แต่มีปัญหาเนื้อถั่วติดกับแม่พิมพ์ กระทั่งมาลงตัวที่ซิลิโคน ซึ่งขึ้นรูปได้สวย ทนทาน ไม่เป็นพิษกับอาหาร" คุณเชษฐ์ บอกถึงการลองผิดลองถูก ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี
  เจ้าของความคิด "เครื่องพิมพ์ลูกชุบ" ขยายความให้ฟังเกี่ยวกับกลไกการทำงานของเครื่องมือสร้างรายได้ให้ไม่น้อยชิ้นนี้ว่า หลักการของเครื่องพิมพ์ลูกชุบนี้ คือ "พิมพ์สองพิมพ์ประกบแล้วมีลิ่ม" คล้ายกับหลักการของเครื่องปั๊มกระดุม แต่เครื่องปั๊มกระดุมไม่มีลิ่ม ซึ่งลิ่มของเครื่องพิมพ์นี้ จะเป็นตัวสร้างแรงดันทำให้เนื้อถั่วเกิดเป็นรูปขึ้นมา ซึ่งนับได้ว่าเป็นหลักการใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้จึงได้ไปยื่นจดอนุสิทธิบัตรไว้กับทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้แล้ว
  "พอคิดเครื่องพิมพ์นี้ออกมาได้ พี่สาวผมก็ดีใจ น้องๆ หลานๆ เลยมาเอาอุปกรณ์ไปทำขนมลูกชุบขาย เลี้ยงครอบครัวกันได้สบาย เพราะเครื่องพิมพ์ลูกชุบด้วยมือนี้ทำคนเดียวใช้เวลา 8 ชั่วโมง สามารถผลิตลูกชุบออกมาได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ลูก ยิ่งถ้าเป็นเครื่องพิมพ์กึ่งอัตโนมัติซึ่งผมนำหลักการของจังหวะขึ้นลงของมอเตอร์ไฟฟ้าสำเร็จรูปมารวมกันนั้น จะผลิตลูกชุบออกมาได้เป็นสองเท่าของเครื่องพิมพ์มือ" คุณเชษฐ์ บอกด้วยสีหน้าภาคภูมิใจ
ขายสูตรพร้อมเครื่องพิมพ์
ผลิตงานได้ไม่จำกัดรูปแบบ
  หลังจากที่มี "เครื่องพิมพ์ลูกชุบ" ที่ช่วยทุ่นแรงได้เป็นอย่างดีแล้ว กิจการขาย "ลูกชุบ" ของครอบครัวคุณเชษฐ์ จึงสามารถผลิตสินค้าออกมาได้เป็นจำนวนมาก สมความตั้งใจ ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน บรรดาพ่อค้าแม่ขาย ที่เคยแต่รับซื้อไปขายต่อ จึงมาสอบถามว่า สนใจจะขายสูตรการทำลูกชุบให้หรือไม่ ทางครอบครัวของคุณเชษฐ์ จึงปรึกษาหารือกัน ก่อนได้ข้อสรุปว่า ยินดีขายสูตรทำลูกชุบให้ พร้อมอุปกรณ์ "เครื่องพิมพ์ลูกชุบ" ในราคา 8,000 บาท
  "ผมขายสูตรทำขนมลูกชุบที่ขายมานานกว่า 20 ปี พร้อมอุปกรณ์เครื่องพิมพ์มือ จำนวน 15 แบบ ในราคา 8 พันบาท ที่ผ่านมาขายไปแล้วไม่น้อยกว่า 100 ราย ส่วนสูตรพร้อมเครื่องพิมพ์ไฟฟ้า นั้นขายที่ราคา 4 หมื่นบาท ซึ่งเครื่องนี้ขายไปแล้ว 15 เครื่อง สำหรับแม่พิมพ์ของขนมลูกชุบนั้น หากลูกค้าต้องการแบบไหน ผมทำให้ได้หมด ทั้งบ้าน รถยนต์ ตัวการ์ตูน ทำให้ได้หมด ไม่มีข้อจำกัดเรื่องรูปทรงของขนมลูกชุบ" คุณเชษฐ์ ระบุก่อนเผยให้ฟังว่า ช่วงที่นำเครื่องพิมพ์ออกมาขายให้พวกที่รับซื้อลูกชุบไปจำหน่ายต่อนั้น มีเสียงคัดค้านจากสมาชิกในครอบครัวว่าอาจทำให้เกิดคู่แข่งทางการค้ามากขึ้น แต่คุณเชษฐ์ ให้เหตุผลไว้เมื่อครั้งนั้นว่า
  "ลูกชุบเป็นขนมสด การเคลื่อนย้ายไปขายนั้นไม่สามารถไปไกลได้มากนัก เราอย่าไปหวงเลย สู้มาสร้างภาพให้ขนมไทย เป็นที่ยอมรับของคนรุ่นใหม่จะดีกว่า"
  คุณเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ผลพวงจากการทำ "เครื่องพิมพ์ลูกชุบ" ทำให้ตนเอง ซึ่งมีความชอบทางด้านงานศิลปะเป็นทุนเดิม สามารถขยายความคิดออกไปเป็นการผลิตพิมพ์ขนมไทยรูปแบบอื่นๆ อาทิ ทองเอก จ่ามงกุฎ หรือแม้แต่ ช่อม่วง ที่ใครๆ ต่างยอมรับว่า ทำได้ยากไม่ใช่เล่น
  "ถึงวันนี้ ผมสามารถสร้างอุปกรณ์สนับสนุนการผลิตขนมไทยให้พ่อค้า-แม่ค้า ที่สนใจและไม่ได้มีแต่พิมพ์ขนมลูกชุบเท่านั้น เครื่องพิมพ์ ขนมทองเอก จ่ามงกุฎ ช่อม่วง ก็มีให้ ทั้งนี้ผมเชื่อว่าหากเรามีเครื่องมือสนับสนุนการทำมาหากินให้คล่องตัว รายได้จะพอกพูนขึ้นอย่างแน่นอน" คุณเชษฐ์ กล่าว
  ก่อนจากยังรู้สึกสิ่ง "ทึ่ง" ในความสามารถการผลิต "เครื่องพิมพ์ลูกชุบ" จึงเลียบเคียงถามว่าเหตุใดจึงสามารถผลิตเครื่องมือสร้างสรรค์ออกมาได้ดีถึงเพียงนี้ ทั้งๆ ที่ตัวคุณเชษฐ์ บอกเองว่าไม่มีวุฒิการศึกษาอะไรมากมาย หนุ่มใหญ่ไอเดียดีรายนี้ บอกว่า
  "ต้องมีความคิดอิสระสร้างงาน แทนที่จะมุ่งไปรับจ้างเค้าอยู่อย่างเดียว ช่องว่างการตลาดบ้านเรายังมีอีกมาก อย่างขนมไทยแทบทุกชนิด ไม่เคยมีเครื่องมือช่วยในการผลิต ถ้าคุณมุ่งมั่นและคิดงานออกมา รับรองว่าเลี้ยงตัวเองได้สบาย" คุณเชษฐ์ เผยเทคนิคส่วนตัว ก่อนฝากทิ้งท้ายไว้ให้คิดว่า รู้สึกเป็นห่วงเยาวชน ที่มักคิดว่าเรียนจบแล้วจะไปเป็นลูกจ้างเค้ามากกว่าอยากเป็นนักคิดอิสระ สร้างงานด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันภาครัฐก็จะคอยแต่ประชาสัมพันธ์ผลงานของหน่วยงานราชการ ส่วนพวกนักคิดอิสระ ไม่ค่อยมีใครยอมรับหรือรู้จัก ทำให้คนกลุ่มนี้ ต้องดิ้นรนขวนขวายด้วยตัวเองตลอด
  "ช่วงที่กำลังพัฒนาเครื่องพิมพ์ลูกชุบ เคยไปขอคำปรึกษาจากนักวิชาการในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกลับได้คำตอบว่า เรื่องขนมมันเด็กๆ คุณอย่าไปทำเลย แทนที่จะให้กำลังใจกันกลับซ้ำเติมกันอีก แต่ผมไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เพราะเรามีคำตอบในใจแล้วว่า มันทำได้ ขายได้ แต่หากเยาวชนซึ่งกำลังใจยังอ่อนอยู่ เจอแบบผม อาจเลิกไปเลยก็ได้ ดังนั้นจึงอยากเห็นภาครัฐหันมากระตุ้นให้บ้านเรามีนักคิดอิสระมากขึ้น โดยอาจประชาสัมพันธ์ให้เยาวชนรู้สึกภูมิใจและอยากเอาเป็นแบบอย่างบ้าง" คุณเชษฐ์ ฝากแง่คิดไปยังผู้เกี่ยวข้อง
  ท่านใดสนใจเรียนการทำขนมลูกชุบพร้อมได้รับเครื่องพิมพ์ลูกชุบ หรืออาจต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับเครื่องมือผลิตขนมไทยประเภทต่างๆ ติดต่อ คุณเชษฐ์ ธนะสังข์ ได้ที่ 34 ริมคลองบางซื่อ หลังกรมสรรพาวุธทหารบก แขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10800 หรือ โทรศัพท์ (01) 688-9753
สูตรทำขนมลูกชุบของคุณเชษฐ์ ธนะสังข์
ส่วนผสมการกวนถั่ว
ถั่วเขียวเลาะเปลือก (ตราไร่ทิพย์ หรืออื่นๆ) 1 กิโลกรัม
น้ำตาลทรายขาว 9 ขีด
กะทิ (ใช้หัวกะทิ) 1/2 กิโลกรัม
ส่วนผสม การกวนวุ้นเคลือบ
วุ้นผง (ตรานางเงือก 2 A ตราโบว์ ตราคอปเตอร์ 1 ซอง 50 กรัม
น้ำตาลทรายขาว 2 ขีด
น้ำเปล่า 1.4 กิโลกรัม
ขั้นตอนการกวนถั่ว
1. แช่ถั่วเขียวเลาะเปลือก 1 ชั่วโมง เทใส่ผ้าขาวบางทิ้งให้สะเด็ดน้ำ
2. นึ่ง ประมาณ 1 ชั่วโมง จับดูว่าถั่วนิ่ม หรือมีกลิ่นหอมหรือยัง
3. เทใส่กระทะพร้อมกะทิ อย่าเพิ่งเปิดไฟ กวนถั่ว+กะทิให้เข้ากันจนละเอียด จึงใส่น้ำตาลทรายขาว เปิดไฟ
4. ตักออก เป่าพัดลมพอเย็นตัว ใส่ถุงหนาๆ นวดให้เข้ากันจึงมาปั้นเป็นรูปต่างๆ ตามต้องการ
5. นำรูปแบบขนม ปักไม้ขนาด 7 นิ้ว เป็นวงกลมพอขนาดของหม้อวุ้น แล้วจึงชุบ 2 ครั้ง ให้เป็นเงางาม
เทคนิคการกวนวุ้น
  ใช้หม้อสเตนเลส (Stainless) นำส่วนผสมทั้งหมดใส่รวมกันในหม้อ แล้วตั้งไฟ ข้อสำคัญ ต้องใช้ตะหลิวคนตลอดเวลา มิฉะนั้นจะทำให้วุ้นไหม้ เมื่อวุ้นละลายจนหมดจะเป็นฟอง ให้เบาไฟจึงปิดไฟ พัดวุ้นให้ฟองลอยตัว ตักฟองทิ้งสักพักจึงชุบขนม ห้ามชุบตอนวุ้นร้อนๆ เพราะจะทำให้เป็นฟอง ไม่สวยงาม
ทีมา : library.dip.go.th

อัพเดทล่าสุด