พิชิตโรคซึมเศร้า อาการเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า การรักษา โรคซึมเศร้า


1,829 ผู้ชม


พิชิตโรคซึมเศร้า อาการเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า การรักษา โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder)
โดย : ผศ.นพ.สเปญ อุ่นอนงค์

         โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยที่สุด คนที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นบ้าและไม่ได้เป็นคนไม่ดี แต่เป็นคนที่มีอาการป่วยทางอารมณ์อย่างหนึ่งซึ่งต้องการการรักษา

ภาวะซึมเศร้า (depressive episode)

         เมื่อผู้ที่ป่วยอยู่ใน ภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้า หดหู่ ไม่แจ่มใส ไม่อยากสนใจสิ่งต่างๆ แม้กระทั่งสิ่งที่ตนเคยชื่นชอบ เวลามีอะไรดีๆ เกิดขึ้นก็ไม่รู้สึกเป็นสุข กินอะไรก็ไม่อร่อยแม้แต่ของที่เคยชอบ เบื่ออาหาร กินได้น้อยลง ผ่ายผอมลง หมดเรี่ยวหมดแรง คิดแต่เรื่องร้ายๆ บางคนรู้สึกเบื่อชีวิตมากจนคิดอยากตาย บางคนพยายามฆ่าตัวตาย ในคนที่มีอาการซึมเศร้ามากๆ บางรายอาจมีหูแว่วได้ยินเสียงคนที่ตายไปแล้วมาชวนไปอยู่ด้วย บางรายเกิดความหลงเชื่อผิดคิดว่าตนเองตายไปแล้ว หรือคิดว่าตนเองทำบาปทำกรรมไว้มากต้องฆ่าตัวตายชดใช้กรรม ผู้ป่วยบางรายมีอาการทางร่างกายเด่นกว่าอาการทางอารมณ์ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อ่อนเพลีย วิงเวียน ใจสั่น หายใจไม่เต็มอิ่ม ผู้ที่กำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้า จะมีอาการต่างๆ เกือบตลอดเวลาแทบทุกวันและเป็นอยู่เป็นสัปดาห์ๆ  ไม่ใช่เพียงชั่วครู่ชั่วยาม

โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder)

         โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่ทำให้เกิดการป่วยทางอารมณ์ คือจะเกิดภาวะซึมเศร้าขึ้น อาการป่วยนี้สามารถเกิดขึ้นหลังจากมีเรื่องเครียด หรืออาจเป็นได้ทั้งๆที่ไม่มีเรื่องเครียด บางรายอาจมีเรื่องเครียดเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยจะมีภาวะซึมเศร้า และเปลี่ยนไปจากเดิมชัดเจนและมีโอกาสฆ่าตัวตายได้ถ้าเป็นมากๆ อย่างไรก็ดีทั้งตัวผู้ป่วยเอง และญาติมักสังเกตุเห็นว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติขึ้นแล้ว ในบางรายที่พอมีความรู้มักมารับการรักษาได้ค่อนข้างเร็ว

โรคซึมเศร้า สลับกับอารมณ์ดีผิดปกติ (Bipolar disorder)

         มีโรคทางอารมณ์อีกชนิดหนึ่งคือ โรคไบโพล่าร์ คนที่เป็นโรคชนิดนี้เมื่อป่วยขึ้นมาจะมีอาการได้ 2 แบบ คือ แบบซึมเศร้า และแบบตรงข้ามกับซึมเศร้า เวลาที่มีอาการแบบซึมเศร้า (depressive episode) ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนโรคซึมเศร้าทั่วๆ ไป แต่เมื่อมีอาการตรงข้ามกับซึมเศร้า (manic episode) ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดีผิดปกติ มีความสุขมาก พูดมาก หัวเราะเก่ง ใจดี ใช้เงินเปลือง มีโครงการใหญ่ๆโตๆ ผุดขึ้นมาในหัวเต็มไปหมด  บางรายก้าวร้าวเที่ยวไปก้าวก่ายคนอื่น บางรายมีความต้องการทางเพศมาก บางรายมีอาการหลงเชื่อผิดด้วย เช่น คิดว่าตนเป็นซุปเปอร์แมนมาพิทักษ์ชาวโลก โรคซึมเศร้า สลับกับอารมณ์ดีผิดปกตินี้ต้องการการรักษาด้วยาที่ต่างไปจาก โรคซึม เศร้า ธรรมดาดังนั้นเมื่อพบผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า แพทย์มักจะถามว่า เคยมีช่วงที่อารมณ์ดีผิปกติหรือไม่เพื่อช่วยแยกโรคให้ถูกต้อง

โรคซึมเศร้า เกิดจากอะไร

         ในปัจจุบันเรายังไม่สามารถบอกสาเหตุของ โรคซึมเศร้า ได้ทั้งหมดแต่เราก็พอจะทราบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อนำประสาทในสมองของผู้ที่กำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้า และเราสามารถแก้ไขความผิดปกตินี้ได้ด้วยยา  และเราก็ยังทราบอีกว่า โรคซึมเศร้า สามารถถูกถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ แต่ก็ยังมีสิ่งที่เราไม่ทราบอีกมาก ในอนาคตถ้าเรามีความรู้มากกว่านี้เราคงสามารถให้การรักษาได้ดีกว่าในปัจจุบัน

การรักษา โรคซึมเศร้า

การรักษา โรคซึมเศร้า ด้วยยา

         โรคซึมเศร้า สามารถรักษาได้ด้วยยาแก้ โรคซึมเศร้า ( antidepressant drugs) ยาแก้ โรคซึมเศร้า มีอยู่หลายชนิด มีทั้งชนิดที่ทำให้ง่วงและที่ไม่ง่วง ยาแก้ โรคซึมเศร้า จะไม่ทำให้เกิดการเสพติด และผู้ป่วยสามารถหยุดยาได้เมื่อหมดความจำเป็น ยาแก้ โรคซึมเศร้า ไม่ได้ออกฤทธิ์เพียงแค่ลดความกังวล แต่มันจะออกฤทธิ์ทำให้อารมณ์หายซึมเศร้าจริงๆ ยาแก้ โรคซึมเศร้า จะออกฤทธิ์ค่อนข้างช้า โดยต้องรับประทานยาต่อเนื่องนานอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ จึงเริ่มเห็นว่าอารมณ์แจ่มใสขึ้น และมักต้องใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ยาจึงจะออกฤทธิ์เต็มที่ เมื่อหายแล้วผู้ป่วยจะกลับเป็นคนเดิม และแพทย์จะให้ยาต่ออีกอย่างน้อย 6 เดือน  แต่ในรายที่เป็นบ่อยแพทย์อาจพิจารณาให้ยานานกว่านั้น

การรักษา โรคซึมเศร้า โดยไม่ใช้ยา

 เปลี่ยนความคิดอ่าน เปลี่ยนความคิดพิชิตความเศร้า

         คนที่กำลังเศร้าจะมองโลกในแง่ร้าย และคนที่มองโลกในแง่ร้ายก็จะซึมเศร้าได้ง่าย เป็นวัฏจักรที่ทำให้ภาวะซึมเศร้าเป็นอยู่นาน ดังนั้นเมื่อเกิดอารณ์ซึมเศร้าขึ้นมา ให้ผู้ป่วยลองหยุดเศร้าสักประเดี๋ยวแล้วมองย้อนกลับไปว่าตะกี้เกิดอะไรขึ้น และเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นมันมีความคิดอะไรแวบขึ้นมาในสมอง แล้วลองพิจารณาว่าความคิดอันนั้นมันถูกต้องแค่ไหน ถ้าคิดได้ว่ามันไม่ค่อยสมเหตุผลเท่าไรอารมณ์จะดีขึ้นทันที อย่างน้อยก็จนกว่าจะเผลอไปคิดอะไรในแง่ร้ายอีก แต่ถ้าคิดแล้วรู้สึกว่ามันก็สมเหตุผลดีก็ค่อคิดต่อว่า แล้วจะทำอย่างไรกับเรื่องนั้นดี

 เปลี่ยนพฤติกรรม

         ผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้ามักไม่อยากทำอะไร หมดเรี่ยวแรง นั่งๆนอนๆ แต่ในสมองจะคิดไปเรื่อยและมักคิดแต่เรื่องร้ายๆ ยิ่งคิดก็ยิ่งลุกไม่ขึ้น ให้แก้โดยการหาอะไรทำ หาอะไรที่ได้ลงไม้ลงมือทำ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นงานที่สำคัญขอให้ได้ลงมือทำเป็นใช้ได้ เช่น จัดตู้หรือลิ้นชักที่รกๆ เอาของที่แตกที่หักมาลองซ่อมดู เช็ดรถ รดน้ำต้นไม้ แย่งงานคนใช้ทำฯลฯ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ ความคิดฟุ้งซ่านจะลดลงและอารมณ์จะดีขึ้น

การรักษา โรคซึมเศร้า ด้วยไฟฟ้า (ECT, electroconvulsive therapy)

         ในรายที่เป็นมากหรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากๆ แพทย์จะให้การรักษาด้วยไฟฟ้า เครื่องจะปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านสมองทำให้ผู้ป่วยเกิดการชัก (convulsion) ภาวะซึมเศร้าจะหายได้อย่างรวดเร็ว (ในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์) การรักษาด้วยไฟฟ้าในปัจจุบันมีความปลอดภัยสูงมาก แต่เนื่องจากสังคมได้รับข้อมูล ที่ผิดพลาดจากสื่อต่างๆ ทำให้การรักษาแบบนี้ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับกัน แพทย์จึงจะใช้การรักษาแบบนี้ในรายที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

 บทบาทของญาติ

         ญาติเป็นคนสำคัญในทีมรักษา การคอยให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ รักษาได้ จะช่วยได้มาก เพราะผู้ป่วยมักมองโลกในแง่ร้าย และมักจะลืมประเด็นนี้อยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้ยังต้องให้กำลังใจให้ผู้ป่วยรับประทานยาให้สม่ำเสมอ เพราะความที่ยาออกฤทธิ์ช้าทำให้ผู้ป่วยอาจเข้าใจผิดว่ายานี้ไม่ได้ผล ในรายที่เป็นมากและมีความคิดจะฆ่าตัวตาย ญาติควรเก็บสิ่งที่จะใช้ในการฆ่าตัวตายได้ เช่น เชือก มีด กรรไกร ยาฆ่าแมลง อาวุธต่างๆ ให้มิดชิดและคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ในรายที่มีความมุ่งมั่นที่จะฆ่าตัวตายมากๆ ควรให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในในโรงพยาบาลที่มีการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

ข้อมูลจาก  infomental.com

อัพเดทล่าสุด