ตากระตุกเกิดจากอะไร ใต้ตากระตุกเกิดจากอะไร หัวตากระตุกข้างขวา


957 ผู้ชม


ตากระตุกเกิดจากอะไร ใต้ตากระตุกเกิดจากอะไร  หัวตากระตุกข้างขวา

ตากระตุกเกิดจากอะไร
ผู้ถาม : ดรุณี/กรุงเทพฯ
ดิฉันมีปัญหาที่ดูเหมือนจะไม่ใช่ปัญหามาขอเรียนถามคุณหมอดังนี้ค่ะ
    ตากระตุกเกิดจากสาเหตุใด
    อาการตากระตุก จำเป็นต้องหาหมอหรือไม่
    ถ้าเป็นบ่อยๆ จะมีอันตรายไหม (ดิฉันเป็นมาติดต่อกันหลายวันมากเลยค่ะ)
รบกวนช่วยตอบด้วยค่ะ
 
ผู้ตอบ : นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย
ตากระตุก (เปลือกตานะครับ ไม่ใช่ลูกตา ถ้าลูกตากระตุกนี่อีกเรื่องหนึ่ง) มีทั้งแบบที่เป็นชั่วครั้ง ชั่วคราวแล้วมักหายเองใน ๑-๒ สัปดาห์ และแบบที่เป็นถาวรเป็นปีๆ ครับ
สาเหตุเกิดจากการส่งกระแสประสาทมากระตุ้นกล้ามเนื้อเปลือกตา (และอาจจะกล้ามเนื้อใบหน้าข้างเดียวกันร่วมด้วย) จากเส้นประสาทสมองคู่ที่ ๗ มากกว่าปกติ ไม่ทราบสาเหตุแน่นอน บางรายเกิดหลังอุบัติเหตุที่ศีรษะ บางรายอาการเกิดขึ้นเอง โดยมีสิ่งกระตุ้นคือ กาเฟอีน (กาแฟ-น้ำอัดลม) การอดนอน ความเครียด บุหรี่ เป็นต้น
การรักษาตากระตุก
- หยุดหรือลดสิ่งกระตุ้นเหล่านั้น
- ถ้าไม่ดีขึ้นให้หาหมอ มียาให้ครับ
ในรายที่มีอาการน้อยมักตอบสนองดีกับยากิน ถ้าไม่ดีขึ้นอาจพิจารณาทางเลือกอื่น เช่น การฉีดยา Botulinum toxin (ที่มีคนเอามาใช้ฉีดลบรอยย่น นั่นแหละครับ) เข้าที่กล้ามเนื้อเพื่อให้คลายตัวและไม่กระตุกครับ

------

กล้ามเนื้อใต้ตากระตุก/ใต้ตากระตุกเกิดจากอะไร
สวัสดีครับ...ผมไม่ทราบว่าเป็นอะไรใต้ตาข้างขวากระตุกตลอดเวลา มา 3 วันแล้วครับ...รบกวนสอบถามดังนี้ครับ..
1. สาเหตุของอาการ
2. แนวทางการตรวจรักษา
3. แนวทางการป้องกัน
ขอบคุณครับ...
ตอบใต้ตากระตุกเกิดจากอะไรครับ
1. กล้ามเนื้อกระตุกเฉพาะที่ (muscle twitches) มีสาเหตุที่เป็นไปได้หลายอย่าง ดังนี้
1.1 ไม่ได้เป็นโรคอะไร แต่กล้ามเนื้อส่วนนั้นล้าจากการใช้งานมาก นานๆก็กระตุกดึ๊กๆๆได้ แบบนี้หายไปเอง ไม่ต้องทำอะไร
1.2 ภาวะที่เกิดปัญหากับระบบสมอง หรือไขสันหลัง หรือเส้นประสาท เช่น ได้รับบาดเจ็บ หรือมีเนื้องอกกดทับ
1.3 ระบบสมองและประสาทไม่มีอะไรผิดปกติที่ตรวจวัดได้ แต่บางจุดของมันปล่อยสัญญาณไฟฟ้าออกมาดื้อๆ แบบเดียวกับในคนไข้ที่เป็นลมบ้าหมูหรือชัก เพียงแต่เป็นสัญญาณเล็กแค่ให้กล้ามเนื้อเฉพาะที่กระตุกนิดๆ ไม่ถึงกับชักทั้งตัว บางครั้งเป็นอยู่พักหนึ่งแล้วหายไปเอง บางครั้งเป็นแล้วขยายมากขึ้นๆ เอาแน่ไม่ได้ ไม่รู้ด้วยว่าไฟฟ้ามาจากที่ไหน
1.4 ภาวะที่ระดับแร่ธาตุสำคัญบางตัวในร่างกายต่ำผิดปกติ เช่น แคลเซี่ยม หรือโปตัสเซียม หรือแมกนีเซียม อาจะเป็นเพราะกินเข้าไปน้อย หรือมีเหตุให้สูญเสียแร่เหล่านี้ไป เช่นเป็นโรคเกี่ยวกับไต หรือใช้ยาขับปัสสาวะ หรือเป็นโรคที่ทำให้ฮอร์โมนพาราไทรอยด์ที่คุมระดับแคลเซียม เป็นต้น
1.5 ได้ยาหรือสารบางอย่าง เช่น กาแฟ ยาขับปัสสาวะ ยาแก้คัดจูมกที่มีส่วนผสมของ epinephrine ยารักษาโรคจิตหลายชนิด ยาบ้า ยาฆ่าแมลงพวก organophosphate หรือ ดีดีที. เห็ดพิษ สมุนไพรบางชนิดและพืชพวกมันสัมปะหลัง พวกนี้ทำให้กล้ามเนื้อกระตุก ได้ทั้งนั้น อย่างหมาแมวที่อยู่ใกล้ไร่นาที่เขาฉีดยาฆ่าแมลงบางที่ก็นอนขากระตุกดึ๊กๆๆประจำ บางทีตัวชาวนาเองก็กระตุกไปด้วยเพราะฤทธิ์ของยาพวกนี้
1.6 โรคกังวล อาการหอบเหนื่อยที่ตั้งต้นจากความเครียด (hyperventilation syndrome) หรือโรคกลัวอะไรแบบสุดขีด (panic disorder) ก็ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุกได้
2. แนวทางการตรวจวินิจฉัยและรักษากล้ามเนื้อชักกระตุกเฉพาะที่ของแพทย์ คือ
2.1 จะเริ่มด้วยการตรวจร่างกายทางด้านประสาทวิทยาอย่างครบถ้วน เพื่อสรุปผลขั้นต้นก่อนว่ามีสัญญาณว่าเหตุเกิด ณ ที่ใดของระบบสมองและประสาทหรือเปล่า (localizing sign) ก่อน ถ้ามีสัญญาณดังกล่าว ก็เจาะจงเจาะลึกตรวจต่อไปเฉพาะตรงนั้น แต่ถ้าไม่มีสัญญาณผิดปกติใดๆ ก็อาจจะจบม้วนที่หนึ่งแค่นี้ แล้วรอดูเชิงไปก่อน อาจจะนานเป็นหลายเดือน ถ้าอาการมันหายไปก็เลิกกัน ในขั้นตอนนี้มักจะประเมินปัญหาของระบบร่างกายโดยรวมไปด้วย ซักประวัติยาหรือสารเคมีที่ใช้หรือสัมผัสประจำ เจาะเลือดดูระดับแร่ธาตุสำคัญเช่นแคลเซียม และฮอร์โมนสำคัญบางตัวเช่นพาราไทรอยด์ เป็นต้น ถ้าหลังจากรอดูเชิงไปหลายเดือนแล้วอาการไม่หายไป หรืออาการมากขึ้น ก็อาจจะต้องสืบค้นต่อไปอีก คือ
2.2 ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เพื่อดูว่ามีที่ไหนของระบบปล่อยไฟฟ้าออกมาแบบคนชักหรือเป็นลมบ้าหมูหรือเปล่า ถ้ามีก็รักษาแบบโรคลมชัก (epilepsy) ถ้าไม่มีก็ตรวจต่อไปอีก คือ
2.3 ตรวจภาพของสมอง จะด้วยการทำ brain CT หรือ brain MRI ก็แล้วแต่ เพื่อดูว่ามีเนื้องอกผิดปกติอะไรอยู่ในบริเวณสมองและเส้นทางของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อที่กระตุกนั้นหรือเปล่า ถ้ามีก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอาออก
2.4 ถ้าตรวจทุกอย่างข้างต้นแล้วไม่พบอะไร แต่อาการกระตุกดึ๊กๆๆๆ ยังอยู่ ก็คงต้องสรุปการวินิจฉัยว่าเป็นภาวะกล้ามเนื้อชักกระตุกเฉพาะที่ซึ่งหาสาเหตุโดยเจาะจงไม่ได้ ถ้าอาการมันไม่มากไม่ทำให้คุณภาพชีวิตเสียไปก็ไม่ต้องรักษา แต่ถ้าอาการมันมากจนคุณภาพชีวิตเสียไปก็รักษาด้วยการใช้ยากดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือยากันชักแบบต่างๆนั่นเอง ซึ่งเป็นยาอันตรายไม่ใช่เล่น หากไม่จำเป็นก็ไม่มีใครอยากกินกันหรอก
3. สำหรับคนทั่วไป แนวทางการป้องกันกล้ามเนื้อชักกระตุกเฉพาะที่โดยจำเพาะเจาะจงไม่มีครับ เว้นเสียแต่ว่าจะมีอาชีพคลุกคลีกับสารพิษสารเคมีที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท การป้องกันก็ง่าย คือถ้าเลิกอาชีพนั้นได้ก็เลิกไปซะเลย ถ้าเลิกไม่ได้ก็ต้องหาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลเวลาทำงาน เช่นหน้ากาก ถุงมือ เป็นต้น
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

อัพเดทล่าสุด