อาหารเจกับมังสวิรัติต่างกันอย่างไร?
ทั้งอาหารเจและอาหารมังสวิรัติ เป็นอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์เหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด ดังนี้
อาหารเจ นอกจากไม่มีเนื้อสัตว์แล้ว ยังมีข้อห้ามว่าต้องไม่มี หอม กระเทียม ต้นกุยช่าย ผักชี และเครื่องเทศที่เผ็ดร้อน เพราะถือว่าอาหารดังกล่าวทำให้เกิดกำหนัด
วัตถุดิบที่เป็นหลักในการประกอบอาหารเจ คือ แป้ง เต้าหู้ ซีอิ๊ว ถั่วเหลือง ถั่วต่าง ๆ และผักนานาชนิด ยกเว้นผักที่กล่าวมาแล้ว
นอกจากนี้ผู้กินเจที่เคร่งครัด น้ำมันพืชที่ใช้ต้องบริสุทธิ์ 100 % จะไม่ใช้น้ำมันพืชสูตรผสม เช่น น้ำมันรำข้าวปนน้ำมันถั่วเหลือง ภาชนะที่ใส่อาหารเจก็ต้องเตรียมไว้เป็นพิเศษ ไม่ใช้ปะปนกับภาชนะที่ใส่เนื้อสัตว์
ปัจจุบันอาหารเจได้รับการพัฒนารูปแบบขึ้นมาก มีการทำ “หมี่กึน” ที่ทำมาจากแป้งสาลีดัดแปลง ให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนเนื้อสัตว์ นำมาปรุงอาหาร สำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถตัดขาดจากเนื้อสัตว์ได้เด็ดขาด
อาหารเจจะกินกันในระหว่างเทศกาลกินเจ คือ ช่วงระหว่างวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีนราว เดือนตุลาคม) ระยะเวลาประมาณ ๑๐ วัน หรือกินในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง
ผู้ที่กินเจเชื่อว่าการกินเจเป็นการได้บุญ จะส่งผลให้ชีวิตประสบความสุขความเจริญ ทั้งเป็นการต่อชีวิตให้ยืนยาวต่อไป
ส่วนอาหารมังสวิรัติ โดยรูปศัพท์หมายถึงการงดเว้นเนื้อสัตว์ (มังสะ=เนื้อสัตว์ วิรัติ=การงดเว้น) ภาษาอังกฤษเรียกว่า Vegetarian
ผู้บริโภคอาหารมังสวิรัติมี 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ แต่ยังคงบริโภคไข่และนม
กลุ่มที่สอง ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ รวมทั้งไม่บริโภคไข่และนมด้วย
อาหารมังสวิรัติงดเนื้อสัตว์เหมือนกับอาหารเจ รวมทั้งเครื่องปรุงรสที่ทำมาจากสัตว์ เช่น กะปิ น้ำปลา แต่ต่างกับอาหารเจตรงที่ไม่ห้ามบริโภคกระเทียม หัวหอม ต้นกุยช่าย หรือผักที่มีกลิ่นแรงตลอดจนเครื่องเทศที่เผ็ดร้อน
อาหารมังสวิรัติสามารถบริโภคได้ทั้งปี ไม่มีเทศกาลเหมือนอาหารเจ ผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติเชื่อว่าจะทำให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง เพราะได้งดเนื้อสัตว์ซึ่งมีไขมันและสารอื่น ๆ มากมาย นอกจากนั้น ยังมีประโยชน์ต่อจิตใจเพราะไม่จะเบียดเบียนชีวิตสัตว์ทั้งหลาย
ที่มา:
“ซองคำถาม” สรุปมาจากข้อเขียนของ สิริพันธุ์ จุลกรังคะ นิตยสาร “ผู้หญิง” ฉบับที่ 198 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2536
“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”