การดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะโลหิตจาง และ การพยาบาลผู้ป่วยโลหิตจาง อย่างถูกวิธี


1,606 ผู้ชม


การดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะโลหิตจาง  และ การพยาบาลผู้ป่วยโลหิตจาง อย่างถูกวิธี
โลหิตจาง (เลือดจาง) หมายถึงภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ทำให้มีอาการซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีสาเหตุได้หลายประการ
สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดในบ้านเราก็คือภาวะขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญอันหนึ่งสำหรับการสร้างเม็ดเลือดแดงของร่างกาย
ภาวะนี้สามารถป้องกันและแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการกินอาหารที่ถูกต้อง และการเสริมบำรุงด้วยยาที่เข้าธาตุเหล็ก (ยาบำรุงโลหิต)
♦ ชื่อภาษาไทย โลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก, เลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก
♦ ชื่อภาษาอังกฤษ Iron deficiency anemia
♦ สาเหตุ เกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ๆ ดังนี้
1. เกิดจากการกินอาหารที่มีธาตุเหล็กไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เช่น กินเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ นม และไข่ น้อยเกินไป อาหารเหล่านี้มีธาตุเหล็กมาก ซึ่งลำไส้สามารถดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าธาตุเหล็กที่อยู่ในพืชผัก
ผู้ที่เบื่ออาหารจากการเจ็บป่วยเรื้อรังด้วยโรคอื่นๆ (เช่น วัณโรคปอด มะเร็ง เอดส์) หรือผู้สูงอายุที่กินอาหารได้น้อยหรือไม่ครบส่วน (เช่น ไม่มีฟันเคี้ยวเนื้อสัตว์) ก็อาจได้รับธาตุเหล็กน้อยเกินไป
ผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติ ชีวจิต หรือแมกโครไบโอติก อย่างเคร่งครัดและไม่ถูกหลักโภชนาการ คือกินแต่พืชผักเป็นหลัก ก็อาจขาดธาตุเหล็กได้ เนื่องจากถึงแม้ในพืชผักจะมีธาตุเหล็กอยู่ แต่ธาตุเหล็กในพืชผักถูกลำไส้ดูดซึมเข้าร่างกายได้น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากินพร้อมข้าวซึ่งมีสารไฟเทต (phytate) ที่ขัดขวางการดูดซึมของธาตุเหล็ก
นอกจากนี้ เด็กในวัย 2 ขวบแรก และเด็กวัยรุ่นในช่วงกำลังเจริญเติบโต รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ (ซึ่งมีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นกว่าคนปกติ เพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์) ถ้าไม่ได้กินธาตุเหล็กให้เพียงพอ ก็มักจะเกิดภาวะโลหิตจางได้
2. เกิดจากการเสียธาตุเหล็กออกไปกับเลือด เช่น มีประจำเดือนออกมาก (พบได้บ่อยในหญิงวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์) ตกเลือดเนื่องจากแท้งบุตรหรือคลอดบุตร เลือดออกจากกระเพาะอาหาร (ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ) จากการใช้ยาแก้ปวดข้อและสาเหตุอื่นๆ เลือดออกเรื้อรังในผู้ที่เป็นริดสีดวงทวาร (ถ่ายเป็นเลือดสด) เป็นโรคพยาธิปากขอ เป็นต้น
♦อาการ
ในระยะที่มีภาวะโลหิตจางเล็กน้อย มักไม่มีอาการแสดงชัดเจน หรือผู้ป่วยที่มีโลหิตจางแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย ผู้ป่วยก็อาจไม่รู้สึกว่าตัวเองมีอาการผิดปกติใดๆ ก็ได้
ในรายที่มีภาวะโลหิตจางมาก หรือเกิดขึ้นฉับพลัน (เช่น ตกเลือด) ก็มักจะมีอาการอ่อนเพลีย ทำอะไรรู้สึกเหนื่อยง่าย หน้ามืด มึนงง เวียนศีรษะ เบื่ออาหาร ถ้าเป็นมากอาจมีอาการใจหวิว ใจสั่นร่วมด้วย
ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางชัดเจน มักพบว่ามีอาการหน้าตาซีดเซียว ฝ่ามือซีด เล็บซีด เยื่อบุเปลือกตา ริมฝีปาก และลิ้นซีดขาวกว่าปกติ
การแยกโรค
ภาวะซีดหรือโลหิตจาง เป็นอาการแสดงของโรค ซึ่งอาจมีสาเหตุได้หลากหลาย นอกจากภาวะขาดธาตุเหล็กแล้ว ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
- ภาวะขาดอาหารหรือโปรตีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบร่วมกับธาตุเหล็กในการสร้างเม็ดเลือดแดง นอกจากภาวะซีดแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการขาดอาหาร เช่น ผอมแห้ง เท้าบวม ผมแดง เป็นต้น
- ทาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางเนื่องจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติ แตกสลายง่าย จึงมีอาการซีดเหลืองอย่างเรื้อรังมาตั้งแต่เล็ก มีหน้าตาแปลก ม้ามโต (คลำได้ก้อนที่บริเวณใต้ชายโครงซ้าย) พบมากในคนอีสานและคนเหนือ
- โลหิตจางจากภาวะไขกระดูกฝ่อหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ป่วยมักมีอาการซีดร่วมกับไข้มีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง มีเลือดออกตามที่ต่างๆ (เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน)
- ไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีอาการซีด อ่อนเพลียร่วมกับคลื่นไส้ เท้าบวม มักมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคไตมาก่อน
♦ การวินิจฉัย
แพทย์มักจะวินิจฉัยจากประวัติอาการเจ็บป่วยและการตรวจพบภาวะซีด (ผิวหนังและเยื่อเมือก ซีดขาว พร้อมกันทุกส่วน) โดยไม่มีความผิดปกติอื่นๆ เช่น มีไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง มีจุดแดง จ้ำเขียว ตับโต ม้ามโต บวม ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น
ในรายที่ไม่แน่ใจหรือสงสัยว่ามีโรคอื่นๆ แพทย์อาจทำการตรวจเลือด ซึ่งมักพบว่ามีระดับความเข้มข้นของเลือด (hemoglobin) ต่ำกว่า 12 กรัม/เดซิลิตร นอกจากนี้อาจทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น ตรวจอุจจาระ ปัสสาวะ เอกซเรย์ เจาะไขกระดูก ใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะอาหารหรือลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
การดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และพบว่ามีภาวะซีด (หน้าซีด เยื่อบุเปลือกตาและริมฝีปากซีด) โดยที่ไม่มีไข้ ตาเหลืองตัวเหลือง จุดแดงจ้ำเขียว บวม ไม่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ไม่ได้ซีดเหลืองเรื้อรังมาตั้งแต่เล็ก (หรือเป็นโรคทาลัสซีเมีย) อาจให้การรักษาเบื้องต้น ด้วยการกินยาบำรุงโลหิต เช่น ยาเม็ดเฟอร์รัสฟูมาเรต ครั้งละ 1-2 เม็ด หลังอาหาร วันละ 2-3 ครั้ง (ยานี้กินแล้วอาจทำให้มีอาการถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ซึ่งเป็นสีของธาตุเหล็กได้ ไม่ถือว่าผิดปกติ แต่ถ้ามีอาการถ่ายอุจจาระเป็นสีดำก่อนกินยานี้และไม่ได้กินเลือดหมู ตับหมู ก็พึงสงสัยว่าอาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีประวัติกินยาแก้ปวดข้อ หากสงสัยควรรีบไปพบแพทย์)
หลังกินยา 7-10 วัน แล้วรู้สึกมีเรี่ยวแรงขึ้น และหน้าตามีเลือดฝาดดีขึ้น ก็แสดงว่ากินยาได้ผล ก็ควรกินยานี้วันละ 1-2 เม็ด ต่อไปอีก 3-6 เดือน
ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้
- มีไข้ ตาเหลืองตัวเหลือง จุดแดงจ้ำเขียว หรือเท้าบวม
- มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต เป็นต้น
- มีอาการผิดปกติ เช่น ไอเรื้อรัง ท้องเดินเรื้อรัง น้ำหนักลด จุกแน่นหรือแสบท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ถ่ายเป็นเลือดสด ใจหวิวใจสั่น เป็นต้น
- มีอาการซีดเหลืองเรื้อรังมาตั้งแต่เล็ก หรือมีประวัติเป็นโรคทาลัสซีเมีย
- กินยาบำรุงโลหิต 7-10 วันแล้วยังไม่ทุเลา
♦ การรักษา
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก แพทย์จะให้ยาบำรุงโลหิต (เช่น เฟอร์รัสฟูมาเรต)
ถ้าหากพบว่ามีโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุของโลหิตจางร่วมด้วย ก็จะให้การรักษาควบคู่กันไป เช่น ให้ยาถ่ายพยาธิปากขอ ให้ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร ให้ยารักษาโรคริดสีดวงทวาร วัณโรค หรือโรคเอดส์ เป็นต้น
♦ ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากทำให้อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ทำงานได้ไม่เต็มที่ ลดความสามารถในการเรียนรู้ (พบว่าเด็กที่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก จะเรียนได้คะแนนไม่ดี และเมื่อให้ยาบำรุงโลหิตเสริม คะแนนการเรียนดีขึ้น)
นอกจากนี้อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอ เฉื่อยชา ภูมิต้านทานโรคต่ำ (ติดเชื้อง่าย) ถ้าเกิดการเจ็บป่วยหรือมีบาดแผล ก็มักจะฟื้นหายได้ช้า
ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจอยู่เดิม ถ้ามีภาวะโลหิตจางรุนแรง อาจทำให้โรคหัวใจกำเริบ หรือภาวะหัวใจวายได้
♦ การดำเนินโรค
ผู้ที่เป็นโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก มักมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย และเมื่อเบื่ออาหาร ก็ยิ่งขาดธาตุเหล็ก ก็ยิ่งโลหิตจางมากขึ้น เป็นวงจรไม่รู้จบ
แต่ถ้าได้ยาบำรุงโลหิตรักษาภายใน 7-10 วัน ก็มักจะดีขึ้น คือมีเรี่ยวแรงมากขึ้น และหน้าตามีเลือดฝาดดีขึ้นอย่างทันตาเห็น อย่างไรก็ตาม ก็ควรกินยาบำรุงโลหิตต่อไปอีก 3-6 เดือน หากหยุดยาเร็วเกินไป ก็อาจเกิดภาวะขาดธาตุเหล็กซ้ำอีกได้
♦ การป้องกัน
โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการกินอาหาร ที่มีธาตุเหล็กมาก เช่น เนื้อสัตว์ ตับหมู ตับวัว เลือดหมู ไตหมู นม ไข่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ทารกและวัยรุ่น ควรบำรุงอาหารเหล่านี้ให้มากๆ
สำหรับผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติหรือชีวจิต หรือผู้สูงอายุที่กินเนื้อและนมได้น้อย ควรตรวจเช็กเลือดดูว่ามีภาวะโลหิตจางหรือไม่ ถ้าพบควรกินยาบำรุงโลหิตเสริมเป็นประจำ
สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 15-45 ปี) ที่มีภาวะซีดเนื่องจากการเสียธาตุเหล็กออกไปทางเลือดประจำเดือน ควรให้กินยาบำรุงโลหิตวันละ 2-3 เม็ดในช่วงมีประจำเดือน นานประมาณ 1 สัปดาห์ เป็นประจำทุกเดือน
♦ ความชุก
โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก วัยรุ่น หญิงวัยเจริญพันธุ์ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ พบมากในชาวชนบท คนยากจน ขาดอาหาร รวมทั้งผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติ ชีวจิต หรือแม็กโครไบโอติก ที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ
 
ที่มา  www.doctor.or.th

อัพเดทล่าสุด